กลายเป็นเกม “เดิมพัน” ทางการเมืองไปเสียแล้ว สำหรับการตราพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 4 ฉบับของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่ หวังนำมาใช้กู้หน้าหลังจากหมดท่าในการบริหารจัดการน้ำในเหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554 ที่ผ่านมา
อันประกอบด้วย พ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ. 2555 พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พ.ศ. 2555 พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 และ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555
แม้ว่า 2 ฉบับแรกจะผ่านสภาผู้แทนราษฎร ค้างอยู่ในชั้นวุฒิสภาแล้ว แต่ 2 ฉบับหลังน่าเป็นห่วงเพราะดันไปค้างอยู่ในชั้นของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ที่รับเรื่องพิจารณาว่า ขัดต่อกฎหมายสูงสุดหรือไม่ โดยวางกรอบเวลาไว้ 30 วัน
ทำให้รัฐบาลที่เคยดื้อดึงจะออกกฎหมาย 4 ฉบับชิ่งหนีกระบวนการทางสภา ต้อง “หน้าเสีย” กันไปตามๆกัน เพราะหวังใช้ “ทางลัด” ออกเป็น “พระราชกำหนด” เพื่อลดขั้นตอนแทนที่จะเสียเวลาไปกับการออกเป็น “พระราชบัญญัติ” แต่ทว่าฝ่ายค้าน “มืออาชีพ” อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ที่จับจ้องแบบเขม็งเกลียวอยู่แล้ว ก็เปิดฉากใส่ทันทีที่เนื้อหาของ พ.ร.ก.ดังกล่าวถูกหยิบยกเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
ชนวนเหตุเรื่องนี้มาจากอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนเก่า “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” ที่แตกแถวออกมาตะแบงเสียงแข็งงัดข้อกับ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกรัฐมนตรี และเจ้ากระทรวงการคลังคนปัจจุบัน ตั้งแต่แรกเริ่มของการปรึกษาหารือกันภายในคณะรัฐมนตรี จนปรากฎภาพของทั้งคู่ที่มักจะให้ข้อมูลขัดแย้งและดิสเครดิตกันอยู่ตลอดเวลา
โดยเฉพาะตัว พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟู 1.14 ล้านล้านบาทให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จนท้ายที่สุด “ธีระชัย” ต้องพ่ายแพ้แรงหนุน กระเด็นหลุดจากเก้าอี้ไปแบบช้ำใจ
แม้จะถูกเขี่ยร่วงลงจากตำแหน่งแล้ว แต่ดูเหมือนอดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) ยังอารมณ์ค้างไม่เลิก ออกอาการ “งาดงวงฟาดงา” กระหน่ำโพสต์เฟซบุ๊กรายวัน วิพากษ์ผลเสียและความไม่จำเป็นของ พ.ร.ก.เจ้าปัญหา โดยพุ่งเป้าไปที่คู่ขัดแย้งโดยตรงอย่าง “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล” จนถกเถียงกันผ่านสื่อแบบไม่มีใครยอมใคร
เช่นเดียวกับฝ่ายค้านที่ด่อมๆมองๆ ดูสถานการณ์อยู่ ก็มอบหมายให้ “กรณ์ จาติกวณิช” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็น “หัวหมู่ทะลวงฟัน” ในการขับเคลื่อนเดินเกมล้มแผนการออก พ.ร.ก.ชุดนี้ โดยพุ่งเป้าไปที่ 2 ฉบับ คือ พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟู 1.14 ล้านล้านบาทให้แบงค์ชาติ และ พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ที่เปิด “ช่องโหว่” หลายจุดให้โจมตี
ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยเรื่องความเร่งด่วนที่ขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ และผลต่อความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ
คู่ขนานไปกับการรวบรวมรายชื่อ 128 ส.ส. เพื่อยื่น 2 พ.ร.ก.ดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ หลังจากที่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาไม่นาน ในจังหวะเดียวกับที่ “คำนูณ สิทธิสมาน” ส.ว.สรรหาเป็น “หัวหอก” ล่าชื่อ 68 ส.ว.ร่วมชื่อให้ศาลตีความเช่นกัน เป็นเหตุให้ที่ประชุมสภาฯไม่สามารถนำ พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับเข้าสู่การพิจารณาได้
จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตีความออกมาขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญหรือไม่
ส่งแรงเขย่า “กระเพื่อม” ไปถึงรัฐบาล จนต้องวิ่งกันอุตลุดหารือกันอย่างเคร่งเครียดกันหลายกลุ่ม เริ่มตั้งแต่การประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ครั้งหลังๆก็ปรากฎว่า วิปรัฐบาลหลายคนออกอาการไม่มั่นใจว่า 2 พ.ร.ก.จะผ่านแบบ “แบเบอร์” แม้จะมีการหยิบยกสมัยพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน ก็เคยใช้มุกเดียวกันในการยื่นตีความ พ.ร.ก.แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีการกู้เงินมากถึง 4 แสนล้านบาท ต่อศาลรัฐธรรมนูญมาก่อน แต่ครั้งนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่ พ.ร.ก.ผ่านการเห็นชอบของที่ประชุมสภาฯไปแล้ว ที่สุดแล้วศาลก็ไม่รับคำร้อง
ต่างจากครั้งนี้ที่มีการยื่นตัดหน้า ก่อนที่รัฐบาลจะได้มีโอกาสอ้าปากอรรถาธิบายในสภาฯ
ไม่เพียงเท่านั้นยังทำให้ “ยิ่งลักษณ์” ออกอาการร้อนรนเรียกประชุมด่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มาหารือกันนอกรอบที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล หลายครั้ง เพื่อซักซ้อมเกี่ยวกับเนื้อหาในการชี้แจงต่อสภาฯ
ไม่ต่างจากทีมเศรษฐกิจและทีมกฎหมายของพรรคเพื่อไทยที่หารือขนานคู่กันอยู่ที่ “วอร์รูม”สำนักงานใหญ่พรรคตึกโอไอเอ ตั้งทีม “องครักษ์” ออกมาตอบโต้พรรคประชาธิปัตย์ที่หยิบยกเรื่องนี้มาโจมตีไม่เว้นแต่ละวัน สังเกตได้จากบรรยากาศในการประชุมคณะรัฐมนตรี หรือวงประชุมพรรคที่ถกเรื่องนี้กันแบบมาราธอน ชนิดผู้รอบรู้ทุกเรื่องอย่าง “กุมารทองคะนองศึก” ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ยังแสดงอาการหวั่นๆ
ก่อนหน้านี้ก็เปิดฉากผูกโยงไปถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์” ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนปัจจุบันที่มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับ ”ค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม” แบบซี้ย่ำปึ้ก ถึงขั้นเอ่ยปากสารภาพกล่างวง ครม. “ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนนี้ทำงานลึกซึ้งกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ราวกับว่าเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์คนหนึ่ง จะไปบอกว่าไปศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอะไรน่ากลัวไม่ได้ ผมบอกเลยนะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกได้ทุกหน้า ผมจึงเห็นควรเสนอให้มีการถ่ายทอดสดการอภิปราย เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน และส่งแรงสะท้อนไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ”
มิหนำซ้ำยังเปิดหน้าบลั๊ฟพรรคฝ่ายค้านในวันประชุมสภาฯ โดยหยิบยกการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 4แสนล้านบาท หรือ พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็งสมัยรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” มาเทียบกับการออก พ.ร.ก.ในยุคตัวเองว่า แทบไม่แตกต่างกัน พร้อมกระทบชิ่งส่งสัญญาณถึงผู้ชี้ขาดในครั้งนี้อย่างศาลรัฐธรรมนูญอีกระลอก
“ได้ยึดตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในอดีตเมื่อปี 2552 ที่วินิจฉัย พระราชกำหนดกู้เงินสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ แบบนี้จะเรียกไม่เข้าเกณฑ์อย่างไร ผมอ่านกฎหมายรู้ดูกฎหมายเป็น ศาลรัฐธรรมนูญได้เขียนให้พวกคุณหลุดก็เขียนเอาไว้อย่างนี้ พวกผมรู้ว่าเส้นเล็กไม่ค่อยกล้าหรอกครับ จะทำอะไรทีต้องดูอย่างละเอียดถี่ถ้วน”
ดักคอ-ดักทางตามสไตล์ “คนกลัวผีเดินป่าช้า” แล้วตะโกนดังๆให้เสียงเป็นเพื่อน
และท้ายที่สุดก็งัด “ไม้เด็ด” ตะแบ็งว่า หากศาลรัฐธรรมนูญตีตก 2 พ.ร.ก.จริง ก็จะแก้เกมโดยการยื่นในรูปแบบ พ.ร.บ.ผ่านสภาฯ และใช้เสียงข้างมากลากไป 3 วาระรวด โดยไม่สนเสียงทักท้วงของฝ่ายค้านแต่อย่างใด
ที่สำคัญยังอ้างว่ารัฐบาลไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ เพราะรัฐธรรมนูญให้สิทธิ์รัฐบาล หากศาลไม่เห็นด้วยก็เป็นแค่ “ดุลพินิจ” ที่ไม่ตรงกัน รวมทั้งอ้างว่าไม่เคยประเพณีปฏิบัติใดๆที่ว่ารัฐบาลต้องลาออก หากกฎหมายสำคัญไม่ผ่าน ก็มีความชอบธรรมการในบริหารประเทศต่อ เพราะกฎหมายไม่ได้บัญญติไว้
เรียกว่า “เล่นแง่” โดยไม่สนใจสปิริตความรับผิดชอบที่ฝ่ายค้านพยายามเรียกร้องดักคอไว้ล่วงหน้า
ขณะเดียวกัน พรรคประชาธิปัตย์ก็ขยัน “กระทุ้ง” ใช้วาทกรรมทางการเมืองปลุกกระแสบีบให้รัฐบาลเตรียมโชว์ “สปิริต” หากผลสุดท้าย 2 พ.ร.ก.ถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตกไป โดยอ้าง “ความรับผิดชอบทางการเมือง” ขึ้นมาเป็นบรรทัดฐาน
ราวกับว่าพรรคประชาธิปัตย์หวังฟลุกรอ “ส้มหล่น” ใส่เท้าอีกหน
มองถึงตรงนี้แล้วย่อมเห็นว่า “ภาพลักษณ์” ของรัฐบาลถูกกระทบกระเทือนไปแล้วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นจากต่างประเทศที่รัฐบาลพยายามสร้างขึ้นจากการออก พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับ รวมไปถึงความชอบธรรมของฝ่ายค้านที่จะยื่นถอดถอนคณะรัฐมนตรีข้อหาจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
มองยาวๆ กันต่อไปก็เชื่อว่าหากเกิด “อุบัติเหตุ” จริง รัฐบาลคงไม่มีการแสดงสิปิริตใดๆแน่นอน ตามที่ “สารวัตรเหลิม” ลั่นวาจาไว้ แต่ก็เชื่อว่าต้องมีรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งอาสา “รับผิด” ด้วยการ“ไขก๊อก” ออกจากตำแหน่ง เสมือนการตัดแขนรักษาชีวิต โดยเฉพาะ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล”ที่ดึงดันจะเดินเกมเช่นนี้ให้ได้ จนผลร้ายตกมาถึงรัฐบาล
นับถอยหลังจากนี้ไปอีกไม่ถึง 1 เดือน วาทกรรมเชือดเฉือนระหว่างสองฝ่ายในเรื่องนี้ จะมีให้เห็นอีกอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะถึงวันที่ที่องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงมติชี้ขาดแน่นอน
เพราะเกมการเมืองรอบนี้เดิมพันกันสูงลิ่วจนไม่อาจเพลี่ยงพล้ำได้