“สุขุมพันธุ์” ประกาศเขตหนองแขม อพยพทั้งเขต เขตหนองจอก เฉพาะ คลอง 10-คู้ฝั่งเหนือ โคกแฝด พร้อมขอบคุณนายกฯ ศปภ.ให้ความร่วมมืออย่างดี เตรียมเข้าพบ “ประชา” ที่ ศปภ.พรุ่งนี้ เวลา 10.00 น.รับยังห่วง คลอง 8-10 ที่ยังซ่อมประตูระบายน้ำไม่เสร็จ รวมถึงอีก 14 จุดในพื้นที่ทางเหนือและตะวันออกของ กทม. น้อมรับคำแนะนำ “บรรหาร” มาพิจารณา
เมื่อเวลา 11.45 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงภายหลังการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำ พร้อมลงพื้นที่ตรวจระดับน้ำที่สถานีสูบน้ำคลองแสนแสบ-หนองจอก ว่า ตนเองได้ลงนามในประกาศให้เขตธนบุรี ถนนวุฒากาศ ถนนเทอดไท แขวงตลาดพลู เขตลาดพร้าว แขวงลาดพร้าว ถนนประเสริฐมนูกิจ จนถึงสุดเขตลาดพร้าว เขตมีนบุรี แขวงมีนบุรี เป็นพื้นที่เฝ้าระวัง และขอประกาศให้เขตดังต่อไปนี้เป็นเขตอพยพ ได้แก่ เขตหนองจอก แขวงคลอง 10 แขวงคู้ฝั่งเหนือ แขวงโคกแฝด และเขตภาษีเจริญ แขวงปากคลองภาษีเจริญ แขวงบางหว้า แขวงคูหาสวรรค์ เขตมีนบุรี แขวงแสนแสบ เขตหนองแขม แขวงหนองแขม ซึ่งก่อนหน้านี้ ตนได้ประกาศให้แขวงหนองค้างพลู เป็นเขตอพยพ ซึ่งเท่ากับว่าเขตหนองแขมเป็นเขตอพยพทั้งเขต
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวต่อว่า ตนต้องขอขอบคุณ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) และ ศปภ.ที่ในช่วง 24 ชม.ที่ผ่านมา ได้สนับสนุนแนวคิดความต้องการ ของ กทม.อย่างดียิ่ง โดยทาง ศปภ.ได้นำเครื่องสูบน้ำมาติดตั้งเพิ่มเติม ในคลองหกวาสายล่าง ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี เพื่อจะเร่งระบายนำออกของฝั่งตะวันออก โดยจากเดิมมีเครื่องสูบน้ำ 12 เครื่อง ล่าสุด มี 24 เครื่อง ทำให้มีกำลังระบายน้ำเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว ส่วนที่สถานีสูบน้ำหนองจอก จากเดิมที่กรมชลประทานเปิดสูบน้ำ จำนวน 8 เครื่อง จากทั้งหมด 20 เครื่อง วันนี้ (6 พ.ย.) ได้เปิดเป็น 16 เครื่อง ส่วนที่เหลืออีก 4 เครื่องเก็บไว้สำรองหาก 16 เครื่องที่เปิดสูบน้ำเกิดการชำรุด
นอกจากนี้ ทาง ศปภ.ยังได้ประสานจะนำเครื่องสูบน้ำมาติดตั้งเพิ่มให้ กทม.เพื่อระบายน้ำคลองพระโขนง เช่นเดียวกับ กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้ประสานจัดหาเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมให้ กทม.ด้วย นอกจากนี้ กทม.ได้เพิ่มจำนวนเครื่องสูบน้ำไปติดตั้งที่ ซ.จรัญสนิทวงศ์ 13 เพื่อสูบน้ำลงคลองมอญมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้ (7 พ.ย.) พล.ต.อ.ประชา ได้ประสานมายัง กทม.เพื่อประชุมหารือ ที่ ศปภ.เวลา 10.00 น.ซึ่งตนจะหารือเรื่องรายละเอียดการติดตั้งเครื่องสูบ การผันน้ำไปยังสถานที่ต่างๆ
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ตนยังมีความเป็นห่วงคลอง 8 คลอง 9 และคลอง 10 ที่ยังดำเนินการปิดประตูระบายน้ำไม่สำเร็จ รวมถึงยังเป็นห่วงใน 14 จุด ในพื้นที่ทางด้านเหนือและตะวันตกของ กทม.ซึ่งหาก ศปภ.ไม่สามารถไปซ่อมแซมได้ครบทั้งหมดนั้น ในที่ประชุม นายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ ระบุว่า ฝั่งธนบุรีทั้งหมดอาจจะได้รับผลกระทบ
“ตอนนี้การทำงานกับ ศปภ.ก็ดีอยู่แล้ว มีเพียงข้อกังวลแต่ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงผมก็ตค้องทบทวนการทำงานของผม แต่ก็ดีใจที่ 24 ชม.ที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุน ผมยิ้มออกแล้วครับ ผมได้รับการสนับสนุนเพื่อจะมาดูแลได้ดียิ่งขึ้น” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวด้วยว่า ตราบใดที่มวลน้ำยังเข้า ย่านนนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม เราทำได้อย่างดียว คือ เพิ่มขีดความสามารถในการบรรเทาซึ่งคงไม่สามรถเอาน้ำออกได้ในทันที ทั้งนี้ อีกประมาณ 1 เดือน หากไม่มีน้ำเข้ามาเพิ่มเติม กทม.จะเข้าสู่ภาวะปกติแต่ถ้ามีน้ำมาอีก ปัญหาน้ำท่วมขังก็ยังคงอยู่กับเรา
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณี นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ กทม.ทำหนังสือขอเครื่องสูบน้ำไปยังกรมชลประทาน แต่ระบุว่า กรมชลฯไม่ให้ เนื่องจากทำหนังสือไปถึง มท.ซึ่ง รมว.มหาดไทย เห็นหนังสือวันที่ 4 พ.ย.พร้อมแนะ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ โทรศัพท์สายตรงถึงอธิบดีกรมชลประทานหรือ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ก็ยินดีช่วยเหลือเต็มที่ โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า ท่านบรรหาร เป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ตนเองก็เคารพนับถือท่าน ดังนั้น ท่านพูดอะไรตนก็น้อมรับฟังมาไว้พิจารณา ซึ่งก็ดีใจที่ท่านติดตามสถานการณ์