“กรณ์” จวก “ยิ่งลักษณ์” ผันน้ำแหวกหลักปฏิบัติ ทำให้น้ำเจ้าพระยาขึ้นสูงสุดในประวัติการณ์ เสี่ยงใจกลางกรุงเทพฯ จมน้ำนาน ตัดเส้นทางอำนวยความสะดวก การบริหารจะเป็นอัมพาต ส่งผลให้ ปชช.กลายเป็นผู้ประสบภัยอย่างสาหัส จี้ตอบเลี่ยงผันน้ำผ่านทางตะวันออกต้องการรักษาพื้นที่ไหนเป็นพิเศษหรือไม่
วันนี้ 27 ต.ค. เมื่อเวลา 15.32 น. นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงผ่านเฟซบุ๊ก เรื่องการบิดเบือนเส้นทางระบายน้ำผ่านกรุงเทพมหานครว่า สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ประเทศไทย ถือเป็นเรื่องวาระสำคัญเร่งด่วน เป็นงานหลักที่สุดที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ เพราะรัฐบาลเป็นผู้มีอำนาจเต็มในการตัดสินใจเพื่อให้วิกฤตนี้คลี่คลาย หรือสาหัสซ้ำเติม จากที่พรรคประชาธิปัตย์ โดยคณะรัฐมนตรีเงาได้ทำการลงพื้นที่ตรวจสอบ ดูแลประชาชน และศึกษาถึงระบบการระบายน้ำ ได้เรียนรู้ถึงหลักปฏิบัติของการระบายน้ำผ่านกรุงเทพมหานคร ตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติตามที่ได้กระทำผ่านมาตั้งแต่อดีต รวมทั้งได้เรียนเชิญนักวิชาการผู้มีความสามารถในเรื่องนี้เฉพาะทางได้แก่ ๑) รองศาสตราจารย์ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทางวิศวกรรมศาสตร์ และการป้องกันสาธารณภัย และผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานเพื่อสิ่งแวดล้อมนานาชาติ สิรนธร ๒) ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของ เปลือกโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ ๓) รองผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร นายธีระชนม์ มโนมัยพิบูลย์ ในฐานะตัวแทนผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ มาร่วมให้ข้อมูลทางวิชาการ และเสนอแนวทางที่หากรัฐบาลนำไปปฏิบัติตาม จะทำให้เกิดผลดีต่อประเทศ และช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย รวมถึงชาวกรุงเทพมหานครที่เสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติอุทกภัยอยู่ในขณะนี้
พรรคประชาธิปัตย์ โดยคณะรัฐมนตรีเงาได้ตรวจพบว่า การระบายน้ำในปัจจุบันของรัฐบาล และศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เป็นการบิดเบือนเส้นทางระบายน้ำ ไม่สอดคล้องตามหลักวิชา หลักปฏิบัติจากอดีต และเป็นไปอย่างผิดหลักธรรมชาติของภูมิประเทศของกรุงเทพมหานคร จากที่คณะทำงานได้ลงพื้นที่ศึกษาพบกว่า การที่จะทำการระบายน้ำลงสู่ทะเลอ่าวไทยได้เร็วที่สุดอย่างสมดุลนั้น คือ การระบายผ่านทางหลักๆ ๓ ทางซึ่งคือ ๑) ทางตะวันตก ผ่านแม่น้ำท่าจีน ๒) ทางแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านกลางกรุงเทพมหานคร และ ๓) ทางตะวันออก ผ่านทางแม่น้ำบางปะกง และนอกจากนี้ ทางน้ำที่ใช้ระบายเพิ่มพิเศษคือ ระหว่าง แม่น้ำเจ้าพระยากับ แม่น้ำบางปะกง ยังมีทางระบายพิเศษที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อการนี้อยู่แล้ว ซึ่งคือ คลองด่าน และสถานีสูบน้ำต่างๆ ในจังหวัดสมุทรปราการ
ปัญหาหลักที่พบ คือ การบิดเบือนเส้นทางระบายน้ำ ซึ่งก่อให้เกิดความไม่สมดุลในการระบายน้ำ ของ ๓ ทางหลักนี้ โดยเฉพาะทางพื้นที่ทางตะวันออกของกรุงเทพมหานคร คือ สถานีสูบน้ำต่างๆ ที่จะช่วยให้ระบายน้ำไปทางตะวันออก แทบไม่ได้มีการระบายเลยในช่วงก่อนหน้านี้ แต่เพิ่งมีการเริ่มให้มีการสูบน้ำระบายเพียงแค่ไม่กี่วัน และยังไม่ได้ทำอย่างเต็มที่ ด้วยเหตุผลนี้ ทำให้ การระบายน้ำหลักถูกกดดันให้น้ำมาอยู่ที่ แม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นทางเส้นหลักที่อยูตรงกลาง ผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ดังจะเห็นได้ว่า ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับความสูง เหนือระดับน้ำทะเลปกติ สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ การระบายน้ำที่ไม่มีความสมดุลเช่นนี้ จะเกิดความเสี่ยงให้มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานในใจกลางเมือง กรุงเทพมหานคร และจะก่อให้เกิดความเป็นอัมพาตของระบบการบริหารจัดการทั้งระบบในประเทศ การทำงานของราชการส่วนกลางทั้งหมดจะถูกหยุด เนื่องจากเป็นไปได้สูงมากที่ จะขาดระบบสาธารณูปโภคที่ส่วนกลางจำเป็นต้องใช้เช่น ระบบไฟฟ้า และน้ำประปา ดังนั้นจะทำให้ ศูนย์ดูแลภัยพิบัติ และศูนย์ดูแลประชาชนทั่วประเทศ จะกลับกลายเป็นผู้ประสบภัยอย่างสาหัสอย่างไม่สามารถทำอะไรได้เอง
พรรคประชาธิปัตย์ โดยคณะทำงานจึงมีข้อเสนอในวิธีแก้ไขประเด็นปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ดังนี้
๑) พรรคประชาธิปัตย์ โดยคณะรัฐมนตรีเงา ต้องการให้รัฐบาลทบทวน ระบบการดำเนินการระบายน้ำลงสู่อ่าวไทยให้เป็นไปอย่างสมดุล ตามหลักปฏิบัติที่ผ่านมา และเป็นไปอย่างธรรมชาติ ผ่านทาง ๓ ช่องทางหลัก ซึ่งหมายถึงให้มีการระบายน้ำทางตะวันออกมากขึ้น โดย เปิดการระบายน้ำในคลอง ๖ ถึง คลอง ๒๑ รวมทั้งเปิดการสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำที่ขึ้นกับกรมชลประทาน สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยรัฐบาลเป็นผู้มีอำนาจสั่งการโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นที่คลองแสนแสบ คลองประเวศบุรีรมย์ และคลองสิบสาม ตัดคลองหกวา เพื่อช่วยลดภาระการระบายน้ำที่หนักอยู่ที่แม่น้ำเจ้าพระยา ทันที
๒) พรรคประชาธิปัตย์ โดยคณะรัฐมนตรีเงา ต้องการให้รัฐบาลชี้แจงความชัดเจน หากสุดท้ายแล้วรัฐบาลไม่ประสงค์จะทำตามข้อเสนอ ว่าเป็นนโยบายโดยตรงของรัฐบาลที่ต้องการจะเลี่ยงการระบายน้ำทางตะวันออกใช่ หรือไม่ ด้วยเหตุผลอะไร ต้องการรักษาเขตพื้นที่ไหน อย่างไร เป็นพิเศษหรือไม่ เพราะการตัดสินใจว่าจะกระทำ หรือไม่ทำตามข้อเสนอนี้ จำเป็นต้องทำเป็นการเร่งด่วน และมีคำชี้แจงที่ชัดเจน เนื่องจากภายในไม่กี่วันข้างหน้า กรุงเทพมหานครจะประสบปัญหา มวลน้ำมหาศาลจากทางเหนือ ไหลลงมา สมทบกับน้ำทะเลที่หนุนขึ้นมาจากอ่าวไทย
๓) พรรคประชาธิปัตย์ โดยคณะรัฐมนตรีเงา ต้องการให้รัฐบาลมีนโยบายในการดูแลแก้ปัญหาอันเป็นผลกระทบที่เนื่องมาจากเหตุอุทกภัยใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดทั้ง ๒๑ จังหวัด ทั้งที่กำลังท่วมอยู่ และพื้นที่ที่อยู่ในขั้นตอนการฟื้นฟูแล้ว ดังนี้
๓.๑) การแก้ปัญหาในเรื่องปัญหาการขาดแคลนสินค้า และราคาสินค้าแพง รัฐบาลจำเป็นต้องร่วมมือกับภาคเอกชน อย่างจริงจังเร่งด่วน เช่นหากสินค้าใดมีปัญหาทางการผลิต ขอให้พิจารณาการนำเข้าสินค้า หรือ หากสินค้าใดผลิตได้ แต่ประสบปัญหาการขนส่ง ขอให้พิจารณาเข้าร่วมมือกับภาคเอกชนในเรื่องดังกล่าว
๓.๒) ปัญหาสังคม อันเป็นผลสืบเนื่องจาก การสูญเสียในเรื่องต่างๆ จากอุทกภัย ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียชีวิต บาดเจ็บ ทั้งสภาพทางร่างกาย และจิตใจ รวมทั้งการสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง และหน้าที่การงาน
๓.๓) แผนฟื้นฟูต่างๆ หลังจากนี้ควรมีคณะทำงานที่ต้องเร่งทำเป็นการเร่งด่วน โดยพรรคประชาธิปัตย์ จะนำเสนอต่อไปเช่นกัน
ทั้งนี้ ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์เอง นอกจากมี ศูนย์อาสาฯคนไทยช่วยน้ำท่วม ที่ลงพื้นที่ นำถุงยังชีพดูแลประชาชนในทุกเขต ทุกพื้นที่อย่างทั่วถึง มีช่องทางการระดมทุนช่วยเหลือบริจาคผ่านมูลนิธิเสนีย์ ปราโมช แล้ว ยังมีการริเริ่มจะทำโครงการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอีก ๓ โครงการได้แก่
๑) โครงการ น้ำล้านขวด ล้านน้ำใจ ช่วยภัยน้ำท่วม เนื่องจากตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่มสะอาดซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในทุก พื้นที่อุทกภัยในขณะนี้
๒) โครงการศูนย์พักพิง โดยร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร
๓) โครงการโรงครัว พรรคประชาธิปัตย์ โดยระดมสมาชิกพรรคจากทางภาคใต้เป็นหลัก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในครั้งนี้น้อยมา มาเป็นกำลังสำคัญในการดูแลเรื่องอาหาร การกินของชาวกรุงเทพมหานครเป็นสำคัญ
และหากรัฐบาล หรือศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ต้องการความช่วยเหลือจากส่วนนี้ของโครงการที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังจัดทำ พรรคประชาธิปัตย์พร้อมให้ความร่วมมือ โดยตลอดเสมอมา