ตุลาการศาล รธน.มีมติเป็นเอกฉันท์ การออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อการวางระบบการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ ของรัฐบาลไม่ขัด รธน. มาตรา 184 วรรค 1 และ วรรค 2 ส่วน พ.ร.ก.เงินกู้ช่วยกองทุนฟื้นฟูฯ มีมติ 7 ต่อ 2 ไม่ขัด รธน.เช่นกัน
คลิกที่นี่ เพื่อฟังคลิปเสียง "ศาลรัฐธรรมนูญแถลงการณ์"
เมื่อเวลา 14.00 น.วันนี้(22ก.พ.) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำ และสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 (3.5 แสนล้าน ) เป็นไปเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรคหนึ่งและวรรคสอง และมีมติด้วยคะแนนเสียง 7 ต่อ 2 เห็นว่า พระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อ ช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันเงิน พ.ศ.2555 (1.14 ล้านล้านบาท) เป็นไปเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรคหนึ่งและวรรคสอง
โดยก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยในเวลา 14.00 น.นั้นช่วงเช้าคณะตุลาการฯได้มีการประชุมเพื่อที่ตุลาการจะได้แถลงความเห็นส่วนตนและลงมติและร่วมกันจัดทำคำวินิจฉัย และเมื่อใกล้เวลาอ่านคำวินิจฉัย นายกรณ์ จาติกวนิช ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะผู้ร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ในฐานะผู้ร้องต่ประธานวุฒิสภา พร้อมคณะเดินทางมารับฟังด้วยตนเอง ขณะที่ฝ่ายผู้ถูกร้อง นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง และนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะกระทรวงการคลัง เป็นผู้ได้รับมอบจากนายกรัฐมนตรีมาศาล ซึ่งการอ่านคำวินิจฉัยคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มอบหมายให้นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี นายจรัญ ภักดีธนากุล และนายจรูญ อินทจาร อ่านคำวินิจฉัย โดยมีรายละเอียดดังนี้
นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี : ในการพิจารณว่า พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 และ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินพ.ศ.2555 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรคหนึ่งและวรรคสองหรือไม่นั้น เห็นสมควรกำหนดประเด็นที่จะวินิจฉัยดังนี้ ประเด็นที่หนึ่ง การตราพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินที่เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184วรรคหนึ่งและวรรคสองหรือไม่ ประเด็นที่สอง การตราพ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินพ.ศ.2555 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรคหนึ่งและวรรคสองหรือไม่
ประเด็นที่หนึ่ง การตรา พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรคหนึ่งและวรรคสองหรือไม่ ในช่วงปลายปี 2554 ได้เกิดมหาอุทกภัยหลายจังหวัดในประเทศ และก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนประมาณ 2 แสนครัวเรือน ซึ่งธนาคารโลกได้ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจในเบื้องต้นมีมูลค่าสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท ความเสียหายต่อทรัยพ์สิน 6.3 แสนล้านบาท เสียหายต่อรายได้ 7.9 แสนล้านบาท และหากจำแนกความเสียหายภาครัฐกับภาคเอกชนแล้วสามารถคิดความเสียหายที่เกิดขึ้นโครงสร้างพื้นฐานการผลิตและภาคสังคมของรัฐจำนวน 1.4แสนล้านบาท และภาคเอกชน 1.2ล้านล้านบาท ความเสียหายดังกล่าวทำให้ภาวะเศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้หลายหน่วยงานได้ปรับลดประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2554 ลงเหลือไม่เกินร้อยละ 1.1 จากเดิมร้อยละ 4.0ดังนั้นเศรษฐกิจไทยจึงอยู่ในภาวะวิกฤตและเป็นภัยอย่างใหญ่หลวงรัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขเยียวยา ผู้ประสบภัยโดยช่วยเหลือจ่ายเงินชดเชยแก่ผู้ประสบภัย โดยมีการสนับสนุนสินเชื่อและผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ การช่วยเหลือค่าครองชีพโดยการอนุมัติงบกลางจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 จำนวน 1.2แสนล้านบาท และอนุมัติแผนงานโครงสร้างพื้นฐานด้านความเป็นอยู่ประชาชนด้านฟื้นฟูคุณภาพชีวิตที่จะดำเนินการปี2555 รวมทั้งสิ้น 1.3แสนล้านบาท โดยสำนักงบประมาณได้จัดสรรงบฯดังกล่าวแล้วเป็นเงิน 7.3หมื่นล้านบาท
นายจรัญ ภักดีธนากุล : เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการประกอบอาชีพของประชาชนและผู้ลงทุนและป้องกันมิให้เกิดวิกฤตอุทกภัยเป็นภัยพิบัติสาธารณะซ้ำซ้อนขึ้น ครม.ใช้อำนาจตราพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการนำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 โดยมีเหตุผลสำคัญการประกาศใช้พ.ร.ก.นี้เนื่องจากในปี2554 ได้เกิดวิฤตการณ์อุทกภัยอย่างร้ายแรงในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง รัฐบาลมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องบูรณะฟื้นฟูประเทศ เยียวยาความเสียหายให้แก่ประชาชนรวมทั้งดำเนินการวางระบบการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศโดยการจัดให้มีการลงทุนโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นที่จำเป็นนี้ และนอกจากนี้ผลความเสียหายยังทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยถดถอยตกอยู่ในความเสี่ยงความเชื่อมั่นของสาธารณะดังนั้นรัฐบาลเห็นว่าเพื่อให้เกิดความมั่นใจทุกฝ่ายสำคัญที่สุด
พ.ร.ก.ฉบับนี้มีสาระสำคัญคือให้อำนาจกระทรวงการคลังมีอำนาจกู้เงินในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยเพื่อให้นำไปใช้จ่ายการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศในวงเงินไม่เกิน 3.5แสนล้านบาท โดยอาจกู้เป็นเงินบาทและเงินตราต่างประเทศก็ได้ แต่ต้องกระทำภายใน 30 มิถุนายน2556 และครม.ต้องเสนอกรอบใช้จ่ายเงินนี้ตามพ.ร.ก.ต่อรัฐสภาเพื่อทราบก่อนเริ่มดำเนินการและกระทรวงการคลังต้องรายงานการกู้เงินที่กระทำในปีงบประมาณที่ล่วงมาแล้วให้รัฐสภาทราบใน 60 วันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ โดยในรายงานต้องระบุรายละเอียดกู้เงินการใช้จ่ายเงินและวัตถุประสงค์และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับด้วย ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของพ.ร.ก.นี้ ครม.ได้วางยุทธศาสตร์ฟื้นฟูและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อมิให้เกิดวิกฤตอุทกภัยซ้ำซาก
ประเด็นที่พิจารณาว่าการตราพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการนำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 เป็นกรณีเพื่อประโยชน์อันจะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศหรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรคหนึ่งหรือไม่นั้น เห็นว่าการตราพ.ร.ก.ดังกล่าว ก็เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากปัญหาอุทกภัยรวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้แก่นักลงทุนและประชาชนโดยทั่วไป เนื่องจากปัญหาอุทกภัยดังกล่าวได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง และสร้างความเสียหายต่อประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะความเสียหายที่เกิดจากผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วมได้รับผลกระทบ 841 โรงงาน ซึ่งโรงงานส่วนใหญ่เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบอุตสาหกรรมของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิคส์ ไฟฟ้า อาหารเครื่องดื่ม เป็นต้น ทำให้กระทบต่อเศรษฐกิจของโลก เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมดังกล่าว หากรัฐบาลไม่มีมาตรการป้องกันบรรเทาปัญหาอุทกภัยที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนชาวไทยและชาวต่างประเทศแล้ว ผู้ประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่ในน้ำท่วมอาจตัดสินใจย้ายสถานที่ประกอบการไปอยู่ต่างประเทศอันอาจจะผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศโดยส่วนรวมจึงเห็นว่าการตรา พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 เป็นกรณีเพื่อประโยชน์ในอันจะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศและป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรคหนึ่ง
ประเด็นที่พิจารณาว่าการตราพ.ร.ก.ดังกล่าว เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรคสองหรือไม่ เห็นว่าปัญหาอุทกภัยในปลายปี 2554 นับเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายในประเทศที่มีผลกระทบต่อทรัพย์สินของประชาชนและระบบของเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยตรงอย่างรุนแรง รัฐบาลได้ใช้ทรัพยากรดำเนินการแก้ไขช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรม รวมทั้งปรับปรุงซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานโดยใช้เงินงบประมาณและทรัพยากรอื่นๆจำนวนมาก แม้รัฐบาลจะมีพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555 ที่เพิ่งใช้บังคับเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2555 เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาฟื้นฟูบูรณะประเทศ โดยเฉพาะการตั้งงบประมาณรายจ่ายในงบกลางจำนวน 1.2 แสนล้านบาท และเงินสำรองรายจ่ายฉุกเฉิน6.6 หมื่นล้านบาท ที่ตั้งไว้ที่กระทรวง ทบวง กรมต่างๆนั้น รัฐบาลได้อนุมัติงบฯบางส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยเป็นการเฉพาะหน้าไปแล้วอีกทั้งจะให้รัฐบาลเพิ่มวงเงินงบประมาณขาดดุลอีกจำนวน 1.5 แสนล้านบาทไว้ในร่างพ.ร.บ.งบประมาณดังกล่าวก็ไม่สามารถกระทำได้ เพราะล่วงเลยระยะเวลาที่หน่วยงานต้องส่งคำของบฯให้สำนักงบประมาณและเกินกรอบวงเงินประมาณการรายจ่ายที่กำหนดไว้ ซึ่งการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวค่อนข้างนานไม่ทันต่อสถานการณ์ป้องกันภัยพิบัติโดยเร่งด่วน ซึ่งมีสัญญาณบ่งชี้ว่าในปี 2556 ประเทศไทยอาจเกิดวิกฤตมหาอุทกภัยขึ้นอีก
การที่รัฐบาลจัดให้มีการดำเนินการวางระบบบริหารจัดการน้ำตามยุทธศาสตร์การบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาแบบบูรณาการและยั่งยืนที่จะต้องใช้เงิน 3.5 แสนล้านบาทตามพ.ร.ก.ดังกล่าว จึงเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบอาชีพของประชาชน และผู้ลงทุนที่อยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ และเป็นการป้องกันภัยพิบัติในเวลาอันใกล้จะถึงจึงเห็นว่าการตราพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 เป็นกรณีฉุกเฉินอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรคสอง
ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์เห็นว่าพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184วรรคหนึ่งและวรรคสอง
คำวินิจฉัย พ.ร.ก.โอนหนี้ 1.14 ล้านล้านบาท
นายจรูญ อินทจาร : พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรคหนึ่งและวรรคสองหรือไม่ ประเด็นการตรา พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555 เป็นกรณีเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงเศรษฐกิจของประเทศตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรคหนึ่งหรือไม่ เห็นว่ารัฐบาลมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะของรัฐบาล เนื่องจากกระทรวงการคลังตั้งเป้างบประมาณรายจ่ายอันเป็นเงินภาษีของประชาชนเพื่อชำระหนี้เงินต้นหรือดอกเบี้ยอันเกิดจากปัญหาวิกฤตทางการเงินที่เกิดเมื่อปี 2540 ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งงบประมาณไว้แต่สำหรับชำระดอกเบี้ยของหนี้เงินกู้ตลอดระยะเวลา 15 ปีเป็นเงินงบประมาณถึง 6.7แสนล้านบาท แต่ชำระเงินต้นไปได้เพียงร้อยละ 13 ของหนี้เงินกู้ ซึ่งในปัจจุบันยังมีหนี้ค้างชำระอยู่ถึง 1.14 ล้านล้านบาท หากรัฐบาลจะตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวต่อไปอีกย่อมเป็นภาระงบประมาณที่รัฐบาลจะต้องจัดหามาให้ ซึ่งในปีงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชำระดอกเบี้ยเงินกู้เป็นเงินจำนวน 6.8 หมื่นล้านบาท รัฐบาลมีเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจและสังคมลดน้อยลง
อีกทั้งเงินกู้ดังกล่าวเกิดจากปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเงินที่ สถาบันการเงินเป็นผู้ก่อขึ้นและอยู่ในการกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) การที่รัฐบาลได้มอบหมายให้ธปท. ควบคุมดูแลการชำระคืนหนี้เงินกู้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยนำกำไรสุทธิของธปท.หรือทรัพย์สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน รวมทั้งการนำเงินที่สถาบันการเงินนำส่งให้ธปท.ไม่เกินร้อยละ 1 ของยอดเงินที่สถาบันทางการเงินได้รับจากประชาชนย่อมเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้เงินกู้ที่รัฐบาลนำมาช่วยเหลือสถาบันการเงินอย่างเป็นระบบและเป็นผลให้รัฐบาลมีงบประมาณไม่ต้องจัดสรรไปชำระดอกเบี้ยเงินกู้ในแต่ละปีเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ จึงเห็นว่า พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555 เป็นกรณีเพื่อประโยชน์ในอันรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรคหนึ่ง
ประเด็นที่พิจารณาว่าการตรา พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555 เป็นกรณีฉุกเฉินรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรคสองหรือไม่ เห็นว่าปัญหาวิกฤตทางการเงินแม้ว่าจะเกิดขึ้นเป็นเวลา 15 ปีแต่ความเสียหายดังกล่าวยังไม่สัมฤทธิ์ผล ความเสียหายที่กองทุนเพื่อการฟืนฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินต้องรับภาระมีจำนวน 1.14 ล้านล้านบาท แต่กระทรวงการคลังยังมีหนี้ค้างชำระอีกร้อยละ 87 ถือเป็นเงินจำนวน 1.14 ล้านล้านบาท และได้ชำระดอกเบี้ยในสิ้นปีงบประมาณ 2554ไปแล้ว6.7 แสนล้านบาท ซึ่งหนี้เงินกู้จำนวนดังกล่าวยังเป็นหนี้สาธารณะที่กระทรวงการคลังต้องรับผิดชอบ แต่พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555 ได้กำหนดวิธีบริหารจัดการหนี้เพื่อกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการชำระคืนต้นเงินกู้และชำระต้นดอกเบี้ยเงินกู้ ธปท.เป็นผู้กำกับการดูแลการดำเนินของกองทุน และคาดว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้นภายใน 27 ปี และในปีงบประมาณพ.ศ.2555 กระทรวงการคลังได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายสำหรับชำระดอกเบี้ยเงินกู้เป็นจำนวน6.8 หมื่นล้านบาท
สำหรับการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวอาจเปรียบเทียบสัดส่วนระหว่างเงินงบประมาณเพื่อชำระดอกเบี้ยเงินกู้ กับงบประมาณรายจ่ายประจำปีพ.ศ.2555 ที่ตั้งไว้วงเงิน 2.3 ล้านล้านบาท จะคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.9 ของงบประมาณรายจ่าย แต่หากคิดเป็นสัดส่วนต่องบลงทุนที่ตั้งไว้เป็นเงิน 4.2 แสนล้านบาทแล้ว จะคิดิเป็นสัดส่วนร้อยละ16.2 ของงบลงทุน ถือว่าเป็นสัดส่วนที่มีนัยสำคัญต่อการทุนของประเทศ ซึ่งรัฐบาลสามารถนำเงินที่ต้องชำระดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวปีละ 6 แสนล้านบาทมาลงทุนในแผนงานโครงการต่างๆเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจประเทศได้
ประกอบกับรัฐบาลต้องการบังคับใช้ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555 เพื่อให้มีเวลาเตรียมการเรียกเก็บเงินจากกองทุนคุ้มครองเงินฝากสำหรับรอบ 6 เดือนแรกของปี 2555 รัฐบาลจะได้ไม่ต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายหนี้ดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการของส่วนราชการต่างๆในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2555 และ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 ดังที่ได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรคหนึ่งและวรรคสอง และกำหนดไว้ชัดเจนว่ารัฐบาลอาจกู้เป็นเงินบาทและเงินตราต่างประเทศก็ได้ แต่ต้องกระทำภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2556 ซึ่งช่วงเวลาการตราพ.ร.ก.ดังกล่าวนี้อยู่ในปีงบประมาณ 2555 และปีงบประมาณ 2556 สอดคล้องกับการที่รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อชำระหนี้ดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวในปี 2556 เป็นการลดภาระเงินงบประมาณในช่วงเดียวกันที่จำเป็นต้องมีการการตราพ.ร.ก.นี้ จึงเป็นกรณีที่มีวัถตุประสงค์ความจำเป็นในการใช้บังคับร่วมกันและเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน
และ การตราพ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555 มีวัตถุประสงค์เพื่อการบริหารจัดการหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้เป็นไปอย่างประสิทธิภาพ โดยรัฐบาลสามารถนำเงินการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้กว่า 6 หมื่นล้านบาทมาดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมโดยส่วนรวม ถึงแม้ผู้แทนนายกรัฐมนตรีจะแถลงรับว่าไม่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการเมืองที่จะตราพ.ร.ก.ในระหว่างปิดสมัยประชุมก็ตาม แต่ก็ได้ให้เหตุผลว่าต้องรอคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องศึกษาและกำหนดรายละเอียดจัดทำโครงการก่อนเสร็จแล้วจึงเสนอครม. ซึ่งน่าจะแสดงความสุจริตได้ว่ามิได้อาศัยโอกาสอ้างเหตุผลทางการเมืองได้แต่อย่างใด ศาลได้พิจารณาข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้วเห็นว่าการตราพ.ร.ก. 2 ฉบับดังกล่าวไม่ได้เป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญตามที่ผู้เข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาทั้งสอง แต่ความจำเป็นดังกล่าวเกิดขึ้นอันมีสาเหตุเนื่องจากวิกฤตการณ์อุทกภัยจริง และมีความจำเป็นรีบด่วนที่จะต้องใช้มาตรการป้องกันและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีความเกี่ยวเนื่องกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว ประกอบกับชั้นนี้ยังไม่มีกรณีชี้ให้เห็นว่าครม.ตราพ.ร.ก.กำหนดขึ้นมาโดยไม่สุจริต หรือใช้ดุลพินิจบิดเบือนหลักการรัฐธรรมนูญจึงเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรคสอง
ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติ 7 ต่อ 2 เห็นว่า พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184วรรคหนึ่งและวรรคสอง ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงวินิจฉัยว่าพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 และ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555 เป็นไปเพื่อประโยชน์อันจะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นกรณีฉุกเฉินจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรคหนึ่งและวรรคสอง