xs
xsm
sm
md
lg

บริหารน้ำท่วมเหลวโร่ฟ้องศาลปค."ปู"จี้เร่งฟื้นฟูเยียวยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ชาวบ้านยื่นศาลปค.ฟ้องรัฐบาลบริหารน้ำท่วมผิดพลาด "มาร์ค" ชี้รายงานศปภ.ยอมรับเองไม่ผันน้ำไปฝั่งตอ. เป็นการบริหารน้ำท่วมผิดพลาด เตรียมระดมสมองรับมือปัญหาน้ำท่วม สรุปผลต้นมค. แฉรัฐหว่านงบจัดเต็มประชานิยม เมินจัดลำดับความสำคัญแก้ปัญหาน้ำท่วม กลับเล่นแร่แปรธาตุเตรียมกู้เงิน 1.6 ลล. อ้างวิกฤตน้ำท่วมเปิดทางแก้กม. แบงค์ชาติ ซ่อนหนี้ในสถาบันการเงิน "ยิ่งลักษณ์" สั่ง 4 กระทรวงเร่งเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย แจกคูปองส่วนลดซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า 2,000 บาท

***ยื่นฟ้องรบ.บริหารน้ำท่วมเหลว

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยรวม 352 คน ได้ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) รมว.เกษตรและสหกรณ์ ผู้ว่าฯกทม. และพวกรวม 11 หน่วยงาน ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลฯ มีคำพิพากษาให้นายกรัฐมนตรีและพวกร่วมกันรับผิดชอบต่อความเดือดร้อนเสียหาย อันเนื่องมาจากความผิดพลาด ล้มเหลว ละเลย ละเมิดหรือการประมาทเลินเล่อ จากการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาอุทกภัยของนายกรัฐมนตรีและพวก โดยจ่ายเงินค่าชดเชยค่าเสียหายชาวบ้านที่ฟ้องคดีตามความเป็นจริงทุกคน และขอให้ศาลพิพากษาให้นายกรัฐมนตรี หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการ รายละเอียดที่เป็นรูปธรรมที่สามารถสร้างความมั่นใจต่อประชาชนว่า จะสามารถแก้ปัญหาพิบัติภัยประเภทนี้ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้และไกลได้ ภายใต้กระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและประชาสังคม รวมทั้งให้คณะรัฐมนตรีจัดตั้งกองทุนสวัสดิการเพื่อฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยรัฐจัดสรรงบประมาณให้ปีละไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาท และเพิ่มขึ้นทุก ๆ ร้อยละ 5 ของอัตราเงินเฟ้อของประเทศ โดยการบริหารจัดการโดยภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

*** "มาร์ค"ชี้ ศปภ.ไม่ผันน้ำไปตอ.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังการประชุมครม.เงา ว่าที่ประชุมได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม และจะมีการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับบทเรียนที่เกิดขึ้นในวันศุกร์ที่ 23 ธค. นี้ เพื่อเก็บข้อมูลและทำรายงานเบื้องต้น คาดว่าปลายเดือนนี้ หรือต้นเดือนมกราคมจะสรุปเป็นรายงานออกมา ทั้งนี้ มีข้อสังเกตเกี่ยวกับรายงานของศปภ. ที่ทำถึงครม.ระบุเป็นครั้งแรกว่ามีการเบี่ยงน้ำไม่ให้ผ่านไปทางพื้นที่ฟลัดเวย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนได้ตั้งข้อสังเกตมาโดยตลอดว่าปลายทางที่จะระบายน้ำไปสู่ทะเลในพื้นที่ตะวันออกของกรุงเทพไปสมุทรปราการ กลับไม่มีการผันน้ำไป เท่ากับว่ารัฐบาลไม่ได้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่ในการระบายน้ำลงทะเล และศปภ.ก็เป็นคนยอมรับเรื่องนี้เป็นครั้งแรกว่าตั้งใจที่จะไม่ให้น้ำไปเส้นทางดังกล่าว ซึ่งเป็นจุดที่จะต้องมีการประเมินทบทวนในแง่การบริหารจัดการ

“การรายงานของศปภ.ทำให้เห็นว่าการลงทุนในระบบระบายน้ำทั้งหมด กลับไม่มีการใช้ ต้องตอบคำถามว่าเป็นเพราะอะไร ซึ่งจะมีความสำคัญกับการวางแนวทางในอนาคต เพราะถ้าคราวนี้รัฐบาลไม่ได้ใช้ประโยชน์จากฟลัดเวย์ หากจะมีการลงทันใหม่เพื่อสร้างฟลัดเวย์จะมั่นใจได้อย่างไรว่ารัฐบาลจะบริหารจัดการ ดังนั้นรัฐบาลต้องอธิบายมากกว่านี้ และศปภ.ก็ยังไม่รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประตูระบายน้ำฝั่งตะวันตกที่ชำรุด 13-14 จุด ทำให้ฝั่งธนท่วมมากและนานกว่าปกติ ซึ่งต่างชาติก็จับตาดูอยู่ว่ารัฐบาลมีการประเมินสถานการณ์ที่ผ่านมาเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างไร สอดคล้องกับความจริงหรือไม่ ที่น่าเป็นห่วงคือมีความพยายามที่จะสรุปว่าการบริหารจัดการน้ำครั้งนี้เป็นเพราะจังหวัด หรือนิคมอุตสาหกรรมไปกั้นน้ำ ทั้งที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงเนื่องจากรัฐบาลก็ส่งตัวแทนไปร่วมกับนิคมอุตสาหกรรมเพื่อปกป้องนิคมด้วย ถือเป็นการปัดความรับผิดชอบ”

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะรัฐบาลไม่ใช้อำนาจเข้าไปบริหารจัดการอย่างเหมาะสม หากเห็นว่ามีการกั้นน้ำที่กระทบกับยุทธศาสตร์การกระบายน้ำ ก็ต้องใช้อำนาจรัฐเข้าไปจัดการ ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดความเสียหายแล้วไปโยนความผิดให้เอกชน เพราะทุกคนก็พยายามป้องกันตัวเอง เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลให้การป้องกันตัวเองสอดคล้องกับนโยบายการแก้ปัญหาของรัฐ จึงมีความเป็นห่วงว่าเมื่อรัฐบาลยังไม่ยอมรับความจริงจะทำให้ไม่มีการสรุปบทเรียนที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และการรายงานของศปภ.ที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงจะยิ่งทำให้เกิดคำภามตามมาในเรื่องการป้องกันในอนาคต

“ผมคิดว่ารัฐบาลพยายามปรับไม่ให้เป็นปัญหาในเรื่องการบริหารจัดการ แต่ความจริงนักลงทุนไม่ได้คิดเรื่องนี้เพราะไม่มีใครคิดจะไล่ล่าหาความรับผิดชอบ แต่ต้องการความจริงเพื่อให้เกิดการปรับปรุง ถ้าไม่ยอมรับก็แก้ไข หรือป้องกันไม่ได้”

*** ปชป.ตรวจสอบการใช้งบฯ
 

นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งมีตัวเลขหลายส่วนที่มีปัญหา โดยพรรคจะให้คณะกรรมาธิการติดตามงบประมาณเข้าไปตรวจสอบ เช่น ปริมาณข้าวกล่องที่สูงเกินความเป็นจริง และการอนุมัติเงิน ทั้งงบประมาณและเงินบริจาค ผ่านช่องทางที่ไม่เหมาะสมขณะเดียวกันในส่วนที่รัฐบาลกำลังเตรียมการกู้เงินหรือใช้ธนาคารแห่งประเทศไทยมาเป็นผู้ปล่อยเงินกู้จะต้องมีการแก้กฏหมาย จึงได้มอบหมายให้นายกรณ์ จาติกวนิช นายจุติ ไกรกฤษ์ และนายสรรเสริญ สะมะลาภา ไปดูภาพรวมการใช้จ่ายทั้งหมด และยังมีข้อสังเกตเบื้องต้นว่ารัฐบาลจะอ้างภาวะวิกฤตน้ำท่วมมาเปิดช่องทางให้มีการกู้เงินหรือให้สถาบันการเงินของรัฐรับภาระแทน แต่ส่วนที่เป็นงบประมาณของรัฐบาลยังนำไปใช้จ่ายในโครงการที่ไมจำเป็นของรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน แต่เป็นลักษณะประชานิยม เท่ากับพยายามผลักภาระการแก้ปัญหาน้ำท่วมไปสู่อนาคต แต่พร้อมที่จะใช้จ่ายเงินอย่างเต็มที่กับนโยบายของรัฐบาล ทั้งที่ลำดับความสำคัญ และความเร่งด่วนมีน้อยกว่าปัญหาน้ำท่วม
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าการที่รัฐบาลผลักภาระไปไว้ที่สถาบันการเงินเท่ากับเป็นการซุกหนี้ไปไว้ที่ธนาคาร เพราะรัฐบาลจะอ้างว่าไม่มีงบประมาณมาแก้ปัญหาน้ำท่วมเนื่องจากนำไปทุ่มเทกับนโยบายของตนเอง และนำมาเป้นเหตุผลในการแก้กฏหมาย รวมถึงออกกกหมายกู้เงินเป็นกรณีพิเศษ และใช้เงินจากธนาคารของรัฐรวมถึงใช้เงินของธปท. ซึ่งมีการพูดวงเงินสูงถึง 1.6 ล้านล้านบาท และเป็นเรื่องของเงินกู้ทั้งหมด โดยจะมีการขยายเพดานการกู้เงินเป็นกรณีพิเศษ หรือเอาภาระบางส่วนไปไว้ที่ธนาคารของรัฐก่อน จากนั้นค่อยย้อนกลับมาเป็นปัญหาของรัฐบาลในภายหลัง ซึ่งตนเป็นห่วงว่าหากบริหารบ้านเมืองเช่นนี้จะทำให้ประเทศอยู่ในภาวะเสี่ยง จึงได้ย้ำเสมอตั้งแต่การพิจารณาร่างพ.ร.บ.บประมาณรายงายปี 55 วาระ1 ว่ารัฐบาลควรจัดลำดับความสำคัญ โครงการและ จัดทำแผนการคลังระยะปานกลาง ไม่ใช่หาเงินทีละก้อน โดยไม่ดูในภาพรวมการบริหารการคลังว่าเป็นอย่างไร

***แจกส่วนลดซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า
 

วานนี้ (21 ธ.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการแถลงข่าว โครงการช่วยเหลือด้านพลังงานแก่ปะชาชนและผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัยปี 2554 พร้อมด้วยนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พลังงาน นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า อุทกภัยในครั้งนี้ทำให้เกิดความสูญเสียอย่างมากในภาคอุตสาหกรรม และภาคอื่นๆ แม้ว่ากระบวนการในการฟื้นฟูซ่อมแซม มีความจำเป็นที่ต้องหาสิ่งของทดแทน ซึ่งในส่วนของภาครัฐ ได้มีนโยบายในการดูแลทั้งสองส่วน คือ ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน ซึ่งในเบื้องต้นนโยบายต่างๆ ตามระเบียบได้มีการดำเนินการต่างๆไปแล้ว ทางรัฐบาล และกระทรวงพลังงาน ได้ร่วมทีมจะนำนโยบายและฟื้นฟู เยียวยาผู้ประสบอุกทกภัย เพื่อเป็นการผ่อนปรนจากนโยบายของกระทรวงพลังงาน ที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานทดแทน ซึ่งมีมาตรการในการฟื้นฟูจากกระทรวงพลังงาน 2 ด้าน คือ งานด้านภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน

กระทรวงพลังงานจะจัดมหกรรมสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ประหยัดไฟ เบอร์ 5 ช่วยเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย โดยมหกรรมนี้จะจัดในพื้นที่ 28 จังหวัด สำหรับกรุงเทพฯ จะจัดในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ ที่ศูนย์แสดงสินค้าไบเทค บางนา ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค.54 ถึง 4 ม.ค. 55 และในส่วนของต่างจังหวัด จะจัดพร้อมกัน ที่บริเวณศาลากลางทั้ง 28 จังหวัด ภายในงานประชาชนจะสามารถซื้อสินค้าประสิทธิภาพสูง แต่ราคาย่อมเยาว์จากกระทรวงพลังงาน โดยผู้ประสบอุทกภัยที่มาลงทะเบียน จะให้คูปองส่วนลด มูลค่า 2,000 บาท เมื่อซื้อสินค้าครบ 10,000 บาท

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่าจะออกเป็นคูปองส่วนลด 2,000 บาท มีคูปองใบละ 100 บาท จำนวน 20 ใบ จะแจกให้กับประชาชนที่อยู่ในเขตพื้นที่อพยพ เมื่อไปถึงหน้างานจะต้องมีการลงทะเบียน โดยสามารถนำบัตรประชาชน หรือสำเนาทะเบียนบ้าน มาขึ้นทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิ์รับคูปองได้ ซึ่งจะมอบให้ 1 ครัวเรือนต่อ 1 ชุดเท่านั้น สำหรับบ้านเช่า หากมีบ้านเลขที่ที่อยู่ในบริเวณน้ำท่วม ก็สามารถใช้สิทธิ์นี้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น