xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เส้นทางทัพน้ำถล่มกทม. เขตไหนวิกฤต บ้านใครโคม่า ข้อเท็จจริงที่คนกรุงต้องรู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พื้นที่ที่มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะถูกน้ำท่วมจาก TEAM Group
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -และแล้วเมืองหลวงอย่าง “กรุงเทพมหานคร” ก็หนีไม่พ้นวิกฤตน้ำท่วม เพราะทั้ง “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี และ “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ยอมรับโดยดุษณีภาพแล้วว่า น้ำจำนวนมหาศาลที่ล้อมพื้นที่กรุงเทพฯ นั้น เกินกำลังกว่าที่จะป้องกันมหานครแห่งนี้ให้รอดพ้นภัยพิบัติไปได้

คำถามที่เกิดขึ้นคือ สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับ กทม. นับจากนี้คืออะไร น้ำจะเดินทางผ่านเส้นทางไหน และประชาชนต้องเตรียมตัวรับมือกับภัยพิบัติดังกล่าวเช่นไรบ้าง

แน่นอน สิ่งที่กรุงเทพมหานครจะต้องเผชิญก็คือ ทั้ง 50 เขตจะไม่รอดพ้นจากการถูกน้ำท่วม ทั้งเขตพื้นที่ชั้นนอก ชั้นกลางและชั้นใน ส่วนระดับของน้ำที่จะท่วมนั้นก็มีตั้งแต่ 10 ซม.เรื่อยไปจนถึงระดับประมาณ 1.50 เมตร

ทั้งนี้ กทม. ได้ประกาศให้ 14 เขตเป็นพื้นที่เสี่ยงและเฝ้าระวังน้ำท่วมเป็นพิเศษ ได้แก่ มีนบุรี ลาดกระบัง หนองจอก คลองสามวา คันนายาว บางเขน หลักสี่ ดอนเมือง บางซื่อ จตุจักร สายไหม บางพลัด ลาดพร้าว และวังทองหลาง โดยได้ประกาศให้เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่แล้ว 3 เขต คือ ดอนเมือง บางพลัด และสายไหม ส่วนเขตทวีวัฒนานั้น ทาง กทม.กำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยหากไม่น่าไว้วางใจจะประกาศให้เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยทันที

ด้าน ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ได้ประมวลผลแบบจำลองกรณีเลวร้ายที่สุดที่น้ำจะท่วมกรุงเทพมหานคร ในวิกฤตอุทกภัยครั้งนี้ว่า สถานการณ์น้ำในกทม.ขณะนี้ก็ใกล้เข้าสู่แบบจำลองขึ้นทุกที กล่าวคือน้ำจะท่วมทุกเขตของกทม. แต่จะมากน้อยแตกต่างกันออกไปตามพื้นที่(ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในภาพประกอบ)โดยระยะเวลาที่คนกรุงเทพฯ จะต้องเผชิญกับน้ำท่วมนั้น คาดว่า ขั้นต่ำน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1 เดือนเป็นอย่างน้อย

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่ต้องระวังเป็นพิเศษก็คือ เขตดอนเมือง สายไหม หลักสี่ บางเขน คลองสามวา คันนายาว ลาดพร้าว จตุจักร บางซื่อ ทวีวัฒนา บางพลัด

“กรณีที่เลวร้ายที่สุด ปทุมวัน สีลม บางรัก สาทร ราชเทวี ห้วยขวาง วัฒนา น้ำจะท่วมระดับเอว การจราจรไม่ต้องพูดถึงก็คงต้องเป็นอัมพาตไปเลย ส่วนเส้นทางอื่นที่ต้องให้น้ำไหลผ่านก็คงจะคล้ายในลักษณะเดียวกัน ส่วนจุดที่น่าเป็นห่วงคือพนังกั้นกระสอบทรายริมแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ของกรุงเทพฯ ซึ่งต้องดูแลให้แข็งแรง เพราะหากเกิดพังเสียหายจะทำให้น้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่ทันที และระดับน้ำจะเพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากระดับน้ำเจ้าพระยาสูงมาก ขณะที่ฝั่งตะวันออก คาดว่าน้ำจะเอ่อล้นคันกั้นของคลองหกวาสายล่างเข้าท่วมพื้นที่ย่านเขตสายไหมภายใน 4-5 วันนี้ โดยระดับน้ำสูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร จากนั้นน้ำจะไหลไปคลองแสนแสบ คลองสามวา หนองจอก มีนบุรี ลาดกระบัง ประเวศ ออกไปทางสำโรงภายใน 10 วัน”

ส่วนการจัดการกับมวลน้ำก้อนใหญ่ที่ได้ไหลเข้ามาที่ดอนเมือง โดยขณะนี้ทางรัฐบาลหรือ กทม. ก็นำเอาหินคลุกไปขวางตรงถนนวิภาวดี เพื่อไม่ให้น้ำเข้ามาทางถนนวิภาวดี ดร.เสรีมีความเห็นว่า เป็นการแก้ไขที่ไม่ถูกต้องเพราะจะทำให้น้ำแผ่เข้าพื้นที่ชาวบ้านละแวกนั้น

" ถ้าไปกันไว้น้ำเหนือที่มาจากทางฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิตก็จะเอ่อสูงขึ้นเรื่อยๆ มาถึงจุดหนึ่งมันก็จะสามารถทำลายคันกั้นน้ำ ผลร้ายก็คือน้ำจะมาในลักษณะรุนแรง เพราะเราไปจัดการให้เป็นลักษณะเหมือนเขื่อน มันก็จะเกิดความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งชาวบ้านที่อยู่บริเวณคันกั้นน้ำก็จะเสียหายหนัก สรุปคือปล่อยให้น้ำมันไหลไปตามทางตามถนน ปล่อยให้คลองสูบน้ำไปตามปกติ ผมเคยเสนอว่าน้ำทั้งที่ถนนวิภาวดีฯ และพหลโยธิน ไม่ควรนำสิ่งใดไปกั้นด้วยซ้ำ เพราะบริเวณนั้นจะมีคลองต่างๆ อยู่ เช่น คลองวัดหลักสี่ คลองบางเขน และคลองแสนแสบ จึงเสนอว่ารัฐบาลควรปล่อยน้ำให้ไหลไปลงคลองต่างๆ เพราะมั่นใจว่า กทม.รับมือได้เนื่องจากกำลังสูบน้ำในจุดนี้ดีมาก”

นอกจากนี้ ดร.เสรี บอกอีกว่า บริเวณฝั่งธนฯ ที่วิกฤตหนักอย่างบางพลัด ถ้าคันที่บางพลัดยังไม่สามารถจะกู้วิกฤตได้ ก็หนีไม่พ้นที่น้ำจะต้องไปยังเขตบางกอกใหญ่ บางกอกน้อย ภาษีเจริญ และคลองสาน โดยขณะนี้คลองทวีวัฒนา คลองมหาสวัสดิ์น้ำล้นแล้ว ดังนั้น ทางแก้คือทำให้น้ำผ่านลงไปสู่แม่น้ำท่าจีนเพราะคงไปขวางไม่ได้อีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์น้ำท่วมเมืองหลวงในปีนี้ ก็หนีไม่พ้นที่ประชาชนก็คงตั้งคำถามด้วยความอยากรู้ในอนาคต กทม.จะถูกน้ำท่วมอีกหรือไม่ เรื่องนี้ ดร.เสรี บอกว่า ถ้าไม่มีการแก้ปัญหาระยะยาว กทม.ไม่มีทางรอดอย่างแน่นอน

โดยสาเหตุที่ทำให้กรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับภาวะน้ำท่วมมี 4 ประการ คือ 1.ปริมาณน้ำฝนที่ตกเพิ่มขึ้น 15% ของค่าเฉลี่ยรอบ 30 ปี 2.แผ่นดินใน กทม.ทรุดตัวลงปีละ 4 มิลลิเมตร 3.ระดับน้ำทะเลฝั่งอ่าวไทยสูงขึ้น 1.3 เซนติเมตรต่อปี และ 4.เกิดจากภาพรวมของระบบผังเมืองที่พื้นที่ชุ่มน้ำและพื้นที่สีเขียวลดลงกว่า 50% กล่าวคือเมื่อ 30 ปีก่อน กทม.เคยมีพื้นที่ชุ่มน้ำ 40% แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 20% เท่านั้น

ด้าน TEAM GROUP ซึ่งเป็นหน่วยงานภาคเอกชนที่เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิดและมีทีมบุคลากรที่เชี่ยวชาญทางด้านนี้เป็นจำนวนมากด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปีได้ประกาศเตือนภัยนํ้าท่วม (ฉบับที่ 4) ผ่านเว็บไซต์เมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญ 5 ประการ ดังนี้

1.สถานการณ์น้ำท่วมยังไม่ดีขึ้น แม้ปริมาณน้ำไหลเข้าสู่ทุ่งเจ้าพระยาจะลดลงจนน้อยกว่าปริมาณน้ำที่ระบายลงสู่ทะเลแล้ว แต่ปริมาณน้ำในทุ่งดังกล่าวยังมีมากกว่า 12,000 ล้าน ลูกบาศก์เมตร จึงจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน ในการระบายน้ำออกสู่ทะเล หากไม่สามารถเพิ่มช่องทางการระบายน้ำลงสู่ทะเลให้มากขึ้นกว่าในปัจจุบันได้

2. พนังกั้นน้ำบนคันคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ด้านตะวันตกของประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ยังรั่วอยู่ และพนังกั้นน้ำบนคันคลองรังสิตประยูรศักดิ์ใกล้ตลาดรังสิตยังมีน้ำไหลล้นจำนวนมาก ดังนั้นผู้ที่อยู่ใกล้คลองเปรมประชากร คลองประปา ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนพหลโยธิน และผู้ที่อยู่สะพานใหม่ บางบัว บางเขน เกษตร ลาดพร้าว โชคชัยสี่ สายไหม เฉพาะที่อยู่ในที่ลุ่มใกล้คลองถนน คลองบางบัว คลองลาดพร้าว และคลองสาขาที่เคยเกิดน้ำท่วมขัง ให้เก็บของขึ้นที่สูง ระดับน้ำท่วมจะทรงตัวอยู่จนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน

  3. ผู้ที่อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเหนือคลองบางกอกน้อย และเหนือทางรถไฟสายใต้ และบริเวณด้านตะวันออกของคลองบางกอกใหญ่ และผู้ที่อยู่ในอำเภอพุทธมณฑล นครชัยศรีสามพราน กระทุ่มแบน และเมืองสมุทรสาคร ที่อยู่ในบริเวณด้านตะวันตกของถนนพุทธมณฑลสาย 4 และถนนสาย 3310 รวมถึงผู้ที่อยู่ใกล้แม่น้ำท่าจีน คลองมหาชัย คลองสนามชัย คลองจินดา คลองดำเนินสะดวก และคลองสุนัขหอน ที่อยู่ทางตะวันออก ของถนนสาย 3097 ขอให้ย้ายของขึ้นที่สูงมากกว่า 1.5 เมตร และให้เอารถไปจอดไว้ที่สูง ระดับน้ำจะสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงหลังวันที่ 5 พฤศจิกายน แล้วทรงตัวอยู่ถึงกลางเดือนพฤศจิกายน หลังจากนั้นจึงจะเริ่มลดลง

  4. ผู้ที่อยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา น้ำทะเลจะหนุนสูงขึ้นอีกอย่างน้อย 15 ซ.ม. พนังกั้นน้ำมีโอกาสจะพัง จะทำให้น้ำไหลเข้าท่วมแรงและเร็วมาก ขอให้เพิ่มความแข็งแรงและเสริมคันกั้นน้ำให้สูงขึ้น และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ป้องกันไม่ให้พนังกั้นน้ำพัง ให้ระวังจนถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 ส่วนพื้นที่อื่นๆ น้ำจะทรงอยู่จนถึง 15 พฤศจิกายน 2554 ขอให้ติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด

  5. พื้นที่ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ที่จะถูกน้ำท่วม ได้แก่
5.1 พื้นที่ด้านเหนือของถนนบรมราชชนนี จากคลองบางกอกน้อย ถึงถนนวงแหวนรอบนอก
5.2 พื้นที่ด้านตะวันออกของคลองบางกอกใหญ่ถึงแม่น้ำเจ้าพระยา
5.3 พื้นที่เหนือถนนแจ้งวัฒนะทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่ด้านเหนือถนนสรงประภา เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงมากต่อการท่วมฉับพลัน น้ำไหลแรงและเร็ว หากมีการพังของพนังกั้นน้ำบนคลองรังสิตประยูรศักดิ์บริเวณด้านตะวันตกของประตูน้ำจุฬาลงกรณ์
5.4 พื้นที่เหนือถนนงามวงศ์วานทั้งหมด
5.5 พื้นที่เหนือคลองบางเขนทั้งหมดและพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับคลองบางเขน
5.6 พื้นที่เหนือคลองบางซื่อตั้งแต่คลองเปรมประชากร ถึงคลองลาดพร้าว และพื้นที่ใกล้คลองลาดพร้าวและคลองสาขา
5.7 พื้นที่เหนือถนนรามอินทราทั้งหมดจากที่ทำการเขตบางเขนไปจนถึงเขตมีนบุรีรวมถึงพื้นที่ด้านตะวันออกของถนนวงแหวนรอบนอกที่อยู่เหนือคลองแสนแสบ
 
ภาพจำลองวิกฤติน้ำท่วมกทม.ของ ดร.เสรี ศุภราทิตย์
กำลังโหลดความคิดเห็น