รายงานการเมือง
ด้วยข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามที่สาธยายไปใน “ผ่าทะลุจอทีวีประชาธิปัตย์ ส่อผิดข้อห้ามรัฐธรรมนูญ (ตอน 1)” แล้วนั้น ชี้ให้เห็นถึงความเกี่ยวพันของบุคคลถภายในพรรคประชาธิปัตย์ กับทีวีดาวเทียมบลูสกาย ที่เพิ่งมีอายุครบ 3 เดือนไปเมื่อไม่กี่วันมานี้ เด่นชัดขึ้นทุกขณะ
ความน่าสนใจของ “ทีวีบลูสกาย” ยังไม่จบเพียงเท่านั้น ด้วยความผูกโยงกับพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งการออกโรงจัดรายการด้วยเองของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หรือในรายการอื่นๆ ที่ล้วนแต่เป็นคนของ ปชป.และเป็นบุคคลที่ใกล้ชิด “อภิสิทธิ์”แทบทั้งสิ้น
โดยเฉพาะ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ที่เคยยอมรับว่ามี “นายทุน” เสนอจัดตั้งทีวีให้กับพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นธรรมดาที่ว่า พลพรรคประชาธิปัตย์ทุกคนจะออกมาให้การปฏิเสธแสดงความเป็น “เจ้าของ” สื่อทีวีโลโก้สีฟ้าช่องนี้ตามที่หลายฝ่ายคาดไว้ไม่ผิด
ทั้ง “สุเทพ” ที่ถูกจับตามองว่าเป็น “โต้โผใหญ่” หรือ “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” ที่คนใกล้ชิดเข้าไปนั่งเป็นบอร์ด แถมส่งทีมงาน “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” เข้าไปเสริมก็ปัดพัลวันว่า ไม่เกี่ยวข้องกับตัวเอง
ตลอดจน “เทพไท เสนพงศ์” พิธีกรประจำรายการ “สายล่อฟ้า” ที่นั่งยันนอนยันว่า ไม่เกี่ยวกับพรรค เป็นเรื่องของกลุ่มบุคคลที่ต้องการทำ “สื่ออิสระ” อ้างด้วยว่า ที่เห็นคนในพรรคประชาธิปปัตย์ไปออกรายการ เป็นเรื่องธรรมดาของนักการเมือง ที่สามารถออกสื่อแขนงต่างๆ ได้ตามคำเชิญ
ที่เสียงดังที่สุดน่าจะเป็น “เถกิง สมทรัพย์” ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการสถานี ที่ยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์ใดๆทั้งสิ้น
ถึงแม้บอกปัดเสียงแข็งขนาดนี้ แต่ถึงป่านนี้คงไม่มีใครโง่ที่จะเชื่อว่า ทีวีบูลสกายกับพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เกี่ยวดองกัน
เวลาย่อมเป็นกุญแจไขไปเห็นความจริง เรื่องของทีวีประชาธิปัตย์แม้จะเป็นที่จับตามอง แต่ในระยะเริ่มแรกก็ยังไม่มีใครปักใจเชื่อร้อยเปอร์เซนต์ว่า ทีวีช่องนี้เป็นของประชาธิปัตย์ หรือประชาธิปัตย์มีเอี่ยวอยู่ด้วย จนกระทั่งออกอากาศได้เพียง 3-4 วัน เหตุการณ์ก็ฟ้องเมื่อมีการยกกองไปสัมภาษณ์พิเศษ “อภิสิทธิ์” ถึงที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ ตรงนี้เองที่ใครๆ ก็ “ฟันธง” เลยว่า “ทีวีสีฟ้า” ของพรรคการเมืองเก่าแก่กำเนิดเกิดขึ้นแล้ว
ที่สำคัญเมื่อขนาด “หัวหน้าพรรค” โดดลงมาเล่นเอง ไม่มีซ่อนเร้นหรือเขินอาย ก็เท่ากับว่ามี “ไฟเขียว”จากระดับผู้บริหารให้เปิดแนวรบเต็มตัว ตามที่ได้สรุปบทเรียนกันไว้หลังพ่ายเลือกตั้งจนตกบัลลังก์อำนาจ
ทำให้ “วาทกรรม” ที่เคยโจมตี “ทักษิณ ชินวัตร-พรรคเพื่อไทย-คนเสื้อแดง” ว่าเข้าไปควบคุมสื่อรัฐ แทรกแซงสื่อเอกชน และหนักถึงขั้นเปิดสื่อเป็นของตัวเอง เหล่านี้ย้อนกลับมาเป็นเหมือน “งูยักษ์” ที่พาดพันคอพรรคประชาธิปัตย์เอง และข้อหาเหล่านี้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็น เหตุผลในการยื่นถอดถอนคนของพรรคเพื่อไทยมาแล้วหลายหน แต่ก็ต้องยอมรับว่า ไม่เคยมีผลทางการปฏิบัติแม้แต่เรื่องเดียว
ขณะที่ฝ่ายพรรคเพื่อไทยก็สบช่อง “เอาคืน” ส่ง “พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์” โฆษกพรรค ออกมาคำรามขู่จะยื่นถอดถอน “อภิสิทธิ์-สุเทพ” บ้าง ฐานมีส่วนเกี่ยวข้องกับทีวีบลูสกาย โดยขอตรวจสอบและรวบรวมหลักฐานอีกซักระยะ
เหตุเพราะขัดกับ “กติกา” ที่วางระยะห่างของ “นักการเมือง-สื่อ” ไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 48 ที่บัญญัติไว้ว่า
“ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์หรือโทรคมนาคม มิได้ ไม่ว่าในนามของตนเองหรือให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นแทน หรือจะดำเนินการโดยวิธีการอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ที่สามารถบริหารกิจการดังกล่าวได้ในทำนองเดียวกับการเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการดังกล่าว”
ตีความได้ตรงตัวว่า ฝ่ายการเมืองห้ามเข้าไปข้องแวะกับสื่อ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แม้แต่ผ่าน “นอมินี” ก็ไม่ได้เด็ดขาด
แน่นอน ตรงนี้พรรคประชาธิปัตย์ย่อมไม่ยอมรับ เข้าอีหรอบเดียวกับแกนนำพรรคเพื่อไทย-คนเสื้อแดง ที่ว่าไม่เคยอยู่เบื้องหลังทีวีช่องเอเชียอัพเดท หรือสื่อสีแดงอื่น แต่พรรคประชาธิปัตย์จะคิดว่า “ผลลัพธ์” จะออกมาเหมือนเมื่อครั้งตัวเองยื่นฟ้องฝ่ายตรงข้าม ก็คงต้องบอกว่า ประมาทย่ามใจเกินไปสำหรับพรรคการเมืองเก่าแก่ที่มีมือกฎหมายระดับเขี้ยวลากดินขวักไขว่อยู่เต็มพรรค
เพราะนอกจากรายนาม “คนเลือดสีฟ้า” ที่ระดมกันมาทำงานให้ทีวีบลูสกายแล้ว อีกคนที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า “เถกิง” ผู้ก่อตั้งสถานี ก็มีชื่อ “วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อยู่ด้วย
เป็น “รศ.วรรณธรรม” คนเดียวกับที่ไปนั่งเป็นอดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี) สมัยประชาธิปัตย์เรืองอำนาจ
จึงไม่แปลกที่มีกระแสข่าว “มฤตยูดำแห่ง จ.สุราษฎร์ธานี” เป็น “นายทุนใหญ่” ของทีวีดาวเทียมแห่งนี้
ย้อนไปเมื่อปีก่อน ฝ่ายประชาธิปัตย์เองก็ตั้งแง่กับ “เอเชียอัพเดท” ว่าเต็มไปด้วยคนจากพรรคเพื่อไทย “อนุดิษฐ์ นาครทรรพ - จิรายุ ห่วงทรัพย์ - การุณ โหสกุล” ตลอดจนกรรมการผู้จดทะเบียนที่ชื่อ “จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ” ก่อนที่จะถอนสมอมากินตำแหน่งเลขาธิการพรรค และขึ้นชั้น รมว.คมนาคมในวันนี้ ทำให้วันนี้หากสแกนจริงๆ แล้ว ก็จะพบชื่อ “อดิศร เพียงเกษ” อดีตคนไทยรักไทย นั่งเป็นประธานสถานีอยู่เท่านั้น หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยจึงไม่ชัดเจน
ฝ่ายพรรคเพื่อไทยหลุดพ้นไปแล้ว มาวันนี้พรรคประชาธิปัตย์ต้องเผชิญชะตากรรมบ้าง เพราะคนนั่งกุมบังเหียนทีวีบลูสกายอยู่นั้นระดับ “นอมินี” ของแกนนำพรรคทั้งสิ้น
ไม่เท่านั้นเรื่องของเงินๆ ทองๆ ของทีวีบลูสกายก็ยังเป็นเรื่อง “เร้นลับในมุมมืด”รอวันถูกขยายผลอยู่ เพราะเรื่องราวที่มีกลิ่นตุๆของสถานีนี้มีตั้งแต่เมื่อเริ่มจดทะเบียน ตามข้อมูลที่ปรากฏในสารบบของบกรมพัฒนาธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าทีวีช่องนี้ดำเนินการโดย บริษัท บลู สกาย แชนแนล จำกัด ซึ่งเพิ่งจดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2554 ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท มีที่ตั้งอยู่เลขที่ 2170 อาคารกรุงเทพทาวเวอร์ ชั้น 8 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กทม. 10310
ย้ำอีกครั้งจดทะเบียนวันที่ 21 ต.ค.2554 ก่อนการออกอากาศวันแรก 2 พ.ย. 2554 เพียง 10 วันเท่านั้น แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของทีมงาน ที่สำคัญคือเรื่อง “เงินทุน” ที่หนาแน่นปึ้กสุดๆ
ขณะที่ผู้ดำเนินรายการระดับ “แม่เหล็ก” ที่แห่แหนมาร่วมงานอีกหลายคน ที่รู้กันว่า “ค่าเหนื่อย” ของบุคคลากรระดับนี้แพงระยับ ค่าตัวแต่ละคนไม่ต่ำกว่า 6 หลักต่อเดือน อีกทั้งเงินเดือนล่อใจทีมงานระดับสตาฟก็ใช่ย่อย เริ่มต้นกันที่ 15,000 บาทสำหรับคนหน้าใหม่เลยทีเดียว
แสดงให้เห็นว่า “รายจ่าย” ของทีวีบลูสกายในช่วงตั้งไข่ไม่ธรรมดา
ยิ่งเมื่อมองในส่วนของ “รายรับ” ก็ยิ่งน่าสนใจ เมื่อปรากฏว่า ทีวีที่ออนแอร์บวกรีรันตลอด 24 ชั่วโมงแห่งนี้ แทบไม่มีโฆษณา หรือผู้ให้การสนับสนุนอย่างเป็นทางการให้เห็น เฉกเช่นสถานีโทรทัศน์อื่นๆ เทียบไม่ได้แม้แต่ทีวีดาวเทียมขายตรง ที่ดูจะมีช่องทางธุรกิจที่ดูดีกว่า
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ธุรกิจสื่อทีวีต้องใช้งบประมาณในการลงทุนสูง ว่ากันว่าหากเป็นในอดีตการลงทุนสื่อจะต้องมีต้นทุนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทเพื่อสถานีวิทยุ 1 คลื่น ขณะที่การเปิดสถานีฟรีทีวี 1 ช่องต้องลงทุนระดับพันล้านถึงหมื่นล้านบาท สำหรับทีวีดาวเทียม 1 ช่องในยุคนี้ก็ต้องใช้เม็ดเงินราว 30-50 ล้านบาท การลงทุนระดับนี้แน่นอนย่อมต้องหวังผลประโยชน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
โดยเฉพาะ “กำไร” ทางธุรกิจ
ไม่นานมานี้ “สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม” แห่งทีนิวส์ วิเคราะห์ว่า นอกจากเงินทุนในการวางระบบของสถานีแล้ว ทีวีดาวเทียมยังมีต้นทุนรายวัน ระดับต่ำๆก็เริ่มต้นตั้งแต่ 10 ล้านบาทต่อเดือนขึ้นไป
งบประมาณขนาดนี้คงไม่มีใครมา “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” อย่างแน่นอน ไม่ว่าใครก็หวังแสวงหาผลประโยชน์กันทั้งสิ้น
คำถามมีว่าเมื่อลงทุนมากขนาดนี้ แต่ “ทีวีบลูสกาย” กลับไม่มี “รายรับ” ให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเรื่องโฆษณาที่กล่าวไปแล้ว ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่ามี “ท่อน้ำเลี้ยง” ที่แบ็คอัพอยู่ข้างหลัง
และด้วยสไตล์นักการเมืองไทยที่ “เขี้ยวลากดิน” คงยากที่จะควักเองทั้งหมด ซึ่งผู้ที่จะเข้ามาเป็นตัวช่วยก็คงหนีไม่พ้น “เอกชน” ที่มักส่ง “ท่อน้ำเลี้ยง” แบบไม่ออกหน้า หรือเป็น “อีแอบ” ในยามที่สนับสนุนฝ่ายอำนาจเก่า เพื่อหวังว่าหากเกิดการผลัดเปลี่ยนอีกครั้ง ตัวเองจะได้สิ่งที่ดีกว่าในฐานะสปอนเซอร์ที่ให้การจุนเจือกันในยามยาก
“ทีวีบลูสกาย” ก็น่าจะหนีไม่พ้นวงจรอุบาทว์เช่นนี้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง และคงถูกล้วงควักกันอีกยกใหญ่ เพราะความคาบเกี่ยวระหว่าง “การเมือง” กับการแสวงผลประโยชน์ เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และมีความผิดตามกฎหมายด้วย
และในเมื่อความเกี่ยวพันของ “ทีวีบลูสกาย” กับ “ฝ่ายการเมือง” โดยพรรคประชาธิปัตย์ถูกฉายภาพชัดเจนขนาดนี้แล้ว ก็น่าห่วงไม่น้อยว่าอีกไม่นานจะถูกเชือด โทษฐานผิดข้อห้ามรัฐธรรมนูญ นอกจากมาตรา 48 เกี่ยวกับการเป็นเจ้าของสื่อแล้ว ยังมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 ที่ว่าด้วยเรื่อง “การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์” ซึ่งบัญญัติไว้ ว่า “ห้าม ส.ส.และ ส.ว. รับ หรือแทรกแซง หรือก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม”
และใน (4) ระบุว่า ไม่กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 48
ย่อมหมายถึงการตอกย้ำไม่ให้นักการเมืองเข้าไปมีส่วนพัวพันเกี่ยวข้องเป็นเจ้าของสื่อทุกประเภทไม่ว่าจะโดยตรงและทางอ้อม ตรงนี้ก็ทำให้พลพรรคปราธิปัตย์หนาวๆ ร้อนๆ ได้เหมือนกัน เพราะหากท้ายที่สุดแล้วมีการพิสูจน์ได้ว่า มีการชี้ขาดว่าความเกี่ยวพันกับ “ทีวีบลูสกาย” ผ่านตัวแทน หรือเส้นทางการเงิน ก็จะทำให้แม้แต่ตำแหน่ง ส.ส.ฝ่ายค้านก็ยังไม่สามารถรักษาไว้ได้ โดยคนที่โดนสอยส่วนใหญ่ก็เป็นระดับแกนนำแทบทั้งสิ้น
การเปิดแนวรบ “ทีวีดาวเทียม” เป็นการก้าวเดินเข้าสู่สมรภูมิที่ ปชป.ต้องกรำศึกหนักหลายด้าน อาจต้องพบความหายนะในอนาคตมากกว่าจะประมาณได้ เพราะความอิจฉาโดยแท้ เห็นเขาได้ดีก็เลยทำตามอย่างเขา