xs
xsm
sm
md
lg

ผวาพ.ร.ก.ทำ“รัฐบาลหัวคะมำ” ชิงดักทางกดดันศาลรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
การลงมติของสภาผู้แทนราษฏรเมื่อกลางดึกคืนวันพุธที่1 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบร่างพระราชกำหนดการเงิน 2 ฉบับคือ

1.พระราชกำหนดกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ.2555
2.พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พ.ศ. 2555

พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับผ่านสภาฯไปด้วยเสียง “เห็นชอบ”ท่วมท้น

สำหรับ2พระราชกำหนดดังกล่าว เป็นกฎหมายของรัฐบาลรวม 4 ฉบับ ที่ก่อนหน้านั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้พยายามปกปิดรายละเอียดของเนื้อหาในพ.ร.ก.มาตลอดทั้งที่ก็ไม่เห็นว่าเป็นความลับอะไร ซึ่งต่อมาพ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับได้มีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 26 มกราคมที่ผ่านมา

โดยอีก 2 พระราชกำหนดที่สภายังไม่พิจารณาคือ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศพ.ศ. 2555 วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท และพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555

ซึ่งตามคิวแล้ว รัฐบาลก็จะส่งให้สภาผู้แทนราษฏรได้พิจารณาเห็นชอบไปพร้อมๆกับอีก 2 พ.ร.ก.ที่สภาฯเห็นชอบไปข้างต้นรวมเป็น 4 ฉบับ แต่เมื่อทั้งส.ส.ประชาธิปัตย์และสมาชิกวุฒิสภาอีก 68 คน ได้ยื่นเรื่องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท และพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ฯ 1.14 ล้านล้านบาท ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะไม่เข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 ที่บัญญัติไว้ดังนี้

“ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยของสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศหรือป้องปัดภัยพิบัติของสาธารณะ พระมหากษัตริย์จะทางตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้
 

การตราพระราชกำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็น กรณีฉุกเฉินที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วน อันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้”

จึงทำให้สภาฯรอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาพ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทกับพ.ร.ก.กองทุนฟื้นฟู 1.14 ล้านล้านบาท ให้แล้วเสร็จก่อนจากนั้นค่อยมาว่ากันอีกที แล้วก็พิจารณาให้ความเห็นชอบ พ.ร.ก. กองทุนส่งเสริมการประกันภัยและพ.ร.ก.ช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยฯ ไปก่อน

ซึ่งล่าสุด “สำนักงานเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ”ได้รับเอกสารคำร้องให้ตีความพ.ร.ก.ไว้แล้ว และจะนำเรื่องบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์นี้ต่อไป

อันเชื่อว่า กระบวนการนับจากนี้ก็จะไปตามขั้นตอนว่าด้วยกระบวนการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ คือรับคำร้องไว้พิจารณาจากนั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็จะประชุมกันว่าจะดำเนินวิธีพิจารณาคดีอย่างไร จะต้องเปิดห้องพิจารณาคดีเรียกฝ่ายผู้ร้องกับผู้ถูกร้องคือรัฐบาลมาชี้แจงหรือไม่อย่างไร รวมถึงพยานบุคคลต่างๆที่จะต้องเรียกมาไต่สวนเพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนกระบวนความ

หากตุลาการฯเห็นว่า จะพิจารณาแค่ในหลักการข้อกฎหมายว่าการออกพ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับเข้าข่ายรัฐธรรมนูญมาตรา 184 หรือไม่ เป็นพอ ก็ไม่จำเป็นต้องเรียกใครมาไต่สวน อาจแค่ให้ส่งเอกสารมาให้พิจารณาเป็นพอ แบบนี้กระบวนการพิจารณาก็คงเร็วเพราะดูแค่ในข้อกฎหมายเป็นหลัก

แต่หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าจำเป็นต้องฟังความรอบข้างให้สิ้นกระบวนความสงสัยก็อาจเรียกพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องเช่น ตัวแทนกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือผู้มีความเชี่ยวชาญมาไต่สวนเพื่อให้ข้อมูลกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าทางนี้ ศาลก็ต้องเปิดห้องพิจารณาคดีกันเป็นเรื่องเป็นราวไป

อย่างไรก็ตาม “ทีมข่าวการเมืองASTVผู้จัดการ”ดูแล้ว กระบวนการพิจารณาคดีคงเร็วกว่าคดีปกติทั่วไป เพราะถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน พอสมควรเพราะเป็นเรื่องของการเตรียมการกู้เงิน จัดสรรงบประมาณของฝ่ายบริหารเพื่อนำไปใช้ในการฟื้นฟูประเทศและป้องกันน้ำท่วมในปีนี้

ทางศาลก็คงเห็นความจำเป็นอยู่ ดูแล้วการไต่สวนคดีน่าจะแล้วเสร็จในไม่ช้าแน่นอน

ถามถึงความมั่นใจของรัฐบาล ดูเหมือนคนในรัฐบาลทุกระดับดูจะเชื่อมั่นว่าทุกอย่าง ฉลุย ไร้ข้อกังวลใจ เนื่องจากก่อนการออกพ.ร.ก.ดังกล่าวก็ได้มีการตรวจสอบขั้นตอนข้อกฎหมายทุกอย่างมาหมดแล้ว ทั้งฝ่ายกฎหมายในกระทรวงการคลัง แบงก์ชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี รวมถึงมือกฎหมายในรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ที่ต่างก็ยืนยันว่าทำได้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ส.ส.ฝ่ายค้านและสมาชิกวุฒิสภาก็มั่นใจเช่นกันว่า ยื่นตีความรอบนี้ จะแตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา ถึงขั้นคนในพรรคประชาธิปัตย์ บอกไว้เลยว่านางสาวยิ่งลักษณ์ ต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองด้วยการลาออก หากศาลรธน.วินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ที่ออกโดยมติครม.ดังกล่าว ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะถือว่าเป็นการใช้อำนาจฝ่ายบริหาร ออกพ.ร.ก.โดยมิชอบ บริหารประเทศโดยฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ

เหตุที่ฝ่ายค้านดูจะมั่นใจเป็นพิเศษ แม้รัฐธรรมนูญจะให้อำนาจรัฐบาลออกพ.ร.ก.ได้ ก็เพราะมองว่าการกู้เงินดังกล่าว 3.5 แสนล้านบาท ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ไม่ใช่ว่าขอกู้แล้วจะได้เลย อย่างไรก็ต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าจะได้เงินดังกล่าวไปทำโครงการต่างๆ จึงไม่เข้าข่ายเรื่องเร่งด่วนที่จะมีผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

ควรใช้ช่องทางปกติที่ตรวจสอบได้จะเหมาะสมกว่า ผนวกกับการออกเป็นพ.ร.ก.ทำให้ตรวจสอบการใช้เงินได้ยาก เปิดช่องให้มีการแสวงหาประโยชน์กันได้ง่ายเพราะเป็นการใช้เงินนอกงบประมาณ

นอกจากนี้ ฝ่ายค้านยังหวังว่า จะใช้พยานปากสำคัญมาตอกฝาโลงฝังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่าออกพ.ร.ก.โดยมิชอบนั่นก็คือตัว “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล”อดีตรมว.คลัง หนึ่งในทีมเศรษฐกิจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่วันนี้แปรสภาพมาเป็น “หอกข้างแคร่”ทิ่มแทงรัฐบาลเกือบทุกวันผ่านเฟสบุ๊คของตัวเอง

กับข้อมูลที่ “ธีระชัย”เคยออกมาระบุว่า รัฐบาลโดยคู่ปรับเก่า กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ-รมว.คลัง มีการอำพรางตัวเลขอัตราส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณ ต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อครั้งแจ้งเหตุผลต่อครม.เพื่อขอความเห็นชอบออกพ.ร.ก. 4 ฉบับ

ฝ่ายค้านจึงเชื่อว่าเมื่อกระบวนการออกพ.ร.ก.มีการออกโดยไม่ถูกต้องไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนและมีการใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จมาใช้เป็นเหตุผลออกพ.ร.ก.จึงน่าจะเป็นข้อมูลสำคัญ ที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่เดินตามรอยเดิมจากที่เคยมีคำวินิจฉัยไว้ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2552

ซึ่งก็เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดเดียวกันนี้ทั้งหมด ซึ่งเคยวินิจฉัยคำร้องที่ฝ่ายเพื่อไทยนำโดย สุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล ที่เป็นรมว.ต่างประเทศตอนนี้ ได้เคยยื่นเรื่องให้ศาลรธน.วินิจฉัยว่าสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยออกพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจพ.ศ.2552 จำนวน 4 แสนล้านบาท ที่มีการนำเงินไปใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลายอย่างเช่นโครงการไทยเข้มแข็ง

ที่สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญได้ยกคำร้อง ด้วยเหตุผลว่าไม่ขัดรธน.เป็นอำนาจของรัฐบาลในการออกพ.ร.ก.ได้

เพียงแต่วันนี้ เปลี่ยนข้างเล่นเท่านั้น ตอนปี 52 เพื่อไทยเป็นฝ่ายค้านเป็นผู้ยื่น หวังล้มรัฐบาลอภิสิทธิ์ออกพ.ร.ก.ขัดรัฐธรรมนูญแต่ไม่เป็นผล มาวันนี้ ประชาธิปัตย์ เป็นฝ่ายค้านก็หวังจะใช้เรื่องนี้ ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์สะดุดขาตัวเอง คือแม้จะไม่ถึงกับต้องลาออก แต่หากพลาดแค่เรื่องง่ายๆ แบบนี้ ก็เป็นเรื่องหนักของยิ่งลักษณ์ที่ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้

ผู้ตัดสินเดิมพันนี้จึงอยู่ที่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 คน ซึ่งเคยตัดสินเรื่องอำนาจการออกพ.ร.ก. เอาไว้เมื่อปี 2552 โดยทั้งหมดยังอยู่ครบ เปลี่ยนแค่ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ จาก ชัช ชลวร มาเป็น วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เท่านั้น

แม้ภายนอกรัฐบาลจะเชื่อมั่นว่าพ.ร.ก.ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่ได้มั่นใจเต็มร้อยนัก โดยเฉพาะแกนนำรัฐบาล ที่แสดงออกชัดว่าไม่มั่นใจมากนักกับการชี้ชะตาของศาลรัฐธรรมนูญ ชุดนี้ อาจเพราะความรู้สึกที่ว่า หลายคดีก่อนหน้านี้ที่ฝ่ายเพื่อไทยถูกร้องหรือเป็นผู้ร้อง ผลการตัดสินที่ออกมาไม่เป็นผลดีกับเพื่อไทยเกือบทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน-ตัดสินให้สมัคร สุนทรเวช หลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในคดีชิมไปบ่นไป - คดีเขาพระวิหารหรือการยกคำร้องคดียุบพรรคประชาธิปัตย์

จึงทำให้ รัฐบาล ก็พยายามใช้ช่องทางที่มีอยู่ “ดักคอ” ศาลรัฐธรรมนูญเอาไว้ล่วงหน้า เช่น การสั่งให้เอ็นบีทีถ่ายทอดสดการประชุมสภาฯพิจารณาพ.ร.ก. 2 ฉบับเมื่อ 1 ก.พ. 2555 เพื่อที่รัฐบาลจะได้ใช้เวทีถ่ายทอดสดนี้ แจงประชาชนและส่งสารผ่านไปถึงศาลรธน.ถึงเหตุผลความจำเป็นในการออกพ.ร.ก.

รวมถึงการที่คนในรัฐบาลอย่างร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่รับผิดชอบงานสภาฯและงานกฎหมายให้รัฐบาล ได้ใช้เวทีประชุมสภาฯดังกล่าว พูดดักศาลรธน.เอาไว้ก่อนจะมีคำตัดสินออกมา อย่างประโยคที่ว่า

“ศาลรัฐธรรมนูญได้เขียนให้พวกคุณหลุดก็เขียนเอาไว้อย่างนี้ พวกผมรู้ว่าเส้นเล็กไม่ค่อยกล้าหรอกครับ จะทำอะไรทีต้องดูอย่างละเอียดถี่ถ้วน ต้องดูแบบที่ประชาธิปัตย์เคยทำไว้”

ไม่นับรวมกับรายงานข่าวที่ปรากฏผ่านสื่อมวลชนที่เฉลิม วิเคราะห์ศาลรธน.ชุดนี้กลางที่ประชุมครม.แบบเสียมารยาท เช่น

“"จะไปบอกว่าไปศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอะไรน่ากลัวไม่ได้ ผมบอกเลยคำวินิจฉัยของศาลออกได้ทุกหน้า จึงควรถ่ายทอดการอภิปราย เพื่อส่งแรงสะท้อนไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ"

การวินิจฉัยของศาลรธน.ต่อพ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทและพ.ร.ก. บริหารหนี้เงินกู้ฯ นับจากนี้ จึงไม่รู้ว่าจะมีกระบวนการจ้องดิสเครดิตศาลรธน.เพื่อกดดันการตัดสินคดีจากบางฝ่ายออกมาหรือไม่

เพราะแม้รัฐบาลจะเชื่อมั่นเต็มร้อยว่า ผลการตัดสินไม่มีพลิก เพราะไม่เคยมีพ.ร.ก.ฉบับไหนที่ศาลรธน.เคยตัดสินว่าออกโดยขัดรธน. มาก่อน แต่การเตือนของ “เฉลิม”ในที่ประชุมครม.ตามรายงานข่าวดังกล่าวหากเป็นจริง เหมือนกับจะเชื่อว่า กระบวนการจ้องล้มรัฐบาลเริ่มทำงานแล้ว

อันเป็นทัศนคติอันตรายอย่างยิ่งจากรัฐบาล ที่มีต่อองค์กรอิสระอย่างศาลรัฐธรรมนูญ

กำลังโหลดความคิดเห็น