พันธมิตรฯ ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ยื่นอัยการสูงสุดขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งให้สมาชิกรัฐสภายกเลิกการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ถือเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับเดิมทั้งฉบับ พร้อมทั้งอาจสั่งยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง
เมื่อเวลาประมาณ 09.30 น.วันนี้ (26 เม.ย.) ที่อาคารเอ ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และนายพิภพ ธงไชย แกนนำฯ ได้ยื่นหนังสือร้องต่ออัยการสูงสุด ขอให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งให้สมาชิกรัฐสภาเลิกพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทั้งสามฉบับ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ทั้งนี้ นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล อธิบดีกรมอัยการคดีพิเศษ ได้ลงมารับหนังสือ เลขรับที่ 14935 โดยมีรายละเอียดดังนี้
บันทึกข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่สมาชิกรัฐสภาได้ใช้สิทธิและเสรีภาพโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่อพฤติการณ์เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยวิธีทางซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
สิ่งที่ส่งมาด้วย
1. รายชื่อผู้ร้อง
2. รายชื่อผู้ถูกร้องจำนวน 416 คน
3. ร่างรัฐธรรมนูญ 1
4. ร่างรัฐธรรมนูญ 2
5. ร่างรัฐธรรมนูญ 3
6. ใบนับคะแนนเพื่อลงมติรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ... พุทธศักราช....) ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ชุดที่ 24 ปีที่ 1 ครั้งที่... (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)วันที่....เดือน.....พ.ศ. 2555
7. คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แถลงต่อรัฐสภา วันอังคารที่ 23 สิงหาคม 2555
ข้อ 1 ผู้ร้องผู้มีรายชื่อตามสิ่งที่ส่งมาด้วยอันดับ 1 เป็นผู้เสียหายในการกระทำผิดอาญา อันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) โดยประธานรัฐสภาได้เสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาเป็นเรื่องด่วนระหว่างวันที่ 23 ถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 และรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบรับร่างรัฐธรรมนูญแห่งอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มทั้งสามฉบับ ด้วยคะแนนเสียง 399 เสียง และได้ดำเนินการตั้งคณะกรรมาธิการจำนวน 45 คน เพื่อพิจารณาโดยถือเอาร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐมนตรีเป็นหลักในการพิจารณาแล้ว จึงเป็นการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้นในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ และ/หรือ ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องที่จะได้รับความคุ้มครองในสิทธิ เสรีภาพและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และ/หรือต้องสูญเสียรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ไปทั้งหมด หรือแต่บางส่วน อันมิใช่เป็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เพราะรัฐธรรมนูญมีเหตุขัดข้องในการใช้บังคับกับประชาชนในการบริหารราชการแผ่นดินของผู้ถูกร้องแต่อย่างใด ผู้ร้องจึงมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องเพื่อให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยด่วนต่อไป
ผู้ร้องเป็นปวงชนชาวไทย เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยและของผู้ร้องทางรัฐสภา ทางคณะรัฐมนตรี และทางศาล ดังนั้น การใช้อำนาจในการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของผู้ร้องและของปวงชนชาวไทยในการปฏิบัติหน้าที่ ในการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภาและของคณะรัฐมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ตามอำเภอใจไม่ได้ จะต้องปฏิบัติหน้าที่ได้ตามขอบเขตภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่ได้บัญญัติให้ปฏิบัติได้เท่านั้น และจะปฏิบัติหน้าที่โดยขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายไม่ได้ ไม่ว่าในกรณีใด เพราะผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยก็ไม่สามารถกระทำการใดๆ อันเป็นปฏิปักษ์หรือล้มล้างรัฐธรรมนูญ หรือฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายได้ รัฐสภาและคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นเพียงผู้แทนของผู้ร้องและของปวงชนชาวไทย จึงไม่มี “ อำนาจหน้าที่” หรือ “มีเอกสิทธิ์” ใดๆ ที่จะใช้อำนาจในการปฏิบัติหน้าที่โดยขัดต่อรัฐธรรมนูญเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญหรือล้มล้างรัฐธรรมนูญนั้น หาได้ไม่ ผู้ร้องจะได้กราบเรียนถึง “อำนาจ” “หน้าที่” และ “ความรับผิดชอบ” ของผู้ร้องตามรัฐธรรมนูญ “การได้รับความคุ้มครองซึ่งสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของผู้ร้องตามรัฐธรรมนูญ” “การจำกัดสิทธิ เสรีภาพและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของผู้ร้องตามรัฐธรรมนูญ” “การใช้อำนาจขององค์กรของรัฐในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความในกฎหมายที่ต้องผูกพันรัฐสภา และคณะรัฐมนตรีที่จะต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพ ตลอดจนศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของผู้ร้องที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้ โดยจะตรากฎหมาย โดยละเมิดต่อสิทธิ เสรีภาพและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของผู้ร้องไม่ได้” ในลำดับต่อไป เพื่อให้ดำเนินการสอบสวนการกระทำความผิดในกรณีนี้ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 โดยวิธีการแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 291 เพื่อนำไปสู่การล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 นั้น เป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของผู้ร้องและของปวงชนชาวไทย อันเป็นการใช้อำนาจโดยพละการของผู้ถูกร้อง เพื่อการกระทำอันเป็นปรปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ โดยจะอ้างสิทธิเสรีภาพของการเป็นสมาชิกรัฐสภา หรือการเป็นคณะรัฐมนตรีมาดำเนินการนั้น หาได้ไม่ เพราะเป็นการใช้สิทธิ เสรีภาพโดยละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้อง เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 28 วรรคแรก ซึ่งได้มีการวางแผนแบ่งงานกันทำมาตั้งแต่ต้น จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เมื่อผู้ถูกร้องใช้อำนาจอธิปไตยของผู้ร้องและปวงชนชาวไทยในการปฏิบัติหน้าที่แล้ว ผู้ร้องจึงเป็นผู้เสียหายโดยตรงและมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องในกรณีนี้ในฐานะเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เป็นผู้ถูกละเมิดและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 28 วรรคสอง สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นหน่วยงานของรัฐเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ต้องให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุน การใช้สิทธิของผู้ร้องตามรัฐธรรมนูญในหมวด 3 โดยผู้ร้องขอให้ดำเนินการในกรณีนี้โดยด่วน (ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 28 วรรคสี่) ซึ่งผู้ร้องจะกราบเรียนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในรายละเอียดต่อไป
เมื่อผู้ร้องเป็นปวงชนชาวไทย เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 รัฐธรรมนูญได้กำหนด “อำนาจ” “หน้าที่” และ “ความรับผิดชอบของผู้ร้อง” ไว้ โดยให้ผู้ร้องมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญนี้ (รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550) ให้ผู้ร้องมีหน้าที่ป้องกันประเทศ รักษาผลประโยชน์ของชาติและปฏิบัติตามกฎหมาย ให้ผู้ร้องมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง (ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 70, 71, 72)
รัฐธรรมนูญได้บัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของผู้ร้องไว้ โดยการใช้อำนาจขององค์กรของรัฐทุกองค์กร จะต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของผู้ร้อง และสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้แจ้งชัด ในเรื่อง
“สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย”
“สิทธิในความเสมอภาค”
“สิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล”
“สิทธิในกระบวนการยุติธรรม”
“สิทธิในทรัพย์สิน”
“สิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพ”
“เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน”
“สิทธิและเสรีภาพในการศึกษา”
“สิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขและสวัสดิการจากรัฐ”
“สิทธิในข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียน”
“เสรีภาพในทางชุมนุมและการสมาคม”
“สิทธิชุมนุม”
“สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ”
ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตามมาตรา 3, 4 ประกอบกับมาตรา 30 ถึงมาตรา 69
ซึ่งผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐและหน่วยงานของรัฐโดยตรง
ในการ “ตรากฎหมาย” การ “ใช้บังคับกฎหมาย” และ “การตีความในกฎหมาย”
(ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 26, 27) โดยจะใช้อำนาจในการ “ตรากฎหมาย” “ใช้บังคับกฎหมาย” และ “การตีความในกฎหมาย” โดยละเมิดต่อศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องตามที่บัญญัติไว้ในหมวดที่ 3 ไม่ได้
รัฐธรรมนูญได้บัญญัติจำกัดสิทธิในการอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องไว้โดยให้ผู้ร้องกระทำได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิ และเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ดังนั้นผู้ร้องจะอ้างศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ หรือผู้ร้องจะใช้สิทธิเสรีภาพของผู้ร้องไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ รวมทั้งจะใช้สิทธิและเสรีภาพขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ได้ (ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 28 วรรคแรก) เช่นเดียวกับบุคคลอื่นๆรวมทั้งผู้ถูกร้อง ซึ่งจะใช้สิทธิเสรีภาพโดยละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้อง หรือใช้สิทธิและเสรีภาพเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือของผู้ร้องไม่ได้ตามนัยมาตรา 28 วรรคแรกเช่นเดียวกัน
รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้ร้องให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หากผู้ร้องไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยไม่แจ้งเหตุอันสมควรที่ทำให้ผู้ร้องไม่อาจไปสิทธิได้ ย่อมได้รับสิทธิหรือเสียสิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 72 การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้ร้องมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ก็เพื่อให้ผู้ร้องมีผู้แทนปวงชนชาวไทยโดยการปฏิบัติหน้าที่ของผู้แทนปวงชนชาวไทย หรือผู้แทนของผู้ร้อง ต้องไม่อยู่ในความผูกพันแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 122) เพราะการปฏิบัติหน้าที่ของผู้แทนปวงชนชาวไทยเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของผู้ร้องและของปวงชนชาวไทยในการปฏิบัติหน้าที่ไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจเฉพาะตัวของผู้แทนมาปฏิบัติหน้าที่ (ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3) ในการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ต้องปฏิบัติตามหลักนิติธรรม (ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 4) ซึ่งก็คือ ผู้ถูกร้องต้องปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายทุกประการ จะปฏิบัติหน้าที่โดยขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายไม่ได้ จะกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะมิฉะนั้น การทำหน้าที่ของผู้ร้องก็เป็นการทำหน้าที่โดยขัดต่อการเป็นผู้แทนของผู้ร้อง การกระทำนอกอำนาจของการเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการกระทำความผิดอาญาในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบง
การใช้สิทธิเลือกตั้งเพื่อให้ได้ผู้แทนของผู้ร้อง ผู้ร้องไม่ได้สละสิทธิในศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและหน้าที่ของผู้ร้อง ผู้แทนของผู้ร้องจะทำหน้าที่เป็นผู้แทนโดยละเมิดต่อศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้ไม่ได้ แม้ผู้ร้องมีผู้แทนแล้ว ผู้ร้องยังคงมีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ มีสิทธิและเสรีภาพและมีหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ทุกประการ ผู้ร้องยังคงมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะรักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีหน้าที่ป้องกันประเทศและประโยชน์ของชาติ (ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 70, 71) ผู้ร้องมีสิทธิที่จะต่อต้านโดยสันติวิธี ซึ่งการกระทำใดๆของผู้ถูกร้องที่กระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 (ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 69) ผู้ร้องมีสิทธิที่จะดำเนินการในกรณีที่สมาชิกรัฐสภา หรือคณะรัฐมนตรีใช้สิทธิเสรีภาพในทางรัฐสภา หรือในทางบริหาร เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ 2550 หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 โดยดำเนินการให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้ โดยไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิของผู้ร้องในการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าวได้อีก (รัฐธรรมนูญมาตรา 68)
ผู้ร้องมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะถอนถอนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาฯ ที่ส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายได้ (ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270, 271 วรรคสาม) สิทธิและหน้าที่ของผู้ร้อง เป็นสิทธิและหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้ อันเป็นบทบัญญัติที่รับรองในความเป็นผู้เสียหายของผู้ร้องไว้โดยรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ร้องตามรัฐธรรมนูญ ผู้ร้องจึงเป็นผู้เสียหายที่จะดำเนินคดีอาญาทางศาลอาญาได้ด้วยตนเอง และเป็นผู้เสียหายที่จะร้องให้สำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกร้องได้ด้วย เพราะสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นเจ้าพนักงานในทางยุติธรรมตามกฎหมาย (ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 250 วรรคท้าย)
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของผู้ร้องเพื่อตรารัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ และล้มเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 โดยรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบรับร่างรัฐธรรมนูญไปแล้วถึงสามฉบับโดยไม่ผ่านประชามติของมหาชน เพื่อให้มหาชนเห็นชอบให้ล้มเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ในบริบทแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เสียก่อน การเสนอร่างรัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับและการเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับ จึงเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยและของผู้ร้อง โดยละเมิดต่อสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของปวงชนชาวไทยและของผู้ร้องที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้ และการที่รัฐสภา คณะรัฐมนตรีใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยและของผู้ร้อง โดยขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งยังคงใช้บังคับอยู่ จึงเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของผู้ร้องโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต กระทำการเป็นปรปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ 2550
สมาชิกรัฐสภา คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของผู้ร้องซึ่งเป็นปวงชนชาวไทยในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ โดยสมาชิกรัฐสภาเป็นผู้แทนของผู้ร้อง (ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 122) และคณะรัฐมนตรีในการบริหารราชการแผ่นดิน จะต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมายและนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 178
ในการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี รัฐสภาและคณะรัฐมนตรีจะต้องใช้อำนาจอธิปไตยของผู้ร้องตามหลักนิติธรรม และจะใช้อำนาจอธิปไตยของผู้ร้องโดยละเมิดต่อศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของผู้ร้องไม่ได้ (ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3, มาตรา 4, มาตรา 26, มาตรา 27, มาตรา 28)
ผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2550 ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับรองการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามกฎหมายแล้ว มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งทั่วไปและวุฒิสมาชิกทำหน้าที่เป็นรัฐสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจึงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของผู้ร้องไปทำหน้าที่แทนและเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยและเป็นผู้แทนของผู้ร้อง และในการปฏิบัติหน้าที่ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้อำนาจอธิปไตยของผู้ร้องในการปฏิบัติหน้าที่ทุกประการ
การทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาในส่วนที่เกี่ยวพันกันในฐานะเป็นผู้แทนของผู้ร้องนั้น การปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาจึงไม่อยู่ในความผูกพันแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทยและของผู้ร้อง โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 122 สมาชิกรัฐสภาในฐานะเป็นบุคคลธรรมดา จึงอยู่ในสถานะที่ต้องเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกันกับบุคคลอื่นๆ โดยเป็นผู้อยู่ใต้กฎหมายเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป และไม่ใช่เป็นบุคคลที่อยู่เหนือกฎหมายโดยจะกระทำตนเป็นผู้อยู่เหนือกฎหมายในฐานะเป็นผู้แทนของผู้ร้องและของปวงชนชาวไทยไม่ได้ จะใช้อำนาจอธิปไตยของผู้ร้องโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ ไม่มีเอกสิทธิ์หรือมีอำนาจหน้าที่ที่จะจัดตั้งหรือยกย่องให้บุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใดเป็นผู้ที่อยู่เหนือกฎหมายได้ สมาชิกรัฐสภาจะเลือกปฏิบัติต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดให้เป็นผู้อยู่เหนือกฎหมายหรือมีเอกสิทธิไม่ต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายโดยไม่เป็นธรรม เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องสถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม หรือความคิดเห็นทางการเมืองที่ไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนั้น จะกระทำมิได้ (ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 30)
รัฐสภาและคณะรัฐมนตรีจะใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐใน “การตรากฎหมาย” “ใช้บังคับกฎหมาย” “ตีความในกฎหมาย” เพื่อให้เป็นประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องของตนเอง โดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นนั้น หาได้ไม่ เพราะรัฐสภา คณะรัฐมนตรี มีความผูกพันในสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้ด้วยเช่นกัน ในการใช้อำนาจของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี จะต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นซึ่งเป็นปวงชนชาวไทยอย่างเสมอภาคกันแม้ไม่ใช่พวกพ้องของตนก็ตาม เพราะรัฐสภา คณะรัฐมนตรีจะใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญและไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 26, 27, 28 และมาตรา 30
การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ทั้งในฐานะเป็นบุคคลและในฐานะเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐ โดยการใช้อำนาจรัฐนั้น เป็นอำนาจอธิปไตยของผู้ร้องและเป็นผู้แทนของผู้ร้องจะทำหน้าที่อย่างผู้อยู่เหนือกฎหมายเหนือรัฐธรรมนูญไม่ได้ การได้รับเลือกตั้งให้มาทำหน้าที่โดยใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยและของผู้ร้อง ไม่ก่อให้เกิดเอกสิทธิแก่รัฐสภา คณะรัฐมนตรีให้เป็นผู้ที่อยู่เหนือกฎหมาย หรือใช้อำนาจรัฐเหนือกฎหมายได้ เพราะผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง 15 ล้านเสียง ไม่ใช่เป็นบุคคลผู้อยู่เหนือกฎหมายเหนือรัฐธรรมนูญที่จะทำให้ผู้ได้รับการเลือกตั้งกลายเป็นผู้อยู่เหนือกฎหมายหรือมีอำนาจเหนือกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญได้
การได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงข้างมากไม่ก่อให้เกิดสิทธิการเป็นเจ้าของประเทศ หรือมีอำนาจเป็นเจ้าของชีวิต เจ้าของสิทธิเสรีภาพ เจ้าของสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทั้งประเทศได้
การได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงข้างมาก ไม่ก่อให้เกิดอำนาจเผด็จการแก่ผู้ได้รับเลือกตั้งที่จะใช้อำนาจรัฐในระบอบเผด็จการ และไม่ก่อให้เกิดอำนาจหน้าที่ในทางตุลาการแก่ผู้ได้รับเลือกตั้งที่จะทำให้สมาชิกรัฐสภา คณะรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่ในทางตุลาการที่จะชี้ว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในอดีตที่ผ่านมา เป็นการกระทำผิดกฎหมายหรือการกระทำของเจ้าหน้าที่ผู้ใช้อำนาจรัฐในอดีตที่ผ่านมา เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว จะล้มกระดานเพื่อให้ทุกคนคืนสู่ฐานะเดิมนั้น หาอาจทำได้ไม่
แต่ผู้ได้รับเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยต้องมาทำหน้าที่แทนปวงชนชาวไทยทั้งประเทศโดยเสมอภาคกัน และจะเอาความคิดเห็นทางการเมืองของบุคคลมาใช้ประโยชน์ในทางการเมืองด้วยวิธีการเลือกปฏิบัติไม่ได้ จะเอาความคิดเห็นของตนเอง พวกพ้องตนเองมาเลือกปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องไม่ได้ และจะปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพและผลประโยชน์แต่เฉพาะตนเอง พวกพ้องตน หรือผู้ที่เลือกตั้งตนเองเข้ามานั้นไม่ได้
แต่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามหลักนิติธรรม ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของทุกคน ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย ไม่ใช่เพื่อตนเองและพวกฟ้องของตนเอง
สมาชิกรัฐสภา คณะรัฐมนตรีไม่ใช่ผู้อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐซึ่งเป็นอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยและของผู้ร้อง การใช้อำนาจในทางรัฐสภา สมาชิกรัฐสภา คณะรัฐมนตรีจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งรัฐธรรมนูญและใช้อำนาจได้ตามรัฐธรรมนูญ การเสนอร่างรัฐธรรมนูญ การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ และการออกเสียงให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของผู้ร้องและปวงชนชาวไทยในการตรากฎหมายรัฐธรรมนูญ การดำเนินการในกระบวนการดังกล่าวในรัฐสภา จะต้องกระทำตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 โดยจะใช้อำนาจที่ไม่ชอบหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550 ไม่ได้ การปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือขัดต่อรัฐธรรมนูญย่อมเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับใช้มาแต่แรกเริ่ม การกระทำในลำดับต่อไปแม้จะผ่านวาระการประชุมไปทั้งสามวาระและออกใช้เป็นกฎหมายแล้ว กฎหมายนั้นก็จะเป็นโมฆะและไม่มีผลบังคับใช้เช่นกัน เพราะเป็นกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ การกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเป็นโมฆะมาแต่แรกเริ่ม ย่อมเป็นเสมือนต้นไม้รากเน่า ไม่สามารถออกดอกออกผล แตกกิ่งก้านสาขาออกไปได้เลย คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ไม่สามารถดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.ได้ เพราะกฎหมายที่ออกมานั้นเป็นโมฆะ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาแต่แรกเริ่มแม้จะมีการเลือกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. การทำหน้าที่ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.ก็เป็นโมฆะ ไม่มีผลในทางกฎหมาย เพราะ ขัดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นโมฆะมาตั้งแต่ต้น
การกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเป็นโมฆะมาตั้งแต่ต้นนั้น ผู้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญดังกล่าว จะไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่มีเอกสิทธิโดยเด็ดขาดตามรัฐธรรมนูญ ที่จะไม่ถูกฟ้องคดีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 130 แต่อย่างใด เพราะเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาดที่จะไม่ถูกฟ้องถูกกล่าวหาดำเนินคดีนั้น จะต้องเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ผู้ร้องจึงเป็นผู้เสียหายในการกระทำความผิดอาญาของรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ในการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 113 โดยตรง
ข้อ 2 ผู้ถูกร้องทั้ง 416 คน ซึ่งมีรายชื่อตามเอกสารอันดับที่ 2 ท้ายคำร้องนี้ โดยผู้ถูกร้องที่ 1 ถึงผู้ถูกร้องที่ 275 และผู้ถูกร้องที่ 311 ถึงที่ 340 รวม 305 คน เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ถูกร้องที่ 341 ถึงที่ 416 รวม 76 คนเป็นสมาชิกวุฒิสภา ผู้ถูกร้องที่ 127, 276 ถึงที่ 310 รวม 36 คน เป็นคณะรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 416 เป็นประธานรัฐสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภารวม 382 คน เป็นผู้แทนของผู้ร้อง และได้รับมอบหมายในฐานะเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยให้ไปทำหน้าที่แทนโดยใช้อำนาจอธิปไตยของผู้ร้องและปวงชนชาวไทยทั้งมวลในระบบรัฐสภาหรือสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ ผู้ถูกร้อง 382 คน ทั้งในฐานะเป็นบุคคลธรรมดาและในฐานะเป็นผู้แทนผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนผู้ร้องและปวงชนชาวไทย จึงต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญโดยเสมอกับประชาชนคนไทยและได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญอย่างเท่าเทียมกัน โดยจะต้องทราบว่าผู้ถูกร้องและประชาชนคนไทยทุกคน รัฐธรรมนูญได้บัญญัติคุ้มครองศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลทุกคนไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 และได้บัญญัติรับรองสิทธิ เสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนไว้ในหมวด 3 รวม 12 ประการ และรัฐธรรมนูญยังได้บัญญัติการใช้อำนาจในการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีนั้น ต้องปฏิบัติตามหลักนิติธรรมรวมถึงได้บัญญัติให้การใช้อำนาจของรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจในการตรากฎหมาย ใช้บังคับกฎหมาย และใช้อำนาจในการตีความกฎหมายนั้น รัฐสภาและคณะรัฐมนตรีจะต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้ ซึ่งผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรีที่จะใช้อำนาจในการตราหรือออกกฎหมายนั้น จะต้องออกกฎหมายเพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชนทุกคนโดยเสมอภาค โดยจะเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องสถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือสังคม หรือความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน อันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนั้นจะกระทำมิได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจรัฐในการตรากฎหมาย ใช้บังคับกฎหมาย หรือตีความกฎหมาย (ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 4, 26, 27, 28 และมาตรา 30)
ผู้ถูกร้องทั้ง 382 คน เป็นสมาชิกรัฐสภา เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งได้ปฏิญาณตนว่า “จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” และเมื่อเข้ารับตำแหน่งหน้าที่แล้วผู้ถูกร้องทั้ง 382 คน ได้รู้ว่า ตนเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ และใช้อำนาจอธิปไตยของคนไทยทั้งประเทศในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่เป็นผู้แทนเฉพาะบุคคล 15 ล้านคนที่ได้เลือกตั้งตนมาเท่านั้น และจะต้องรู้ว่าการทำหน้าที่โดยใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยในฐานะเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยนั้น เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและหลักนิติธรรมและต้องไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 มาตรา 123
ผู้ถูกร้องทั้ง 382 คน ทราบถึงการทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติของตนในการประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ (Legislative Power) ที่จะตรากฎหมาย หรือออกกฎหมาย หรือแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกกฎหมาย ผู้ถูกร้องจะกระทำได้ก็แต่เฉพาะกรณีที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 127 วรรคสี่ คือ
(ก) ดำเนินการประชุมได้เฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ในหมวด 2 (พระมหากษัตริย์)
(ข) ดำเนินการประชุมเพื่อตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญได้บัญญัติหลักเกณฑ์และวิธีการให้กระทำได้ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 138 ถึงมาตรา 141
(ค) ดำเนินการประชุมพิจารณาเพื่อตราพระราชบัญญัติต่างๆ รวมทั้งพระราชบัญญัติที่เกี่ยวด้วยการเงิน รัฐธรรมนูญได้บัญญัติหลักเกณฑ์และวิธีการให้กระทำได้ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 142 ถึงมาตรา 153 และมาตรา 168
(ง) การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในมาตราอื่นๆทุกมาตราเป็นรายมาตรา ต้องกระทำตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 291
อำนาจหน้าที่ในการตราหรือออกกฎหมาย หรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย หรือยกเลิกกฎหมายนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ (Legislative Power) อันเป็นอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 127 วรรคสี่ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาโดยเฉพาะ รัฐสภาจะแต่งตั้งหรือมอบหมายโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้บุคคลอื่นกระทำแทนไม่ได้ หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติแทนรัฐสภาไม่ได้ เพราะเป็นการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 127 และรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจไว้ จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นโมฆะ และเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ และ/หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต การกระทำเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญมาตรา 127 วรรคสี่ไม่ได้ให้อำนาจรัฐสภาทำการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ได้ เพราะการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 ได้นำมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 136 (16) โดยบัญญัติให้รัฐสภามีอำนาจหน้าที่ที่จะจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 ได้เท่านั้น แต่ไม่ได้บัญญัติให้รัฐสภามีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ได้แต่อย่างใด การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ไม่ใช่เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ได้ ทั้งรัฐธรรมนูญก็ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับ “หลักเกณฑ์และวิธีการ” ของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ไว้เลย “อำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 และอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 291” จึงไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของรัฐสภาโดยตรง เพราะหากให้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ได้โดยตรง รัฐสภาก็จะใช้สิทธิและเสรีภาพโดยเสียงข้างมากล้มเลิกรัฐธรรมนูญและจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ตามอำเภอใจอันเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของผู้ร้องซึ่งเป็นปวงชนชาวไทย โดยขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 127 วรรคสี่ และขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 136 (16) ขัดต่อหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาสามารถกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญโดยยกเลิกหรือล้มล้างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่ใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศได้ รัฐสภาสามารถกระทำการใดๆในทางรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งขัดต่อหลักนิติธรรมและละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้ใน รัฐธรรมนูญหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และขัดกับอำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่ได้ปฏิญาณตนในการเข้ารับตำแหน่งไว้ว่า “จะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” การกระทำของรัฐสภาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 127 วรรคสี่ มาตรา 136 (16) จึงเป็นโมฆะ เป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ และ/หรือโดยทุจริต โดยมีเจตนาที่จะล้มล้างรัฐธรรมนูญ หรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ 2550
“การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเฉพาะมาตรา 291 หลักเกณฑ์และวิธีการในการแก้ไขเพิ่มเติมโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญมาตรา 291” เป็นอำนาจหน้าที่ของปวงชนชาวไทย เพราะมีผลเป็นการล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ 2550 ได้ทั้งฉบับ หาใช่เป็นอำนาจหน้าที่โดยเฉพาะของรัฐสภาที่จะใช้อำนาจโดยตรงจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 หาได้ไม่ เพราะเจตนารมณ์วิธีการและหลักเกณฑ์ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 291 จะต้องกระทำโดยต้องผ่านความเห็นชอบจากปวงชนชาวไทย โดยต้องทำประชามติเสียก่อนตามที่บัญญัติไว้ในบริบทของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศนั้นได้ผ่านประชามติมาแล้ว ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขยาก จึงเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามหลักสากล (Rigid Constitution)
เอกสิทธิ์ของการประชุมร่วมกันของรัฐสภาที่รัฐธรรมนูญให้เอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด มิให้ผู้ใดนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกในทางใดมิได้ ทั้งในการแถลงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็น หรือออกเสียงลงคะแนนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 130 วรรคแรกนั้น เป็นเอกสิทธิตามรัฐธรรมนูญ (Constitutional Privileged) การได้รับเอกสิทธิโดยเด็ดขาดตามรัฐธรรมนูญ จะต้องเป็นการประชุมร่วมกันของรัฐสภาที่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะประชุมได้เท่านั้น แต่สมาชิกรัฐสภาจะไม่ได้เอกสิทธิเด็ดขาดหากการประชุมร่วมกันของรัฐสภานั้นเป็นการประชุมที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้ เพราะการประชุมดังกล่าวเป็นโมฆะ เอกสิทธิ์เด็ดขาด หรือเอกสิทธิตามรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นไปตามหลักกฎหมายสากลทั่วไปที่ว่า “บุคคลจะถือประโยชน์จากการกระทำอันมิชอบของตนไม่ได้” (Nullus Commodum capere potest de imjuria sua propria) ผู้ร้องจึงมีอำนาจร้องต่อสำนักงานอัยการสูงสุดให้ดำเนินคดีสมาชิกรัฐสภาในกรณีดังกล่าวได้ ทั้งในทางรัฐธรรมนูญและทางอาญา
ข้อ 3 ผู้ถูกร้องที่ 127 และผู้ถูกร้องที่ 276 ถึงผู้ถูกร้องที่ 310 เป็นคณะรัฐมนตรี โดยมีผู้ถูกร้องที่ 276 ถึงผู้ถูกร้องที่ 296, 298, 300, 302, 304, 307, 308 และ 310 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเป็นสมาชิกรัฐสภา คณะรัฐมนตรีมีอำนาจและใช้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน (Executive Power) การบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยและของผู้ร้อง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 มาตรา 4 ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปหลักนิติธรรมและตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และต้องสอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และในการบริหารราชการแผ่นดินคณะรัฐมนตรีต้องจัดให้มีแผนการตรากฎหมายที่จำเป็นต่อการดำเนินการตามนโยบายและแผนการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐในด้านกฎหมายและการยุติธรรมที่คณะรัฐมนตรีมีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินได้นั้น รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจในการจัดให้มีกฎหมายเพื่อจัดตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูปกฎหมายที่ดำเนินการเป็นอิสระ เพื่อปรับปรุงและพัฒนากฎหมายของประเทศ รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนั้น หรือจัดให้มีกฎหมายเพื่อจัดตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินการเป็นอิสระเพื่อปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญในหมวด 5 และตามมาตรา 75, 76, 81 (3) (4) การจะใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีนั้น รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจคณะรัฐมนตรีที่จะมีนโยบายหรือกำหนดนโยบายให้มีองค์กรอิสระที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เลย และรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจคณะรัฐมนตรีมีอำนาจดำเนินการใดๆ ที่จะมีผลล้มเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับที่ใช้ในปัจจุบันได้ คณะรัฐมนตรีในฐานะเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดินมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตราใดมาตราหนึ่งหรือหลายมาตราได้เป็นรายมาตรา ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เท่านั้น โดยต้องเสนอเป็นญัตติแก้ไขเพิ่มเติม และคณะรัฐมนตรีไม่มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินที่จะเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเฉพาะมาตรา 291 เพื่อจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญมาทำหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ การกระทำของคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะทำได้แล้ว ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนต่อแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญมาตรา 75 ถึงมาตรา 87 แล้ว การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นโมฆะ เพราะเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ อันเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยและของผู้ร้อง โดยไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องและปวงชนชาวไทย ซึ่งรัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้ อันเป็นการใช้อำนาจบริหารโดยฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3, 4, 26, 27, 28 เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ/หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มีเจตนาที่จะล้มล้างรัฐธรรมนูญ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 133
ข้อ 4 เมื่อระหว่างวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 จนถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 ต่อเนื่องกัน ผู้ร้องทั้งหมดได้ร่วมกันกระทำผิดกฎหมายปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตในเชิงอำนาจในการใช้อำนาจทางรัฐสภาของผู้ถูกร้อง โดยผู้ถูกร้องไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารต้องตรวจสอบคานอำนาจซึ่งกันและกันในการทำหน้าที่ของแต่ละฝ่ายเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนโดยรวม แต่ผู้ถูกร้องได้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบและ/หรือโดยทุจริต ในการสมรู้ร่วมกันในทางการใช้อำนาจ อันเป็นระบบเผด็จการทางรัฐสภาโดยอาศัยการออกเสียงในรัฐสภา เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ซึ่งเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยและของผู้ร้อง เพื่อประโยชน์ส่วนตน พวกพ้องและเพื่อประโยชน์แก่พรรคการเมืองของตน อันเป็นการทุจริตคอร์รัปชันในการใช้อำนาจหน้าที่ โดยอ้างว่าเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 ซึ่งแท้จริงมิใช่เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 ตามหลักเกณฑ์และวิธีการของการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 แต่อย่างใด การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้พรรคการเมืองซึ่งมีทั้งอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารสามารถผูกขาดการใช้เป็นอำนาจบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นนิติรัฐได้โดยสมบูรณ์ โดยให้รัฐสภาซึ่งมีอำนาจนิติบัญญัติออกกฎหมายมารองรับการใช้อำนาจบริหารได้ในทุกรูปแบบ ไม่ว่าการใช้อำนาจบริหารนั้นจะเป็นการทุจริตคอร์รัปชันหรือไม่ หรือจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนตัวหรือประโยชน์ของประชาชนโดยรวมถือไม่ อันเป็นการใช้อำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติในทางสมยอมหรือฮั้วกันเพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อหลักนิติธรรม ให้กลายเป็นการกระทำที่ชอบด้วยหลักนิติรัฐด้วยวิธีการออกกฎหมายมารองรับการกระทำดังกล่าวของฝ่ายบริหารได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 จึงเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่อำนาจเผด็จการของพรรคการเมือง การกระทำดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบ และ/หรือใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริตเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ทั้งในเชิงอำนาจและเชิงเศรษฐกิจได้แบบเบ็ดเสร็จ
เมื่อผู้ถูกร้องทั้งหมดได้เข้ามามีตำแหน่งเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐ ทั้งในทางนิติบัญญัติและทางบริหาร และเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยโดยการเลือกตั้ง ตามวิถีทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 โดยผู้ถูกร้องได้ทราบว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยประชาชนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกครอง มีการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรม เป็นรัฐธรรมนูญที่กำหนดกลไกสถาบันทางการเมืองทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารให้มีดุลยภาพตามระบอบประชาธิปไตยตามหลักสากล รวมทั้งให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระอื่น สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสุจริตและเที่ยงธรรม โดยมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญดังกล่าวตามมติมหาชน ซึ่งไม่ได้เป็นรัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ผู้ถูกร้องได้เห็นว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ เป็นอุปสรรคต่อการใช้อำนาจรัฐในการบริหารราชการแผ่นดินและอำนาจรัฐในทางนิติบัญญัติ เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ ไม่ส่งเสริมระบบพรรคการเมืองทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอไม่มีความมั่นคงและต่อเนื่องในการครองอำนาจการใช้อำนาจของพรรคการเมือง เนื่องจากรัฐธรรมนูญฯดังกล่าวได้กำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้ทุกระดับ ให้ประชาชนมีความเข้มแข็งทางการเมือง ให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการพัฒนาการเมืองและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเลือกตั้งโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 87 แนวนโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้ประชาชนมีความเข้มแข็งในทางการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองที่ปฏิบัติหน้าที่ในการใช้อำนาจรัฐซึ่งเป็นอำนาจอธิปไตยของประชาชนนั้น ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมบนพื้นฐานของหลักนิติรัฐโดยธรรมมากกว่าที่จะให้พรรคการเมืองปฏิบัติหน้าที่โดยใช้หลักนิติรัฐเหนือกว่าหลักนิติธรรม เพราะหลักนิติรัฐนั้นพรรคการเมืองสามารถจัดทำกฎหมายมารองรับการกระทำของพรรคการเมืองได้ การกระทำที่ไร้ซึ่งหลักนิติธรรมจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักนิติรัฐอยู่ในตัวเอง แต่การกระทำที่ถูกต้องตามหลักนิติรัฐนั้นอาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักนิติธรรมได้ เพราะหลักนิติรัฐจะขึ้นอยู่กับมาตรฐานของความเป็นคนมีคุณธรรมของผู้มีและใช้อำนาจรัฐ หรือขึ้นอยู่กับความพอใจของกลุ่มบุคคล หรือฝูงชนผู้มีและใช้อำนาจรัฐที่จะออกกฎหมายมาอย่างไรก็ได้ การกระทำเพื่อให้ระบบพรรคการเมืองมีความเข้มแข็งโดยใช้หลักนิติรัฐด้วยวิธีการออกกฎหมายมารองรับหรือออกกฎหมายมาเพื่อเอื้อประโยชน์ตามความต้องการของพรรคการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารรวมทั้งอำนาจตุลาการ ก็จะกลายเป็นอำนาจผูกขาดของกลุ่มบุคคลซึ่งเป็นพรรคการเมือง วงศ์ตระกูล หรือเป็นเครือญาติของพรรคการเมืองหรือกลุ่มทุนของพรรคการเมืองเท่านั้น
ผู้ถูกร้องมีเจตนาที่กระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญอันเป็นความผิดอาญา ได้ปรากฏหลักฐานตามที่ระบุไว้ในเหตุผลของร่างรัฐธรรมนูญตามเอกสารที่แนบคำร้องว่า “การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล ตลอดจนองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐ มีความเป็นนิติรัฐโดยสมบูรณ์” กับมีข้อความว่า “ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มีบทบัญญัติหลายประการที่ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ไม่ส่งเสริมระบบพรรคการเมือง ทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ เกิดความไม่มั่นคงและต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน” เหตุผลที่ระบุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญจึงเป็นมูลเหตุจูงใจที่จะสร้างอำนาจผูกขาดหรืออำนาจเผด็จการให้แก่พรรคการเมือง โดยต้องตรากฎหมายรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ เพื่อให้พรรคการเมืองมีอำนาจเด็ดขาดสามารถบงการให้รัฐสภา คณะรัฐมนตรีออกกฎหมายมาใช้บังคับกับรัฐสภา คณะรัฐมนตรี องค์กรตามรัฐธรรมนูญ หน่วยงานของรัฐ รวมทั้งศาลให้มีอำนาจหน้าที่หรือไม่ให้มีอำนาจหน้าที่อย่างไร เพื่อประโยชน์ของพรรคการเมือง นักการเมืองและพวกพ้องของนักการเมืองก็ย่อมกระทำได้ทั้งสิ้น เพราะเมื่อมีกฎหมายออกใช้บังคับแล้ว ก็สามารถอ้างว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามหลักนิติรัฐได้ เพราะได้กระทำไปตามกฎหมายที่ออกใช้บังคับ การมีอำนาจในการออกกฎหมายใช้บังคับได้เอง และใช้อำนาจตามกฎหมายบังคับได้เอง เพราะมีทั้งอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารก็สามารถควบคุมทุกองคาพยบที่เป็นองค์กรของรัฐได้ทุกองค์กร โดยการออกกฎหมายและใช้เสียงข้างมากที่สังกัดพรรคการเมืองออกกฎหมายมาใช้บังคับได้ทุกรูปแบบ การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อแสวงหาอำนาจเผด็จการให้แก่พรรคการเมืองและเป็นเผด็จการทางรัฐสภา ซึ่งไม่ใช่เป็นระบอบประชาธิปไตยของปวงชนชาวไทยตามความหมายของคำว่าระบอบประชาธิปไตยตามหลักสากล แต่เป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยและของผู้ร้องไปแสวงหาประโยชน์ ทั้งทางอำนาจหรือประโยชน์อื่นใดให้กับตนเอง พรรคการเมืองของตนเองและพวกพ้องของตนเองได้
การกระทำความผิดอาญาของผู้ถูกร้องโดยมีมูลเหตุจูงใจ ตามที่ระบุไว้ในเหตุผลของร่างรัฐธรรมนูญอีกประการหนึ่งที่ว่า “เป็นรัฐธรรมนูญที่สืบทอดมาจากอำนาจของการทำรัฐประหาร อันเป็นการได้อำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญบางมาตราให้การรับรองการกระทำของคณะรัฐประหารโดยปราศจากการตรวจสอบ เป็นผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เกิดความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคม ก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชนจนเกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย จึงเป็นการสมควรที่จะจัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความเป็นประชาธิปไตย” นั้น เป็นการเอาเหตุที่เกิดขึ้นในอดีต คือ การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักกฎหมายสากลที่ว่า “กฎหมายมองไปในอนาคต ไม่ใช่มองย้อนหลังในอดีต” (Lex prospicit non respicit) และการกระทำที่ได้เกิดขึ้นในอดีตนั้น ผู้ถูกร้องก็ได้ยอมรับผลของการกระทำรัฐประหารที่ได้กระทำในอดีตนั้นแล้ว คือได้ประโยชน์ได้รับการเลือกตั้งมาเป็นสมาชิกรัฐสภา เป็นคณะรัฐมนตรี ใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยและของผู้ร้องมาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารแล้ว ผู้ถูกร้องก็จะตรารัฐธรรมนูญฉบับใหม่และล้มเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่ผู้ถูกร้องได้รับผลประโยชน์นั้นเสีย โดยที่ผู้ถูกร้องไม่ได้สละตำแหน่ง อำนาจหน้าที่ที่เกิดจากผลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่ได้รับการเลือกตั้งมาแต่อย่างใด แต่จะใช้ตำแหน่ง อำนาจหน้าที่ที่ได้รับประโยชน์มาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม นั้น อยู่ในอำนาจการจัดทำของจำเลยทั้งทางตรงและทางอ้อม อันเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อให้ตนเองมีอำนาจเป็นผู้ตรารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นเอง หรือการตรารัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นอยู่ในอำนาจการครอบงำของผู้ถูกร้อง จึงเป็นการที่ผู้ถูกร้องได้ร่วมกันกระทำการเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในทางอำนาจรัฐให้กับตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ หรือปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เพราะเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของผู้ร้องและของปวงชนชาวไทยไปดำเนินการ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพในทางรัฐธรรมนูญของผู้ร้องและของปวงชนชาวไทย การใช้อำนาจหน้าที่ในทางรัฐธรรมนูญของผู้ถูกร้องที่ได้กระทำการโดยใช้อำนาจอธิปไตยของผู้ร้องโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นความผิดอาญาที่มีความสลับซับซ้อนในตรรกะทางการใช้อำนาจหน้าที่ การกระทำความผิดอาญาดังกล่าว ได้มีการวางแผนอย่างสลับซับซ้อนและแยบยล โดยผู้ถูกร้องได้ร่วมกันวางแผนแบ่งงานกันทำเป็นขั้นเป็นตอน กล่าวคือ
4.1 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน ผู้ถูกร้องที่ 1 ถึงที่ 273 ได้ร่วมกันเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …..) พ.ศ……. พร้อมด้วยหลักการและเหตุผลต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้นำเสนอประชุมร่วมกันของรัฐสภา
และวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน ผู้ถูกร้องที่ 2 ถึงที่ 126 ผู้ถูกร้องที่ 274 ที่ 275 ได้ร่วมกันเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…..) พ.ศ……..พร้อมด้วยหลักการและเหตุผลต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำเสนอประชุมร่วมกันของรัฐสภา
ผู้ถูกร้องที่ 1 ถึงที่ 275 ได้รู้แล้วว่า ตนไม่มีสิทธิ เสรีภาพหรือมีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายใดที่จะขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ได้ ผู้ถูกร้องมีอำนาจหน้าที่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้เป็นรายมาตราทุกมาตรา ตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เท่านั้น โดยต้องเสนอญัตติ หลักการและเหตุผลที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกมาตราใดของรัฐธรรมนูญให้ระบุมาตราที่ต้องการแก้ไข หรือยกเลิกไว้ในหลักการ หรือระบุไว้ในเหตุผล ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2553 ข้อ 86 ผู้ถูกร้องไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะล้มเลิกรัฐธรรมนูญ โดยจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาใช้บังคับแทนได้ ผู้ถูกร้องมีอำนาจหน้าที่ในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติได้เฉพาะ ในกรณีที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 127 วรรคสี่ มาตรา 136 (16) ประกอบกับมาตรา 291 โดยแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราอื่นๆเป็นรายมาตราได้ (ตามที่กล่าวไว้ในคำร้องข้อ 2)
ผู้ถูกร้องที่ 1 ถึงที่ 275 ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบโดยทุจริตและโดยการฉ้อฉลในทางอำนาจ โดยต้องการจะล้มเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และต้องการจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งผู้ถูกร้องไม่มีอำนาจจะกระทำได้ เพราะไม่มีช่องทางตามรัฐธรรมนูญที่จะกระทำได้ ช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นช่องทางที่ผู้ถูกร้องสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราอื่นๆได้เป็นรายมาตรา แต่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ไม่ได้ ผู้ถูกร้องไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญแต่ได้ใช้เล่ห์กลด้วยวิธีการยกร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มอำนาจการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 โดยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับได้โดยตรง โดยผู้ถูกร้องได้ร่วมกันเพิ่มข้อความในรัฐธรรมนูญมาตรา 136 เป็น (17) มีข้อความว่า “(17) ให้ความเห็นชอบสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291/1 (2)” กับให้ “เพิ่มรัฐธรรมนูญหมวดใหม่ขึ้นมาทั้งหมดเป็นหมวด 16 เรื่อง “การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ซึ่งเป็นคนละกรณีกับรัฐธรรมนูญในหมวด 15 เรื่อง “การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ”
การเพิ่มข้อความในรัฐธรรมนูญมาตรา 136 เป็นมาตรา 136 (17) และการเพิ่มหมวดใหม่เป็นหมวด 16 “การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” จึงไม่ใช่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 แต่เป็นการเพิ่มอำนาจเด็ดขาดในการล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ให้กับผู้ถูกร้องและพวก คือ สภาร่างรัฐธรรมนูญ และให้อำนาจผู้ถูกร้องกับพวกตรารัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างไรก็ได้ จะสถาปนารัฐไทยเป็นอย่างไรก็ได้ เป็นการเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้อำนาจตนเองและพวกจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม โดยผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ผู้ถูกร้องเป็นผู้ให้ความเห็นชอบสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ และให้อำนาจผู้ถูกร้องซึ่งเป็นสมาชิกพรรคการเมืองจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยตรง ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญที่ได้จัดทำขึ้นโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญตกไป โดยผู้ถูกร้อง “มีสิทธิ” เสนอญัตติต่อรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภามีมติโดยเสียงข้างมากให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ เป็นการเพิ่มเติมข้อความในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้อำนาจผู้ถูกร้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และล้มล้างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้ ด้วยอำนาจของผู้ถูกร้องและ/หรือพรรคการเมืองที่ผู้ถูกร้องสังกัดอยู่ [ ปรากฏตามร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ … ..) พุทธศักราช …… …มาตรา 291/16 มาตรา 291/17 ]
การกระทำของผู้ถูกร้องโดยการเพิ่มข้อความในรัฐธรรมนูญเพื่อให้อำนาจแก่ตนเอง
พรรคการเมืองที่ตนสังกัดอยู่ มีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญได้เอง จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 เพราะเป็นการกระทำเพิ่มอำนาจให้กับตนเองเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวก การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการกระทำที่เลวร้ายยิ่งกว่าเผด็จการนาซี ซึ่งออกกฎหมายให้อำนาจเผด็จการแก่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในปี ค.ศ. 1933 เสียอีก (Enabling Act of 1933) เพราะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้อำนาจทางรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยให้กลายมาเป็นอำนาจอธิปไตยของพรรคการเมืองและนักการเมือง เป็นการปล้นอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยและล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยวิธีการฉ้อฉลทางรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำที่ชั่วช้ากว่าการเป็นกบฏเสียอีก การกระทำของผู้ถูกร้องที่ได้ร่วมกันเสนอเพิ่มเติมข้อความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 291 ดังกล่าว เป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยและของผู้ร้องโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและโดยทุจริต เป็นการล้มล้างอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยรวมทั้งของผู้ร้อง ให้กลายมาเป็นอำนาจอธิปไตยเป็นของผู้ถูกร้องซึ่งสังกัดพรรคการเมือง การกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เท่านั้น แต่การกระทำของผู้ถูกร้องยังเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองที่มิใช่เป็นไปตามวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การกระทำของผู้ถูกร้องจึงเป็นการร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบและปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตแสวงหาประโยชน์ในทางอำนาจสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย
4.2 ผู้ถูกร้องที่ 127 และผู้ถูกร้องที่ 276 ถึงที่ 310 เป็นคณะรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่ตามที่ผู้ร้องได้บรรยายในคำร้องในข้อ 3 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 เวลากลางวัน คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555 เวลากลางวันผู้ถูกร้องที่ 298 (พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา) รองนายกรัฐมนตรีได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญฯดังกล่าวต่อประธานสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาเป็นเรื่องด่วน การกระทำของคณะรัฐมนตรีผู้ถูกร้องเป็นการปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ หรือปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เพราะการใช้อำนาจบริหารของคณะรัฐมนตรีเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยและของผู้ร้อง ซึ่งจะต้องใช้อำนาจอธิปไตยของผู้ถูกร้องให้เป็นไปตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ จะใช้อำนาจโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือใช้อำนาจล้มล้างรัฐธรรมนูญไม่ได้
ในการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีต้องจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อแสดงมาตรการและรายละเอียดของแนวทางในการปฏิบัติราชการในแต่ละปีของการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐและต้องจัดให้มีแผนการตรากฎหมาย ที่จำเป็นต่อการดำเนินการตามนโยบายและแผนการบริหารราชการแผ่นดิน(ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 76) และตามรัฐธรรมนูญมาตรา 76 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐนั้นไม่ได้ให้อำนาจฝ่ายบริหาร หรือคณะรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่ที่จะปฏิรูปการเมือง โดยการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ และให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เลย
การที่คณะรัฐมนตรีมีนโยบายปฏิรูปการเมืองโดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงเป็นนโยบายที่ขัดกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญในหมวด 5 ทั้งหมวด ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจคณะรัฐมนตรีเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินแล้วใช้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน ล้มล้างรัฐธรรมนูญแล้วจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ เพื่อสร้างอำนาจให้แก่นักการเมือง หรือพรรคการเมืองภายใต้คำว่า “ปฏิรูปการเมือง” ได้เลย
“การปฏิรูปการเมือง” โดยปฏิรูปพฤติกรรมของนักการเมืองและพรรคการเมืองให้เป็นพรรคการเมืองที่มีนักการเมืองที่ดี มีคุณธรรม ไม่ทุจริตคอร์รัปชัน มีความรับผิดชอบต่อสังคมในทางพัฒนาสังคมให้มีความเข้มแข็งทั้งในความรู้ คุณธรรมความสำนึกดี และการประกอบอาชีพเพื่อให้ทุกสังคมเป็นรากแก้วของแผ่นดิน แทนการเป็นรากหญ้าของนักการเมืองและพรรคการเมืองแล้ว ก็สามารถตรากฎหมายเป็นพระราชบัญญัติหรือแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่มีอยู่แล้วได้
“การปฏิรูปการเมือง” โดยวิธีการหาทางเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญ แล้วจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เป็นการปฏิรูปการเมืองเพื่อพัฒนาประเทศหรือสังคมในประเทศให้มีความเข้มแข็ง อยู่ดีกินดี แต่อย่างใด แต่เป็นการปฏิรูปในทางอำนาจเพื่อให้อำนาจนักการเมืองและพรรคการเมือง มีอำนาจในทางเผด็จการได้ นักการเมืองและพรรคการเมืองสามารถทำให้คนที่ทำผิดกฎหมายให้กลายเป็นวีรบุรุษได้ สามารถทำให้คนที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายให้กลายเป็นอาชญากรได้ สามารถทำหน้าที่เป็นศาลชี้ผิดชี้ถูกได้ ตัดตอนการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชนทางศาลได้ โดยขึ้นอยู่กับประชาชนคนใดเป็นพวกพ้องของนักการเมือง หรือไม่ใช่พวกพ้องของพรรคการเมือง หรือแม้แต่จะใช้อำนาจยกเลิกศาล หรือจะทำให้ศาลมาอยู่ในอำนาจของพรรคการเมือง พรรคการเมืองและนักการเมืองก็ย่อมกระทำได้ในทุกรูปแบบ เพราะการปฏิรูปการเมืองโดยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งได้เริ่มต้นมาจากความคิดริเริ่มของสมาชิกรัฐสภาซึ่งเป็นคณะรัฐมนตรีที่เป็นนักการเมือง และมวลชนของพรรคการเมืองแล้ว การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงเป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญเพื่อแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ที่จะได้มาด้วยอำนาจรัฐสำหรับพรรคการเมืองและนักการเมืองที่มีอำนาจอยู่ในปัจจุบัน ให้มีอำนาจในการใช้อำนาจรัฐในทางรัฐสภาได้อย่างถาวรตลอดไปเท่านั้น
และเมื่อคณะรัฐมนตรีเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองด้วยแล้ว ก็จะทราบเป็นอย่างดีด้วยว่า คณะรัฐมนตรีจะมีมติให้มีการปฏิรูปการเมืองโดยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้เลย เพราะการกระทำดังกล่าวของคณะรัฐมนตรีได้เกิดผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยและของผู้ร้อง เป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในหมวดที่ 1 ถึงหมวดที่ 4 และละเมิดต่อสิทธิของประชาชนที่ประชาชนจะต้องมีคณะรัฐมนตรีที่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ คือ การปฏิบัติหน้าที่ตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตามรัฐธรรมนูญในหมวดที่ 5 ซึ่งไม่มีรัฐธรรมนูญมาตราใดที่จะให้อำนาจคณะรัฐมนตรีมีอำนาจปฏิรูปการเมือง โดยจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญและล้มล้างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้เลย คณะรัฐมนตรีจึงไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะมีมติคณะรัฐมนตรีให้ทำการปฏิรูปการเมือง โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ และล้มล้างรัฐธรรมนูญที่ใช้ในปัจจุบันตามนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงไว้ต่อสภาได้เลย
นโยบายของคณะรัฐมนตรีที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาว่าจะทำการปฏิรูปการเมืองโดยการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ และให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น เป็นนโยบายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญในหมวดที่ 5 และรัฐธรรมนูญมาตรา 176, 178 มติของคณะรัฐมนตรีที่ได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…..) พ.ศ. ……..(ตามเอกสารที่แนบท้ายคำร้อง) จึงเป็นมติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ คณะรัฐมนตรีจะมีนโยบายเพื่อจัดตั้งองค์กรตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญได้ จะต้องออกเป็นพระราชบัญญัติหาใช่ยกร่างเพิ่มข้อความในรัฐธรรมนูญโดยตรงได้แต่อย่างใดไม่ และการจัดตั้งองค์กรของคณะรัฐมนตรีที่จะกระทำได้ในการใช้อำนาจบริหารนั้น รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้จัดตั้ง “องค์กรเพื่อการปฏิรูปกฎหมายเพื่อปรับปรุงและพัฒนากฎหมายของประเทศ” กับจัดตั้ง “องค์กรเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพื่อปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 81 (3) (4) ได้เท่านั้น การกระทำของผู้ถูกร้องดังกล่าว จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ และ/หรือปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของผู้ร้องโดยทุจริตไปปฏิบัติหน้าที่โดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางอำนาจโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
ผู้ถูกร้องที่ 127 และผู้ถูกร้องที่ 276 ถึงผู้ถูกร้องที่ 312 ไม่ได้ใช้วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามหลักเกณฑ์และวิธีการของรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 แต่ผู้ถูกร้องได้ร่วมกันกระทำการอันเป็นการทุจริต โดยฉ้อฉล เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และล้มเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 โดยยกร่างเพิ่มข้อความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 136 เป็น 136 (17) (18) ซึ่งมีข้อความว่า “(17) การให้ความเห็นชอบสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291/1 (2)” และ “(18) การให้ความเห็นชอบญัตติให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามมาตรา 291/16” และเพิ่มข้อความเป็น “หมวด 16 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ขึ้นทั้งหมวดโดยไม่ได้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามหลักเกณฑ์ และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 แต่อย่างใด การกระทำของผู้ถูกร้องดังกล่าว เป็นการเพิ่มข้อความในรัฐธรรมนูญเพื่อให้อำนาจแก่ตนเองที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม อันเป็นการแสวงหาอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้กับตนเองและพวก เป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของผู้ร้อง เพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ชอบ โดยมีเจตนาที่จะล้มล้างรัฐธรรมนูญ 2550 อันเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยวิธีทางซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550
อ่านต่อ