“ประธานศาลปกครองสูงสุด” ชี้ชาวบ้านฟ้องศาลมากขึ้น ส่อตื่นตัวรักษาสิทธิเพิ่ม,สังคมขัดแย้งหนัก เชื่อคำพิพากษาระงับความเห็นต่างได้ ยันศาลปกครองไม่ได้วินิจฉัยเกินเลยกฎหมาย ซัดพวกอ้างประโยชน์สาธารณะละเมิดกฎหมายแล้วจะปกครองนิติรัฐได้อย่างไร รับตุลาการต้องกล้าหาญ เผยเคยโดนข่มขู่ ทูตงงไทยไร้มาตรการดูแลผู้พิพากษา ย้ำตรวจสอบได้ ถามแก้รัฐธรรมนูญยุบศาลประชาชนได้อะไร แนะให้การศึกษาให้คนไทยคิดเป็น
วันนี้ (5 เม.ย.) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายหัสวุฒิ วิทิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวปาฐกถาเกียรติยศในหัวข้อศาลกับความยุติธรรมในมิติต่างๆ ของไทยว่า สิ่งแรกที่ต้องเข้าใจล่าช้าก็ยอมรับว่าแนวโน้มในการฟ้องร้องมาที่ศาลปัจจุบันมีมากขึ้น ด้านหนึ่งคือประชาชนเริ่มตื่นตัวรักษาสิทธิของตัวเอง ที่ในสมัยก่อนไม่ได้มีความหวังในการต่อสู้กับข้อพิพาทของรัฐ ถึงแม้ว่าทางฝั่งประชาชนจะพบกับความพ่ายแพ้มากกว่ารัฐก็ตาม แต่ศาลเองก็ยังได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนว่ามีความยุติธรรมที่แท้จริง อีกด้านหนึ่งคือสังคมมีปัญหาความขัดแย้งมากขึ้น ซึ่งตนเห็นว่าศาลเท่านั้นที่จะทำให้ความเห็นต่างระงับลงด้วยคำพิพากษา แล้วทุกฝ่ายก็จะต้องยอมรับเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้น เราตระหนักเสมอว่าศาลจะต้องเป็นกลางและยุติธรรม ศาลจะอยู่ได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับเหตุผลของคำวินิจฉัยนั้น ซึ่งศาลเองก็จะต้องเป็นผู้ให้คำตอบได้
นายหัสวุฒิกล่าวว่า ในระยะเวลา 11 ปีที่ผ่านมาศาลปกครองได้ตัดสินคดีสำคัญๆ อย่างคดีมาบตาพุดศาลก็ไม่ได้วินิจฉัยเกินเลยไปกว่ากฎหมาย ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ได้เขียนไว้ชัดเจนในเรื่องของการปกป้องสิ่งแวดล้อม หรืออย่างคดีประมูล 3 จี ที่มีความเป็นแตกออกเป็น 2 ฝ่าย มีการกล่าวอ้างกันว่าต้องปล่อยให้รีบมี 3 จี เพื่อให้เศรษฐกิจพัฒนาและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ถ้าทุกอย่างคือประโยชน์สาธารณะทั้งที่มีกฏหมายห้ามไว้ กฏหมายก็คือข้ออ้างนิติรัฐลอยๆ เท่านั้นเอง การกระทำทางปกครองต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ถ้ามาอ้างอย่างนี้แล้วจะปกครองด้วยกฎหมายได้อย่างไร ส่วนการออกกฎหมายนั้นก็ต้องมาว่ากันอีกเรื่อง แต่ตนเห็นว่าแนวทางการออกกฎหมายในปัจจุบันไม่เป็นไปในที่ควรจะเป็น ซึ่งไม่ควรที่จะออกกฏหมายอื่นที่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญแต่บังคับฟ้องศาลนอกบัญญัติในรัฐธรรมนูญได้ ถามว่าอันนี้ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากเป็นเช่นนี้ที่บอกว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดก็เป็นเพียงแค่คำเขียนในกระดาษเท่านั้น
ประธานศาลปกครองสูงสุดกล่าวต่อว่า ส่วนคนที่เป็นตุลาการศาลก็ได้กำหนดคุณสมบัติเข้มงวดมากในการคัดเลือกตุลาการเพื่อให้มีคุณภาพ ต้องมีความรู้ ความสามารถ เที่ยงธรรม ยุติธรรม และกล้าหาญ อันนี้สำคัญเพราะแต่ละคดีมีอันตรายถึงชีวิต ซึ่งตนก็เคยถูกข่มขู่มาแล้ว ตอนที่ตนรับตำแหน่งใหม่ๆ ทูตหลายประเทศก็เชิญตนไปร่วมทานอาหารกลางวัน เขาถามเรื่องการคุ้มครองความปลอดภัยของตุลาการ ซึ่งในประเทศไทยไม่มีใครคิดเรื่องนี้ ซึ่งตนก็บอกว่า อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ถ้าจะตายก็ต้องตาย ขณะที่การพิจารณาคดีของศาลปกครองก็ต่างจากศาลอื่น คือต้องมีการประชุมองค์คณะผู้พิพากษา ซึ่งหากไม่มีการประชุมขึ้นก็ให้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีความไม่ชอบมาพากลขึ้นได้ นอกจากนี้ยังมีตุลาการผู้แถลงคดีคอยตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อเปิดเผยต่อสาธารณชน ซึ่งตนก็อยากจะถามคนที่บอกว่าศาลมีอำนาจมากกำลังสร้างความชอบธรรมเพื่อจะทำอะไร ศาลปกครองเป็นองค์กรที่สัมผัสได้ รับใช้ประชาชน หากอะไรจะเกิดตามความต้องการของประชาชนก็ต้องยอมรับ ซึ่งก็อยากถามว่าหากยุบรวมศาลแล้วประชาชนจะได้อะไร ตนกังวลในเรื่องคดีที่ค้างอยู่ก็พยายามติดตามอย่างต่อเนื่อง และยืนยันว่าไม่มีอิสระในการเลือกทำคดี ผู้พิพากษาต้องทำทุกคดี และในอนาคตก็จะให้ประชาชนร่วมตรวจสอบติดตามคดีผ่านทางเว็บไซต์ด้วย
ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนขององค์กรอิสระและศาลนั้น นายหัสวุฒิกล่าวว่า ตนขอถามมูลเหตุในการปฏิรูปการเมืองในปี 2540 หมดไปแล้วหรือไม่ หากยุบศาลปกครองแล้วคดีที่เหลือจะดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้ตนยืนยันพร้อมรับฟังข้อบกพร่องเพื่อนำไปพัฒนา ศาลปกครองเป็นเพียงศาลเดียวที่มีการตั้งคณะกรรมการทางวิชาการเพื่อเป็นกระจกส่องหน้าโดยที่ไม่ต้องรอให้สังคมตรวจสอบ โดยจะทำการตรวจสอบคำวินิจฉัยตั้งแต่ต้น จึงขอฝากผู้ที่จะแก้ไขด้วยว่า ถ้าศาลไม่มีความมั่นคงแล้วความเชื่อถือของนักลงทุนต่างชาติจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ปัญหาไม่มีวันแก้ไขได้ นอกจากจะให้การศึกษาจริงๆ ให้คนไทยคิดเป็น แล้วปัญหาทุกอย่างประชาชนจะแก้เองได้ และอยู่บนพื้นฐานของการยอมรับความคิดเห็นที่ขัดแย้งในฐานะประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ขณะที่สื่อก็จะต้องชี้ทางให้ถูกต้อง