“อภิสิทธิ์” ยืนยันญัตติซักฟอกไม่เหนื่อยฟรี พวกที่ถูกยื่นถอดถอนต้องเดินหน้าต่อ ผิดหวัง “ประชา” ไม่ตอบข้อกล่าวหา แต่กลับเล่านิทานปล่อยน้ำล้มรัฐบาล ยกย่องพวกทำผิดกฎหมาย ชี้ “ยิ่งลักษณ์” ต้องรับผิดชอบถ้าไม่ปรับ ครม. แนะรัฐบาลดูเรื่องแรงงานได้รับผลกระทบแรง จ่ายชดเชยผู้ประสบภัยเพิ่ม พร้อมกำหนดแผนระยะกลาง ทบทวนนโยบายเร่งด่วนก่อน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการประเมินภาพรวมของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรมว่า ฝ่ายค้านไม่ถือว่าเป็นการเหนื่อยฟรี เพราะเราทำหน้าที่ในการตรวจสอบและคิดว่าประชาชนที่ได้รับฟังการอภิปรายได้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งกระบวนการถอดถอนก็ยังคงเดินหน้าต่อไปไม่ว่าใครก็ตามที่ทำผิดกฎหมาย ซึ่งถือเป็นการตรวจสอบโดยตรงและฝ่ายค้านยังได้สะท้อนให้เห็นว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมจะไม่มากขนาดนี้ถ้าบริหารจัดการอย่างตรงไปตรงมา และไม่เอาเรื่องการเมืองมาแทรกแซง ซึ่งรัฐบาลควรนำข้อมูลเหล่านี้ไปปรับปรุง
ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรียืนยันว่าจะไม่มีการปรับ ครม.นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เป็นเรื่องของนายกฯ แต่เมื่อตัดสินใจเช่นนี้ถือเป็นความรับผิดชอบของท่าน เพราะประเด็นที่ฝ่ายค้านชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวก็ยังมีให้เห็นต่อเนื่อง เช่น ความขัดแย้งของประชาชนที่ยังมีอยู่หลายพื้นที่ หากสภาพเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ นายกฯ ต้องผู้รับผิดชอบ การที่รัฐบาลให้ความไว้วางใจในครั้งนี้เท่ากับเห็นว่า พล.ต.อ.ประชาทำได้ดี ทั้งที่ข้อมูลที่ปรากฎออกมานั้นสะท้อนมาจากประชาชน ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกที่ชัดเจน และยังไม่เห็นว่า พล.ต.อ.ประชาไม่ได้ชี้แจงข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านเลย มีแต่ตอบโต้โดยการเอารูปที่ตนไปแจกของที่ จ.พิษณุโลกมาชี้แจงทั้งที่เป็นคนละเรื่องกันเลย เพราะเรากำลังท้วงติงเรื่องคนที่เอาของที่จัดสรรโดยงบประมาณไปบริจาคโดยแอบอ้างเป็นของตัวเอง ขณะที่การทำกิจกรรมสามารถทำได้ เพราะทำอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา บอกถึงที่มาที่ไป และไม่เคยไปข่มขู่เอาสิ่งของมา เพราะส.ส.ได้ประสานไปยังพื้นที่ตามขั้นตอน ซึ่งผู้ว่าฯ ก็ได้คุยกับพวกตนว่าไม่มีการพูดเช่นนั้น
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า พล.ต.อ.ประชากล่าวเท็จ พูดเป็นเล่นว่าฝ่ายค้านไปบังคับผู้ว่าฯ ได้ เรื่องนี้ต้องมีคนโกหกคนหนึ่ง ตนไม่ได้ทำอะไรเสียหาย แต่รัฐมนตรีต้องทบทวนตัวเองว่าเอาอะไรมาพูด ส่วนตัวตนเชื่อผู้ว่าฯ แต่สิ่งที่รัฐมนตรีพูด ถือเป็นความพยายามสร้างความสับสน เล่านิยายว่าปล่อยน้ำมาทำลายรัฐบาลทั้งที่ไม่มีข้อเท็จจริง ซึ่งถือว่าน่าผิดหวังมาก เพราะข้อเท็จจริงต่างๆ ไม่ได้มีการอธิบายเลย
“เราไม่ได้มีใครห้ามให้ ส.ส.ไปช่วยเหลือประชาชน แต่ระบบเป็นอย่างนี้จริงหรือ เอาเรือไปแจกแล้วบอกกลัวไม่ได้คืนจึงต้องไปใส่ชื่อ ส.ส. ทั้งที่เรือก็มีชื่อหน่วยงาน มีเลขกำกับอยู่แล้ว สามารถติดตามได้ มันไม่ใช่ประเด็น ทั้งนี้ การชี้แจงของ พล.ต.อ.ประชาเป็นอย่างนี้มาทุกครั้ง ตั้งแต่มีการอภิปรายเรื่องงประมาณ และญัตติน้ำท่วม เป็นความสนุกของท่าน”
“ผมเข้าใจดีถึงระบบเสียงข้างมากที่สามารถเป็นผู้กำหนดแนวทางได้ แต่ผมคิดว่าเราไม่ได้เสียเปล่า เพราะเรามีโอกาสเสนอข้อเท็จจริง เพราะหลายเรื่องเราเคยนำเสนอแต่ก็ไม่สามารถทำได้เป็นระบบ และจะเห็นว่าเราถูกคัดค้านพอสมควร แต่ก็อยากจะติงว่าการอภิปรายครั้งนี้เวลาที่เสียไปกับเรื่องการประท้วง หรือใช้สิทธิพาดพิงเกินขอบเขต แทบจะมากกว่าเวลาการอภิปราย อยากให้รัฐบาลเคารพกระบวนการตรวจสอบของสภาฯ และผมเป็นห่วงว่าถ้ารัฐบาลยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง แก้ไขแนวทาง ที่สำคัญรัฐมนตรีเองกลับลุกขึ้นมาชื่นชมคนที่ทำผิดกฎหมายเช่นนี้ก็ไม่ถูกต้อง ควรยอมรับว่ามันมีปัญหาแล้วไปแก้ไขจะดีกว่า” นายอภิสิทธิ์กล่าว
ผู้นำฝ่ายค้านกล่าวว่า อยากให้รัฐบาลตั้งหลักให้ได้ว่าปัญหาน้ำท่วมเป็นปัญหาของส่วนรวม ถ้ายังคิดตามการแบ่งเขตเลือกตั้งหรือคิดเรื่องพรรค เอา ส.ส.ที่อยากจะใช้ประโยชน์ทางการเมืองก็จะทำให้การแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ขณะนี้ประชาชนกำลังรอการเยียวยาอยู่ อยากรู้ว่ารัฐบาลจะมีคำตอบอะไรที่ดีกว่ามาตรการที่ออกมาแล้ว รวมถึงการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งตนได้กำชับคณะกรรมาธิการให้ตรวจสอบอย่างเข้มข้น ยิ่งได้เห็นการของบประมาณ เช่น เรื่องข้าวกล่องที่ฝ่ายค้านนำมาอภิปรายเห็นได้ชัดว่าไม่มีความรัดกุม จึงต้องมีการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่มีการประเมินความเสียหายจากอุทกภัยครั้งนี้อยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ประเด็นที่ตนแนะนำรัฐบาลไปมี 3 เรื่องหลัก คือ ให้ความสำคัญกับเรื่องแรงงานให้มาก เพราะจะมีความละเอียดอ่อนและกระทบกับชีวิตของประชาชนโดยตรง ควรจะมีการกำหนดแผนระยะกลาง เรื่องการเงินการคลังที่ต้องรับมือฟื้นฟูเศรษฐกิจและทบทวนนโยบายที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและสำคัญ ทั้งนี้ ตนจะเดินหน้าคุยกับภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากวันพรุ่งนี้ (29 พ.ย.) จะเดินทางไปหารือกับภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลประเมินปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำขณะนี้เป็นแค่ชั่วคราว นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า จะไปพูดโดยรวมไม่ได้ บางภาคธุรกิจอาจมีการเติบโตในช่วงฟื้นฟู ธุรกิจที่ชะงักไปชั่วคราวก็อาจเริ่มฟื้นตัวเช่นกัน แต่ต้องระวังในส่วนของความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกึ่งถาวร หรือถาวร เช่น บางคนที่ไม่ต้องการจะฟื้นฟู หรือจะย้ายฐานการผลิตจะกระทบแน่นอน ส่วนเรื่องแรงงานจะยากที่สุด เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหรือเหตุการณ์เฉพาะหน้า ความต้องการแรงงานและการขาดแคลนแรงงาน รวมถึงการว่างงานจะเกิดขึ้นพร้อมกันไป รัฐบาลต้องบริหารให้ดี ซึ่งตนอยากเห็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาลก่อน เพราะขณะนี้จะเห็นเพียงแต่การของบประมาณจากจังหวัดและกระทรวง โดยไม่มีภาพรวมที่ชัดเจนในการจัดลำดับความสำคัญ ทั้งนี้ การที่รัฐบาลประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเป็นแบบรูปตัววีนั้น ก็อยู่ที่การจัดการ แต่คงไม่เกินขึ้นตามธรรมชาติ เพราะรัฐบาลต้องเข้าไปดูแล
“ถ้าเป็นผมวันนี้ต้องแยกนโยบายต่างๆ ให้ชัดเจน คือ ส่วนที่ทำให้กำลังซื้อ และการดำรงชีวิตของประชาชนอยู่ได้ด้วยการเยียวยาแบบขั้นบันไดที่พูดในสภา และส่วนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานควรจะแยกออกจากกัน และดูสัดส่วนให้เหมาะสมเพื่อที่จะได้เดินไปครบถ้วนทุกด้าน”
ส่วนเรื่องการเดินหน้าถอดถอนนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ควรจะมีเพิ่มเติมจากการรวบรวมข้อมูลในการอภิปรายครั้งนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น ส.ส. ส่วนจะมีคนอื่นเพิ่มเติมหรือไม่คงต้องไปดูข้อเท็จจริงก่อน เพราะยังมีหลายข้อมูลที่ยังไหลเข้ามาอยู่เรื่อยๆ ส่วนกรณีที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยนำญัตติถอดถอนมาอ่านในที่ประชุมสภาฯ ทั้งที่เป็นความลับนั้น ก็ต้องมีการพิจารณาอีกครั้งว่า เป็นเอกสารอะไร และได้มาอย่างไร ซึ่งโดยหลักการแล้วอยู่ระหว่างการดำเนินการของ ป.ป.ช.
ส่วนที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าจะนำเรื่องการทุจริตรถไฟฟ้าในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ไปอภิปรายนอกสภาฯ นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า แต่ละพรรคใครอยากไปทำกิจกรรมอะไรก็ทำได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย ตนไม่หวั่นไหว แต่ทุกคนต้องตรงไปตรงมา และยอมรับการตรวจสอบ ไม่มีปัญหาอะไร รวมถึงกรณีที่ตำรวจจะมีการส่งสำนวนคดี 13 ศพที่มีการอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐให้อัยการสูงสุดนั้นก็ต้องทำไปตามขั้นตอนของกฎหมายเช่นกัน
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า หลังจากที่ปิดการประชุมสภาฯ สมัยสามัญทั่วไป ฝ่ายค้านจะลงพื้นที่เดินหน้าทำกิจกรรมทั้งลงพื้นที่ภาคใต้ และพื้นที่ที่ต้องทำการฟื้นฟู จากนั้นก็จะกลับมาพิจารณาเรื่องบประมาณกันต่อในสมัยประชุมนิติบัญญัติต่อไป