xs
xsm
sm
md
lg

“ชัช” ลาเก้าอี้ ปธ.ศาล รธน.ย้ำไม่เกี่ยวคดีเลขาฯ แฉคลิปฉาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชัช ชลวร
ปธ.ศาลรัฐธรรมนูญ ประกาศลาออกจากตำแหน่งมีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ย้ำไม่เกี่ยวคดี “พสิษฐ์” อดีตเลขานุการแฉคลิปการประชุมของตุลาการฯ และไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ คาด นัดลงมติคัดสรร ปธ.คนใหม่ ภายในสิ้นเดือนนี้

วันนี้ (10 ส.ค.) นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้รับมอบหมายจากที่ประชุมคณะตุลาการฯ แถลงว่า ที่ประชุมฯ มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบให้นายชัช ชลวร พ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่นายชัช ได้แสดงเจตนาพ้นจากตำแหน่งแต่ยังคงจะดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อไปจนครบวาระ ซึ่งการพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามเจตนารมณ์ที่ได้ตั้งใจไว้ก่อนหน้านี้ว่า จะดำรงตำแหน่งดังกล่าวเพียง 3 ปีนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อ 28 พ.ค. 51 เพื่อเปิดโอกาสให้ตุลาการฯคนอื่นขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน โดยการพ้นจากตำแหน่งจะมีผลทันทีนับแต่ที่แสดงเจตนารมณ์ แต่ในระหว่างนี้คณะตุลาการฯก็ได้มอบให้นายชัช ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมไปจนกว่าจะได้ประธานคนใหม่เพื่อให้การพิจารณาสำนวนคดีไม่เกิดปัญหา

นายจรัญ ยังกล่าวอีกว่า การลาออกของนายชัช ไม่ได้เกิดจากการทวงสัญญา หรือถูกกดดันจากกรณีนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ นำคลิปลับการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับคดียุบพรรคไปเผยแพร่จนเกิดความเสื่อมเสียกับองค์กร เพราะในการประชุมครั้งนี้ตุลาการบางคนก็ชื่นชม ยกย่องนายชัช ถึงการทำหน้าที่ประธานว่าทำได้อย่างดี สามารถประคับประคองศาลให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ แต่เมื่อนายชัช มีเจตจำนงที่แนวแน่ที่ประชุมก็ไม่ขัดข้อง

“ประเด็นนายพสิษฐ์นั้นมีข้อเท็จจริงที่ซับซ้อน ยังไม่ชัดว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลัง และมีการนำคดีไปสู่กระบวนการศาล และป.ป.ช. ซึ่งคิดว่าถ้าคดีชัดเจนแล้วใครที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบก็มาว่ากันอีกที แต่ก่อนหน้านี้มีเสียงท้วงติงเรื่องการทวงคำมั่นสัญญา และสัจจะของประธาน ซึ่งอยู่ในช่วงที่นายชัชกำลังเตรียมการตัดสินใจ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจไม่เข้าใจอะไร และนายชัชเองก็พูดว่าเรื่องนี้ไม่ต้องเป็นห่วง ถ้าถึงเวลาสมควรก็จะตัดสินให้ และเมื่อนายชัช ตัดสินใจเช่นนี้ความอึมครึมสังคมก็หมดไป” นายจรัญ กล่าว

สำหรับการคัดเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่นั้น นายจรัญ กล่าวว่า ได้วางหลักในการคัดเลือกว่าตุลาการฯคนใดประสงค์จะเป็นประธานฯให้เสนอตัวหรือแสดงความจำนง หรือให้ตุลาการคนอื่นเสนอชื่อแต่เจ้าตัวต้องยินยอม ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 206 ก็ให้ที่ประชุมคณะตุลาการลงมติเห็นชอบด้วยเสียงข้างมาก แต่หากเกิดกรณี 3 เส้าที่ประชุมฯก็ตกลงกันให้ตุลาการที่ได้รับเสียงน้อยที่สุดถอนตัวออกไปเพื่อให้เหลือผู้เสนอตัวเป็นประธานฯเพียง 2 คน และให้ที่ประชุมลงมติด้วยเสียงข้างมาก โดยเมื่อได้บุคคลเป็นประธานฯแล้วให้เสนอชื่อไปยังประธานวุฒิสภา เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าอย่างไรก็ตามคิดว่าการประชุมคัดเลือกประธานฯคนใหม่คงจะเกิดขึ้นภายใน 10 วันหลังจากนี้เนื่องจากขณะนี้นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการฯ เดินทางไปต่างประเทศตามที่ได้ยื่นหนังสือลาไว้ก่อนหน้านี้

“งานของประธานศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่งานบังคับบัญชา ไม่เหมือนฝ่ายบริหาร เพราะมาทำหน้าที่เพิ่มเติมในด้านธุรการ การบริหารจัดการงบประมาณ ส่วนงานด้านตุลาการฯนั้นก็ทำหน้าที่เหมือนกับตุลาการคนอื่น ๆ มีหนึ่งเสียงเท่านั้น จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ ดังนั้นคนที่มาทำหน้าที่ประธานศาล จึงไม่ต้องเอาซุปเปอร์แมนมา แต่เอาคนที่ประชาชนรับได้ในการทำงานมาก็พอแล้ว”นายจรัญ กล่าว

นายจรัญ ยังกล่าวอีกว่า ส่วนคนที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานนั้นขณะนี้อยู่ที่ว่าใครจะเสนอตัว ซึ่งตนเองนั้นอาวุโสน้อยสุด และไม่คิดว่าจะอยู่ในฐานะที่จะเสนอตัวเอง หรือถ้าใครเสนอก็คงไม่รับ เพราะในระบบศาลนั้นจะคำนึงถึงเรื่องอาวุโสคือการเข้าสู่ตำแหน่งราชการก่อนหลังเป็นสำคัญ ซึ่งในวาระของตุลาการที่เหลืออีก 6 ปีนั้น ในจำนวนตุลาการอีก 8 คนที่เหลือเข้าใจว่า นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ มีความอาวุโสสูงสุด แต่ก็ยังคิดว่าการจะได้รับตำแหน่งหรือไม่ ที่ประชุมน่าจะให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ เสนอแนวทางการบริหารงาน โดยคนที่เสนอตัวก็อาจจะมีการเสนอเรื่องระยะเวลาการดำรงตำแหน่งแม้จะไม่ใช่เงื่อนไขก็ตาม

เมื่อถามว่าเปลี่ยนประธานศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนรัฐบาลหรือไม่ นายจรัญ ไม่น่าจะเกี่ยว เพราะระบบศาลมีประเพณีมานาน การเมืองจะเข้ามายุ่มย่ามไม่ได้ ถ้าเข้ามายุ่มยามถือเป็นความบกพร่องทางการเมือง หรือถ้าศาลเข้าไปยุ่งกับการเมืองก็เป็นความบกพร่องของศาล 3 ปีที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญพยายามรักษาประเพณีนี้ไว้ให้ชัดเจนที่สุด และคิดว่าจะดำรงไว้ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น