xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” แฉรัฐจ่อโยนบาปน้ำท่วมให้ จว.-นิคมฯ ฉะหว่านประชานิยม เล่นแร่กู้ 1.6 ล้านล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้าน ให้สัมภาษณ์สื่อก่อนไปประชุมสภาในวันแรกสมัยนิติบัญญัติ เกี่ยวกับกรณี ทางพรรคได้จัดเก็บข้อมูลในระหว่างมีอุทกภัยเกิดขึ้นในหลายจังหวัด โดยมีการคอรัปชั่นหลายโครงการเกี่ยวกับการช่วยเหลือองรัฐบาลต่อประชาชนโดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวจากเกษตรกร พร้อมกับให้ สส.ของพรรคได้ร่วมกันพิจารณากฏหมายในหลายๆฉบับที่ทางรัฐบาลเสนอเข้าพิจารณาในที่ประชุม ที่ พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ 21.ธค.54
“อภิสิทธิ์” เผย พรรคนัดถกบทเรียนน้ำท่วมศุกร์นี้ ชี้ รายงาน ศปภ.ชัดไม่ใช้ฟลัดเวย์ระบายน้ำเอง แฉ รัฐเล็งโบ้ยปัญหามาจากจังหวัดและนิคมฯ ยันต้นเหตุรัฐไม่ใช้อำนาจบริหาร แฉหว่านงบจัดเต็มประชานิยม ซ้ำเล่นแร่แปรธาตุจ่อกู้ 1.6 ล้านล้านบาท อ้างวิกฤตน้ำท่วมเปิดทางแก้ กม.ธปท.ซ่อนหนี้ในสถาบันการเงิน ห่วงทำลายวินัยคลังทำเศรษฐกิจชาติพัง ตามรอยยุโรป พร้อมส่ง 3 มือ ศก.ตรวจสอบ

วันนี้ (21 ธ.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังการประชุม ครม.เงา ว่า ที่ประชุมได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมและจะมีการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับบทเรียนที่เกิดขึ้นในวันศุกร์ที่ 23 ธ.ค.นี้ ขณะเดียวกัน มีการเก็บข้อมูลและทำรายงานเบื้องต้นคาดว่าปลายเดือนนี้ หรือต้นเดือนมกราคมจะสรุปเป็นรายงานออกมา ทั้งนี้ มีข้อสังเกตเกี่ยวกับรายงานของ ศปภ.ที่ทำถึง ครม.ระบุเป็นครั้งแรกว่ามีการเบี่ยงน้ำไม่ให้ผ่านไปทางพื้นที่ฟลัดเวย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนได้ตั้งข้อสังเกตมาโดยตลอดว่าปลายทางที่จะมีการระบายน้ำไปสู่ทะเลในพื้นที่ตะวันออกของกรุงเทพฯไปสมุทรปราการ กลับไม่มีการผันน้ำไปเท่ากับว่ารัฐบาลไม่ได้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่ในการระบายน้ำลงทะเล และ ศปภ.ก็เป็นคนยอมรับเรื่องนี้เป็นครั้งแรกว่าตั้งใจที่จะไม่ให้น้ำไปเส้นทางดังกล่าว ซึ่งเป็นจุดที่จะต้องมีการประเมินทบทวนในแง่การบริหารจัดการ

“การรายงานของ ศปภ.ทำให้เห็นว่าการลงทุนในระบบระบายน้ำทั้งหมดกลับไม่มีการใช้ ต้องตอบคำถามว่าเป็นเพราะอะไร ซึ่งจะมีความสำคัญกับการวางแนวทางในอนาคต เพราะถ้าคราวนี้รัฐบาลไม่ได้ใช้ประโยชน์จากฟลัดเวย์ หากจะมีการลงทันใหม่เพื่อสร้างฟลัดเวย์จะมั่นใจได้อย่างไรว่ารัฐบาลจะบริหารจัดการ ดังนั้นรัฐบาลต้องอธิบายมากกว่านี้ และศปภ.ก็ยังไม่รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประตูระบายน้ำฝั่งตะวันตกที่ชำรุด 13-14 จุด ทำให้ฝั่งธนท่วมมากและนานกว่าปกติ ซึ่งต่างชาติก็จับตาดูอยู่ว่ารัฐบาลมีการประเมินสถานการณ์ที่ผ่านมาเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างไร สอดคล้องกับความจริงหรือไม่ ที่น่าเป็นห่วงคือมีความพยายามที่จะสรุปว่าการบริหารจัดการน้ำครั้งนี้ เป็นเพราะจังหวัด หรือนิคมอุตสาหกรรมไปกั้นน้ำ ทั้งที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงเนื่องจากรัฐบาลก็ส่งตัวแทนไปร่วมกับนิคมอุตสาหกรรมเพื่อปกป้องนิคมด้วย ถือเป็นการปัดความรับผิดชอบ”

นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะรัฐบาลไม่มีการใช้อำนาจในการเข้าไปบริหารจัดการอย่างเหมาะสม หากเห็นว่ามีการกั้นน้ำที่กระทบกับยุทธศาสตร์การระบายน้ำก็ต้องใช้อำนาจรับเข้าไปจัดการไม่ใช่ปล่อยให้เกิดความเสียหายแล้วไปโยนความผิดให้เอกชน เพราะทุกคนก็พยายามป้องกันตัวเอง เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลให้การป้องกันตัวเองสอดคล้องกับนโยบายการแก้ปัญหาของรัฐ จึงมีความเป็นห่วงว่าเมื่อรัฐบาลยังไม่ยอมรับความจริงจะทำให้ไม่มีการสรุปบทเรียนที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และการรายงานของ ศปภ.ที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงจะยิ่งทำให้เกิดคำถามตามมาในเรื่องการป้องกันในอนาคต

“ผมคิดว่ารัฐบาลพยายามปรับไม่ให้เป็นปัญหาในเรื่องการบริหารจัดการ แต่ความจริงนักลงทุนไม่ได้คิดเรื่องนี้เพราะไม่มีใครคิดจะไล่ล่าหาความรับผิดชอบ แต่ต้องการความจริงเพื่อให้เกิดการปรับปรุง ถ้าไม่ยอมรับก็แก้ไข หรือป้องกันไม่ได้”

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังกล่าวถึงการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งมีตัวเลขหลายส่วนที่มีปัญหา โดยพรรคจะให้คณะกรรมาธิการติดตามงบประมารเข้าไตรวจสอบเช่นปริมาณข้าวกล่องที่สูงเกินความเป็นจริง และการอนุมัติเงิน ทั้งงบประมาณและเงินบริจาค ผ่านช่องทางที่ไม่เหมาะสม ขณะเดียวกัน ในส่วนที่รัฐบาลกำลังเตรียมการกู้เงินหรือใช้ธนาคารแห่งประเทศไทยมาเป็นผู้ปล่อยเงินกู้จะต้องมีการแก้กฏหมาย จึงได้มอบหมายให้ นายกรณ์ จาติกวณิช นายจุติ ไกรฤกษ์ และ นายสรรเสริญ สมะลาภา ไปดูภาพรวมการใช้จ่ายทั้งหมด และยังมีข้อสังเกตเบื้องต้นว่ารัฐบาลจะอ้างภาวะวิกฤตน้ำท่วมมาเปิดช่องทางให้มีการกู้เงิน หรือให้สถาบันการเงินของรัฐรับภาระแทน แต่ส่วนที่เป็นงบประมาณของรัฐบาลยังนำไปใช้จ่ายในโครงการที่ไม่จำเป็นของรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน แต่เป็นลักษณะประชานิยม เท่ากับพยายามผลักภาระการแก้ปัญหาน้ำท่วมไปสู่อนาคต แต่พร้อมที่จะใช้จ่ายเงินอย่างเต็มที่กับนโยบายของรัฐบาล ทั้งที่ลำดับความสำคัญ และความเร่งด่วนมีน้อยกว่าปัญหาน้ำท่วม

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลผลักภาระไปไว้ที่สถาบันการเงินเท่ากับเป็นการซุกหนี้ไปไว้ที่ธนาคาร เพราะรัฐบาลจะอ้างว่าไม่มีงบประมาณมาแก้ปัญหาน้ำท่วมเนื่องจากนำไปทุ่มเทกับนโยบายของตนเอง และนำมาเป็นเหตุผลในการแก้กฎหมาย รวมถึงออกกกหมายกู้เงินเป็นกรณีพิเศษ และใช้เงินจากธนาคารของรัฐรวมถึงใช้เงินของ ธปท.ซึ่งมีการพูดวงเงินสูงถึง 1.6 ล้านล้านบาท และเป็นเรื่องของเงินกู้ทั้งหมด โดยจะมีการขยายเพดานการกู้เงินเป็นกรณีพิเศษ หรือเอาภาระบางส่วนไปไว้ที่ธนาคารของรัฐก่อน จากนั้นค่อยย้อนกลับมาเป็นปัญหาของรัฐบาลในภายหลัง ซึ่งตนเป็นห่วงว่าหากบริหารบ้านเมืองเช่นนี้จะทำให้ประเทศอยู่ในภาวะเสี่ยง จึงได้ย้ำเสมอตั้งแต่การพิจารณาร่างพ.ร.บ.บประมาณรายงายปี 55 วาระ 1 ว่า รัฐบาลควรจัดลำดับความสำคัญ โครงการและ จัดทำแผนการคลังระยะปานกลาง ไม่ใช่หาเงินทีละก้อน โดยไม่ดูในภาพรวมการบริหารการคลังว่าเป็นอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายประเทศในยุโรปเกิดปัญหาเกือบถึงขั้นล้มละลายเพราะมีการใช้จ่ายจนเกิดหนี้สาธารณะจำนวนมาก ประเทศไทยกำลังซ้ำรอยวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นในยุโรปหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องระมัดระวังอย่างยิ่งแต่อาจจะโชคดีที่ฐานะเรื่องทุนสำรองและการเงินการคลังก่อนหน้านี้อยู่ในฐานะที่ดีพอสมควรแต่ก็ไม่ควรประมาท ที่สำคัญ คือ ถ้าเริ่มต้นด้วยการแก้กฏหมายหลายฉบับ ต่อไปก็จะมีแนวโน้มใช้วิธีการนี้สะสมปัญหาไปเรื่อย จะกระทบกับวินัยการเงินการคลังเพราะหากมีการซ่อนหนี้ก็จะสะสมไปเรื่อยๆจนเกิดปัญหาตามมา

ต่อข้อถามที่ว่า ในขณะนี้ประเทศไทยอาจมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง แต่ถ้ารัฐบาลยังเดินหน้านโยบายที่ไม่รักษาวินัยการเงินการคลังจะทำให้ประเทศเข้าสู่ภาวะถังแตกหรือไม่ นายอภิสิทธ์ กล่าวว่า อยู่ที่การบริหารของรัฐบาลว่าจะทำตามที่มีการประเมินไว้หรือไม่ และตัวแทนของพรรคทั้ง 3 คน ที่จะติดตามเรื่องนี้ก็จะได้ตรวจสอบถึงทิศทางที่ชัดเจนของรัฐบาลเอกำหนดจุดยืนที่เหมาะสม โดยรัฐบาลควรหารือในวงกว้างเพราะสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำเกี่ยวข้องกับกติกาการเงินการคลังของประเทศ อย่าไปมองว่าเป็นเรื่องจะผลักดันนโยบายและหาเงินเพียงอย่างเดียวโดยไม่พิจารณาภาพรวม

ด้าน นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี โฆษก ครม.เงา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ทางพรรคจะให้คณะกรรมาธิการติดตามงบประมาณ ที่มี นายธนิตพล ไชยนันท์ เป็นประธานตรวจสอบเรื่องโรงครัวของรัฐบาลเพราะจากการที่มีการรายงานใน ครม.ว่า มีการผลิตข้าวกล่อง 3แสนกว่ากล่องต่อวันทั้งที่ในข้อเท็จจริงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก จึงต้องการให้ กมธ.ติดตามเรื่องนี้ต่อ รวมถึงการเบิกจ่ายเงินของ ศปภ.ผ่านไปยังสำนักงาน ส.ส.จังหวัดลพบุรี โดยจะให้นายธนิตพลนำเรื่องพร้อมเอกสารส่งให้คณะกมธ.ติดตามงบประมาณตรวจสอบเรื่องนี้ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น