xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ไล่รัฐดูต้นทุนสินค้าแพง แฉเด้งปลัด พม.ปมสร้างตึก แนะ “เฉลิม” อยู่เงียบๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
หน.ประชาธิปัตย์ ไล่รัฐไปดูโครงสร้างราคาสินค้าต้นทุน แปลกใจดันเป็นเรื่องการเมืองเฉย เผย “อิสสระ” แฉเด้งปลัด พม.ปมจ้างสร้างตึก แขวะเพื่อไทยไม่สนใจจริยธรรมอยู่แล้ว กรีด “เฉลิม” อยู่เงียบๆ บ้าง เผื่อชาติจะสงบ หนุนนายกฯ เดินหน้าโฉนดชุมชน จับตา ครม.อนุมัติ 246 โครงการ 2.4 หมื่นล้าน ด้วยกระดาษแค่ 3 หน้า

วันนี้ (15 มี.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ผ่านสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมบลูสกายแชแนล ถึงเรื่องราคาสินค้าที่เหมือนกับมีการบิดเบือนโครงสร้างราคาทั้งที่ต้นทุนวัตถุดิบไม่ได้แพงจริงนั้นว่า ตนไม่ค่อยแน่ใจว่ารัฐบาลต้องการสื่อสารอะไร แต่เรื่องโครงสร้างต้นทุนนั้นเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐบาลที่จะต้องเข้าไปดูแล ส่วนที่ระบุว่าสินค้าไม่ได้มีราคาแพงจริงนั้น ต้องไปถามประชาชน เพราะตอนนี้ทุกคนทราบดี

“ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าเขาต้องการจะสื่อสารอะไรแน่ แต่ถ้าบอกว่าต้นทุนถูกกว่าสมัยรัฐบาลที่แล้วแต่มีการบิดเบือน อันนี้แสดงให้เห็นว่ามันเป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยตรงว่าทำไมไม่เข้าไปดูว่าโครงสร้างราคาสินค้าต้นทุนเป็นอย่างไร แต่ถ้าบอกว่ามันไม่ได้แพงจริง อันนี้ต้องไปถามประชาชน เพราะทุกคนก็ทราบดี แล้วก็โดยเฉพาะอันหนึ่งซึ่งไม่ต้องคิดกันมาก วิเคราะห์กันมากก็คือราคาพลังงาน ลองมาดูสิครับดีเซลอยู่ที่เท่าไหร่ แล้วก็ไม่นับว่าขณะนี้ที่กำลังทยอยขึ้น ทั้งแก๊ส ทั้งไฟ ทั้งการที่บริษัทขนส่ง แท็กซี่ ขอขึ้นราคากันหมด มันก็ชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องโครงสร้างต้นทุนเราเป็นฝ่ายพูดมาตลอด รัฐบาลเสียอีกพยายามปฏิเสธแล้วก็บอกว่าไม่มีอะไร หรือทำอะไรไม่ได้” นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า หากรัฐบาลยังจะยืนยันว่าต้นทุนสินค้าไม่สูง ก็ยิ่งเป็นปัญหาของรัฐบาลว่าเหตุใดจึงปล่อยให้ราคาสินค้าแพง แต่แปลกใจว่ารัฐบาลกลับพยายามให้เรื่องนี้กลายเป็นการตอบโต้ทางการเมือง ในขณะที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาเรื่องค่าครองชีพ คือถ้ายืนยันว่าตัวต้นทุนไม่สูง ยิ่งเป็นปัญหาของรัฐบาลใหญ่ว่าทำไมปล่อยให้ราคาแพง ก็ต้องไปจัดการ และเป็นหน้าที่รัฐบาล แล้วก็ขณะที่ที่ตนแปลกใจก็คือว่ารัฐบาลพยายามที่จะให้มันเป็นเรื่องของการตอบโต้ทางการเมือง ประชาชนไม่ได้สนใจหรอกครับ อะไรจะมาทะเลาะกันระหว่างประชาธิปัตย์หรืออะไร ประชาชนต้องการว่าทำยังไงค่าครองชีพของเขาไม่สูงขึ้นตลอดเวลาอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ไปแก้ปัญหาเถอะ

ต่อคำถามว่า ในเรื่องของปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในเรื่องโครงการก่อสร้างที่ทำการของกระทรวงฯ จนเกิดเหตุสั่งย้ายปลัดกระทรวงนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เรื่องนี้ตนได้สอบถามกับนายอิสสระ สมชัย อดีต รมว.พม. แล้วทราบว่ามีประเด็นความขัดแย้งจากเรื่องการก่อสร้างตึกใหม่ของกระทรวง ตนได้ข่าวมาก่อนหน้านี้ แล้วก็เมื่อวานนี้ก็ได้มีการสอบถามนายอิสสระว่ามีอะไรเป็นเป็นพิเศษหรือเปล่า เรื่องปัญหาของท่านปลัดฯ ปรากฏว่า นายอิสสระได้บอกกับตนว่า มีประเด็นที่มีความขัดแย้งกันอยู่เรื่องของโครงการก่อสร้างกระทรวง ทำนองว่ามีปัญหาในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ที่รัฐมนตรีต้องการอย่างหนึ่ง และทางปลัดบอกว่าทำไม่ได้ ซึ่งอันนี้ก็คงจะเป็นประเด็นที่คงจะมีความชัดเจนออกมาในขณะนี้ ก็เห็นสื่อก็เริ่มรายงานถึงปัญหาในเรื่องว่าจะให้มีการประมูลใหม่หรือไม่

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ในเรื่องการประมูลก่อสร้างลักษณะดังกล่าว หากไม่มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องก็สามารถหาข้อยุติได้ ตนยังไม่ได้ดูรายละเอียดในเรื่องของผลการประมูล ทราบแต่ว่ามีความขัดแย้งกันอยู่จากเรื่องนี้ ทำนองว่าอยากจะให้มีการประมูลใหม่หรือไม่ ซึ่งความจริงประเด็นแบบนี้ ถ้าไม่มีเรื่องผลประโยชน์ก็จะไปหาข้อยุติได้ เช่น ถ้ารัฐมนตรีบอกว่า อันนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่จะเดินหน้าในการประมูลอย่างนี้ ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ก็ยกเลิก แต่ถ้าหากว่าไปยกเลิกแล้วมีผลทำให้เกิดการฟ้องร้องเพราะว่ามันไม่สามารถยกเลิกได้ อันนั้นก็ต้องเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา ก็แปลก ความจริงแล้วกรณีแบบนี้มันไม่น่าจะถึงขั้นที่จะต้องบอกว่าต้องมีการโยกย้ายปลัดกระทรวงอะไรกัน เพราะว่าจะว่าไปแล้วมันแทบไม่ใช่เรื่องนโยบาย เป็นเรื่องการบริหารว่าการจัดซื้อจัดจ้างถูกต้องเหมาะสมหรือยัง ก็ว่ากันไป คงต้องรอฟังรายละเอียดว่าจะเป็นอย่างไร

เมื่อถามว่า เรื่องการย้ายปลัดทำท่าจะบานปลายเพราะว่า ปลัดกระทรวงนั้นเป็นพี่สาวของนายประวัฒน์ อุตโมท อดีต รมว.กระทรวงเกษตรฯ หลังจากเกิดเหตุการณ์มีการต่อสายถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดีที่ดินรัชดาฯ ซึ่งขณะนี้อยู่ในกัมพูชา โดยนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ไม่รู้สึกแปลกใจ แต่ใครที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หากพบว่ามีหลักฐานชัดเจนก็ต้องระมัดระวัง และเรื่องลักษณะนี้มีกระบวนจริยธรรมระบุชัดด้วยว่า รัฐมนตรี ส.ส. หรือผู้บริหาร ต้องไม่ให้คนมาครอบงำ และการไปคบหาคนที่มีคดีติดตัวนั้น ก็เป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ

“ไม่แปลกใจนะครับ เราก็ต้องยอมรับว่าขณะนี้ก็วิ่งกันไปดูไบ ไปเขมร ไปกัมพูชา ไปพม่าหรือเปล่าไม่ทราบ ผมว่าไม่มีใครที่ปฏิเสธหรอกครับว่าขณะนี้มันเป็นอย่างนี้ ว่าคุณทักษิณก็เป็นคนที่สามารถที่จะมีอิทธิพล สั่งการ บอกได้จะเอาอะไรอย่างไรในเรื่องต่างๆ ซึ่งผมก็คิดว่าถ้าเกิดมันมีหลักฐานชัดเจน ใครที่เกี่ยวข้องก็ต้องระมัดระวังนะครับ ผมไม่แน่ใจ คือพอดีเรื่องจริยธรรม ก็ไม่ใช่เรื่องซึ่งทางคนในรัฐบาลหรือพรรคเพื่อไทยได้สนใจอ่านในรายละเอียด เขามีกระบวนจริยธรรมอยู่ ความจริงการทำหน้าที่ในฐานะรัฐมนตรี การทำหน้าที่ สส. ผู้บริหาร ประมวลจริยธรรม ก็พูดชัดเจนว่าต้องไม่ให้คนมาครอบงำ และการไปคบหาคนที่มีคดีติดตัวนั้นก็ไม่พึงกระทำ ผมรู้สึกว่าพอมีการพูดถึงเรื่องจริยธรรมทีไรก็จะเป็นปัญหาทะเลาะกันระหว่างผู้ตรวจการฯ กับพรรคเพื่อไทย นี่คือปัญหาว่าสังคมเราจะยอมให้สิ่งเหล่านี้มันผ่านไปอย่างนี้ใช่หรือไม่ เรื่องจริยธรรม ต้องพูดกันตรงๆ ถ้าเราเหมือนกับปากบอกว่าให้ความสำคัญกับเรื่องจริยธรรม แต่ว่าพอเราจะเอาจริงเอาจังกันเรื่องนี้ก็บอกว่ามันกลายเป็นเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง ฝ่ายหนึ่งว่าอย่างนั้น อีกฝ่ายหนึ่งว่าอย่างนี้ก็ปล่อยกันผ่านไป เราก็ไม่เคยได้จริงจังกับเรื่องนี้” นายอภิสิทธิ์กล่าว

ต่อกรณีความเห็นของ ร.ต.อ.เฉลิม ที่เกี่ยวกับเรื่องการปรองดองนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขณะนี้ถามว่าบ้านเมืองนั้น ถ้าเราไม่ยุ่งกับเรื่องที่จะต้องทะเลาะกันเลย แล้วก็ปล่อยกระบวนการยุติธรรมเขาทำงานไป ตนถามว่า ใครขัดแย้งกับใคร ก็ไม่มี เวลานี้กลายเป็นว่าเรากำลังจะบอกว่า ถ้ามีใครคนหนึ่งไม่ยอมรับอำนาจของศาล ไม่ยอมรับการตัดสิน ในขณะที่มีการกระทำผิดลงไป แล้วบังเอิญบอกว่าจะไม่ยอม แล้วก็จะทำทุกทางให้มันปั่นป่วน แล้วเราก็บอกว่าต้องมาปรองดองกัน วันข้างหน้าก็แปลว่าใครก็ตามอยากจะทำอะไรตามใจชอบ ก็ขอให้มีอำนาจ ขอให้มีอิทธิพล ขอให้มีความนิยม มีเงินหรืออะไรก็ตาม ก็ใช้วิธีการมาข่มขู่บ้านเมือง แล้วก็บอกว่า เลิกแล้วต่อกันนะ อย่าเอาผิดเพราะเพื่อความปรองดอง ตนคิดว่าไม่ใช่ ถ้าเกิดปรองดองกันอย่างนี้ มันก็คือปรองดองเพื่อขัดแย้งกันต่อไป มันไม่ได้ปรองดองตรงไหน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ลองอยู่เงียบๆ สิ ตนว่าบ้านเมืองก็สงบกว่าเวลา ร.ต.อ.เฉลิมพูด แค่นี้ก็บอกได้แล้วว่าควรจะทำหรือไม่ควรจะทำ ร.ต.อ.เฉลิมพูดมาทีไร ตนก็เห็นมีแต่ปัญหาความตึงเครียด ความขัดแย้งทุกทีเลย แล้วมาอ้างว่าสิ่งที่พูด สิ่งที่ทำนั้นเป็นเรื่องความปรองดอง

เมื่อถามต่อถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีประชุมวิดีโอกับผู้ว่าราชการจังหวัด 9 จังหวัดทางภาคเหนือที่ประสบปัญหาไฟป่า และมีการพิจารณาจะออกโฉนดชุมชนนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เรื่องนี้มีการนำไปถามเป็นกระทู้ในสภาฯ เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว เพื่อติดตามให้เกิดความเป็นจริงเป็นจัง และทางออก คือปัญหาเฉพาะหน้าก็แก้ไขกันไป ตอนนี้สถานการณ์ก็คลี่คลายไประดับหนึ่ง โดยเฉพาะถ้ามีฝน และการทำฝนหลวง ทีนี้ปัญหาพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องของการบุกรุกที่ดิน การเผาต่างๆ ก็กลับมาที่เรื่องของการแก้ปัญหาที่ดินทำกิน ตนก็ถ้าฟังจากข่าวแล้วบอกว่านายกฯ บอกว่าจะเอาแนวคิดเรื่องโฉนดชุมชนมาทำต่อนั้น ตนก็จะรู้สึกยินดีมาก เพราะว่าความจริงแล้ว ตนได้ไปที่คลองโยง เมื่อวันก่อน ซึ่งเป็นชุมชนแรกที่ได้ทำเรื่องนี้ แล้วก็เครือข่ายของพี่น้องประชาชนที่รอคอยเรื่องของโฉนดชุมชนยังมีอีกเยอะ แต่ว่ารัฐบาลในช่วงแรกไปออกมติ ครม. ว่าจะทบทวนเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งหมดในอดีต พูดง่ายๆ ก็คือเหมือนกับจะรื้อนโยบายกันใหม่หมด

“ถ้าวันนี้รัฐบาลตกผลึกแล้วว่าสิ่งที่ทำมาในเรื่องโฉนดชุมชนเป็นแนวคิดที่จะแก้ปัญหาได้ ก็ขอให้เดินต่อ หลักคิดโฉนดชุมชนที่ต่างจากการแก้ปัญหาที่ทำกินในอดีต ก็คือ เวลาที่มีปัญหาเกี่ยวกับข้อโต้แย้ง เกี่ยวกับสิทธิการเป็นเจ้าของในการใช้ที่ดิน ในอดีตนั้นเราจะพูดถึงเอกสารสิทธิ์ที่ให้กับคน เสร็จแล้วบางครั้งเราก็พบความเป็นจริงว่าพอให้ไปแล้วก็ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่เราอยากจะให้ ก็คือให้ไปแล้วก็ไม่ได้ใช้ที่ดินตามวัตถุประสงค์หรือเอาไปขายกันต่อ ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่ทำได้ ดังนั้น พอมาถึงเรื่องโฉนดชุมชนแล้ว ก็เลยเอาแนวคิดว่า ถ้าเราเอาพื้นที่บางพื้นที่กำหนดแนวทางให้ชัดเจนว่าจะใช้ทำอะไร แล้วก็ชุมชนสามารถที่จะบริหารจัดการกันเพื่อให้เป็นไปตามนั้น ก็เอาเป็นโฉนดของชุมชนไป อันนี้ก็เป็นแนวทางซึ่งผมคิดว่า ควรจะเอามาใช้กับหลายพื้นที่ รวมทั้งในกรณีนี้ถ้าเห็นว่าการดูแลรักษาป่าให้ชุมชนต้องเป็นหน้าที่ถ้าจะอยู่ในพื้นที่ตรงนั้น ใช้ประโยชน์จากที่ตรงนั้น แล้วต้องดูว่าใช้พื้นที่อย่างไร แล้วป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอย่างเช่นการเผา ก็สามารถกำหนดเป็นเงื่อนไขอยู่ในโฉนดชุมชน แนวคิดนี้ต้องทำแล้วนะครับ และผมก็สนับสนุนให้ทำ แล้วก็เสียดายว่าก่อนหน้านี้ไม่น่าจะมาทำให้มันหยุดชะงักลงไป” นายอภิสิทธิ์กล่าว

เมื่อถามว่าจะหวังได้หรือไม่ว่ารัฐบาลจะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาให้ความสำคัญกันอย่างจริงจัง นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนเชื่อว่าคนที่ทำงานแล้วก็คลุกคลีอยู่กับปัญหาตรงนี้ ก็คงจะมองเห็นว่าเป็นทางออกจริงๆ เพราะฉะนั้นก็ขอให้เดินหน้าต่อ ที่จริงก่อนหน้านี้พอทราบ เหมือนกับยอมรับแล้ว แต่พยายามคิดว่าจะเปลี่ยนชื่อได้หรือเปล่า กลัวว่าคนจะบอกว่าเป็นผลงานของพรรคประชาธิปัตย์ คือตนคิดว่าไม่อยากเห็นทัศนคติแบบนี้

ต่อในเรื่องวานนี้ในที่ประชุม ครม.เงา มีการพูดถึงการที่ ครม.อนุมัติโครงการจำนวน 246 โครงการ 24,800 ล้านบาท ด้วยเอกสารเพียง 2-3 หน้านั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ใช่ เป็นกระดาษ 3 แผ่นที่เป็นวาระเรื่องของการพิจารณาจร ทีนี้สิ่งที่ต้องจับตาดูเป็นพิเศษก็คือความผิดปกติตรงนี้ครับ คือเมื่อวานซืน ครม.เองก็เพิ่งอนุมัติระเบียบเกี่ยวกับการที่จะใช้จ่ายเงินกู้ แต่ปรากฎว่ากรณีของโครงการ 200 กว่าโครงการนี้ เป็นโครงการซึ่งไม่ต้องผ่าน หรือไม่ต้องใช้ระเบียบนี้ ในการที่จะกลั่นกรองอนุมัติโครงการต่างๆ กลายเป็นกรณีพิเศษ และที่น่าสนใจก็คือว่า ปกติแล้วการอนุมัติโครงการที่ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนนั้น ปกติจะใช้คำว่าอนุมัติหลักการ แล้วก็จะต้องมีกระบวนการของการที่จะไปตรวจสอบ ส่วนครั้งนี้มติกับข้อเสนอก็เขียนแบบค่อนข้างจะกำกวม คือบอกว่าอนุมัติกรอบเงินงบประมาณ เหมือนกับว่าแสดงว่าตัวโครงการต้องมาผ่านการพิจารณาอีกครั้ง แต่ในมติ ครม.ที่แถลงมาในข่าวของทำเนียบนั้น บอกว่า หลังจากนี้พอได้กรอบไปแล้วหน่วยงานก็ไปทำรายละเอียดอะไรต่างๆ แล้วก็เสนอ กบอ. ทราบ ผมก็เลยไม่แน่ใจว่าเท่ากับว่าขณะนี้ 24,000 ล้านนั้นอนุมัติไปโดยที่ 246 โครงการนั้นรายละเอียดก็ยังไม่ต้องรู้ แล้วก็ต่อไปก็ไม่ต้องมีใครมาอนุมัติหรือกลั่นกรองอีกแล้ว ก็กลายเป็นว่าแจ้งให้ทราบแล้วก็เดินหน้ากันไปเลยหรือเปล่า เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นประเด็นหนึ่งซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตแล้วจะมีการติดตามเรื่องงบประมาณในเรื่องนี้ ไม่แน่ใจนะครับว่า อนุมัติกันไปหรือยัง เพราะตัวมติก็เขียนในถ้อยคำซึ่งเราก็ไม่ค่อยคุ้นเคยเท่าไหร่

“ความจริงก็มีอยู่ 3 โครงการที่ตกไปก่อนหน้านี้ เห็นบอกว่ามีการเสนอมาซึ่งไม่ได้อยู่ในแผน ในอะไรต่างๆ ที่เคยมีทำมาก่อนหน้านี้ ที่สำคัญก็คือว่า ในมติครม. ของวันก่อนเช่นเดียวกัน ครม.เองก็รับทราบว่าขณะนี้แม้แต่โครงการซึ่งบอกว่าอนุมัติไปแล้วนั้น ทางผู้ตรวจราชการก็ไปติดตามดูก็กำลังแสดงความห่วงใยว่ามันไม่เดิน หรือจะเดินไม่ทันในฤดูฝน ตรงนี้คือสิ่งที่ยังเป็นปัญหาในเรื่องของการบริหารจัดการอย่างมาก และประเด็นเรื่องของฟลัดเวย์ พื้นที่รับน้ำก็เหมือนกัน มันขาดรายละเอียดโดยสิ้นเชิงในขณะนี้ ต้องเร่งรัดกัน ต้องจี้ ต้องติดตามกันครับ” นายอภิสิทธิ์กล่าว

สำหรับประเด็นภาคใต้ที่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ยอมรับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. ส่งทีมหารือกับกลุ่มขบวนการ BRN ในวันสถาปนาของกลุ่มนี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องเรียนว่านโยบายเกี่ยวกับภาคใต้ต้องให้มียุทธศาสตร์ที่สอดคล้องต้องกัน การติดต่อการพูดคุยในระดับเจ้าหน้าที่ต่างๆ ผู้ปฏิบัติเขาก็ต้องทำ ส่วนในเชิงของนโยบายหรือว่าจะมีการพูดคุยอะไรหรือไม่นั้น มันเป็นเรื่องที่ต้องทำให้เป็นระบบถ้าจะทำ ตนก็แนะนำอย่างนี้ว่า ความจริงแล้วต้องเริ่มจาก สมช. ซึ่ง สมช.จะมีแผนที่เป็นกรอบใหญ่อยู่ว่าแนวการจะเดินนั้น จะเดินอย่างไร แล้วก็จะมีคำตอบในเรื่องการปฏิบัติ ก็จะมีคำตอบในเรื่องการใช้กฎหมาย จะมีคำตอบในเรื่องของการที่จะพูดคุยการต่างประเทศ ทุกอย่างให้สอดคล้องต้องกัน ขณะนี้ปัญหาในพื้นที่ เมื่อวานนี้เราก็ได้คุยกันใน ครม.เงา ก็คือว่าแนวทางนั้นไม่ค่อยมีความชัดเจน การจะสานต่อสิ่งที่ดำเนินการกันมาโดยมีกฎหมายใหม่เรื่อง ศอ.บต.ก็ไม่ชัดเจนเท่าที่ควร แล้วก็ที่สำคัญก็คือการปฏิบัติในขณะนี้ลักษณะของปัญหาว่า มีการพูดถึงการที่จะย้อนรอยกลับไปในช่วงอุ้มฆ่า อะไรทำนองนี้ เป็นปัญหาซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งกันได้มาก แล้วก็รวมไปถึงปัญหาที่ว่าการเยียวยาภาคใต้ ซึ่งก็ยังไม่มีความชัดเจน ครม.อนุมัติไปก็ยังบอกว่าตัวระเบียบนั้นต้องมีการไปปรับปรุงแก้ไขกันอีก หลายคนก็พยายามติดตามขออยู่ว่าระเบียบหลักการที่เขียนนั้นจะเขียนอย่างไร กลับไม่ชัดเจน กลายเป็นว่าเรื่องนี้ทำเสมือนเพื่อที่จะบอกว่าไม่ได้เลือกปฏิบัติเท่านั้นเอง แต่ว่าจริงๆ ในรายละเอียด ในทางปฏิบัติยังไม่คืบหน้า แม้แต่คณะกรรมาธิการปรองดองในสภาก็เหมือนกัน พอมีการนำเรื่องภาคใต้เข้าไปบอกว่า ซึ่งอันนี้ก็เป็นกระบวนการสำคัญ

“ถ้าจะต้องพูดถึงการปรองดองแล้ว ปัญหาใน 3 จังหวัดภาคใต้ก็เป็นจุดที่จะต้องมีการดูแลชัดเจน แต่ก็ปรากฏว่าขณะนี้กรรมาธิการปรองดองก็จะมุ่งแต่เรื่องว่า คตส. นิรโทษกรรม แต่พอปัญหาภาคใต้แล้วจะไม่ค่อยใส่ใจว่าจะต้องมาดำเนินการให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนที่เกี่ยวข้องกับการปรองดองทั้งหมด เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงครับว่า 1. การทำงานยังไม่เป็นระบบเท่าที่ควร แล้วก็ระดับของนโยบายจริงๆ ก็ไม่ได้แสดงท่าทีส่งสัญญาณให้ชัดว่าจะเอาอย่างไร แล้วก็ประการที่ 3 ก็คือว่า อย่าให้ย้อนกลับไปสู่สถานการณ์ซึ่งปัญหาของความรุนแรงที่ขยายผลได้ง่ายจากการที่มีการไปพูดถึงความไม่เป็นธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น” นายอภิสิทธิ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น