xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ขาดพรก.กู้เงิน22ก.พ.-"โต้ง"หลงเวทีนึกว่าอยู่สภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ศาลรัฐธรรมนูญสอนมวย “โต้ง” ให้ชี้แจงตรงประเด็น อย่าเห็นศาลเป็นสภาฯ พร้อมถามทำไมไม่ออก พ.ร.ก.ช่วงสภาฯ ปิดประชุมจะได้พ้นข้อครหา ขณะที่ “กรณ์-คำนูณ” ชี้ชัดรัฐบาลไม่มีข้ออ้างฉุกเฉินใดๆ ที่จะออกกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ นัดฟังคำวินิจฉัย 22 ก.พ.นี้ บ่าย 2 โมงตรง "มาร์ค" จี้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบหากศาลวินิจฉัยขัดร ธน. ชี้เป็นมารยาททางการเมือง

วานนี้ (15 ก.พ.) เวลา 9.30 น. ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ให้ผู้ที่เกี่ยวกับการยื่นคำร้องตีความพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555 ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 184 วรรค 2เข้าชี้แจงรายละเอียดประกอบไปด้วย นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง นายคำนูณ สิทธิสมาน สว.สรรหา และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง

โดยนายกรณ์เป็นผู้เริ่มชี้แจงข้อมูลต่อศาลในประเด็น พ.ร.ก.ปรับปรุงหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ใน 4 ประเด็นหลักดังนี้ 1.การตรากฎหมายฉบับนี้ไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดในส่วนของภาระหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ ว่าในอนาคตกองทุนฟื้นฟูฯ จะแบกรับภาระหนี้อย่างไรเนื่องจากแหล่งรายได้ตามที่กฎหมายระบุและทรัพย์สินที่กองทุนฟื้นฟูฯ ถืออยู่ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ ซึ่งกฎหมายไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะทำอย่างไรและสุดท้ายรัฐบาลก็ต้องเข้ามารับประกันทำให้ขาดความเชื่อมั่น 2.การโอนอำนาจให้ ธปท. เก็บค่าธรรมเนียมจากธนาคารพาณิชย์จะส่งผลกระทบทางลบต่อผู้ฝากและกู้เงินและในท้ายที่สุดจะส่งผลต่อรายได้และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

ประเด็นที่ 3.การลดอัตราเงินนำส่งของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เหลือ 0.01% ทำให้เงินทุนที่ สคฝ.มีอยู่เพียง 8 หมื่นล้านบาทในปัจจุบันไม่เพียงพอที่จะคุ้มครองเงินฝากประชาชนได้หากมีแบงก์ล้มกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและต่อระบบเศรษฐกิจ และ4.การออกกฎหมายนี้เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงการแทรกแซงการทำงานของธนาคารกลางอย่างชัดเจนขัดต่อหลักปฏิบัติอันเป็นสากลโดยเฉพาะการใช้มติ ครม. ให้นำทรัพย์สินและทุนสำรองมาใช้ชำระหนี้แทนรัฐบาลได้

ขณะที่ประเด็น พ.ร.ก.เงินกู้ 3.5 แสนล้านนั้นตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้วเปิดโอกาสให้รัฐบาลสามารถออกกฎหมายเองได้แต่ต้องพิสูจน์ได้ว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ในขณะนี้รายละเอียดของ พ.ร.ก. เงินกู้3.5 แสนล้านบาทยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ออกมารายละเอียดโครงการยังไม่มีความชัดเจนโดยเท่าที่ได้มีการตรวจสอบข้อมูลพบว่าแต่ละโครงการมีความจำเป็นแต่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนเป็นโครงการระยะยาว 2-4 ปี สามารถจัดสรรได้ตาม พ.ร.บ.งบประมาณไม่จำเป็นต้องออก พ.ร.ก.แต่อย่างใด

“รัฐบาลมีช่องทางที่จะใช้เงินได้โดยไม่ต้องออก พ.ร.ก.เงินกู้ โดยหากทำงบกลางปีซึ่งมีเพดานเงินกู้เหลืออยู่ 1.1 แสนล้านบาทก็สามารถดำเนินการได้ภายใน 2 เดือนตั้งแต่มีการพูดถึงเรื่องนี้จนถึงวันนี้ก็เกือบจะสามารถใช้ได้แล้ว อีกทั้งในการแปรญัตติงบปี 55 ที่ผ่านมามีการตัดลดวงเงินไปกว่า 4 หมื่นล้านแต่ก็ไม่ได้จัดสรรมาใช้แก้ไขปัญหาน้ำท่วมแต่อย่างใดจึงเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะออกพ.ร.ก.เงินกู้ดังกล่าวและที่สำคัญจำเป็นต้องรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย” นายกรณ์กล่าว

***"คำนูณ" ตอกย้ำไม่มีเหตุฉุกเฉิน
 

ด้านนายคำนูณ ได้ชี้แจงว่าพ.ร.ก.ปรับปรุงหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ นั้น แม้ว่าจะเห็นด้วยกับหมายเหตุแนบท้าย พ.ร.ก.ดังกล่าวแต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการตรากฎหมาย การออก พ.ร.ก.ปรับปรุงหนี้ฯ ไม่เป็นไปตามมาตรา 184 วรรค 2 เนื่องจาก 1.รัฐบาลมีงบประมาณที่จะใช้ในการฟื้นฟูและบริหารจัดการน้ำ หรือโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้อยู่แล้ว หรือสามารถดำเนินการได้ไปพลางก่อนอยู่แล้ว เนื่องจากมีเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2555 เป็นงบกลางจำนวน 1.2 แสนล้านบาท และเงินสำรองจ่ายฉุกเฉินหรือจำเป็น 66,000ล้านบาท และงบประมาณตามแผนงานทรัพยากรน้ำและความเสียหายจากภัยพิบัติ และแผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และแผนงานของกระทรวง หรือกรมอื่นอีกจำนวนมาก เรื่องนี้ปรากฏตาม พ.ร.บ.รายจ่ายประจำปี 2555 ที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบแล้วรอเพียงการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และยังมีเงินนอกรายจ่ายประจำปี คือเงินจากการตรา พ.ร.ก.อีก 3 ฉบับที่ได้ประกาศใช้ไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลมีเงินงบประมาณใช้ถึง 7 แสนล้านบาท แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีเงินเพียงพอ จึงไม่มีความจำเป็น
ข้อ 2 ในขณะที่ครม.ได้มีมติให้มีการตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้ สภาผู้แทนราษฎรได้เห็นชอบ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2555 แล้วเมื่อวันที่ 7 ม.ค. โดยใน พ.ร.บ.นี้ได้ระบุรายจ่ายของกระทรวงการคลังในการชำระหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ ที่รัฐบาลต้องการลดภาระการชำระหนี้ของกระทรวงการคลังไว้ทั้งหมดแล้ว และวุฒิสภาก็ได้ให้ความเห็นชอบในเวลาต่อมา รัฐบาลจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงวงเงินงบประมาณ หรือเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการชำระหนี้ของเงินกองทุนใน พ.ร.บ.รายจ่ายฯได้อีก หากรัฐบาลต้องการนำเงินที่ต้องการชำระหนี้ของกระทรวงการคลังใน พ.ร.บ.งบประมาณฯก็ต้องไปดำเนินการใน พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2556 และการตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้ไม่ส่งผลให้หนี้สาธารณะ แต่เป็นการผลักภาระจากการตั้งจ่ายประจำปีเท่านั้น การออก พ.ร.ก.ฉบับนี้จึงไม่ส่งผลให้รัฐบาลมีงบประมาณเร่งด่วนที่จะใช้ได้อย่างรวดเร็ว และ ครม.ยังมีเวลาเพียงพอในการออกในรูปแบบ พ.ร.บ.ให้รัฐสภาเห็นชอบ เพราะขณะนี้อยู่ในสมัยสามัญนิติบัญญัติ และ พ.ร.ก.นี้มีเพียง 13 มาตราเท่านั้น

***ข้อมูล "ธีระชัย" ชี้ชัดขัดแย้ง
 

ในประเด็นที่ 3 มีการปรากฏในเฟชบุ๊กของนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ก็มีการระบุว่า ปัจจุบันสัดส่วนภาระการชำระหนี้เงินกู้ต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีของงบประมาณปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.33 โดยเป็นการชำระหนี้เงินต้นจำนวนร้อยละ 1.97 และชำระดอกเบี้ย 7.36 ดังนั้นรัฐบาลจึงมีขีดความสามารถในการชำระหนี้เงินกู้ได้อีก 5.67 จึงจะครบสัดส่วนการเพดานการชำระหนี้เงินกู้ร้อยละ 15 ตามกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลของรัฐบาล ที่นายกิตติรัตน์ แจ้งต่อ ครม.ว่าสัดส่วนชำระหนี้ของรัฐบาลเหลือเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น ซึ่งเป็นข้อมูลที่ขัดแย้งกันอย่างมีนัยยะ

และข้อ 4 ก่อนหน้าการออก พ.ร.ก.นี้มีการเผยแพร่ร่างของ พ.ร.ก.จนส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง ว่าจะทำให้รัฐบาลเข้าแทรกแซงสินทรัพย์ของประเทศ ส่งผลให้ ธปท.ในฐานะธนาคารของประเทศขาดเสถียรภาพ ขาดความน่าเชื่อถือในความมั่นคงทางการเงิน จนเกิดมีการหารือระหว่างรองนายกรัฐมนตรี กับ ธปท. และสำนักงานกฤษฎีกา เป็นผลให้มีการแก้ไขความใน พ.ร.ก. หลายมาตรา เมื่อ พ.ร.ก.บังคับใช้แล้ว ยังมีเสียงทักท้วงจากสมาคมธนาคารไทยเนื่องจากจะเป็นการผลักภาระให้กับธนาคารพาณิชย์ และสูญเสียการแข่งขันการธนาคารต่างประเทศ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เหตุการณ์เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น หากรัฐบาลตรา พ.ร.บ.งบประมาณตามปกติ เพราะจะมีเวลา และเวทีสร้างความเข้าใจในขั้นตอนของรัฐสภา

ต่อมา นายกิตติรัตน์ ในฐานะผู้ถูกร้องได้ทำการชี้แจง ซึ่งในช่วงแรกนายกิตติรัตน์ อธิบายถึงรายละเอียดของรัฐธรรมนูญมาตรา 184 เกี่ยวกับอำนาจในการตรา พ.ร.ก.ปรากฎว่านายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้แย้งขึ้นมาทันทีว่า "ประทานโทษท่านรองนายกฯเพราะตอนนี้ประเด็นมันแคบเข้ามาแล้วหลังจากผู้ร้องได้ชี้แจงมาก่อนหน้านี้ ตอนนี้เป็นโอกาสชี้แจงของท่าน ไม่ต้องอธิบายรัฐธรรมนูญให้พวกเราได้เข้าใจอีกครั้งหนึ่ง นี่ไม่ได้เป็นการประท้วงในสภาฯ ครับ แต่เป็นการเตือนท่านเพื่อรักษาเวลาเท่านั้น กรุณาชี้แจงในส่วนของผู้ร้อง" ซึ่งนายกิตติรัตน์ เกิดอาการชะงักกลางคันก่อนจะชี้แจงต่อ

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ยอมรับว่าประเทศไทยมีหนี้สาธารณะต่อจีดีพี 4.2 ล้านล้านบาท และสามารถกู้เงินได้เพิ่มขึ้นเพราะยังหนี้สาธารณะยังไม่ถึง 60%ของจีดีพี แต่ถ้าเราไม่มีการจัดการอะไรและมีความจำเป็นต้องกู้เงินอยู่จะส่งผลให้มีหนี้สาธารณะถึง 50% โดยในนั้นจะมีหนี้ส่วนหนึ่งอย่างมีนัยสำคัญ คือ หนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านบาท จึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ควรมีการจัดบริหารหนี้ส่วนนี้อย่างเป็นระบบ เพราะรัฐบาลที่ผ่านมาไม่เคยมีการบอกว่าจะลดหนี้ก้อนหนี้อย่างไร

นายวสันต์ถามอีกว่า ตามหลักฐานที่ปรากฎรัฐบาลเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 เข้าสู่สภาฯในเดือนพ.ย.2554 หลังจากนั้นมีช่วงเวลาปิดสมัยประชุมสามัญทั่วไปจนถึงปลายเดือนธ.ค.ทำไมรัฐบาลไม่พิจารณาออกพ.ร.ก.ในช่วงนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อครหาว่าชิงออกพ.ร.ก.ทั้งๆที่สภาเปิดสมัยประชุมอยู่ เพราะถ้าออกพ.ร.ก.ช่วงสภาปิดเสียงครหาจะน้อยกว่านี้

นายกิตติรัตน์ กล่าวพร้อมถอนหายใจบางช่วงว่า "เออ...ผมเองไม่ใช่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองครับ แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่ดำเนินการไม่ได้คำนึงถึงแนวคิดทางการเมืองเป็นหลัก แต่เป็นการดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นใจทางเศรษฐกิจ เรื่องของเงื่อนเวลาขอเรียนตามจริงว่าผมเองได้พูดต่อสาธารณชนหลายครั้งว่าการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดอุทกภัยซ้ำมีความจำเป็นต้องลงทุนด้วยเงินหลายแสนล้านบาท ครม.ได้พิจารณาความเสียหายจากการสำรวจของธนาคารโลกและสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดังนั้น เรื่องเงื่อนเวลาจึงไม่คำนึงว่าถ้าจะไปเร่งตรงนั้นแล้วจะเกิดผลประโยชน์ที่ดีกว่าในทางการเมืองอะไร"

นายวสันต์ ถามเพิ่มเติมว่า ถ้าออกพ.ร.ก.ช่วงปิดสภาฯจะมีข้อแก้ตัวได้แต่การที่มาออกพ.ร.ก.ทั้งๆ ที่สภาเปิดอยู่เหมือนไม่ให้ความเคารพฝ่ายนิติบัญญัติเลย ตรงนี้ทำไมไม่คิดออกตั้งแต่ตอนนั้น เพราะอุทกภัยก็เห็นๆกันอยู่ กว่าจะถึงสิ้นปี 2554 น้ำในบางแห่งก็ยังไม่แห้ง ซึ่งเห็นสภาพความเสียหายและวิธีการป้องกันมาตั้งแต่ต้นแล้ว กรุณาตอบตรงนิดนึงว่าทำไมตอนนั้นจึงไม่คิดในช่วงเดือนธ.ค.2554 ทั้งเดือน

นายกิตติรัตน์ ถอนหายใจและชี้แจงอีกครั้งว่า เรื่องนี้ได้เสนอเข้าที่ประชุมครม.เมื่อวันที 27 ธ.ค.ไม่ได้มีความเข้าใจหรือความชำนาญในเรื่องของการเสนอในช่วงสภาปิดหรือสภาเปิดแต่อย่างใดด้วยความเคารพ" นายกิตติรัตน์ กล่าว

ภายหลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับฟังคำชี้แจงด้วยวาจาผู้เกี่ยวข้องทั้ง 3 แล้ว ศาลจึงได้นัดฟังคำวินิจฉัย พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับ ในวันที่ 22 ก.พ.2555 เวลา 14.00 น.

***ศาลคึกคักกองเชียร์ 2 ฝ่ายเพียบ
 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรับฟังคำชี้แจงของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ได้รับความสนใจทั้งจากสื่อมวลชน และฝ่ายการเมือง เนื่องจากถือเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดให้รับฟังคำชี้แจงในกรณีที่มีการยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัย พ.ร.ก.โดยนอกเหนือจาก นายกรณ์ นายคำนูณและนายกิตติรัตน์ แล้ว ยังมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการครม. นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.

ก่อนการชี้แจงฯ น.ส.รสนากล่าวถึงความรับผิดชอบของรัฐบาลหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ พ.ร.ก.ทั้งสองฉบับตกไปว่า เมืองไทยมีมาตรฐานจริยธรรมค่อนข้างต่ำ จึงหานักการเมืองรับผิดชอบได้ยาก อย่างกรณีของการแปรรูป กฟผ.ก็ไม่เห็นมีใครออกมารับผิดชอบ แม้จะมีประมวลจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญก็ไม่มีผลบังคับ

“ส่วนตัวเห็นว่าหากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า พ.ร.ก.ตกไป ก็ควรต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก แต่วันก่อนได้ยินนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์แล้วว่า นายกิตติรัตน์ ไม่ต้องลาออก แล้วถามว่านายกฯ จะลาออกหรือเปล่า” นางรสนากล่าว และว่า เรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องทางการเมือง ไม่มีข้อกฎหมายบอกว่านักการเมืองต้องรับผิดชอบอะไร มันเป็นเรื่องที่สังคมจะต้องบีบ ถ้าสังคมเฉยๆ ก็ทำอะไรไม่ได้

*** "มาร์ค" จี้ รบ.แสดงความรับผิดชอบ

ด้านนายอภิสิทธิ์กล่าวภายหลังร่วมฟังการชี้แจงฯ กรณี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ระบุว่าไม่มีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องแสดงความรับผิดชอบ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เป็นเรื่องของมารยาท เป็นการรักษาระบบความรับผิดชอบทางการเมือง และก็ไม่ได้มีอะไรที่เป็นการไปคุกคามความเป็นรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยที่มีเสียงข้างมากอยู่ และหากไม่มีการแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองก็จะทำให้ ครม.ออกกฏหมายขัดรัฐธรรมนูญ ทำผิดทำใหม่ได้ และจะทำให้ ครม.ในยุคต่อๆ ไปทำสิ่งไหนผ่านไปได้ก็ผ่าน อันไหนถูกจับได้ว่าผิดก็ไม่เป็นไร ขอทำใหม่ แต่การที่อ้างว่าหากไม่ผ่านก็จะเปลี่ยนมาเป็นการออก พ.ร.บ.ก็เป็นสิทธิ์ที่ทำได้ แต่ตนคิดว่ามันเป็นคนละประเด็นกับการแสดงความรับผิดชอบโดยมารยาท.
กำลังโหลดความคิดเห็น