xs
xsm
sm
md
lg

สุญญากาศศาลรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ศาลรัฐธรรมนูญ”เป็นองค์กรที่อยู่ในช่วงสุญญากาศมาได้เดือนกว่าๆ แล้ว
นับตั้งแต่ นายชัช ชลวร ลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญไปเมื่อ    10 สิงหาคม 2554   แม้ต่อมามีการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกันไปในวันที่ 24 สิงหาคม     ซึ่งที่ประชุมมีมติเอกฉันฑ์เลือก วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ
จากนั้น สำนักงานเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญส่งเรื่องให้พลเอกธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา เพื่อนำรายชื่อวสันต์ขึ้นทูลเกล้าฯ
ข่าวว่า พลเอกธีรเดช ได้มีการกลั่นกรองกระบวนการทั้งหมด ให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา –ฝ่ายกฎหมายวุฒิสภาและที่ปรึกษาประธานวุฒิสภาช่วยตรวจสอบว่าทุกอย่างถูกต้องตามขั้นตอนหรือไม่ ก่อนจะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ตอนนี้มีการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯไปได้หลายสัปดาห์แล้ว
ทำให้ช่วงที่ผ่านมาหลายเดือน เมื่อองค์กรไม่มีผู้นำ ก็ทำให้การทำงานของศาลรัฐธรรมนูญดูจะติดขัดไปบ้าง ผนวกกับเวลานี้ก็ไม่ได้มีคดีใหญ่ๆ อะไรในชั้นศาลรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นพวกคดียุบพรรค-คดีปกปิดบัญชีทรัพย์สินหนี้สินนักการเมือง ทำให้สังคมก็ไม่ได้ติดตามการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญมากนัก  เลยไม่มีตัวเร่งอะไรให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องแอ็คชั่นอะไรมาก
ผลก็คือ ปรากฎว่า เวลานี้มีคดีคั่งค้างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญร่วมๆ 60 สำนวน !
หากไม่มีกรณีที่กองปราบปรามสั่งไม่ฟ้อง พสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญในคดีคลิปฉาว ก็คงไม่มีใครใคร่รู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับศาลรัฐธรรมนูญ เกิดอะไรขึ้นกับองค์กรองค์กรอิสระแห่งนี้
ในเรื่องที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มีการออกเอกสารข่าวเผยแพร่เรื่อง การประชุมพิจารณาวินิจฉัยคดีของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีเนื้อหาระบุว่า ด้วยศาลรัฐธรรมนูญได้ว่างเว้นการพิจารณาวินิจฉัยคดีมาเป็นเวลาแรมเดือนแล้ว คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 6 คน ซึ่งไม่น้อยกว่า 5 คน อันถือเป็นองค์คณะตามรัฐธรรมนูญ จึงเข้าชื่อกัน ออกคำสั่งให้เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ จัดประชุมเพื่อพิจารณาวินิจฉัยคดีจำนวน 14 เรื่อง ในวันที่ 19 ต.ค.เวลา 09.30 น. เนื่องจากขณะนี้ยังมีคดีค้างพิจารณาอยู่กว่า 60 เรื่อง
สำหรับ 6 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ประกอบด้วย วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ จรูญ อินทจาร จรัญ ภักดีธนากุล เฉลิมพล เอกอุรุ สุพจน์ ไข่มุกด์ และนุรักษ์ มาประณีต
ส่วนอีก 3 คนที่ไม่ได้เข้าชื่อกัน คือ ชัช ชลวร บุญส่ง กุลบุปผา และอุดมศักดิ์ นิติมนตรี
ที่มาที่ไปของการไขลานเรียกประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สื่อมวลชนเสนอข่าวไว้ว่าเกิดจากการที่ตุลาการฯทั้ง 6 คนดังกล่าวเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 216 ที่บัญญัติว่า องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในการนั่งพิจารณาและทำคำวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 5 คน
        ดังนั้นแม้ตามธรรมเนียมปฏิบัตินายชัช ชลวร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ที่ประชุมคณะตุลาการมอบหมายให้ทำหน้าที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญไปพลางก่อน จะต้องเป็นผู้อนุมัติระเบียบวาระการประชุม แต่เมื่อนายชัช ไม่ดำเนินการ โดยให้เหตุผลว่า เพราะได้ขอพ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว จึงไม่สามารถเรียกประชุมได้
ส่งผลให้ 6 ตุลาการ เห็นว่ากว่า 3 เดือนแล้ว ที่นายชัช ไม่ได้มีการเชิญประชุม ทั้งที่มีงานคดีคั่งค้างมาก จึงเลือกที่จะใช้วิธีการนี้ระหว่างรอการโปรดเกล้าฯ โดยก็ได้มีการหารือว่าในวันที่ 19 ต.ค. ที่มีการเชิญประชุม หากมีตุลาการเข้าร่วมเพียง 6 คน ก็จะเลือกตุลาการอาวุโสขึ้นทำหน้าที่ประธานที่ประชุม
       สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้  แสดงให้เห็นว่าการเมืองในศาลรัฐธรรมนูญยังคงอยู่ การแบ่งขั้วของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  9 คน เกิดขึ้นจริง และยังคงอยู่
แม้ชัช จะลาออกจากประธานศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว และมีการเลือกวสันต์ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ
แต่ปัญหาการเมืองในศาลรัฐธรรมนูญก็ยังคงอยู่ อันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานหลายปีนับแต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้เข้ารับตำแหน่ง
เรื่องนี้ ตุลาการทั้ง 9 คน ปฏิเสธไม่ได้ ว่าไม่มีสิ่งนี้เกิดขึ้น
คิดหรือว่า ตัวชัช จะไม่รู้สึกอะไร ที่ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะอยู่แค่ 3 ปีแล้วลาออกจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พ้นจากประธานศาลรัฐธรรมนูญ  หลังพยายามยื้อมานานร่วมสองเดือนเมื่อครบกำหนด แต่เมื่อถูกทวงถามอย่างหนักจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางส่วนถึงคำมั่นสัญญาดังกล่าวจนมีข่าวเรื่องการวอคเอาท์ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหลายคนกลางที่ประชุมจนทำให้องค์ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญล่มไม่เป็นท่า แล้วในที่สุด ชัช ก็อยู่ไม่ได้ต้องประกาศลาออกกลางที่ประชุมในเวลาต่อมา
แล้วภาพการจัดสัมมนาประจำปีของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 18-19 สิงหาคม ที่ เขาใหญ่ ซึ่งมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไปร่วมงานแค่ 3 คน จาก 9 คน คือวสันต์ –สุพจน์ ไข่มุกด์-จรูญ อินทจาร อันเป็นการจัดงานสัมมนาในช่วงก่อนการประชุมเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญแค่ไม่กี่วัน ซึ่งทั้งสามคนก็อยู่ในกลุ่มเดียวกันมาตลอดและเป็น 3 คนที่ร่วมลงชื่อใน 6 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ขอให้มีการประชุมกันในวันที่ 19 ตุลาคมนี้
หรือจะกรณีที่มีข่าวว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหลายคนไม่พอใจที่ชัช ชลวร ตั้ง พสิษฐ์ ศักดาณรงค์ เป็นเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็ไปก่อเรื่องก่อราวจนทำให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนเสียหายและภาพลักษณ์ศาลรัฐธรรมนูญก็ย่ำแย่กับเรื่องกรณีคลิปลับ แต่ที่ผ่านมานับแต่เกิดเรื่อง ตัวชัช กลับไม่เคยออกมาขอโทษกับเพื่อนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและไม่แสดงความรับผิดชอบนับแต่มีเรื่องคลิปเกิดขึ้น จนกระทั่งต้องถูกกดดันให้ออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผลเพื่อเป็นการรักษาสัจจะที่เคยให้ไว้
ไม่ใช่ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ต่อกรณีที่อดีตหน้าห้องไปสร้างเรื่องเสียหายให้กับองค์กร
เพียงเท่านี้ก็เห็นได้แล้วว่า มีเรื่องความไม่เป็นเอกภาพเกิดขึ้นแน่นอนใน 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
  จึงเชื่อได้ว่า แม้อนาคต เมื่อวสันต์ เข้ารับตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ การเมืองในองค์กรอิสระแห่งนี้ ก็น่าจะคงอยู่
เพียงแต่ลำดับแรก คงต้องสะสางเรื่อง คดีคั่งค้างของศาลรัฐธรรมนูญหลายสิบคดี ให้สำนวนลดน้อยลงไปก่อน ก็น่าจะดี เพราะคนที่ไปยื่นคำร้องเอาไว้ ไม่รู้ป่านนี้ จะลืมไปแล้วหรือยัง
กำลังโหลดความคิดเห็น