ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ยากจะปฏิเสธว่า ชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค.2554 ของพรรคเพื่อไทยนั้น “ทีวีเสื้อแดง” มีบทบาทสำคัญยิ่งในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง จากบทบาทที่ได้นำเสนอข่าวสาร บทวิเคราะห์การเมือง ประชาสัมพันธ์ ส่งผ่านถึงคนเสื้อแดงทั่วประเทศ แปรเปลี่ยนเป็น 15 ล้านเสียงที่ส่งให้พรรคเพื่อไทยได้ขึ้นเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
และสิ่งนี้ดูเหมือนว่าพรรคประชาธิปัตย์ก็ทราบดีเช่นเดียวกัน ว่ากันว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้สรุปบทเรียนของความพ่ายแพ้ต่อการเลือกตั้งว่าปัจจัยที่ทำให้พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง เพราะมีสื่ออยู่ในมือ และนั่นจึงนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงและปรับยุทธศาสตร์อย่างเห็นเป็นรูปธรรมจับต้องได้ของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งก็คือ การผุด สถานีโทรทัศน์บลูสกายแชนแนล (Blue Sky Channel) ออกมาเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ย.2554 ที่ผ่านมา
ด้วยเหตุดังกล่าว พรรคประชาธิปัตย์จึงมิอาจปฏิเสธได้ว่า สถานีโทรทัศน์ “บลูสกาย” เป็นกระบอกเสียงของ “พรรคประชาธิปัตย์" ซึ่งหากยังจำกันได้ เมื่อครั้งที่ทีวีเสื้อแดงรุกหนักประกาศตัวเป็นสัตรูไล่ถล่มกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี ช่วงนั้น บรรดาศิษย์ลูกพระแม่ธรณีบีบมวยผมเองก็ดาหน้าออกมาถล่มวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมเช่นกัน
ทำให้ "วาทกรรม" ที่เคยโจมตี "ทักษิณ ชินวัตร-พรรคเพื่อไทย-คนเสื้อแดง" ว่าเข้าไปควบคุมสื่อรัฐ แทรกแซงสื่อเอกชน และหนักถึงขั้นเปิดสื่อเป็นของตัวเอง เหล่านี้ย้อนกลับมาเป็นเหมือน "งูยักษ์" ที่พาดพันคอพรรคประชาธิปัตย์เองจังๆ
แต่มาถึงวันนี้แล้ว ดูเหมือนพรรคประชาธิปัตย์จะต้องกลืนน้ำลายตัวเองเฮือกใหญ่เสียแล้ว เพราะขณะนี้เป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้วที่ได้เดินตามรอยทีวีของคนเสื้อแดงอย่างเต็มรูปแบบ แม้ว่าการเปิดตัว “บลูสกาย” จะไม่ฮือฮาเปรี้ยงปร้าง เพราะช่วงนั้นกำลังอยู่ในวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ แต่ช่องบลูสกายก็เป็นที่จับตามอง โดยเฉพาะในแวดวงการเมืองที่เชื่อว่า “ทีวีสีฟ้า” น่าจะผูกโยงกับพรรคประชาธิปัตย์ เหตุเพราะสีประจำช่องนั้นตรงกับสีประจำพรรคอย่างจัง และมีการเคลื่อนไหวจัดตั้งกันอย่างคึกคักโดยมีคนประชาธิปัตย์บงการอยู่เบื้องหลังแบบไม่ลับอีกด้วย
และที่ต้องขีดเส้นใต้ไว้ก็คือ การรุกคืบปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การเมืองครั้งนี้ อาจจะขัดบทบัญญัติข้อห้ามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญที่อาจส่งผลเลวร้ายไปสู่การถูกยุบพรรคอีกต่างหาก และยิ่งตรวจสอบความเป็นไปของบลูสกาย และคนในพรรคประชาธิปัตย์ด้วยแล้วก็จะเห็นความเชื่อมโยงชนิดแยกไม่ออกเช่นกัน
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่าทีวีดาวเทียมช่องบลูสกายนี้ ดำเนินการโดย บริษัท บลู สกาย แชนแนล จำกัด ก่อตั้งเมื่อวันที่ 21 ต.ค.2554 ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ออฟฟิศอยู่ที่อาคารกรุงเทพทาวเวอร์ ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ และเมื่อสาวเข้าไปถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับทีวีช่องนี้ก็ยิ่งพบสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับพรรคประชาธิปัตย์ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ไล่ตั้งแต่ “เถกิง สมทรัพย์” ในฐานะ “ผู้ก่อตั้ง” และผู้อำนวยการสถานีที่มีปูมหลังขลุกอยู่ในวงการสื่อมาช้านาน เคยเป็นอดีตนายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อดีตรองผู้อำนวยการไทยพีบีเอส อดีตผู้บริหารสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ เอฟเอ็ม 105 เมกะเฮิรตซ์
ที่น่าสนใจที่สุดคือ อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท ว็อชด็อก จำกัด ที่มีเจ้าของชื่อ “เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง” อดีต ส.ว.คนดังที่ถือหางพรรคประชาธิปัตย์มาตลอด
สำหรับ “เถกิง” นั้นมีความใกล้ชิดเกี่ยวพันกับ “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” สมัยที่ทำหน้าที่คุมสื่อ จนได้คุมรายการช่วงไพรม์ไทม์ของเอ็นบีทีอยู่ระยะหนึ่ง นอกเหนือจาก “เถลิง” แล้ว เมื่อสำรวจตรวจสอบยังพบกรรมการของบลูสกายหลายคนที่ชื่อคุ้นหู ทั้ง “บุรฤทธิ์ ศิริวิชัย” หน้าห้องของ “กรณ์ จาติกวนิช” อดีต รมว.คลัง “วิทเยนทร์ มุตตามระ” อดีตเลขานุการ รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี (สาทิตย์ วงศ์หนองเตย) และอดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.ของพรรค ทั้งยังมีชื่อของ “ภูษิต ถ้ำจันทร์” ผู้กำกับรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์” รวมอยู่ด้วย
แต่ที่ทีเด็ดก็เห็นจะหนีไม่พ้น “ผังรายการ” ต่างๆ ไล่เรียงดูแล้วก็ยิ่งชี้ชัดให้เห็นว่าทีวีช่องนี้กับพรรคประชาธิปัตย์แทบจะแยกกันไม่ออก ชัดเจนที่สุดกับรายการ “ฟ้าวันใหม่” ซึ่ง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มานั่งจ้อจัดรายการด้วยตัวเอง จันทร์ถึงวันศุกร์ ประมาณหนึ่งชั่วโมงหลังเคารพธงชาติ 8 โมงเช้า
“ถนอม อ่อนเกตุพล” อดีตโฆษก กทม. และอดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กับรายการ “อาสาฯประชาชน” หรือ “อัญชะลี ไพรีรัก” สายตรง “เสี่ยไก่” จุติ ไกรฤกษ์ ที่รับผิดชอบ “ข่าวยามเย็น”
ขณะที่อดีต รมว.ต่างประเทศ “กษิต ภิรมย์” ควงคู่อดีตโฆษกรัฐบาล “ปณิธาน วัฒนายากร” ในรายการ “ข้ามขอบฟ้า” ที่เกี่ยวกับเหตุบ้านการเมืองทั่วโลก ตลอดจนถึง “สายล่อฟ้า” ที่รวมเอาคนหนุ่มของพรรค “ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต - ศิริโชค โสภา - เทพไท เสนพงษ์” มานั่งจัดรายการร่วมกัน ราวกับ สามเกลอ “วีระ มุสิกพงศ์ - จตุพร พรหมพันธุ์ - ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” เมื่อครั้งตอนจัดรายการ "ความจริงวันนี้" ไม่มีผิดเพี้ยนเลยทีเดียว
และนอกจากรายนาม "คนเลือดสีฟ้า" ที่ระดมกันมาทำงานให้ทีวีบลูสกายแล้ว อีกคนที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า "เถกิง" ผู้ ก่อตั้งสถานี ก็มีชื่อ "วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ" อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อยู่ด้วย ซึ่งเป็นคนเดียวกับที่ไปนั่งเป็นอดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี) สมัยประชาธิปัตย์เรืองอำนาจ จึงไม่แปลกที่มีกระแสข่าว "มฤตยูดำแห่ง จ.สุราษฎร์ธานี" เป็น "นายทุนใหญ่" ของทีวีดาวเทียมแห่งนี้
ขณะเดียวกันเรื่องเงินทุนของ "ทีวีสีฟ้า" ก็ยังเป็นเรื่องที่น่าติดตามไม่น้อยยิ่งเมื่อตรวจสอบสถานะความมั่นคงของสถานีแห่งนี้แล้วต้องบอกว่าแน่นปึ้กไม่เป็นรองใครเช่นเดียวกัน ตามข้อมูลที่ปรากฏในสาระบบของกรมพัฒนาธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าทีวีช่องนี้ดำเนินการโดย บริษัท บลู สกาย แชนแนล จำกัด ซึ่งเพิ่งจดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 21 ต.ค.2554 ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท มีที่ตั้งอยู่เลขที่ 2170 อาคารกรุงเทพทาวเวอร์ ชั้น 8 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กทม. 10310 เรียกว่าเปิดบริษัทเพียง 10 วันเท่านั้น ก็สามารถออกอากาศได้ทันทีใน วันแรก 2 พ.ย.2554 แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของทีมงาน ที่สำคัญคือเรื่อง "เงินทุน" ที่หนาแน่นปึ้กสุดๆ
ขณะที่ผู้ดำเนินรายการระดับ "แม่เหล็ก" ที่แห่แหนมาร่วมงานอีกหลายคน ที่รู้กันว่า "ค่าเหนื่อย" ของบุคลากรระดับนี้แพงระยับ ค่าตัวแต่ละคนไม่ต่ำกว่า 6 หลักต่อเดือน อีกทั้งเงินเดือนล่อใจทีมงานระดับสตาฟก็ใช่ย่อย เริ่มต้นกันที่ 15,000 บาทสำหรับคนหน้าใหม่เลยทีเดียว แสดงให้เห็นว่า "รายจ่าย" ของทีวีบลูสกายในช่วงตั้งไข่ไม่ธรรมดา
ยิ่งเมื่อมองในส่วนของ "รายรับ" ก็ยิ่งน่าสนใจ เมื่อปรากฏว่า ทีวีที่ออนแอร์บวกรีรันตลอด 24 ชั่วโมงแห่งนี้ แทบไม่มีโฆษณา หรือผู้ให้การสนับสนุนอย่างเป็นทางการให้เห็น เฉกเช่นสถานีโทรทัศน์อื่นๆ เทียบไม่ได้แม้แต่ทีวีดาวเทียมขายตรง ที่ดูจะมีช่องทางธุรกิจที่ดูดีกว่า
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ธุรกิจสื่อทีวีต้องใช้งบประมาณในการลงทุนสูง ว่ากันว่าหากเป็นในอดีตการลงทุนสื่อจะต้องมีต้นทุนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทเพื่อสถานีวิทยุ 1 คลื่น ขณะที่การเปิดสถานีฟรีทีวี 1 ช่องต้องลงทุนระดับพันล้านถึงหมื่นล้านบาท สำหรับทีวีดาวเทียม 1 ช่องในยุคนี้ก็ต้องใช้เม็ดเงินราว 30-50 ล้านบาท การลงทุนระดับนี้แน่นอนย่อมต้องหวังผลประโยชน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
คำถามจึงมีอยู่ว่าเมื่อลงทุนมากขนาดนี้ แต่ "ทีวีบลูสกาย" กลับไม่มี "รายรับ" ให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเรื่องโฆษณาที่กล่าวไปแล้ว ดังนั้น จึงอาจเป็นไปได้ได้ว่ามี "ท่อน้ำเลี้ยง" ที่แบ็กอัปอยู่ข้างหลังและด้วยสไตล์นักการเมืองไทยที่ "เขี้ยวลากดิน" คงยากที่จะควักเองทั้งหมด ซึ่งผู้ที่จะเข้ามาเป็นตัวช่วยก็คงหนีไม่พ้น "เอกชน" ที่มักส่ง "ท่อน้ำเลี้ยง" แบบไม่ออกหน้า เพื่อหวังว่าหากเกิดการผลัดเปลี่ยนอีกครั้ง ตัวเองจะได้สิ่งที่ดีกว่าในภายภาคหน้านั้นเอง
และจะว่าไปแล้ว "ทีวีบลูสกาย" ก็น่าจะหนีไม่พ้นวงจรอุบาทว์เช่นนี้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง และคงถูกล้วงควักกันอีกยกใหญ่ เพราะความคาบเกี่ยวระหว่าง "การเมือง" กับการแสวงผลประโยชน์ เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และมีความผิดตามกฎหมายด้วย
และในเมื่อความเกี่ยวพันของ "ทีวีบลูสกาย" กับ "ฝ่ายการเมือง" โดยพรรคประชาธิปัตย์ถูกฉายภาพชัดเจนขนาดนี้แล้ว ก็น่าห่วงไม่น้อยว่าอีกไม่นานจะถูกเชือด โทษฐานผิดข้อห้ามรัฐธรรมนูญ นอกจากมาตรา 48 เกี่ยวกับการเป็นเจ้าของสื่อแล้ว ที่บัญญัติไว้ว่า
"ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์หรือโทรคมนาคม มิได้ ไม่ว่าในนามของตนเองหรือให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นแทน หรือจะดำเนินการโดยวิธีการอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ที่สามารถบริหารกิจการดังกล่าวได้ในทำนองเดียวกับการเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการดังกล่าว"
ตีความได้ตรงตัวว่า ฝ่ายการเมืองห้ามเข้าไปข้องแวะกับสื่อ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แม้แต่ผ่าน "นอมินี" ก็ไม่ได้เด็ดขาด
นอกจากนั้น ยังมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 ที่ว่าด้วยเรื่อง "การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์" ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "ห้าม ส.ส. และ ส.ว.รับ หรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม"
มาถึงวันนี้แล้ว คงจะทำให้พลพรรคประชาธิปัตย์หนาวๆร้อนๆได้เหมือนกัน เพราะหากท้ายที่สุดแล้วมีการพิสูจน์ได้ว่า มีการชี้ขาดว่า ความเกี่ยวพันกับ "ทีวีบลูสกาย" ผ่านตัวแทน หรือเส้นทางการเงิน ก็จะทำให้แม้แต่ตำแหน่ง ส.ส.ฝ่ายค้านก็ยังไม่สามารถรักษาไว้ได้ โดยคนที่โดนสอยส่วนใหญ่ก็เป็นระดับแกนนำแทบทั้งสิ้น
งานนี้จึงต้องจับตาเป็นพิเศษว่า การกลืนนำลายตัวเองเฮือกใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ จะนำไปสู่ความหายนะจนถึงขั้นยุบพรรคหรือไม่ก็คงต้องติดตาม และสำหรับพรรคประชาธิปัตย์เองด้วยแล้ว กรณีนี้คงจะไม่มีคำเปรียบเปรยอื่นใดใกล้เคียงไปมากกว่าสำนวนที่ว่า "ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง" แท้ๆ เชียว