xs
xsm
sm
md
lg

ลำลูกกาเฮ!เปิด2บิ๊กแบ็ก “กลุ่มกรีน”ยื่นปปช.ฟัน“ปู"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - คนลำลูกกา เฮ! ศปภ.เปิดบิ๊กแบ็ก 2 จุด ประตูระบายน้ำคลองพระยาสุเรนทร์ 1.50 เมตร ส่วน "สีวลี-สี่มุมเมือง-เมืองเอก" ได้รับอานิสงส์ด้วย ด้าน “กลุ่มกรีน”ยื่นปปช.ฟัน “ปู-ครม.”บริหารน้ำผิดพลาด ศาลปกครองสิ่งแวดล้อม นัดไต่สวนคดีกู้ถนน 340 วันที่ 29 พ.ย.นี้ ส.ว.แนะเพิ่มชดเชย2หมื่น ช่วยคนคอนโด แฉ “จิรายุ” เบิก19ล้านทำข้าวกล่อง

สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ แม้บางหลายพื้นที่น้ำจะลดลงอย่างมาก เข้าสู่ภาวะปกติ แต่บางจุดยังมีการท่วมขัง จนเกิดปัญหาระหว่างชุมนุมกับหน่วยงานราชการ เช่น การรื้อกระสอบทรายยักษ์หรือบิ๊กแบ็ค จน ศปภ.มีแนวคิดที่จะรื้อบิ๊กแบ็คออกหลายจุดนั้น

โดยวานนี้ (25 พ.ย.) กลุ่มตัวแทนชาวบ้านย่าน ถ.รามอินทรา ซอย 1-39 ประมาณ 100 คน ซึ่งเป้นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังมากกว่า 1 เดือน เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นางวัชราภรณ์ กวยะปาณิก ผู้อำนวยการเขตบางเขน โดยชาวบ้าน ร้องเรียนว่า กทม.จะใช้พื้นที่เขตบางเขน เป็นแก้มลิงรับน้ำจากสะพานใหม่ สายไหม และชะลอน้ำก่อนไปถึงพื้นที่หลักสี่ และบางพลัด ซึ่งหากทำเช่นนั้นจะทำให้ชุมชนชาวรามอินทรา ถูกน้ำท่วมขังยาวนานขึ้น ทั้งนี้ ชาวบ้านต้องการให้ กทม.ระบายน้ำออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด โดยให้เวลาภายใน 7 วัน หากระดับน้ำในพื้นที่บางเขนไม่ลดลงจนน่าพอใจก็จะมีการรวมตัวเคลื่อนไหวอีกครั้ง

จนช่วงบ่ายชาวบ้านย่านนี้ยอมยุติชุ หลังจาดตัวแทนกทม.รับปากจะระดมเครื่องสูบน้ำมาติดตั้งตามจุดต่างๆ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่บางเขน และให้ชาวบ้านส่งตัวแทนเข้าไปร่วมหาแนวทางแก้ปัญหากับ กทม. ขณะที่ชาวบ้านาให้เวลาใหม่เ. 3 วัน หากน้ำไม่ลดจะรวมตัวปิดถนนอีกครั้ง

** ชาวบ้านสีวลี-สี่มุมเมืองร้องศปภ.

เวลา 14.00 น. ชาวบ้านหมู่บ้านสีวลี-สี่มุมเมือง มายังบริเวณ ศปภ.กระทรวงพลังงาน เพื่อทวงถามถึงแผนการจัดการน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้ประชาชนต้องทุกข์ทนกับปัญหาน้ำท่วมสูง 1.20 เมตร กว่าเดือน

เช่นเดียวกับชาวบ้านในย่านลำลูกกา ได้เดินทางมาชุมนุมกันหน้า ศปภ. เรียกร้องให้ เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยจะให้เวลาถึงปลายเดือนธันวาคมนี้ หากน้ำยังท่วมสูงอยู่ จะรวมตัวกันชุมนุมปิดโทลล์เวย์

ด้านนายพรเทพ ศิริทรัพย์ ชาวบ้านหมู่บ้านเมืองเอก กล่าวถึงความคืบหน้าผลการหารือระหว่างชุมชนหมู่บ้านเมืองเอก รังสิต ดอนเมือง ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม กับนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกี่ยวกับเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วม เมื่อวานที่ผ่านมาว่า ศปภ. ตกลงรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการสูบน้ำออกจากพื้นที่ โดยให้มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นเจ้าภาพดำเนินการ ภายหลังที่มหาวิทยาลัยรังสิตดำเนินการสูบน้ำคลองเปรมประชากรลงสู่คลองรังสิตประยูรศักดิ์ ทำให้ระดับน้ำในหมู่บ้านเมืองเอก ลดลงกว่า 10 เซนติเมตร

ขณะที่ศปภ. ได้เชิญตัวแทนชาวบ้านทุกกลุ่มไปหารือร่วมกันในศปภ.

**ลำลูกกาเฮ! ศปภ.เปิดบิ๊กแบ็ก 2 จุด

เวลา 17.00 น. ที่ศปภ. พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ประธานศปภ.แถลงข่าวภายหลังการหารือร่วมกับชาวบ้านกลุ่มต่าง ๆ เช่น ชาวบ้านหมู่บ้านสีวลี หมู่บ้านเมืองเอก สี่มุมเมืองที่อยู่ด้านใต้คลองรังสิตและอยู่เหนือคันบิ๊กแบ็ก รวมทั้งตัวแทนชาวบ้านเขตดอนเมือง หลักสี่ คลอง 1-4 ลำลูกกา พร้อมด้วยตัวแทนจากกรมชลประทานและกทม. โดยใช้เวลาหารือร่วมกันนานกว่า 2 ชม.

ทั้งนี้ พล.ต.อ.ประชา ได้โทรศัพท์หารือกับผู้ว่าฯกทม. โดยตกลงเปิดประตู ระบายน้ำคลองพระยาสุเรนทร์ 1.50 เมตร ทำให้ชาวบ้านลำลูกกาส่งเสียงตบมือดีใจในห้องประชุม

ส่วนของหมู่บ้านเมืองเอก ทางศปภ.จะเร่งหาทางช่วยระบายน้ำลงคลองเปรมประชากร และคลองรังสิต ส่วนหมู่บ้านสีวลี และสี่มุมเมือง ที่อาศัยอยู่บริเวณเหนือ-ใต้คลองรังสิต ใต้คันบิ๊กแบ็ก และประชาชนจากลำลูกกา ซึ่งมีพื้นที่ติดกับเขตสายไหม ทางกรมชลประทาน และกทม. จะช่วยระบายน้ำหากพื้นที่ใดมีระดับน้ำต่ำกว่าแนวคันกั้นน้ำหรือต่ำกว่าตลิ่งในลำคลอง และต้องการกอบกู้บ้านหรือชุมชน

ทั้งนี้ศปภ.มีมติ ให้เปิดคันบิ๊กแบ็กในหลายๆจุด โดยจุดแรกจะอยู่ที่ระยะ 1.6 กม.และจุดที่สอง 300 ม.รวมทั้งหมด 1.9 กม. ตั้งแต่ด้านรถไฟสายเหนือ ด้านคลองรังสิตถึงบริเวณจุดต่อ ถ.วิภาวดี-รังสิต เนื่องจากน้ำบริเวณนี้ยังคงมีปริมาณสูงอยู่ หากจะเปิดแนวคันบิ๊กแบ็กทั้งหมดอาจส่งผลกระทบให้น้ำเกิดการไหลบ่า ซึ่งสิ่งแรกที่ต้องดำเนินการคือการเปิดคันบิ๊กแบ็กบริเวณ ถ.วิภาวดีขาออก ซึ่งขณะนี้เปิดอยู่ที่ระดับ 8 ม. แต่ในขณะนี้ได้เปิดจนถึงระดับพื้นถนนแล้ว เพื่อให้รถสัญจรได้ ทั้งนี้ จะมีการเปิดแนวคันบิ๊กแบ็กเพิ่ม จนมาถึงบริเวณทางรถไฟ เป็นระยะประมาณ 20-30 ม.เพื่อให้น้ำระบายลงมาตามคลอง และข้ามถนนวิภาวดีรังสิต จนเข้าสู่คลองเปรมประชากร

**ยื่น ปปช.ฟันปูบริหารผิดพลาด

วันเดียวกัน นายสุทิน ธราทิน ในฐานะตัวแทนกลุ่มการเมืองสีเขียว ได้เดินทางมายังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เพื่อยื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) และนายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในข้อกล่าวหา เป็นเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติตำแหน่งหน้าที่ หรือ ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง

ซึ่งนายวิทยา อาคมพิทักษณ์ ผู้ช่วยเลขาธิการปปช. ได้ลงมารับหนังสือพร้อมเปิดเผย ว่า กรณีการบริหารจัดการน้ำคณะกรรมการปปช.ได้ประชุมและมีมติตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นไต่สวน โดยมีกรรมการปปช.ทั้ง 9 คน ร่วมเป็นอนุกรรมการไต่สวนด้วยตนเอง เมื่อมีการยื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษเข้ามาปปช.จะนำไปร่วมเป็นเรื่องเดียว

**แดงรวมหัวตะโกนด่า "สุริยะใส"

ก่อนหน้านี้ นายสุริยะใส กตะศิลา แกนนำกลุ่มการเมืองสีเขียวจะมาเป็นผู้ยื่นต่อ ป.ป.ช.ด้วยตนเอง แต่ปรากฏว่า มีกลุ่มเสื้อแดงจากจังหวัดนนทบุรี ประมาณ 10 คน มาชูป้ายด่าทอ และไม่เห็นด้วยกับการยื่นในครั้งนี้ จึงทำให้ นายสุริยะใส กลับออกไป เนื่องจากเกรงว่าอาจจะเกิดการกระทบกระทั่งกัน อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์หน้าจะมีการรวบรวมผู้เสียหายเพื่อยื่นฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากความผิดพลาดในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมต่อศาลปกครองอีกครั้ง

**ไต่สวนคดีกู้ถนน 340 วันที่ 29 พ.ย.นี้

ที่ศาลปกครองกลางแผนกคดีสิ่งแวดล้อมมีคำสั่งกำหนดนัดไต่สวนคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายในคดีที่นางทศสิริ พูลนวล ชาวจ.นนทบุรี ฟ้อง ศปภ.และกทม. กรณีของให้ศาลฯสั่งระงับการกู้ถนนสาย 340 และถนนกาญจนาภิเษก รวมทั้งระงับการปิดประตูระบายน้ำและเสริมแนวกระสอบทรายตามแนวคลองมหาสวัสดิ์ช่วงรอยต่อกับพื้นที่จังหวัด นนทบุรี ในวันอังคารที่ 29 พ.ย. เวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 8 สำนักงานศาลปกครอง

โดยพล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องนี้ หากศาลปกครองมีคำสั่งใด ๆทาง ศปภ.ก็พร้อมปฏิบัติตาม

ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่ากทม.กล่าวว่า ตนเองไม่มีความกังวลในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด เนื่องจาก กทม.ไม่ได้บริหารงานหรือกระทำการใดผิดพลาด ทุกขั้นตอนมีเหตุมีผลที่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจน อีกทั้งกทม.ก็ได้ทำตามขั้นตอนและอำนาจที่ทางรัฐบาลซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ ดังนั้นจึงไม่ได้ทำผิดแต่อย่างใด

ด้านนายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ(สนน.) กล่าวว่า ตนเองก็ไม่รู้สึกกังวลเ แต่ยอมรับว่ารู้สึกเหนื่อยใจที่ตนเองได้ทำงานอย่างเต็มที่แล้วแต่ก็ต้องมาขึ้นศาล

**ปชช.แห่ร้องเรียนน้ำท่วมอื้อ

นายเกรียงศักดิ์ วรมงคลชัย อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการสภาทนายความ และโฆษกสภาทนายความ กล่าวว่า กรณีสภาทนายความเปิดเรื่องรับร้องทุกข์และให้การช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ขณะนี้ได้มีประชาชนจำนวนมากขอให้สภาทนายความ ดำเนินคดีคุ้มครอง ขอให้เพิกถอนคำสั่ง ขอให้ฟ้องเจ้าหน้าที่ที่ละเลยการกระทำการปกครอง คดีละเมิดการปกครองเป็นจำนวนมาก ซึ่งสภาทนายความอยู่ระหว่างการสอบข้อเท็จจริง และเตรียมยื่นฟ้องให้เห็นเป็นรูปธรรม ภายใน 2 เดือน

**ส.ว.แนะเพิ่ม 2 หมื่นช่วยคนคอนโด

นายอนุรักษ์ นิยมเวช ส.ว.สรรหา หารือในการประชุมวุฒิสภา นัดสุดท้ายก่อนปิดสมัยประชุมสามัญ ถึงประเด็นการช่วยเหลือ เยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ว่า กรณีที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 5,000 บาทนั้นตนคิดว่าอาจไม่พอเพียงเมื่อเปรียบเทียบกับการที่รัฐบาลช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมด้วยการปล่อยกู้ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือแผนโครงการนิวไทยแลนด์ที่จะปล่อยกู้กว่า 7 แสนล้านบาท ขณะที่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมมีมากถึง 2 - 3 ล้านคน หรือประมาณ 1 ล้านครัวเรือน โดยยังมีครัวเรือนที่ได้รับผลจากน้ำท่วมขังมากกว่า 1 เดือนจำนวนมาก จึงขอเสนอรัฐบาลให้ปรับปรุงยอดการชดเชยมากขึ้นเป็น 20,000 บาท หรือพิจารณาให้โดยดูจากระยะเวลาที่น้ำท่วม ตลอดถึงควรมีมาตรการช่วยครัวเรือนที่ไม่ถูกน้ำท่วมแต่ไม่สามารถเข้าออกที่อยู่อาศัยได้ เช่น ที่อยู่ในคอนโดมิเนียม แฟลต บริเวณที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม เพราะเป็นความจำเป็นของผู้ประสบอุทกภัยต้องนำเงินมาใช้ในการการปรับปรุงที่อยู่อาศัย รัฐบาลความดูแลประชาชนมากกว่าการอุ้มอุตสาหกรรม

**คุณชายค้านเปิดไหลตามธรรมชาติ

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร กล่าวถึงกรณีที่มีหลายฝ่ายทั้งนักวิชาการและประชาชนพยายามเรียกร้องให้กทม. เปิดทางให้น้ำผ่านตามธรรมชาติยืนยันว่า ทำไม่ได้แน่นอนเพราะว่ากทม. เป็นพื้นที่ศูนย์รวมของสถานที่ราชการ สถานที่สำคัญทางธุรกิจ จึงไม่สามารถที่จะปล่อยให้น้ำเข้ามาได้แบบเสรี

**กทม.เก็บขยะน้ำท่วมได้เกิน 100%

นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ย.จัดเก็บได้ 9,507 ตัน คิดเป็น 111.8% ของปริมาณขยะในสภาวะปกติ 8,500 ตัน โดยศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม กำจัดโดยวิธีฝังกลบ 3,093 ตัน ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช กำจัดโดยวิธีฝังกลบ 5,363 ตัน และนำไปหมักทำปุ๋ย 1,051 ตัน เฉพาะในส่วนของการเก็บขยะ 25 เขตน้ำท่วม จัดเก็บได้ 4,396 ตัน คิดเป็น 102% ของปริมาณขยะในสภาวะปกติ 4,313 ตัน

**ดอนเมือง-ทอ.คาด2 สัปดาห์เสร็จ

พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงผลการประชุมสภากลาโหมว่า ทาง พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ชี้แจงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ว่า ขณะนี้ ทหารอากาศ ได้ใช้โรงสูบน้ำ 14 โรง เพื่อจะเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ สนามบินดอนเมือง และฐานที่ตั้งกองทัพอากาศ โดยจะสูบน้ำออกทางเหนือลงคลองเปรมประชากร และทางทิศใต้จะสูบลงคลองถนน พร้อมกันนี้ จะประสานงานร่วมกับ กรุงเทพมหานคร ในการดำเนินงาน โดยคาดว่า ภายใน 14 วัน จะสามารถสูบน้ำออกจากพื้นที่ สนามบินดอนเมืองและกองทัพอากาศ ได้หมด

**แฉ "จิรายุ" เบิก 19 ล้านทำข้าวกล่อง

วันเดียวกันมีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามงบประมาณ โดยเชิญตัวแทนหน่วยงานต่าง ๆเข้าชี้แจงการใช้การใช้จ่ายงบประมาณ โดยตัวแทนสตช.ระบุถึงเสื้อยืดสีขาวที่มีข้อความ “ตำรวจ” มีการจัดซื้อในงบกลางจำนวน 20,000 ตัว ใช้งบ 2 ล้านบาทโดยมีเงินสำรองจ่ายฉุกเฉินจำนวน 114 ล้านบาทและอีก 25 ล้าน ได้ใช้จัดซื้อเรือท้องแบนจำนวน 50 ลำ ส่วนการตั้งโรงครัวใช้งบจากพม.

ขณะที่พม. และปภ.เข้าชี้แจง การเบิกงบประมาณในการจัดทำข้าวกล่อง ซึ่งส่วนที่พบความผิดปกติคือ มีผู้เบิกของบประมาณจัดทำอาหารกล่องด้วยตนเอง

รายการแรก ชมรมคนรักหนองจอก 7 วัน จำนวน 315,000 กล่อง งบประมาณ 9,450,000 ล้านบาท โดยมีนายประภาส วัฒนผ่องใส ประธานชมรมขอเบิกงบ รายการที่ 2 สภาวัฒนธรรมเขตลาดกระบัง 7 วัน จำนวน 683,844 กล่อง งบประมาณ 20,515,320 ล้านบาทโดยมีนายชวลิต หมั่นหาผล รองประธานชมรมขอเบิก

รายการที่ 3 ชุมชนเขตคลองสามวา มีการขอเบิกงบ 2 ครั้งคือครั้งที่หนึ่ง 6 วัน จำนวน 420,000 กล่อง งบประมาณ 12,600,000 บาท และครั้งที่สอง 5 วัน จำนวน 225,000 กล่อง งบประมาณ 6,750,000 ล้านบาท โดยมีนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. เขตคลองสามวา พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เบิก รายการที่ 4 มูลนิธิกู้ภัยร่มไทรมีนบุรี 7 วัน จำนวน 422,100 กล่อง งบประมาณ 12,663,000 ล้านบาท โดยมีนายสมชาย ศรีทองกูล รองประธานมูลนิธิ เป็นผู้เบิกงบ และรายการที่ 5 ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม เขต 8 พื้นที่ลาดพร้าว-วังทองหลาง 11 วัน จำนวน 165,150 กล่อง งบประมาณ 4,954,500 ล้านบาท โดยมีนายสิงห์ทอง บัวชุม อดีตผู้สมัครส.ส. พรรคเพื่อไทย เบิก และชี้แจงว่าเลขรับหนังสือของนายจิรายุ และสภาวัฒนธรรมเขตลาดกระบัง ที่พบความผิดปกติไม่มีเลขรับหนังสือ ยืนยันว่าเลขรับหนังสือจะลงรับที่ ศปภ. เพราะ ปภ.ตั้งสำนักงานอยู่ในศปภ.ด้วย โดยใช้ตัวย่อ “ศปภ.พม.” ซึ่งแต่ละรายการกำลังอยู่ในระหว่างการทำรายละเอียด ยังไม่มีการอนุมัติงบประมาณ

ด้าน ปภ.ชี้แจงการจัดซื้อสุขา เช่นสุขาเคลื่อนที่(คล้ายตู้โทรศัพท์) จำนวน 818 หลังๆละ 32,000 บาท,สุขากล่องกระดาษ จำนวน 30,000 กล่องๆละ 245 บาท

**เร่งสูบน้ำช่วยหมู่บ้านเศรษฐี

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับสมาคมอสังหาริมทรัพย์และคณะ เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือจากผลกระทบอุกกภัย ว่า จะมีการทำงานระหว่างรัฐบาลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งผู้ประกอบการบ้านจัดสรร นิติบุคคล อาคาร ซึ่งจะมีการรวมกลุ่มกัน ทางฝั่งรังสิตองครักษ์ ด้านตะวันออกของถนนพหลโยธิน จะเริ่มวันที่ 26 พ.ย.นี้ ในการเร่งสูบน้ำออกจากหมู่บ้านต่างๆ ลงไปยังคลองรังสิต

ส่วนเรื่องราคาวัสดุก่อสร้างเป็นอย่างไร นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่ได้แสดงเจตนาอย่างชัดเจน พร้อมให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เดือดร้อน ข้อกังวลที่ว่าวัสดุก่อสร้างจะมีราคาสูงหลังน้ำลด จะไม่เกิดขึ้น

**พศ.เร่งสูบน้ำออกจากพุทธมณฑล

นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าว่า ในพุทธมณฑลและสำนักงาน พศ.ประมาณ 2,500 ไร่ ยังอยู่ในภาวะวิกฤต จึงชอสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ เพื่อนำมาสูบน้ำออกจากพุทธมณฑลคาดว่าจะใช้เวลาสูบไม่น้อยกว่า 80 วัน ขณะนี้มีระบบไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตเสียหายทั้งระบบ เบื้องต้นจะของบประมาณ 500 ล้านบาทดำเนินการ

ส่วนวัดทั่วประเทศซึ่งน้ำลดแล้ว 276 วัด ได้ยื่นของบบูรณะ 70 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ยังมีวัดที่น้ำยังไม่ลดประมาณ 2,200 แห่ง คาดว่า ต้องของบประมาณมาบูรณะราว 800-900 ล้านบาท

**เกษตรฯขอ8.9พันล้าน เยียวยาชาวนา

นางสาวสุพัตรา ธนเสนีวัฒน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ของบประมาณให้ความช่วยเหลือเกษตรกรไปเป็นจำนวนเงิน 8.9 พันล้านบาทแต่ยังไม่ได้รับการพิจารณาเนื่องจากมีเกษตรกรหรือประชาชนที่ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก การให้ความช่วยเหลือจำเป็นต้องกลั่นกรองอย่างรอบคอบ

**ถูกเลิกจ้าง 8.8 พันใน 26 โรงงาน

นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จาก ข้อมูลของ กสร. ณ วันที่ 25 พ.ย.โดยภาพรวมทั้งประเทศใน 12 จังหวัด มีสถานประกอบการได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 16,079 แห่ง ลูกจ้างกระทบ 696,739 คน และขณะนี้มีสถานประกอบการเปิดกิจการแล้ว 12,548 แห่ง ลูกจ้างได้กลับเข้าทำงานแล้ว 297,130 คนส่วนการเลิกจ้างมีสถานประกอบการ 26 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง รวม 8,887 คน

**ขอพันล้านบรรเทาเลิกจ้าง 2 แสนคน

น.ส.ส่งศรี บุญบา โฆษกกระทรวงแรงงาน แถลงว่า มาตรการบรรเทาการเลิกจ้างโดยช่วยจ่ายค่าจ้างแทน นายจ้างให้แก่แรงงานคนละ 2 พันบาท เป็นเวลา 3 เดือน แต่สถานประกอบการต้องลงนามความร่วมมือกับกระทรวงแรงงานว่าจะรักษาสภาพการ จ้างงานและจ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่า 75% ของค่าจ้าง ซึ่งหลังจากเปิดโครงการได้มี สถานประกอบการในจังหวัดต่างๆสมัครเข้าร่วม 198 แห่ง ลูกจ้าง 132,022 คน เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ซึ่งดูแลลูกจ้าง 1 แสนคน และใช้งบ 606 ล้านบาท ดังนั้น กระทรวงแรงงานจึงเสนอรัฐบาลขอเพิ่มกลุ่มเป้าหมายในโครงการอีก 2 แสนคน วงเงิน 1,212 ล้านบาท

**มาร์คจี้ มท.1 ควง 6 ผู้ว่าลงพื้นที่

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลที่ยังมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนในเขตปริมณฑลและกทม. ว่าการที่รมว.มหาดไทยเชิญผู้ว่า6 จังหวัดมาหารือเพื่อแก้ปัญหายังไม่เพียงพอ แต่ต้องร่วมกันลงพื้นที่เพื่อกำหนดแผนในการระบายน้ำที่ชัดเจนอธิบายให้กับประชาชน ว่าจะใช้เวลาในการระบายน้ำเท่าไหร่ รวมทั้งแลกเปลี่ยนความเห็นกับประชาชนว่าจะวิธีการใดระบายน้ำให้เร็วขึ้น ตนรู้สึกแปลกใจที่นายกฯทำเหมือนกับไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับงานด้านน้ำท่วมโดยตรง โดยเฉพาะในจุดที่เป็นปัญหา.
กำลังโหลดความคิดเห็น