xs
xsm
sm
md
lg

งง!“ชัช”ลาออก แต่ชื่อยังนั่งเป็นปธ.ศาลรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-9ตุลาการศาลรธน.เดินหน้าประชุมวินิจฉัยคดีหลังถูก 6 ตุลาการเสียงข้างมากบีบ “ชัช” นั่งตัวโต๊ะทำหน้าที่ประธานการประชุม สำนักงานฯมาแปลกยังระบุเป็นประธานศาลรธน. ทั้งที่ลาออกแล้ว

วานนี้ ( 19 ต.ค.) ภายหลังการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกเอกสารข่าวระบุว่า ตามที่นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในช่วงเช้าวันนี้ เวลา 09.00 น. เพื่อพิจารณาคดี จำนวน 15 เรื่อง โดยผลการประชุมสรุป ดังนี้ 1.สั่งจำหน่ายคดี กรณีศาลฎีกาส่งคำโต้แย้งของจำเลยขอให้พิจารณาคดีวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรค 5 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ 2. อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยและนัดแถลงด้วยวาจาก่อนการลงมติและลงมติในวันพุธที่ 2 พ.ย. 2554 จำนวน 2 เรื่อง คือ กรณีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอให้วินิจฉัยว่าพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 6 และพ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 มาตรา 86 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่

3. อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยและรวมพิจารณาไปในคราวเดียวกัน จำนวน 11 เรื่อง รวม 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มบทบัญญัติแห่งพ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ (จำนวน 7 เรื่อง ) กลุ่มบทบัญญัติแห่งพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ (จำนวน 2 เรื่อง ) และกลุ่มบทบัญญัติแห่งพ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ (จำนวน 2 เรื่อง ) และ 4. อนุญาตให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญตามที่สำนักงานศาลปกครองกลางมีหนังสือแจ้ง กรณีศาลปกคลองกลางส่งคำโต้แย้งของผู้ฟ้องคดีขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551 มาตรา 21 (2) มาตรา 24 มาตรา 73 และมาตราอื่นๆ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการประชุมคณะตุลาการฯครั้งนี้เป็นไปตามที่คณะตุลาการเสียงข้างมาก 6 คนได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 14 ต.ค.ให้เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจัดประชุมเพื่อพิจารณาวินิจฉัยคดี ปรากฎว่าเมื่อถึงเวลาประชุมตุลาการฯ 3 คนที่ไม่ได้ร่วมลงชื่อให้สำนักงานฯจัดประชุมคือนายชัช นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี และนายบุญส่ง กุลบุปผา ก็ได้เข้าร่วมประชุมด้วยทำให้การประชุมคณะตุลาการฯครั้งมีตุลาการฯเข้าประชุมครบทั้ง 9 คน โดยมีนายชัช ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งคดีที่น่าสนใจในการพิจารณาครั้งนี้และคณะตุลาการฯนัดลงมติในวันที่ 2 พ.ย.เป็นกรณีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอให้วินิจฉัยว่าพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 6 ที่กำหนดให้รัฐมีอำนาจในการประกาศพื้นที่ที่มีสภาพธรรมชาติเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 66 และ67 ที่บัญญัติเกี่ยวกับสิทธิชุมชนในการบำรุงรักษาและใช้ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมหรือไม่ โดยคณะกรรมการสิทธิฯได้ยกคำร้องของประชาชนที่ร้องเรียนว่าอยู่ในพื้นที่มาก่อนมีการประกาศเขตอุทยาน ทำอาชีพเก็บของป่าขาย แต่เมื่อรัฐประกาศให้เป็นเขตอุทยานทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพดังกล่าวได้ มาเป็นประเด็นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

อย่างไรก็ตามเอกสารข่าวที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่นั้นเป็นที่น่าสังเกตว่ายังคงระบุตำแหน่งของชัช ว่าเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ตามข้อเท็จจริงแล้วคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มอบหมายให้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมเท่านั้นหลังจากนายชัช ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค. และขณะนี้อยู่ระหว่างรอการโปรดเกล้านายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น