รายงานการเมือง
ปรากฏการณ์ที่ “คนการเมือง” กระโจนเข้าสู่วงการ “สื่อ” เพื่อหวังใช้เป็นกระบอกเสียงให้กับตัวเองและพรรคมีให้เห็นอยู่กลาดเกลื่อน โดยเฉพาะกับสื่อทีวีดาวเทียม-เคเบิล จน “ทีวีการเมือง” ผุดขึ้นมาให้เห็นดาษดื่น
เหตุสำคัญที่ฝ่ายการเมืองหันมาให้ความสนใจกับการสร้างสื่อเป็นของตัวเอง หลักๆ คือในเรื่องของพื้นที่นำเสนอข้อมูลที่มีอย่างกว้างขวาง ไม่จำเป็นต้องแย่งชิงเวลาในฟรีทีวี ที่มีมูลค่าสูง และค่อนข้างมีข้อจำกัด
ชัดเจนแจ่มแจ้งที่สุดต้องยกให้ “ทีวีเสื้อแดง” ผ่านกระบวนการพัฒนาปรับรูปแบบกันมาหลายหนในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาตามสถานการณ์การเมืองในแต่ละช่วง ตั้งแต่ “พีทีวี-ดีสเตชั่น-พีเพิลแชนแนล” ที่ถูกไล่สั่งปิดด้วยข้อหาปลุกระดมล้มรัฐบาลประชาธิปัตย์ในช่วงปี 2552-53
ก่อนให้กำเนิด “สถานีเอเชียอัพเดท” หรือที่รู้จักกันในนาม “ดีเอ็นเอ็น” อย่างในปัจจุบัน
ยากจะปฏิเสธว่า ชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2554 ของพรรคเพื่อไทยนั้น “เอเชียอัพเดท” มีบทบาทสำคัญยิ่งในฐานะตัวช่วย เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงหาเสียงเลือกตั้ง สถานีแห่งนี้นำเสนอข่าวสาร บทวิเคราะห์การเมือง ประชาสัมพันธ์ ส่งผ่านถึงคนเสื้อแดงทั่วประเทศ แปรเปลี่ยนเป็น 15 ล้านเสียงที่ส่งให้พรรคเพื่อไทยได้ขึ้นเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางการเมือง และวงการสื่อทีวีด้วย เนื่องเพราะหลังการเลือกตั้งได้มีการทำคลอด สถานีโทรทัศน์บลูสกายแชนแนล (Blue Sky Channel) ออกมาเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ย. 2554 ที่ผ่านมา ซึ่งถูกมองว่าสถานีโทรทัศน์ “บลูสกาย”เป็นกระบอกเสียงของ “พรรคประชาธิปัตย์”
เพราะมีการสรุปบทเรียน ก่อนเห็นพ้องร่วมกันว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง คือการมีสื่ออยู่ในมือ โดยเฉพาะช่องเอเชียอัพเดทที่ถ่ายทอดสดการปราศรัยใหญ่ของพรรคเพื่อไทยทุกครั้ง กระทั่งส่ง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้
แม้การเปิดตัว “บลูสกาย” จะไม่ฮือฮาเปรี้ยงปร้าง เพราะช่วงนั้นกำลังอยู่ในวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ แต่ช่องบลูสกายก็เป็นที่จับตามอง โดยเฉพาะในแวดวงการเมืองที่เชื่อว่า “ทีวีสีฟ้า” น่าจะผูกโยงกับพรรคประชาธิปัตย์ เหตุเพราะสีประจำช่องนั้นตรงกับสีประจำพรรคอย่างจัง และมีการเคลื่อนไหวจัดตั้งกันอย่างคึกคักโดยมีคนประชาธิปัตย์บงการอยู่เบื้องหลังแบบไม่ลับ
อีกทั้งก่อนหน้านี้ “คีย์แมน” คนสำคัญของพรรคเก่าแก่อย่าง “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตเลขาธิการพรรค ก็ยอมรับภายหลังแพ้เลือกตั้งอย่างหลุดลุ่ยว่า จะรับผิดชอบด้วยการวางมือจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค และไปจัดการให้มีช่องทางการสื่อสารระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับประชาชนโดยตรง เพื่อให้การเข้าถึงมวลชนของพรรคขยายวงกว้างมากกว่าที่เป็นอยู่
หรือย้อนไปก่อนหน้านั้นเมื่อช่วงเดือน ก.พ. 2554 ในสมัยที่ “สุเทพ” ยังเรืองอำนาจในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ก็เคยปรารภไว้ในการการปฐมนิเทศ “รุ่นใหม่อนาคตไทย” ของพรรคประชาธิปัตย์ว่า “มีคนบางกลุ่มที่เตรียมจะก่อตั้งมูลนิธิรักประชาธิปัตย์ เพื่อนำเงินมาจัดทำสถานโทรทัศน์ของพรรคเอง”
หรือพูดง่ายๆ ว่ามี “นายทุน” พร้อมที่จะลงขันเปิดทีวีของพรรค เพื่อต่อสู้กับทีวีของเสื้อแดงที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยนั้นเอง แต่ด้วยห้วงเวลาที่เข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ทำให้ข่าวคราวเงียบหายไป กว่าจะมาเป็นรูปเป็นร่างก็หลังจากเสียท่าให้คู่ต่อสู้ไปแล้ว
สอดรับกับถ้อยคำสัมภาษณ์ของ “ขุนพลอีสาน” ของพรรคอย่าง “วิฑูรย์ นามบุตร” ที่เปิดเผยกับ “นิตยสาร Vote รายปักษ์” ว่า “การเมืองไม่ได้แค่สู้บนดิน หรือใต้ดินแล้ว ยังมีสงครามทางอากาศที่เลือกตั้งหนล่าสุด ประชาธิปัตย์แพ้ ทำให้วันนี้จึงปฏิเสธทีวีดาวเทียมไม่ได้แล้ว”
แสดงว่าคนในพรรคประชาธิปัตย์เองก็ไม่ได้ปฏิเสธ การที่จะมีทีวีเป็นสื่อของตัวเอง
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่าทีวีดาวเทียมช่องบลูสกายนี้ ดำเนินการโดยบริษัท บลู สกาย แชนแนล จำกัด ก่อตั้งเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2554 ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ออฟฟิตอยู่ที่อาคารกรุงเทพทาวเวอร์ ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ และเมื่อสาวเข้าไปถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับทีวีช่องนี้ก็ยิ่งพบสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับพรรคประชาธิปัตย์ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ไล่ตั้งแต่ “เถกิง สมทรัพย์” ในฐานะ “ผู้ก่อตั้ง” และผู้อำนวยการสถานี ที่มีปูมหลังขลุกอยู่ในวงการสื่อมาช้านาน เคยเป็นอดีตนายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อดีตรองผู้อำนวยการไทยพีบีเอส อดีตผู้บริหารสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ เอฟเอ็ม 105 เมกะเฮิรตซ์ เป็นต้น
ที่น่าสนใจที่สุดคือ อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท ว็อชด็อก จำกัด ที่มีเจ้าของชื่อ “เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง” อดีต ส.ว.คนดังที่ถือหางพรรคประชาธิปัตย์มาตลอด
แม้ความสัมพันธ์ “เถกิง-เจิมศักดิ์” จะระหองระแหงไม่ลงรอยกันแล้ว แต่ด้วยหลักคิดแนวทางต่อสู้กับ “ระบอบทักษิณ” มาด้วยกัน ก็ทำให้แม้แยกกันเดินแต่ทั้งคู่ก็มา “ผูกเสี่ยว” กับพรรคประชาธิปัตย์อยู่เช่นเดิม โดย “เจิมศักดิ์” มีโอกาสได้รีเทิร์นเข้าสู่วงจรฟรีทีวีอีกครั้ง ได้ทำรายการในช่องเอ็นบีที ทั้ง “คลายปม - ลงเลยอย่างไร” ที่มีเนื้อหาโจมตี “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” อย่างชัดเจน ก่อนหลุดผังไปตามคาดหลังผลัดเปลี่ยนอำนาจ ขณะที่ “เถกิง” ก็ใช่ย่อยเข้าไปใกล้ชิดกับ “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” สมัยที่ทำหน้าที่คุมสื่อ จนได้คุมรายการช่วงไพรม์ไทม์ของเอ็นบีทีอยู่ระยะหนึ่ง
นอกเหนือจาก “เถลิง” แล้ว เมื่อสำรวจตรวจสอบยังพบกรรมการของบลูสกายหลายคนที่ชื่อคุ้นหู ทั้ง “บุรฤทธิ์ ศิริวิชัย” หน้าห้องของ “กรณ์ จาติกวนิช” อดีต รมว.คลัง “วิทเยนทร์ มุตตามระ” อดีตเลขานุการ รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี (สาทิตย์ วงศ์หนองเตย) และอดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.ของพรรค
ไม่พียงเท่านั้น “ผังรายการ” ก็ยังชี้ชัดให้เห็นว่าทีวีช่องนี้กับพรรคประชาธิปัตย์แทบจะแยกกันไม่ออก ชัดที่สุดกับรายการ “ฟ้าวันใหม่” ซึ่ง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มานั่งจ้อจัดรายการด้วยตัวเอง จันทร์ถึงวันศุกร์ ประมาณหนึ่งชั่วโมงหลังเคารพธงชาติ 8 โมงเช้า
“ถนอม อ่อนเกตุพล” อดีตโฆษก กทม. และอดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กับรายการ “อาสาฯประชาชน” หรือ “อัญชะลี ไพรีรัก” สายตรง “เสี่ยไก่” จุติ ไกรฤกษ์ ที่รับผิดชอบ “ข่าวยามเย็น”
ขณะที่อดีต รมว.ต่างประเทศ “กษิต ภิรมย์” ควงคู่อดีตโฆษกรัฐบาล “ปณิธาน วัฒนายากร” ในรายการ “ข้ามขอบฟ้า” ที่เกี่ยวกับเหตุบ้านการเมืองทั่วโลก ตลอดจนถึง “สายล่อฟ้า” ที่รวมเอาคนหนุ่มของพรรค “ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต - ศิริโชค โสภา - เทพไท เสนพงษ์” มานั่งจัดรายการร่วมกัน
จากผังรายการ และรายชื่อผู้ร่วมรายการ ก็ไม่ต่างจาก “ทีวีเสื้อแดง” ที่มีคนในพรรคเพื่อไทย และลิ่วล้อในระบอบทักษิณ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาจัดรายการ อย่าง “ชวนนท์ - ศิริโชค - เทพไท” ก็ไม่ต่างจากสามเกลอ “วีระ มุสิกพงศ์ - จตุพร พรหมพันธุ์ - ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” เมื่อตอนที่ยังเป็นดี-สเตชั่นอยู่ หรือที่ “อภิสิทธิ์” โผล่หน้าหล่อๆออกมาทุกวันคล้ายกับรายการ “ชูธง” ที่ “จตุพร” นั่งจัดอยู่คนเดียวทางดีเอ็นเอ็น หลัง “ณัฐวุฒิ” ขยับไปเป็นรัฐมนตรี
หากจำกันได้เมื่อครั้ง “ทีวีเสื้อแดง” รุกหนักประกาศตัวเป็นศัตรูกับ “อภิสิทธิ์” สมัยที่เป็นายกฯ ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์เองก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม และสร้างความขัดแย้ง แต่ท้ายที่สุด “พรรคแมลงสาบ” ที่อยู่ยงคงกระพันก็ต้องมาเดินรอยตามคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทย
ไม่เท่านั้น เพราะเป็นที่รู้กันอีกว่าในส่วนของ “ทีวีสีแดง” ที่เชียร์ “ทักษิณ - เพื่อไทย - เสื้อแดง” ไม่ได้มีแต่เพียง “เอเชียอัพเดท” เท่านั้น เพราะยังมีสื่อแดงที่ลดเฉดสีลงมาอย่าง