xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 29 ม.ค.-4 ก.พ.2555

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.รบ.เสียงข้างมากลาก 2 พ.ร.ก.ผ่านสภาฯ ขณะที่ “ปชป.” วอล์กเอาต์-ไม่ร่วมสังฆกรรม ส่วนอีก 2 พ.ร.ก.รอศาล รธน.เคาะรับวินิจฉัยหรือไม่ 6 ก.พ.!
บรรยากาศการลงมติ พ.ร.ก.2 ฉบับ หลังฝ่ายค้านวอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุม(2 ก.พ.)
ความคืบหน้าเกี่ยวกับร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน 4 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือ พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1.14 ล้านล้านบาท ,พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ,พ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ และ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ซึ่งคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมินเสียงคัดค้านที่หลายฝ่ายเสนอให้ออกเป็น พ.ร.บ.เพื่อให้สภาได้พิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นเร่งด่วน อีกทั้ง พ.ร.ก.บางฉบับจะส่งผลกระทบต่อประชาชน แต่ ครม.ก็ไม่สน เดินหน้าไฟเขียวออกเป็น พ.ร.ก. แล้วทูลเกล้าฯ ขึ้นไป กระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ลงมา และมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 ม.ค.ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) และ ส.ว.บางส่วนมองว่า พ.ร.ก.บางฉบับขัดรัฐธรรมนูญจึงได้เตรียมยื่นเรื่องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้นำรายชื่อ ส.ส.128 คน พร้อมความเห็นเสนอต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1.14 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งนี้ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ชี้ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ โดยจริยธรรมแล้ว รัฐบาลต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกเท่านั้น

ด้านนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงเหตุผลที่พรรคต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับว่า เพราะ พ.ร.ก.ดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับประชาชน เนื่องจาก พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ระบุว่า ธนาคารพาณิชย์ต้องนำส่งรายได้ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เพื่อนำไปชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ดังนั้นธนาคารพาณิชย์ต้องเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าต๋งจากประชาชน นอกจากนี้ยังจะกระทบต่อดอกเบี้ยเงินฝากที่น้อยลง ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้จะเพิ่มขึ้น

วันต่อมา(31 ม.ค.) สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)จำนวน 68 คน นำโดยนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ก็ได้ยื่นคำร้องต่อ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา ให้ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ให้ ธปท.ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรค 2 หรือไม่ เพราะมาตราดังกล่าวระบุว่า การตรา พ.ร.ก.จะกระทำได้เฉพาะกรณีที่ ครม.เห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ แต่การที่รัฐบาลโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ให้ ธปท.โดยให้เหตุผลว่าเพื่อลดหนี้สาธารณะและเพิ่มเพดานเงินกู้นั้นขัดแย้งกับที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแถลงโดยสิ้นเชิง “จากการแถลงของนายธีระชัยว่า รัฐบาลยังสามารถกู้ยืมเงินเพิ่มเติมได้อีกเป็นจำนวนมาก เพราะภาระหนี้สาธารณะต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วน 9.33% จึงยังคงกู้ยืมเงินมาใช้จ่ายได้อีก 5.67% ถึงจะครบสัดส่วนเพดานเงินกู้ 15% ข้อเท็จจริงดังกล่าวมิได้เป็นไปตามที่ ครม.ใช้ในการอนุมัติ พ.ร.ก.ฉบับนี้ตามที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแจ้ง”

ทั้งนี้ หลังประธานสภาฯ ส่งคำร้องของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.ก.2 ฉบับ และประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของ 68 ส.ว.ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.ก.1 ฉบับเรียบร้อยแล้ว มีรายงานว่า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาว่าจะรับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัยหรือไม่ในวันที่ 6 ก.พ.นี้ หากรับไว้วินิจฉัย ก็จะมีการหารือเพื่อกำหนดปฏิทินทำงานต่อไป โดยคาดว่าจะใช้เวลาวินิจฉัยไม่เกิน 30 วัน

ส่วนบรรยากาศการประชุมสภาเพื่อให้ฝ่ายค้านได้อภิปราย พ.ร.ก.กู้เงิน 2 ฉบับที่ไม่มีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ประกอบด้วย พ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ และ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ที่กำหนดประชุม 2 วัน คือ 1 และ 2 ก.พ.ก่อนที่จะมีการลงมติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบนั้น ปรากฏว่า ได้เกิดความปั่นป่วนขึ้นในการประชุมวันที่ 2 ถึงขั้นพรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจ ประกาศไม่ร่วมสังฆกรรม พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับ พร้อมวอล์กเอาต์ออกจากที่ประชุม

ทั้งนี้ ก่อนที่เหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้น การประชุมได้เริ่มขึ้นตามปกติ โดยมีการพิจารณา พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับต่อจากวันที่ 1 ก.พ. แต่เมื่อพรรคประชาธิปัตย์อภิปรายไปได้ 3 คน นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค ได้เสนอให้นับองค์ประชุม เนื่องจากเห็นว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีไม่อยู่ในห้องประชุมแม้แต่คนเดียว ขณะที่ ส.ส.ก็บางตา หลังจากนายบุญยอดเสนอนับองค์ประชุม ปรากฏว่า ส.ส.จำนวนมากรีบวิ่งเข้าห้องประชุมจนครบองค์ประชุม จากนั้นนายบุญยอดได้ขอถอนสิทธิการนับองค์ประชุม ส่งผลให้ ส.ส.รัฐบาลไม่พอใจ จึงส่งเสียงโห่ นายบุญยอดจึงบอกว่า เมื่อมีเสียงโห่เช่นนี้ ก็ขอยืนยันการใช้สิทธินับองค์ประชุมเช่นเดิม ที่ประชุมจึงได้ลงมตินับองค์ประชุม ซึ่งปรากฏว่ามี 279 เสียง ถือว่าครบองค์ประชุม

หลังจากนั้น ดูเหมือนพรรคเพื่อไทยจะเอาคืน โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน ได้เสนอญัตติปิดการอภิปราย พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับทันที ทั้งที่ยังเหลือผู้อภิปรายจากพรรคประชาธิปัตย์อีกประมาณ 20 คน โดย นพ.ชลน่าน อ้างว่า สภาได้พิจารณา พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับมายาวนาน 14 ชม. ได้อธิบายเหตุผลอย่างครอบคลุมครบถ้วนแล้ว ด้าน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้ลุกขึ้นประท้วง โดยชี้ว่าคณะกรรมการประสานงาน(วิป)ทั้งของรัฐบาลและฝ่ายค้านก็ตกลงกันแล้วว่าจะให้อภิปรายครบทุกคนจึงไม่ควรใช้เสียงข้างมากหรือใช้ความรู้สึกไม่พอใจเรื่องถูกนับองค์ประชุมมาสั่งปิดการอภิปรายแบบนี้ แต่ นพ.ชลน่านยังยืนกรานญัตติให้ปิดอภิปราย จึงเกิดการโต้เถียงกันไปมา ด้านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้เปิดอภิปรายต่อ

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุน รองประธานสภาฯ ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุม จึงได้ขอให้ที่ประชุมลงมติว่าจะปิดการอภิปรายหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมมีมติ 265 ต่อ 94 เสียง ให้ปิดการอภิปราย ด้านนายสาทิตย์ไม่พอใจได้กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า “ฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบ พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับเต็มที่แล้ว แต่ฝ่ายรัฐบาลใช้เสียงข้างมากปิดปากตัวแทนประชาชน จึงไม่สามารถร่วมสังฆกรรมในการลงมติกฎหมายทั้ง 2 ฉบับได้ จึงขอวอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุม” จากนั้น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้เดินออกจากห้องประชุมทันที

ด้านประธานที่ประชุมได้เดินหน้าประชุมต่อ เพื่อลงมติเห็นชอบ พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับ โดยสั่งลงมติ พ.ร.ก.ทีละฉบับ ซึ่งผลออกมาเท่ากัน โดยเห็นชอบทั้ง 2 พ.ร.ก.ด้วยค ะแนน 263 เสียง งดออกเสียง 14 เสียง ไม่ลงคะแนน 5 เสียง จากจำนวนผู้อยู่ในห้องประชุม 282 คน เมื่อลงมติเรียบร้อย นายวิสุทธิ์จึงสั่งปิดประชุม ด้านนายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันว่า เมื่อสภาให้ความเห็นชอบ พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับ จึงถือว่าสมบูรณ์ครบองค์ประกอบตามรัฐธรรมนูญแล้ว ไม่ต้องนำเข้าสู่กระบวนการใดใดอีก

2.“สมคิด” รับลูก อมธ.เตรียมทบทวนมติห้าม “นิติราษฎร์” ใช้พื้นที่ มธ.เคลื่อนไหวแก้ ม. 112 - เมินกลุ่มวารสารฯ จี้สอบวินัยนิติราษฎร์!
ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันคณะวารสารศาสตร์ฯ มธ.ประมาณ 200 คน รวมตัวต้านนิติราษฎร์(2 ก.พ.)
ความคืบหน้าหลังกลุ่มนิติราษฎร์ นำโดยนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกมาเคลื่อนไหวเสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นบทบัญญัติระบุความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี และองค์รัชทายาท รวมทั้งเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย โดยระบุว่า พระมหากษัตริย์จะต้องสาบานตนก่อนเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งได้เกิดกระแสคัดค้านอย่างกว้างขวางของประชาชนในหลายจังหวัด ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 30 ม.ค. นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ที่ประชุมกรรมการบริหาร มธ.ซึ่งประกอบด้วยคณบดี ผู้อำนวยการสำนักสถาบัน ได้มีมติเอกฉันท์ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเพื่อเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกต่อไป เพราะมหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ราชการ การอนุญาตต่อไปอาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินการของมหาวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยเห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าว อีกทั้งอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งรุนแรงภายในมหาวิทยาลัย จนไม่อาจดูแลความปลอดภัยของบุคคลและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยได้”

ทั้งนี้ หลังกรรมการบริหาร มธ.มีมติดังกล่าว นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มธ. ซึ่งเป็น 1 ในผู้ที่ถูกมองว่าเป็นนักวิชาการสายเสื้อแดงและหนุนกลุ่มนิติราษฎร์ รีบออกมาแสดงความเห็นคัดค้านมติของกรรมการบริหาร มธ.ผ่านทางเฟซบุ๊กของตนเอง โดยชี้ว่า สังคมทราบดีว่ากลุ่มนิติราษฎร์และ ครก.112 ไม่ใช่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยรวม “ส่วนเหตุผลหลังเรื่องเกรงความขัดแย้งรุนแรงในมหาวิทยาลัย แม้ว่าไม่ถึงกับเป็นไปไม่ได้ แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่เห็นเค้ารอยความเป็นไปได้ชัดเจน นอกจากการเผาหุ่น(นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์)โดยกลุ่มต่อต้านจากภายนอกที่เกิดขึ้น…”

ด้านนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มธ. ได้ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กในวันต่อมา(31 ม.ค.) โดยยืนยันว่า มติของกรรมการบริหารที่ห้ามกลุ่มนิติราษฎร์ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 นั้น ไม่ใช่การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่เป็นการ “ตัดไฟแต่ต้นลม” เพราะเกรงว่าสถานการณ์ความขัดแย้งจะลุกลามจนกลายเป็น “6 ตุลาครั้งที่สอง”

อย่างไรก็ตาม มีอดีตผู้บริหาร มธ.บางคนไม่เห็นด้วยกับมติของกรรมการบริหาร เช่น นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มธ. ซึ่งถูกมองว่าอยู่สายเสื้อแดง ได้ทำ จม.เปิดผนึกถึงนายสมคิด อธิการบดี มธ.โดยชี้ว่า มติของกรรมการบริหารไม่ถูกต้องตามเจตนารมณ์และจิตวิญญาณของการสถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2477 ที่ยืนยันในหลักการของเสรีภาพ-เสมอภาค-ภราดรภาพ ที่ถือปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ ตลอดจน ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และ ศ.สัญญา ธรรมศักดิ์ ที่เคยกล่าวเป็นหลักการหนึ่งของมหาวิทยาลัยว่า ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว

ด้านนายสมคิด ได้ออกมาชี้แจง โดยเชื่อว่า ถ้าเป็นสมัย ดร.ป๋วยเป็นผู้บริหาร ก็คงค้านการเคลื่อนไหวทางการเมืองใน มธ.เช่นกัน “ผมเป็นอธิการบดี มธ. ผมรู้ดีว่า มธ.มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว แต่เชื่อว่าในสมัย ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คงมีกรณีห้ามคนมาพูดใน มธ. เพียงแต่เรื่องนั้นไม่ใช่ประเด็นทางการเมือง หรือแม้แต่ในสมัย 14 ต.ค.2516 ที่นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ใช้พื้นที่บริเวณลานโพธิ์เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ผมเชื่อว่าเป็นการรวมตัวกันขึ้นมาโดยไม่มีการขออนุญาตใช้พื้นที่ หากมีการขออนุญาต ผมเชื่อว่า ดร.ป๋วยก็คงไม่อนุญาตให้ใช้ เพราะเห็นว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงได้…”

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในส่วนของนักศึกษา มธ.ก็มีทั้งฝ่ายที่หนุนและค้านนิติราษฎร์ใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเคลื่อนไหว โดยฝ่ายที่หนุน ได้แก่ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(อมธ.) ซึ่งได้ออกแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊กเรียกร้องให้ผู้บริหาร มธ.ทบทวนมติที่ห้ามกลุ่มนิติราษฎร์ใช้พื้นที่ มธ.เคลื่อนไหวเรื่องแก้มาตรา 112 โดยอ้างว่ามติดังกล่าวกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ส่วนฝ่ายที่ค้านนิติราษฎร์ ได้แก่ ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันจำนวนหนึ่งของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ซึ่งใช้ชื่อกลุ่มว่า “วารสารฯ ต้านนิติราษฎร์” ประมาณ 200 คน นำโดยนายยุทธนา มุกดาสนิท ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง ได้ยื่นหนังสือถึงอธิการบดี มธ.เรียกร้อง 5 ข้อ เช่น ขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนอาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ ที่อาจเข้าข่ายกระทำผิดทั้งทางวินัยและกฎหมาย ,ขอให้ประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าร่วมกันแสดงตนคัดค้านการแก้ไขมาตรา 112 และต่อต้านแนวคิดหรือการกระทำใดใดที่ส่อถึงการล่วงละเมิดหรือล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ฯลฯ

ด้านนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มธ.ไม่รับข้อเสนอกลุ่มวารสารฯ ที่เสนอให้ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยอาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ โดยยืนยันว่ากลุ่มนิติราษฎร์ไม่ได้ทำผิดทางวินัยอะไร รวมทั้งจะไม่ไปแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มนิติราษฎร์ หากกลุ่มวารสารฯ มีหลักฐานชัดเจนว่ากลุ่มนิติราษฎร์มีความผิดจริงๆ ก็ไปแจ้งความดำเนินคดีได้ด้วยตนเอง ส่วนข้อเสนอของ อมธ.ที่ขอให้ทบทวนมติห้ามกลุ่มนิติราษฎร์ใช้พื้นที่ มธ.เคลื่อนไหวเกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 นั้น นายสมคิด บอกว่า จะนำเรื่องเข้าหารือในที่ประชุมกรรมการบริหารในวันที่ 13 ก.พ.นี้ “มธ.ยังมีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ไม่ว่านักศึกษาจะมาวางพวงหรีดอธิการฯ หรือติดป้ายคัดค้านเรื่องต่างๆ ก็ถือเป็นเรื่องปกติ ขอย้ำว่า การตัดสินใจครั้งนี้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ผู้บริหารทั้งหมดมีมติเอกฉันท์ ผมได้ชี้แจงมาโดยตลอดว่าไม่ได้เป็นการปิดกั้นเสรีภาพ”

ส่วนท่าทีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต่อข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์เกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 หลังสังคมมองว่า พรรคเพื่อไทย กลุ่มเสื้อแดงและกลุ่มนิติราษฎร์ เป็นเนื้อเดียวกันและสนับสนุนแก้ไขมาตรา 112 เหมือนกัน ก็ได้ออกมาย้ำเมื่อวันที่ 30 ม.ค.ว่า รัฐบาลไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะแก้มาตราดังกล่าว พร้อมเชื่อว่าทุกฝ่ายมีความปรารถนาดี แต่ขอความร่วมมืออย่านำสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้ในทางที่ผิด ทุกคนต้องร่วมกันปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะที่นางธิดา ถาวรเศรษฐ รักษาการประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.ก็เปิดแถลงยืนยันว่า นปช.ไม่หนุนแก้มาตรา 112 แต่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น

ด้านพรรคประชาธิปัตย์ ได้เปิดคลิปจับโกหกพรรคเพื่อไทย(พท.) และ นปช.ที่พยายามลอยตัวจากกลุ่มนิติราษฎร์ว่า ทั้งหมดล้วนเป็นกลุ่มเดียวกัน โดยนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้เปิดแถลงพร้อมโชว์คลิปหลักฐาน “คลิปแรก นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พท.ขึ้นเวทีคนเสื้อแดง โดยหน้าเวทีมีป้ายเขียนชัดเจนว่า ไม่เอามาตรา 112 คลิปที่ 2 เป็นการแถลงข่าวของนางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช.ที่ระบุว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง นอกจากยุทธศาสตร์ 2 ขา ก็ยังมี 2 แขน ซึ่งแขนขวาเป็นกลุ่มเสื้อแดง ส่วนแขนซ้ายคือ กลุ่มนิติราษฎร์ ที่แม้ว่าจะไม่ได้สวมเสื้อแดง แต่ก็มีจิตใจเดียวกับพวกเรา…”

3.รัฐบาล ไฟเขียวเยียวยาเหยื่อใต้ ได้ 7 ล้านเท่าเสื้อแดง แต่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าตายจากฝีมือรัฐ ประเดิมจ่าย 4 ศพปัตตานี!
4 ศพที่ถูกเจ้่าหน้าที่ยิงที่ จ.ปัตตานี
เมื่อวันที่ 30 ม.ค.พล.ต.อัคร ทิพโรจน์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(รอง ผอ.รมน.)ภาค 4 ส่วนหน้า แถลงว่า เมื่อวันที่ 28 ม.ค.เวลาประมาณ 20.30น.ได้มีกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงยิงกระสุนเอ็ม 79 จำนวน 3 นัด เข้าใส่ฐานปฏิบัติการของหน่วยทหารพรานที่ 4302 ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี หลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ได้พบคนร้ายขึ้นรถกระบะเพื่อหลบหนี จึงแจ้งวิทยุสกัดรถคันดังกล่าว จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้จัดกำลังออกสกัดกั้นเส้นทางหลบหนีของคนร้าย เมื่อพบรถกระบะต้องสงสัยคันดังกล่าววิ่งมา โดยมีรถจักรยานยนต์ 2 คันวิ่งประกบด้านข้าง จึงเรียกให้จอดเพื่อตรวจสอบ แต่ทั้งหมดได้จอดรถห่างจากเจ้าหน้าที่ โดยรถจักรยานยนต์ได้กลับรถขี่หลบหนีไป ส่วนรถกระบะได้ถอยห่างจากจุดสกัดของเจ้าหน้าที่อย่างเร่งรีบ จนตกลงไปในคูน้ำริมถนน “เจ้าหน้าที่ได้เรียกให้บุคคลในรถทั้งหมดแสดงตัวกับทางเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบ… แต่ 1 ในชาวบ้านที่อยู่ในรถใช้อาวุธปืนยิงออกมา เจ้าหน้าที่ซึ่งล้อมอยู่ก็ได้ระดมยิงใส่รถคันดังกล่าวทันที หลังจากสิ้นเสียงปืน และเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบ พบผู้เสียชีวิต 4 ศพ บาดเจ็บ 4 ราย และพบอาวุธปืนอยู่ในรถคันดังกล่าว 2 กระบอก เป็นปืนอาก้า 1 กระบอก และขนาด 11 มม.1 กระบอก ส่วนผู้เสียชีวิต เจ้าหน้าที่ยังไม่สรุปว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ก่อเหตุหรือไม่…”

ทั้งนี้ มีข่าวแพร่สะพัดว่า ผู้เสียชีวิตทั้ง 4 ศพที่ถูกเจ้าหน้าที่ยิงนั้นเป็นชาวบ้าน ไม่ใช่ผู้ก่อเหตุยิงเอ็ม 79 เข้าใส่ฐานทหารแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาปฏิเสธว่า ทหารไม่ได้ยิงชาวบ้านตามที่มีข่าว แต่เป็นกลุ่มผู้ก่อเหตุที่เจ้าหน้าที่ปิดล้อมจับกุม โดยพบอาวุธหลายอย่างอยู่ในรถกระบะที่พบศพผู้เสียชีวิต 4 ศพ

อย่างไรก็ตาม วันต่อมา(31 ม.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ออกมายอมรับว่าเกิดความเข้าใจผิดกันกรณีเจ้าหน้าที่ยิงชาวบ้านเสียชีวิต 4 ศพ และบาดเจ็บ 4 ราย พร้อมแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น “ขอความเห็นใจให้แก่เจ้าหน้าที่ด้วย เพราะคงไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น เพราะทุกคนเสียสละ และหลังจากเกิดเหตุ ได้มีการนำกำลังพลที่ถูกกล่าวหาออกนอกพื้นที่ เพื่อให้มีการสืบหาข้อเท็จจริง และเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการสอบสวน…”

ด้าน พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาพูดใหม่ โดยบอกว่า ขณะนี้แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีกำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายว่าการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามระเบียบหรือไม่ หากพบว่าทหารผิด ก็พร้อมรับผิด ชดใช้และขอโทษ แต่ถ้าถูกก็ต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ผู้เสียชีวิตทั้ง 4 รายไม่ใช่แนวร่วมกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ

ขณะที่ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 เผยหลังเจรจากับฝ่ายทหารพรานและชาวบ้านว่า ยังหาข้อสรุปไม่ได้ เพราะฝ่ายทหารยืนยันว่า ได้ยินเสียงปืนออกจากรถชาวบ้าน ทำให้ต้องยิงตอบโต้ เข้าใจว่าเป็นกลุ่มคนร้าย ขณะที่ชาวบ้านก็ยืนยันเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีอาวุธปืน เป็นบุคคลที่ทำงานอย่างสุจริต ทำให้สรุปไม่ได้ว่าใครผิดใครถูก ต้องรอการพิสูจน์ตรวจสอบ ทั้งนี้ ได้ให้ชาวบ้านตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาหาข้อเท็จจริงเพื่อหาความกระจ่างในเรื่องนี้ด้วย พล.ท.อุดมชัย ยังประกาศด้วยว่า พร้อมรับผิดชอบกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ในครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จหรือความผิดพลาดก็ตาม

ส่วนในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 2 ก.พ. ได้มี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีถึงเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ยิงชาวบ้านเสียชีวิต 4 ศพเช่นกัน โดยนายอิสมาแอล เบญอิบรอฮีม ส.ส.ปัตตานี ถามนายกฯ ว่า จะมีแนวทางเยียวยาผู้เสียชีวิตทั้ง 4 ศพอย่างไร จะให้คนละ 10 ล้าน เหมือนที่รัฐบาลให้คนเสื้อแดง 7.5 ล้านหรือไม่ เพราะคนที่ตายไม่ได้สวมเสื้อแดง แต่สวมเสื้อขาวเพื่อไปทำพิธีทางศาสนา น่าจะได้เงินเยียวยามากกว่า

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้ตอบกระทู้แทน ซึ่ง พล.อ.อ.สุกำพล บอกว่า เบื้องต้นจะเยียวยาผู้เสียชีวิตคนละ 5 แสนบาท หากการสอบสวนพบว่าทหารเป็นฝ่ายผิด และเข้าข่ายต้องเยียวยา ก็เป็นเรื่องที่คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องจะพิจารณา ถ้าออกมาว่าต้องเยียวยา 7.5 ล้านบาท รัฐบาลก็ไม่มีปัญหาอะไร

ทั้งนี้ วันต่อมา(3 ก.พ.) นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้(กพต.) ได้เผยหลังประชุม กพต.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างระเบียบ กพต.ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ อันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และร่างประกาศ กพต.ว่าด้วยอัตราค่าช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว โดยสาระสำคัญของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ กำหนดให้ผู้ที่เสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาในอัตราไม่เกิน 7 ล้านบาท โดยผู้ที่จะได้รับการเยียวยาจะต้องพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่า เกิดจากฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ สำหรับกรณีชาวบ้าน 4 ศพที่ จ.ปัตตานีนั้น จะได้รับเงินเยียวยาแน่นอน “ผมจะลงนามในกฎหมายทั้ง 2 ฉบับเร็วที่สุด คาดว่าน่าจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในสัปดาห์หน้า ส่วนเงินจะถึงมือผู้ที่ได้รับความเสียหายเมื่อใด ขึ้นอยู่กับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) จะไปดำเนินการ โดยงบประมาณจะใช้งบที่รัฐบาลอนุมัติให้ ศอ.บต.เป็นหลัก”

4.ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนยกฟ้องอดีตอธิบดีกรมสรรพากรกับพวก กรณีไม่เก็บภาษี “พจมาน” โอนหุ้นชิน!
นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร เดินยิ้มลงจากศาล หลังได้ฟังคำพิพากษาว่าศาลยกฟ้อง(31 ม.ค.)
เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ,นายวิชัย จึงรักเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมายกรมสรรพากร ,น.ส.สุจินดา แสงชมพู อดีตนิติกร 9 ,น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อดีตนิติกร 8 และ น.ส.กุลฤดี แสงสายัณห์ อดีตนิติกร 7 เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เรียกเก็บหรือตรวจสอบภาษีอากร และเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีงดเว้นการคำนวณภาษีคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โอนหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) จำนวน 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาท ให้นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรม ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย ไม่สามารถเก็บภาษีจำนวน 270 ล้านบาทได้

สำหรับคดีนี้ โจทก์ยื่นฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2540 คุณหญิงพจมานได้โอนหุ้นชินคอร์ปที่อยู่ในชื่อของ น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี คนรับใช้ที่เป็นผู้ถือหุ้นแทน 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาทให้นายบรรณพจน์ โดยไม่มีค่าตอบแทน การที่นายบรรณพจน์ได้หุ้นดังกล่าว จึงเข้าลักษณะเป็นทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ต้องคำนวณเป็นเงินพึงได้ตามมาตรา 39 และ 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องเสียภาษี 270 ล้านบาท แต่นายบรรณพจน์ไม่เสียภาษี กระทั่งกรมสรรพากรทราบเรื่องจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2543 ที่มีมติว่า พ.ต.ท.ทักษิณจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ หลังจากนั้นกรมสรรพากรจึงมีหนังสือถึง ป.ป.ช.ขอข้อมูลการตรวจสอบทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณและคู่สมรส

ทั้งนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนี้เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2552 โดยยกฟ้องจำเลยทั้งห้า เนื่องจากมองว่าจำเลยไม่มีอำนาจเรียกเก็บภาษีและไม่ใช่ผู้มีหน้าที่ตรวจสอบภาษีอากร แต่เป็นผู้พิจารณาข้อกฎหมายตามที่สำนักตรวจสอบภาษีให้ตรวจสอบ และจำเลยได้พิจารณาข้อกฎหมายตามอำนาจหน้าที่แล้ว เมื่อศาลชั้นต้นยกฟ้อง อัยการจึงยื่นอุทธรณ์

ขณะที่ศาลอุทธรณ์ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ที่โจทก์อุทธรณ์อ้างว่าการโอนหุ้นของคุณหญิงพจมานให้นายบรรณพจน์ด้วยความเสน่หา เป็นการอำพรางเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี เพราะคุณหญิงพจมานอ้างว่าโอนหุ้นให้ในโอกาสที่นายบรรณพจน์แต่งงาน แต่กลับโอนหุ้นให้หลังจากที่นายบรรณพจน์สมรสกับภรรยามานานกว่า 1 ปีแล้ว ซึ่งศาลอุทธรณ์เห็นว่า การให้ทรัพย์สินด้วยความเสน่หา ไม่ต้องยึดตามวันเวลา แต่ต้องเป็นการให้ในโอกาสพิธีใดใด นอกจากนี้ยังมองว่าจำเลยทั้งห้าได้ใช้ดุลพินิจพิจารณาทำความเห็นเทียบเคียงทั้งจากข้อเท็จจริงและอ้างคำวินิจฉัยของสำนักตรวจสอบภาษีและศาลฎีกา ซึ่งการที่นักกฎหมายมีความเห็นแตกต่างกันในข้อกฎหมาย ศาลก็เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา อีกทั้งตามกฎหมายแล้ว จำเลยทั้งห้าก็เป็นเพียงเจ้าพนักงานทำหน้าที่ ไม่ได้เป็นผู้ประเมินภาษีและไม่ได้รับมอบหมายให้เรียกเก็บภาษีแต่อย่างใด นอกจากนี้ในทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่า จำเลยทั้งห้าได้รับประโยชน์อื่นใด การที่จำเลยทั้งห้าได้เลื่อนตำแหน่งหน้าที่ราชการสูงขึ้นก็เป็นไปตามขั้นตอนปกติ ไม่ได้เป็นกรณีพิเศษ ศาลอุทธรณ์จึงเห็นพ้องกับศาลชั้นต้น พิพากษายืนยกฟ้องจำเลยทั้งห้า
กำลังโหลดความคิดเห็น