xs
xsm
sm
md
lg

ศาลรัฐธรรมนูญแตกยับ ไม่ประชุมกว่า3เดือนแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (14 ต.ค.) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกเอกสารข่าวเผยแพร่เรื่อง การประชุมพิจารณาวินิจฉัยคดีของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ด้วยศาลรัฐธรรมนูญได้ว่างเว้นการพิจารณาวินิจฉัยคดีมาเป็นเวลาแรมเดือนแล้ว คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 6 คน ซึ่งไม่น้อยกว่า 5 คน อันถือเป็นองค์คณะตามรัฐธรรมนูญ จึงเข้าชื่อกัน ออกคำสั่งให้เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ จัดประชุมเพื่อพิจารณาวินิจฉัยคดีจำนวน 14 เรื่อง ในวันที่ 19 ต.ค.เวลา 09.30 น. เนื่องจากขณะนี้ยังมีคดีค้างพิจารณาอยู่กว่า 60 เรื่อง
อนึ่ง การประชุมนี้ไม่อาจพิจารณางานในด้านบริหารใดๆ ได้ เพราะอยู่นอกเหนืออำนาจของผู้เรียกประชุม
ทั้งนี้มีรายงานว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 6 คนดังกล่าว ประกอบด้วย นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ นายจรูญ อินทจาร นายจรัญ ภักดีธนากุล นายเฉลิมพล เอกอุรุ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ และนายนุรักษ์ มาประณีต ได้มีการหารือกันในช่วงเช้าวันเดียวกัน และมีคำสั่งดังกล่าวพร้อมกับให้ นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เวียนหนังสือแจ้งเรื่องนี้ไปยังตุลาการทั้ง 9 คน
โดยในการหารือ ตุลาการฯทั้ง 6 คนเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 216 ที่บัญญัติว่า องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในการนั่งพิจารณาและทำคำวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 5 คน
ดังนั้นแม้ตามธรรมเนียมปฏิบัตินายชัช ชลวร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ที่ประชุมคณะตุลาการมอบหมายให้ทำหน้าที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญไปพลางก่อน จะต้องเป็นผู้อนุมัติระเบียบวาระการประชุม แต่เมื่อนายชัช ไม่ดำเนินการ โดยให้เหตุผลว่า เพราะได้ขอพ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว จึงไม่สามารถเรียกประชุมได้ ซึ่งก่อนหน้านี้นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการฯ ก็ได้เคยพูดคุยกับนายชัช ขอให้เชิญประชุมเพื่อให้งานคดีเดินหน้า เพราะยังมีคดีค้างตั้งแต่ปี 51 อีกหลายคดี แต่นายชัช ก็ไม่ยอม ทำให้ทางตุลาการฯทั้ง 6 คน เห็นว่ากว่า 3 เดือนแล้ว ที่นายชัช ไม่ได้มีการเชิญประชุม งานคดีคั่งค้างมาก จึงเลือกที่จะใช้วิธีการนี้ระหว่างรอการโปรดเกล้าฯ โดยก็ได้มีการหารือว่าในวันที่ 19 ต.ค. ที่มีการเชิญประชุม หากมีตุลาการเข้าร่วมเพียง 6 คน ก็จะเลือกตุลาการอาวุโสขึ้นทำหน้าที่ประธานที่ประชุม
แต่ทั้งนี้ตุลาการอีก 3 คนคือ นายบุญส่ง กุลบุปผา นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี และนายชัช ชลวร ก็สามารถพิจารณาว่า จะเข้าร่วมประชุมด้วยหรือไม่ก็ได้ ซึ่งคำวินิจฉัยคดีที่ออกมาจะถือว่ามีผลทางคดีไม่ต่างจากคดีที่ศาลฯ เคยวินิจฉัย เพราะรัฐธรรมนูญได้รองรับให้การวินิจฉัยคดีใช้เสียงข้างมากขององค์คณะที่ไม่น้อยกว่า 5 คน
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า นายเชาวนะ ค่อนข้างอึดอัดกับการปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสำนักงานในขณะนี้ เพราะในหลักปฏิบัติที่ผ่านมา ประธานศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้อนุมัติระเบียบวาระการประชุม แต่เมื่อมีคำสั่งของ 6 ตุลาการ ให้มีการจัดประชุมเพื่อวินิจฉัยคดี ก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่จะไม่ปฏิบัติไม่ได้ เพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทำงานในลักษณะบอร์ด หากไม่ตอบสนอง ก็ย่อมส่งผลต่อสถานะเลขาธิการสำนักงานในอนาคตได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีเอกสารข่าวดังกล่าวเผยแพร่ออกมา ก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของข้าราชการศาลรัฐธรรมนูญว่า กรณีที่เกิดขึ้นยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ความน่าเชื่อและศรัทธาของศาลรัฐธรรมนูญในสายตาของสังคมเสื่อมลงไปอีก เพราะทำให้สังคมเข้าใจว่า มีความแตกแยกของตุลาการฯ ออกเป็น 2 กลุ่ม
กำลังโหลดความคิดเห็น