xs
xsm
sm
md
lg

ศาลรธน.ลงมติ 22 ก.พ. 2พ.ร.ก.กู้เงินฉลุยหรือร่วง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง


พุธที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 นี้เวลา 14.00 น. คือกำหนดนัดที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้นัดประชุมเพื่อลงมติการพิจารณาว่าพระราชกำหนด(พ.ร.ก) การเงิน 2 ฉบับที่ออกโดยคณะรัฐมนตรีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 184 หรือไม่

พ.ร.ก.2ฉบับประกอบด้วย1.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อวางระบบบริหารการจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 วงเงิน 350,000 ล้าน บาท 2.พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบ สถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 วงเงิน 1.14 ล้านล้านบาท

ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์และสมาชิกวุฒิสภาได้เข้าชื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการออกพ.ร.ก.ทั้งฉบับไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพราะไม่เข้าข่ายความจำเป็นเร่งด่วนตามมาตรา 184 ของรัฐธรรมนูญ

โดยในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ ตุลาการรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ก็จะประชุมและลงมติกันทีละคน ทีละร่างว่าเห็นควรอย่างไร โดยตุลาการแต่ละคนก็จะแถลงความเห็นส่วนตนต่อที่ประชุม โดยดูว่าเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่อย่างไร หากขัดรัฐธรรมนูญขัดเพราะอะไร และถ้าไม่ขัดรัฐธรรมนูญไม่ขัดเพราะอะไร

จากนั้นก็เอามติดังกล่าวมาเขียนเป็นคำวินิจฉัยกลางในคดี เพื่ออ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการต่อไปทันทีในวันเดียวกัน

ส่วนที่ว่าจะลุ้นว่า ผลแห่งคดีจะมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือไม่อย่างไรนั้น คงไม่ต้องลุ้นกันแล้ว เพราะแกนนำรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ก็ประกาศแล้วว่าหากสุดท้ายผิดพลาดทางเทคนิค ครม.ไปออกพระราชกำหนดขัดรัฐธรรมนูญจริง ก็ถือว่าเป็นความผิดพลาดในขั้นตอนปฏิบัติ ไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่ได้ทุจริต

ถ้าผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อพ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับออกมา ไม่ว่าจะออกมาว่าขัดรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับหรือขัดรัฐธรรมนูญฉบับเดียวอีกหนึ่งฉบับไม่ขัดรัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็จะไม่แสดงความรับผิดชอบทางการเมือง

ด้วยการให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการออกพระราชกำหนดช่วงดังกล่าวโดยเฉพาะกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจที่รับผิดชอบเรื่องการออกพระราชกำหนดโดยตรงรวมถึงร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องกฎหมายและงานด้านนิติบัญญัติของรัฐบาล รับผิดชอบด้วยการ “ลาออก”แน่นอน

หากขัดรัฐธรรมมูญก็แก้ไขให้ถูกต้อง ก็ปรับจากพ.ร.ก.มาเป็นพระราชบัญญัติ แล้วเสนอเป็นเรื่องด่วน เข้าสภาฯ ให้พิจารณาให้เร็วที่สุด แต่แกนนำรัฐบาลก็ยังเชื่อว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ตัดสินว่าขัดรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ อย่างมากก็อาจแค่หนึ่งฉบับ

คือ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่ง ขัดรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่ง

การมองของรัฐบาลที่ว่านี้ คือมองแบบแง่ร้ายสุดแล้ว ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะขัดรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ

เพราะฝ่ายรัฐบาลเชื่อว่าก่อนที่พระราชกำหนดจะมีการประกาศใช้ให้มีผลทางกฎหมาย ทุกกระบวนการได้ผ่านการพิจารณากลั่นกรอง ดูข้อกฎหมายมารอบด้านครบถ้วนหมดแล้ว

จุดนี้ศาลรัฐธรรมนูญเองก็คงน่าจะเข้าใจขั้นตอนทุกอย่างดี ฝ่ายรัฐบาลจึงแสดงความเชื่อมั่นมาตลอดว่าจะไม่ขัดรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ แม้ระยะหลังความเชื่อมั่นดังกล่าวจะลดน้อยถอยลงไปมาก หลังเห็นทิศทางข่าวที่ออกมาจากหลายสายต่อการมองพระราชกำหนดทั้งสองฉบับว่า ไม่เข้าข่ายเร่งด่วน สามารถใช้ช่องทางปกติได้ เช่นการออกเป็นพรบ.งบประมาณรายจ่ายกลางปี

ในทางการเมืองแล้ว หากครม.ออกพระราชกำหนดขัดรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่เพราะเท่ากับใช้อำนาจบริหารออกพ.ร.ก.โดยมิชอบ ถือเป็นการบริหาราชการแผ่นดินที่ผิดพลาด บกพร่องอย่างร้ายแรง

หากเป็นประเทศที่ระบบการเมืองเข้มแข็งประชาชนตื่นตัวการเมืองสูง ประชาชนคงไม่ยอมแน่นอน ถ้ารัฐบาลบริหารงานผิดพลาดออกพระราชกำหนดขัดรัฐธรรมนูญ แล้วรัฐบาลไม่แสดงความรับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น

แต่นี้คือเมืองไทย เรื่องสปิริตการเมือง ความรับผิดชอบการเมือง หากันไม่ค่อยได้

ดังนั้นอย่าได้หวังหากผลออกมาว่ารัฐบาลออกพระราชกำหนดขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะฉบับเดียวหรือสองฉบับ คนในรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นใคร จะไม่มีการแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองใดๆออกมาแน่นอน

อย่างไรก็ตาม “ทีมข่าวการเมืองASTVผู้จัดการ”เองก็เห็นว่า ทุกอย่างปล่อยให้เป็นเรื่องการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปดีกว่า การไปเที่ยวพูดล่วงหน้าว่าถ้าพระราชกำหนดขัดรัฐธรรมนูญฝ่ายรัฐบาลต้องลาออก ซึ่งไม่เป็นผลดีมากนัก เพราะสิ่งนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการแทรแซงการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ควรปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามปกติ ไม่ควรไปพูดชี้นำผลล่วงหน้า

การพูดทำนองว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบ ก็คือการชี้นำอย่างหนึ่ง ควรหยุดได้ตั้งแต่บัดนี้ ไม่ว่าเป็นใครทั้งสิ้น แม้แต่กับฝ่ายผู้ร้องทั้งฝ่ายค้านและสมาชิกวุฒิสภาเองก็ตาม

เฉกเช่นเดียวกับฝ่ายรัฐบาล-เสื้อแดง ที่ก็พยายามสร้างกระแสเช่นกันโดยเฉพาะสร้างกระแสผ่านสื่อเสื้อแดงเพื่อกดดันและชี้นำศาลรัฐธรรมนูญ เห็นได้จากที่แกนนำนปช.และส.ส.เพื่อไทยหลายคนบอกว่าทราบข่าวมาว่าผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญอาจไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลมากนัก

การแสดงท่าทีเช่นนี้ ก็คือการพยายามจะสื่อสารว่าการลงมติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีผลออกมาแล้วตั้งแต่ยังไม่ทันฟังการชี้แจงจากฝ่ายผู้ร้องและฝ่ายรัฐบาลคือศาลรัฐธรรมนูญจะบอกว่าพ.ร.ก.ขัดรัฐธรรมนูญเพื่อหวังเล่นงานรัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้ได้

พฤติกรรมแบบนี้ก็ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะมันก็คือการพยายามกดดันการตัดสินคดีของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการปลุกเร้าคนฝั่งตัวเองว่าศาลรัฐธรรมนูญจ้องจะเล่นงานรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ทางที่ดี ทั้งฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้อง ต่างก็ยุติการแสดงความเห็นใดๆ ในเรื่องนี้ เพราะถือว่ากระบวนการสู้คดีได้จบไปแล้ว ทั้งสองฝ่ายได้ชี้แจงต่อศาลไปแล้ว เหลือแค่รอฟังมติและรอฟังเหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญผ่านการอ่านคำวินิจฉัยกลางในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ และผลออกมาอย่างไร ก็ต้องยอมรับ แบบนี้คือสิ่งที่ดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะนัดลงมติในวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์นั้น การดวลกันระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล กลางห้องพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ในวันที่ศาลออกนั่งบังลังก์เพื่อให้ฝ่ายผู้ร้องคือประชาธิปัตย์นำโดยกรณ์ จาติกวณิช และสว.ที่นำทีมโดยคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหาได้ชี้แจงเหตุผลต่อหน้าองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเพราะเหตุใด มีที่มาอย่างไร ทำไมจึงคิดว่าพ.ร.ก.ทั้งสองฉบับขัดรัฐธรรมนูญ

จากนั้นก็ให้ฝ่ายรัฐบาลคือกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลชี้แจงหักล้างฝ่ายประชาธิปัตย์กับส.ว.

หากให้คะแนนกันจริงๆ ต้องบอกว่า ฝ่ายรัฐบาลกิตติรัตน์ แม้เห็นได้ชัดว่า เตรียมพร้อมมาอย่างดี คาดว่าคงมีการติวเข้มกันมาหนัก แต่ถ้าวัดตามรูปมวยแล้ว ต้องถือว่าฝ่ายผู้ร้อง มีคะแนนนำนิดหน่อย แม้ไม่มากแต่ก็ไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล

ส่วนหนึ่งอาจเพราะลีลาการอภิปรายและชี้แจงของกิตติรัตน์ ราบเรียบมากเกินไป ไม่มีจังหวะสูงต่ำในการสื่อสารกับผู้ดูผู้ฟัง อีกทั้ง จับประเด็นไม่เก่ง สื่อสารไม่ชัดโดยเฉพาะกับการสื่อที่ต้องทำให้คนเข้าใจง่ายว่าสาระสำคัญของพ.ร.ก.ทั้งสองฉบับคืออะไร ทำไมต้องออกเป็นพ.ร.ก.ไม่ออกเป็นพรบ. ก็พบว่ากิตติรัตน์สอบตกอย่างเห็นได้ชัด

มัวแต่ไปชี้แจงรายละเอียดปลีกย่อยตัวเลขต่างๆ เกินความจำเป็น ทั้งที่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ ชี้แจงหลายรอบแล้ว ขนาดศาลบอกให้กิตติรัตน์ สรุปประเด็นแจงไปเลยว่าทำไมต้องออกเป็นพ.ร.ก. ก็พบว่ากิตติรัตน์ ก็ยังจับทางไม่ถูก เสียเวลาไปมากกับการอธิบายความที่ออกทะเลเลียบค่ายเสียเยอะ

สิ่งสำคัญที่ควรต้องเอาให้มั่น ทำลายน้ำหนักของฝ่ายผู้ร้องให้ได้อย่างการเปรียบเทียบให้ศาลเห็นว่าถ้าออกเป็นพรบ.แล้วระบบเศรษฐกิจ-การป้องกันน้ำท่วมในปีนี้จะล่าช้า เสียหายอย่างไร สู้ออกเป็นพ.ร.ก.ไม่ได้

ประเด็นที่ต้องทุ่มหนักเพื่อทำคะแนนแบบนี้กิตติรัตน์กลับไม่เน้น ไปเน้นอะไรหลายเรื่องซึ่งไม่จำเป็น สุดท้าย เลยชกไม่เข้าเป้า เสียคะแนนไปหลายหมัด

ดีว่าครั้งนี้เป็นการชี้แจง ไม่ใช่การไต่สวนแบบพวกคดีการเมืองทั่วไป ไม่งั้น กิตติรัตน์ ที่ยอมรับกลางศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่รู้เรื่องการเมือง ขาดความเข้าใจระบบงานสภาฯ ว่าการออกพ.ร.ก.ในช่วงปิดประชุมสภาฯกับเปิดประชุมสภาฯแตกต่างกันอย่างไร จึงตอบคำถามของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ว่าทำไมจึงออกพ.ร.ก.ในช่วงที่สภาฯเปิด ทำให้รัฐบาลถูกตำหนิว่าออกพ.ร.ก.แทนที่จะออกเป็นพ.ร.บ.เพื่อหนีระบบตรวจสอบการใช้เงินจากฝ่ายนิติบัญญัติ

ถ้าหากเป็นการพิจารณาคำร้องแบบไต่สวนคดี กิตติรัตน์ ทำมึนแบบนี้ โดนหมัดน็อคตั้งแต่เดินออกจากมุมแล้ว

ส่วนผลจะออกมาอย่างไร จะมีพลิกล็อกหรือเป็นไปตามคาด ต้องรอ 22 กุมภาพันธ์ 2555
กรณ์ จาติกวณิช
คำนูณ สิทธิสมาน
กิตติรัตน์ ณ ระนอง
กำลังโหลดความคิดเห็น