xs
xsm
sm
md
lg

“ประชา” ทำขึงขัง ตั้ง คกก.สอบทุจริตถุงยังชีพ ปัดนั่งนายกฯแทน "ปู"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก (แฟ้มภาพ)
“ประชา” สั่งตั้ง คกก. ตรวจสอบราคาถุงยังชีพ ขีดเส้น 3 วัน ลั่นจัดการแน่หากทุจริต พร้อมเอาเกียรติเป็นประกัน ยอมรับหนักใจนั่งประธาน ศปภ. ปัดนั่งนายกฯแทน “ปู” วอนประชาชนเข้าใจการแก้ปัญหา เพราะรัฐบาลเพิ่งเข้ามาทำงาน พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 7-15 วัน หากทำงานเต็มที่จะเป็นข่าวดีคนกรุง

พล.อ.ประชา พรหมนอก รมว.กระทรวงยุติธรรม ในฐานะผอ.ศปภ.แถลงว่า ทาง กทม.มีความต้องการเครื่องสูบน้ำเพิ่ม เพื่อนำไปติดตั้งแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมนั้น ทางศปภ.ได้ดำเนินการจัดซื้อเครื่องสูบน้ำจากประเทศจีนรวมทั้งสิ้น 48 ตัว รวมกำลังแรงสูบน้ำได้ 96 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งมีกำลังแรงสูบหลายระดับ อาทิ 4.25 ลบ.มต่อวินาที จำนวน 3 ตัว , 2.2ลบ.ม.ต่อวินาที จำนวน 3 ตัว ,0.38 ลบ.ม.ต่อวินาที จำนวน 10 ตัว และ3 ลบ.ม.ต่อวินาที จำนวน 9 ตัว เป็นต้น โดยในจำนวนนี้ เครื่องสูบน้ำแบบ 3 ลบ.ม.ต่อวินาที ได้ดำเนินการติดตั้งไปแล้ว 8 ตัว ส่วนอีก 1 ตัวจะติดตั้งภายใน 7 วัน นอกจากนั้นมีระยะการติดตั้ง 2 ระยะคือ 7 วัน และ15 วัน

ทั้งนี้ยังมีเครื่องสูบน้ำที่ ศปภ.ทำรายการยืมจากกรมโยธาธิการและผังเมือง กับทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติปละสิ่งแวดล้อมอีกจำนวนทั้งสิ้น 23 ตัวรวมกำลังสูบได้ 36 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยจะใช้ระยะเวลาในการติดตั้ง 7 วัน

อย่างไรก็ตาม รวมจำนวนเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ที่ทาง ศปภ.สนับสนุนให้ กทม.ตามคำขอในครั้งนี้เป็นจำนวน 71 เครื่อง คิดเป็นกำลังสูบทั้งหมด 132 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งเพิ่มเติมกว่าจำนวนเดิม ที่ทางกทม. 10 เครื่อง และระดับกำลังสูบอีก 12 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งจำนวนเดิมที่ กทม.ขอมาคือ 60 เครื่อง ในระดับกำลังสูบ 120 ลบ.ม.ต่อวินาที นอกจากนี้ ยังมีเครื่องสูบน้ำที่ ศปภ.ได้รับการสนับสนุนจากประเทศจีน ซึ่งได้จัดให้กับทางกทม.อีก 3 แบบ คือ เครื่องสูบน้ำ3นิ้ว จำนวน200เครื่อง เครื่องสูบน้ำ4นิ้ว 35เครื่อง และเครื่องสูบน้ำ 8 นิ้วอีก 20 เครื่อง

ผู้สื่อข่าวถามว่ามูลค่าในการจัดซื้อเครื่องสูบน้ำครั้งนี้มีมูลค่าเท่าไร พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า การจัดซื้อครั้งนี้มีมูลค่าประมาณ 40- 50 ล้านบาทโดยใช้งบประมาณของ ศปภ. แล้วราคานั้นเป็นราคามาตรฐานไม่เกินราคาที่กรมชลประทานเคยจัดซื้อ

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องถุงยังชีพที่ ศปภ.จัดซื้อในราคา 800 มีราคาแพงเกินไปนั้น พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ตนได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวแล้ว และได้ขอทราบผลภายใน 3 วันนี้ หากพบว่าไม่ถูกต้องจะมีการดำเนินการทันที โดยเอาเกียรติเป็นประกัน รวมทั้งกรณีเครื่องสูบน้ำที่มีการจัดซื้อต้องเป็นราคาที่ไม่แตกต่างจากที่กรมชลประทานได้เคยจัดซื้อไว้ จะระมัดระวังไม่ให้มีการฉวยโอกาสอย่างแน่นอน

พล.ต.อ.ประชา ยืนยันว่าขณะนี้ศปภ.และกทม.ได้ผนึกกำลังกันทำงาน เพื่อป้องกันและเร่งระบายน้ำออกจาก กทม.จึงขอให้ประชาชนสบายใจ และคาดหวังว่าหากเครื่องสูบน้ำได้ทำงานเต็มที่ จะเป็นข่าวดีของคนกทม. โดยจะใช้ระยะเวลา 7-15 วัน

เมื่อถามว่าการที่ศปภ.ไม่สามารถป้องกันกทม.จากน้ำท่วมถือว่าสอบตกหรือไม่ พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ก็แล้วแต่ประชาชนจะคิด รัฐบาลนี้เพิ่งเข้ามาบริหารงาน และเราต้องสู้กับภัยธรรมชาติ ก็ถือว่าหนักหนาพอสมควร

ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะศปภ.ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า มันก็มีบ้าง แต่ตนจะเอาความจริงเป็นหลัก ไม่มีที่จะมาช่วยหรือเห็นใจใครเป็นพิเศษ โดยการทำงานขอเอาเกียรติและศักดิ์ศรีเป็นประกัน ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทำงานล้มเหลวนั้นอยากให้ดูเป็นประเด็นๆ ไป เพราะน้ำท่วมที่เกิดขึ้น เราจะห้ามน้ำไม่ให้ไหลก็ไม่ได้ ยืนยันที่ผ่านมารัฐบาล ศปภ.พยายามอย่างเต็มที่แล้ว เพียงแต่ว่าประชาชนต้องช่วยกันด้วย อย่าไปคึกคะนองทำลายแนวกั้น

เมื่อถามว่าการทำหน้าที่ผอ.ศปภ.มาระยะหนึ่งแล้วเป็นอย่างไรบ้าง พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ก็ยอมรับว่าหนักใจซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แต่จะพยายามทำให้ดีที่สุด เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาคับขัน และน้ำก็ไม่ปราณีเราเลย เอาง่ายๆ น้ำที่ผุดจากท่อ คิดดูว่าท่อในกทม.มีอยู่เยอะแยะ เราคงไปปิดไม่ไหว ซึ่งการแก้ปัญหาต้องใช้เวลาและความพยายาม

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าอาจได้เป็นนายกรัฐมนตรีแทนน.ส.ยิ่งลักษณ์ พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ตอนนี้ตนเป็นนายกฯสภามหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ไม่เอาแล้ว ส่วนกรณีการปรับคณะรัฐมนตรีก็ไม่ทราบ

ด้านนายจุมพล สำเภาทอง รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำหรับทางกทม.นั้นต่อขอบคุณทางศปภ.ที่ได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ โดยเครื่องสูบน้ำที่มอบให้กทม.ทั้งหมดจะไปติดตั้งสถานีสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะฝั่งพระนครเรามีสถานีสูบน้ำกว่า 40 สถานี เรามีกำลังของเครื่องสูบน้ำที่สามารถสูบน้ำออกแม่น้ำเจ้าพระยาได้วันละ 600 คิวต่อวินาที หรือถ้าคูณเป็นจำนวนลูกบาศก์เมตรต่อวันก็เป็น 40 กว่าล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยสถานีสูบน้ำที่มีอยู่นั้น ก็มีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น เครื่องติดตั้งอยู่สถานีต่างๆอาจจะมีการชำรุด หรือใช้งานเป็นเวลาต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบ 2 เดือน ก็มีเครื่องหนึ่งจะต้องมีการบำรุงรักษาและเข้าโปรแกรมที่จะต้องเปลี่ยนเครื่อง ในครั้งนี้เราก็ได้เครื่องสูบน้ำจำนวน 71 เครื่อง เข้าไปนั้นมากเพียงพอที่จะไปติดตั้งเพิ่มเติมหรือเสริมขีดความสามารถของสถานีสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ผู้สื่อข่าวถามว่า เครื่องสูบน้ำทั้ง 71 ครั้งนั้นจะสามารถช่วยในการระบายน้ำได้มากเท่าไหร่ นายจุมพลกล่าวว่าการที่เราได้เครื่องสูบน้ำเพิ่มขึ้นจะทำให้อัตราการสูบน้ำออกจากพื้นที่ที่น้ำท่วมขังสามารถทำได้รวดเร็วขึ้น แต่ส่วนสำคัญคันกั้นน้ำที่เราทำในแต่ละคันอาจจะต้องซอยพื้นที่โดยมีคันกั้นน้ำเป็นบริเวณ โดยต้องขอให้ประชาชนช่วยรักษาคัน เพราะการสร้างคั้นส่วนใหญ่นั้นประชาชนยังไม่เข้าใจว่าเมื่อสร้างคันแล้วจะทำให้พื้นที่ที่อยู่นอกคันกันน้ำจะท่วมนานขึ้น แต่จริงๆแล้วเป็นวิธีการและเทคนิคที่จะระบายน้ำในพื้นที่ปิดล้อมได้เร็วขึ้น ปั้มสูบน้ำก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะต้องใช้ควบคู่กับคันกั้นน้ำในพื้นที่ต้องๆให้ง่ายขึ้น และถ้าได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่จะสามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขังได้เร็วขึ้น

ส่วนจะใช้เวลาในการระบายน้ำเท่าไร นายจุมพล กล่าวว่า ขณะนี้ยังประเมินไม่ได้ถ้าดูในด้ายฝั่งตะวันออกมวลน้ำทางเหนือลดลงถ้าเราสามารถควบคุมน้ำด้านเหนือไม่ให้ไหลลงได้อีกคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 10 วันในการควบคุมสถานการณ์แต่ก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือกับประชาชน ส่วนด้านฝั่งธนบุรีนั้นมีน้ำเป็นจำนวนมากซึ่งกรมชลประทานก็พยายามผันน้ำไปสู่แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อน้ำลงเจ้าพระยาได้เร็วขึ้นมวลน้ำที่เข้าสู่คลองมหาสวัสดิ์ ปริมาณจะลดลงภายใน 10วันข้างหน้า หลังจากที่เราสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้วก็จะประเมินสถานการณ์ในการดูแลฝั่งธนบุรีได้ในระยะเวลาเท่าไร

นายจุมพล กล่าวต่อว่า น้ำในขณะนี้ได้ไหลเข้าพื้นที่ในกทม.ทั้งด้านเหนือนั้นมีปริมาณน้ำเข้าไปขังในพื้นที่ต่างๆร วมเกือบ 10 เขต พื้นที่นั้นมีปริมาณมากพอสมควร การที่จะส่งผ่านน้ำต่างๆ จากจุดที่น้ำท่วมขังในคลองหลักๆ อยู่ 2-3 คลองนั้นไม่ว่าจะเป็นคลองเปรมประชากร คลองถนน คลองลาดพร้าว คลองแสนแสบ คลองบางซื่อ คลองบางเขน คลองสามเสน การส่งผ่านน้ำจากจุดต่างๆไปสู่สถานีนั้น อาจจะมีความจำเป็นจะต้องใช้เครื่องสูบน้ำที่ได้จัดไปครั้งนี้ติด เพื่อที่จะทยอยน้ำ เพราะเนื่องจากกทม.นั้นมีระดับการลาดเอียงของพื้นที่ค่อนข้างจะจำกัด การที่ปล่อยให้น้ำไปไหลไปสู่คลองอาจจะใช้เวลา 3-4 วัน

ซึ่งจากที่เห็นได้จากน้ำที่เข้าคลองเปรมประชากรและเข้าคลองถนนเมื่อเกือบ 10 วันที่ผ่านมาน้ำในขณะนี้ยังไม่ถึงริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยซ้ำ เราจะเห็นได้จากน้ำในสถานีริมแม่น้ำเจ้าพระยายังจะติดลบอยู่เลย ขณะนี้ทางกทม.กำลังที่จะดำเนินการสร้างคันด้านบนร่วมกับศปภ.ในการป้องกันน้ำจากตอนเหนือลงสู่กทม. ถ้าคันด้านตอนเหนือมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น การควบคุมปริมาณน้ำลงสู่คลองสอง คลองถนน คลองลาดพร้าวคลองเปรมประชากร จะควบคุมน้ำได้มากขึ้นก็ในโอกาสที่น้ำจะไหลมาทางตอนเหนือลงสู่ด้านล่างน้อยลงจากเครื่องสูบน้ำจำนวนดังกล่าวก็จะทำให้พื้นที่ตอนล่างของกทม.นั้นแห้งเร็วขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น