“ชัช-จรัญ” เสียงข้างน้อยมอง 2 พ.ร.ก.กู้เงิน ไม่มีแผนงานชัดเจนและยังสามารถออกเป็น พ.ร.บ.ได้ ด้านเสียงข้างมากวิเคราะห์เหตุรัฐบาลกลัวศาล รธน.ไม่เห็นชอบเพราะมองที่มาของตุลาการเป็นหลัก ขณะเดียวกัน เชื่อคำวินิจฉัยไม่ทำให้รัฐเหลิงอำนาจออก พ.ร.ก.เป็นว่าเล่น เนื่องจากคำวินิจฉัยระบุชัด 2 พ.ร.ก. แค่ไม่ถึงกับฝ่าฝืน ซึ่งไม่ได้แปลว่าชอบด้วยกฎหมาย จึงน่าจะระมัดระวังและหลีกเลี่ยง
วันที่ 22 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ ประเด็น พ.ร.ก.กู้เงิน ผู้ร้องและผู้ถูกร้องสามารถขอคัดได้หลังจากนี้ 7 วัน ส่วนคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการทั้ง 9 คนนั้นคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนจึงจะแล้วเสร็จซึ่งจะต้องมีการนำลงราชกิจจานุเบกษา อย่างไรก็ตาม รายงานแจ้งว่า ตุลาการ 2 เสียงที่เห็นว่า พ.ร.ก.โอนหนี้เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรค 2 ก็คือ นายชัช ชลวร และนายจรัญ ภักดีธนากุล โดยเห็นว่า พ.ร.ก.โอนหนี้สามารถออกเป็นพระราชบัญญัติได้ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรสามารถร่วมพิจารณาอภิปรายในรายละเอียดเนื้อหาได้ โดยเฉพาะเห็นว่า พ.ร.ก.โอนหนี้ที่มีการเสนอนั้นรัฐบาลยังไม่มีแผนงานที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญเปิดเผยว่า วินิจฉัย พ.ร.ก.กู้เงิน 2 ฉบับของคณะตุลาการฯ ในครั้งนี้ที่เริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าให้มีการประชุมเพื่อที่ตุลาการจะได้แถลงความเห็นส่วนตนและลงมติและร่วมกันจัดทำคำวินิจฉัยก่อนอ่านคำวินิจฉัยในเวลา 14.00 น.นั้น ทางคณะตุลาการฯ เกรงอย่างยิ่งว่าจะมีการรั่วไหลของคำวินิจฉัยไปก่อน จึงได้มีการกำหนดรูปแบบของการประชุมวินิจฉัยเรื่องนี้โดยจัดให้อยู่ในวาระสุดท้ายของการประชุม และเมื่อถึงวาระก็ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ออกจากห้องประชุมทั้งหมด ให้คงเหลือเพียงคณะตุลาการรวม 9 คน กับเจ้าหน้าที่ที่ไว้ใจได้จะคอยทำหน้าที่อำนวยความสะดวกเพียง 2 คน ซึ่งจะไม่มีการออกจากห้องประชุมจนกว่าการดำเนินการต่างๆ จะแล้วเสร็จ และการตัดสัญญาณโทรศัพท์ทั้งหมด รวมทั้งการอภิปราย และแถลงความเห็นส่วนตัวไม่มีการใช้ไมโครโฟน และเมื่อการลงมติเสร็จสิ้น การจัดทำคำวินิจฉัยก็จะมีการนำร่างคำวินิจฉัยที่เจ้าหน้าที่ได้ยกร่างเตรียมไว้คร่าวๆ แล้ว มาปรับแต่งจนกระทั่งเสร็จสิ้นในใกล้เวลานัดอ่านคำวินิจฉัย โดยตลอดระยะเวลาของการประชุมและจัดทำวินิจฉัยตุลาการทั้ง 9 คน และเจ้าหน้าที่ 2 คนจะไม่สามารถออกจากห้องประชุมได้
ขณะที่แหล่งข่าวจากตุลาการฯ เสียงข้างมาก ให้ความเห็นว่า การที่ก่อนหน้ารัฐบาลวิเคราะห์ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 2 ฉบับขัดรัฐธรรมนูญ ก็น่าจะมาจากการที่มองที่มาของตุลาการฯ แต่ละคนเป็นหลัก โดยมองว่านายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ มีความใกล้ชิดกับแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ และฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เช่นเดียวกับนายจรูญ อินทจาร ส่วนนายเฉลิมพล เอกอุรุ ก็มีนามสกุลเดียวกับ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ส่วนนายสุพจน์ ไข่มุกด์ นายจรัญ ภักดีธนากุล และนายนุรักษ์ มาประณีต ก็เคยได้รับการแต่งตั้งจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งนี้การพิจารณาของคณะตุลาการที่เห็นว่า พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 2 ฉบับไม่ถึงกับฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เหตุผลหนึ่งก็เพราะการเสนอออกพระราชกำหนดของรัฐบาลครั้งนี้ซึ่งข้อเท็จจริงมีทั้งหมด 4 ฉบับ มีการทำเป็นแพ็กเกจโดยที่แต่ละฉบับมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน รวมทั้งมีการมองเรื่องกรอบเวลาในการเสนอจัดทำงบประมาณปี 56 ซึ่งตามปฏิทินการเสนอของบประมาณจะต้องมีการเสนอสำนักงบภายใน มี.ค.นี้ ซึ่งถ้าปล่อยไป 3-4 เดือนก็อาจจะไม่ทัน
แหล่งข่าวคนเดียวกันยังเชื่อว่า การมีคำวินิจฉัยครั้งนี้จะไม่ทำให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยใช้เป็นบรรทัดฐานในการที่จะเสนอออก พ.ร.ก. อื่นโดยไม่เกรงว่าจะขัดรัฐธรรมนูญ เพราะในคำวินิจฉัยมีการระบุชัดว่า ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 2 ฉบับไม่ถึงกับฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ได้มีความหมายว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการบอกกับรัฐบาลว่า ควรระมัดระวังและควรที่จะหลีกเลี่ยงในการออกพระราชกำหนดมากกว่า