xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำกลวง ชาวบ้านเชื่อเอาไม่อยู่-ขนลุกผวาภัยน้ำท่วมอีกรอบ!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วีรพงษ์ รามางกูร
ผ่าประเด็นร้อน

ระหว่างที่รอกระบวนการในการตีความ พระราชกำหนดสองฉบับที่พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่ม ส.ว.กำลังยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 184 หรือไม่ เนื่องจากกลุ่มผู้ยื่นเรื่องให้ตีความเห็นว่าไม่มีความ “เร่งด่วน”ประเภทคอขาดบาดตายจนต้องเสนอเป็นพระราชกำหนด ในทางตรงกันข้ามต้องเสนอเป็นพระราชบัญญัติ เพื่อความรอบคอบ จนสามารถตรวจสอบกันอย่างโปร่งใส

สำหรับพระราชกำหนดสองในสี่ฉบับที่กำลังถูกยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้นเรียกง่ายๆคือ พระราชกำหนดโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯจำนวน 1.14 ล้านล้านบาท ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรับภาระ และ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ

ที่ผ่านมาทางฝ่ายค้าน คือ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นเรื่องถึงมือประธานสภาผู้แทนราษฎร คือ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ซึ่งก็มีเวลาอิดออดได้ไม่เกิน 3 วัน หลังจากนั้นก็ต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาต่อไป และวานนี้ (31 มกราคม) ตามกำหนดการก็ถึงคิวของกลุ่ม ส.ว.ที่ยื่นให้ตีความในลักษณะเดียวกัน

ในทางเทคนิค หากศาลรับพิจารณามันก็จะทำให้ทุกอย่างต้องสะดุดเอาไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำชี้ขาดออกมาแม้ว่าจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 26 มกราคมไปแล้วก่อนหน้านี้ก็ตาม แต่ถ้าเลวร้ายมีผลตัดสินออกมาว่าขัดกับรัฐธรรมนูญก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะนี่เป็นเรื่องกฎหมายทางการเงินที่ฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะต้องรับผิดชอบ

อย่างไรก็ดี ถ้าพิจารณาจากอาการของฝ่ายรัฐบาล โดยฟังจากปากของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กิตติรัตน์ ณ ระนอง และ วีรพงษ์ รามางกูร ซึ่งเป็นโต้โผใหญ่ทั้งฝ่ายปฏิบัติการและฝ่ายชักใยหลังม่านผลักดันนำกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภาแสดงความกังวลออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นในทางกฎหมาย ในเรื่องของความจำเป็นเร่งด่วน ความหมายก็คือ “ไม่ด่วนจริง”

หากไล่เรียงทีละฉบับก็รู้สึกเห็นคล้อยตามฝ่ายที่ยื่นให้ตีความ เพราะไม่ว่าจะเป็นพระราชกำหนดโอนหนี้ 1.14 ล้านล้านบาท ให้แบงก์ชาติรับภาระ และพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท นำมาบริหารจัดการป้องกันน้ำท่วม โดยฉบับแรกเห็นสมควรว่าจะต้องมีการตรวจสอบกันให้ละเอียดและใช้กลไกตามปกติในสภา นั่นคือต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ และที่สำคัญหนี้ก้อนหนี้มันก็อยู่คู่กับกระทรวงการคลังมานานนับสิบปีแล้ว และแม้ว่าหากมีการออกเป็นพระราชบัญญัติฝ่ายรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากท่วมท้นก็ยังสามารถลากกันไปได้ไม่ยากอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าต้องมีซักถามกันให้ละเอียดเท่านั้น

ส่วนฉบับที่สอง เรื่องกู้เงินนั้น ปัญหาก็คือตั้งงบก่อหนี้สาธารณะเอาไว้สูง แต่ดันไม่มีรายละเอียดให้สังคมได้รับรู้ว่าจะเอาไปทำอะไรบ้าง มีโครงการอะไรบ้างก่อนหลังก็อุบเงียบ อย่างนี้แหละที่ทำให้ไม่มีใครไว้ใจและไม่เชื่อมั่น กลายเป็นว่าทั้งสองเรื่องดังกล่าวหากพิจารณาจากเป้าหมายที่แท้จริงแล้วก็คือ ต้องการกู้เงินเอามากำไว้ก่อนส่วนจะนำไปทำอะไรนั่นค่อยมาว่ากันทีหลัง ประมาณนี้แหละ

เพราะเรื่องการโอนหนี้ไปให้แบงก์ชาตินั่นก็ถูกวิจารณ์กันขรมว่าเป็นการ “ซุกหนี้” เป็นการ “ตกแต่งบัญชี” ตบตาสำหรับการเปิดช่องให้รัฐบาลไปก่อหนี้สาธารณะได้เพิ่มเติมโดยเฉพาะในเรื่องตัวเลขตามเพดานโควตากู้เงินได้อีกไม่น้อยกว่า 2 ล้านล้านบาท

แต่ก็อย่างว่าแหละเมื่อมัน “ไม่เนียน” และลุกลี้ลุกลนผิดปกติ มันก็ทำให้จับพิรุธได้ไม่ยาก

สำหรับเรื่องพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ที่ถูกระบุว่าเหมือนกับการให้กรอกเงินในเช็คเปล่าโดยไม่มีรายละเอียดว่าจะเอาไปทำอะไรบ้างนั้นก็เห็นจะจริง เพราะเป็นคำพูดของบรรดา “กูรู” เรื่องน้ำ-อากาศ ที่ร่วมเป็นกรรมการ หรือที่ปรึกษาในคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ(กยน.) อย่าง เช่น สมิทธ ธรรมสโรจน์ ที่ออกมาโวยวายว่ารัฐบาลยังไม่มีแผนการ หรือโครงการที่ชัดเจนว่าจะทำอะไรก่อนหลัง ทำให้น่าเป็นห่วงจะเกิดปัญหาน้ำท่วมหนักอีกครั้ง รวมไปถึง สุเมธ ตันติเวชกุล เลขามูลนิธิชัยพัฒนา ที่ยอมเป็นที่ปรึกษาให้กับคณะกรรมการของรัฐบาลชุดนี้ก็มีข่าวว่าไม่ได้เข้าร่วมประชุมหลายครั้งแล้ว รวมไปถึงกรรมการคนอื่น แม้ว่าต่อมาต่างก็ออกมาปฏิเสธข่าวการลาออก แต่เมื่อสะท้อนออกมาด้วยคำพูดที่ไม่อยากทำให้ “ขัดใจ” แต่ก็พอมองเห็นชัดเจนว่า การทำงานของ กยน.ยังไม่มีความชัดเจน ทุกอย่างยังล่องลอยไร้ทิศทาง

อย่างไรก็ดี ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้น หากพิจารณาจากต้นตอก็ต้องชี้ไปที่ผู้นำรัฐบาล คือนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเธอไร้วิสัยทัศน์ ไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นกับทั้งประชาชน รวมไปถึงนักลงทุนที่ในระยะหลังมักได้ยินแต่ข่าวการย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านที่ต้นทุนต่ำกว่า มีความมั่นใจมากกว่า ขณะเดียวกันยิ่งเธอย้ำว่าปีนี้ “เอาอยู่” น้ำไม่ท่วมเหมือนปีก่อน มันก็ยิ่งผวากลายเป็นเรื่องตรงข้ามทุกที

ขณะเดียวกัน หากศาลรัฐธรรมชี้ขาดออกมาว่า พระราชกำหนดทั้งสองฉบับหรือฉบับหนึ่งฉบับใดขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วยแล้ว ไม่อยากนึกภาพว่าจะปั่นป่วนแค่ไหน แต่อีกมุมหนึ่งมันก็ดีเหมือนกัน จะได้จบๆ กันไปเสียที!!
กิตติรัตน์ ณ ระนอง
กำลังโหลดความคิดเห็น