xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลไม่แคร์ พ.ร.ก.2 ฉบับขัด กม.-เดินหน้ารื้อ รธน.ล้างผิดแม้ว!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทักษิณ ชินวัตร
ผ่าประเด็นร้อน

ในสัปดาห์นี้ต่อเนื่องไปถึงสัปดาห์หน้า ถ้าไม่มีเรื่อง “ระเบิด” ตูมตามที่ซอยปรีดีฯ และสุขุมวิท 71 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ รับรองว่าทางข่าวน่าจะจับจ้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ได้มีการนัดพร้อมกันระหว่างฝ่ายผู้ร้องคือฝ่ายค้าน และวุฒิสมาชิกให้ศาลตีความว่า พระราชกำหนดสองฉบับ คือ ฉบับที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินจำนวน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในแผนบริหารจัดการน้ำ และฉบับการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือที่เข้าใจกันว่าพระราชกำหนดโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน 1.14 ล้านล้านบาท ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรับภาระ ว่าทั้งสองฉบับดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรค 2 หรือไม่

ความหมายก็คือ เป็นเรื่องเร่งด่วนที่รอไม่ได้จนต้องออกเป็นพระราชกำหนด แทนที่จะออกเป็นพระราชบัญญัติตามปกติ เพื่อให้สภาได้ตรวจสอบตามขั้นตอนหรือไม่ ซึ่งฝ่ายที่ยื่นให้ศาลตีความก็คือ ฝ่ายค้าน และวุฒิสมาชิก และที่ผ่านมา กรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการการะทรวงการคลัง เป็นตัวแทนของฝ่ายค้าน คือพรรคประชาธิปัตย์ และ ฝ่ายวุฒิสมาชิก คือ คำนูณ สิทธิสมาน ขณะที่ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลและตัวแทนนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็คือ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กิตติรัตน์ ณ ระนอง เข้าไปชี้แจง ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้นัดฟังคำสั่งชี้ขาดในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ซึ่งก็ถือว่าเร็วกว่าที่คาดเอาไว้

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าจับตาก็คือ ในระหว่างการชี้แจงของตัวแทนฝ่ายรัฐบาล คือ กิตติรัตน์ ศาลได้ซักถามในประเด็นที่ว่าทำไมถึงได้ออกเป็นพระราชกำหนดในช่วงเปิดประชุมสมัยสามัญ หากเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนจริงๆทำไมไม่รีบเสนอเข้ามาในช่วงปิดสมัยประชุมซึ่งก็เป็นช่วงที่น้ำกำลังท่วม (น้ำยังไม่แห้ง) และเรื่อง “หนี้สาธารณะ” ที่ศาลถามย้ำในทำนองว่าแม้จะเอาซุกซ่อนไว้ที่ไหนหนี้ที่ว่านั้นก็ยังอยู่และเป็นหนี้สาธารณะอยู่ใช่หรือไม่ ซึ่งก็ทำให้รองนายกฯกิตติรัตน์อึกอักและยอมรับว่าใช่

ซึ่งหากพิจารณากันเฉพาะในเรื่องของกฎหมายความจำเป็นของเวลาและความจำเป็นเร่งด่วนในเรื่องการออกเป็นพระราชกำหนด และสาระสำคัญของพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ที่เพิ่งผ่านสภาไปไม่นาน และคำถามของศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวล้วนแล้วแต่มีนัยสำคัญ ชวนให้ระทึกใจทั้งสิ้น ประกอบกับเมื่อฟังเหตุผลของฝ่ายผู้ร้องแล้วเห็นได้ชัดว่า “ฟังขึ้น” เมื่อเปรียบเทียบกับฝ่ายรัฐบาล

อย่างไรก็ดี ก็ต้องรอฟังคำชี้ขาดในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ซึ่งก็เหลืออีกไม่กี่วัน แต่หากพิจารณาจากสัญญาณจากฝั่งรัฐบาลที่ส่งออกมาก็พอรู้ล่วงหน้าแล้วว่าไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรรัฐบาลก็คง “ไม่ยี่หระ” หากผลชี้ออกมาว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ เชื่อว่ารัฐบาลก็คงเสนอเป็นพระราชบัญญัติเข้าสภาไปใหม่ ส่วนการับผิดชอบด้วยการลาออกนั้นคงไม่มีทางเกิดขึ้น และยิ่งไม่มีบทบัญญัติบังคับเอาไว้ ก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ แม้ว่าจะมีเสียงเรียกร้องให้พิจารณาในเรืองจริยธรรมและมารยาททางการเมือง ที่เกี่ยวกับกฎหมายการเงิน เชื่อว่าไม่มีผล ในทางตรงกันข้ามดีไม่ดีจะมีคนของรัฐบาลนำไปพูดปลุกระดมว่านี่เป็นมาจากรัฐธรรมนูญเผด็จการที่จ้องล้มรัฐบาลประชาธิปไตยไปเสียอีก

หากพิจารณาจากท่าทีที่เกิดขึ้นว่ารัฐบาลไม่สนใจแล้ว ยังเดินหน้าทำเรื่องใหญ่เต็มพิกัดนั่นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป คือ วันที่ 23 กุมภาพันธ์รัฐบาลก็จะเสนอร่างแก้ไขมาตรา 291 เพื่อเป็นประตูนำไปสู่การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จำนวน 77 คน และให้สภาเลือกอีก 22 คน รวมเป็น 99 คน เพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีกำหนดเวลาไม่เกิน 1 ปี ตอนนี้ก็มีแนวร่วมพวกเดียวกันเริ่มทยอยเสนอเข้ามาแล้ว โดยเป้าหมายสำคัญที่สังคมรับรู้กันอยู่แล้วว่าทำเพื่อคนๆเดียวคือ ให้ ทักษิณ ชินวัตร ได้ประโยชน์ ได้กลับมามีอำนาจทางการเมือง และได้ทรัพย์สินที่ถูกยึดไปกลับคืนมา

ขณะเดียวกัน หากสังเกตจากคำพูดของ รองนายกรัฐมนตรี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่ออกมาแสดงท่าทาง “คุยข่ม” รัฐมนตรีคนอื่นในรัฐบาลเดียวกันตามสไตล์โดยพูดออกมาลอยๆว่าจะเดินทางไปกรุงปักกิ่งประเทศจีนในช่วงกลางเดือนนี้ แล้วหยุดไว้แค่นั้น เพื่อล่อให้สื่อชักว่า “แล้วจะพบกับ ทักษิณ” ที่กำลังอยู่ที่นั่นหรือไม่ แม้จะรู้คำตอบว่าจะต้องปฏิเสธ แต่ความหมายเพื่อให้เข้าใจและไปคิดว่า “ต้องพบกันแน่” ซึ่งก็สร้างราคาให้กับตัวเองเพิ่มขึ้นด้วย เหมือนกับก่อนหน้านั้นโพล่งโม้ขึ้นมาว่า นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โทรศัพท์มาปรึกษาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญช่วงสามทุ่ม ฟังเผินๆก็ไม่มีอะไร แต่นี่คือการ “กดหัว” คนอื่น โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ที่ถือว่าเป็น “แม่งาน” ในการเสนอร่างแก้ไขเข้าสภาในนามรัฐบาล ดังนั้น การที่นายกฯ โทรศัพท์มาหารือเขาแทนที่จะเป็น พล.ต.อ.ประชา มันก็ย่อมทำให้ได้หน้า

การเดินทางไปจีนก็เช่นเดียวกัน แม้จะตอบในเชิงปฏิเสธว่าไม่ได้พบกับ ทักษิณ แต่มันก็ต้องการให้คิดแบบนั้นอยู่แล้ว เพราะอย่างน้อยภารกิจที่รับอาสามาทั้งในเรื่องผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ กับเรื่องการเสนอร่างพระราชบัญญัติปรองดองที่จะตามมาในเร็วๆนี้ ก็ล้วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับ ทักษิณ ทั้งสิ้น

ดังนั้น การไปจีนของ ร.ต.อ.เฉลิม มันก็มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากไปพบกับ ทักษิณ ไปรับอาสา ไปรับงานสำคัญมาทำ ส่วนจะแลกกับตำแหน่งเป็นรางวัลในภายหลังหรือไม่ ทุกคนก็คิดได้อยู่แล้ว และถ้าให้เลือกมันก็มีเป้าหมายอยู่ที่เก้าอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอกอยู่ด้วยนั่นแหละ

ถ้าให้สรุปแบบรวบยอดก็ต้องบอกว่าไม่ว่าวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ขาดออกมาว่า พระราชกำหนดสองฉบับจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ตามก็ไม่มีความหมายสำหรับรัฐบาล มีการเตรียมการรองรับเอาไว้แล้ว แต่สิ่งที่เร่งด่วนเป็นเป้าหมายหลักก็คือ การรื้อรัฐธรรมนูญใหม่ที่กำลังเดินหน้าเต็มตัว เพราะนี่คือภารกิจหลักของ ทักษิณ ที่ลงทุนมาทั้งหมดก็เพื่อการนี้แหละ!!
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง
พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก
กำลังโหลดความคิดเห็น