xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กแอ้ด” กระตุ้นเหล่าทัพพัฒนาศักยภาพ ยืนด้วยลำแข้งตัวเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ (แฟ้มภาพ)
“สุรยุทธ์” ลั่นกองทัพไทยต้องยืนบนขาตัวเอง อย่ายืมจมูกคนอื่นหายใจ มุ่งพัฒนาศักยภาพ หวัง 3 เหล่าทัพพัฒนาระบบดาต้า ลิงก์มุ่งสู่ประชาคมอาเซียน 2015 เมินวิจารณ์แก้ รธน.-ปัตตานีมหานคร ด้านเลขาฯ อาเซียนชี้การเมือง-ทหารต้องร่วมมือมากขึ้น อย่าขัดแย้ง หวั่นกระทบพัฒนากองทัพ เชื่อ ผบ.เหล่าทัพปรับปรุงกองทัพรับมือความเปลี่ยนแปลงโลกได้

วันที่ 8 มี.ค. ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดีรังสิต พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในงานปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ความพร้อมของไทยสู่เส้นทางอาเซียน 2015” โดยมี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน แสดงปาฐกถา “นับถอยหลังการเปิดอาเซียนกองทัพไทยควรเตรียมรับอย่างไร” และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี แสดงปาฐกถา “ศักยภาพกองทัพไทยก้าวไกลไปสู่อาเซียน” นอกจากนี้ยังมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และผู้แทนเหล่าทัพเข้าร่วมรับฟังการปาฐกถาพิเศษในครั้งนี้ด้วย โดย ดร.สุรินทร์กล่าวตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งภูมิภาคนี้ต้องมีกรอบเวทีให้แก่ตัวเอง เราอย่าไปหวังพึ่งเวทีโลกอื่น ไทยไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของใครน่าจะเป็นเหตุผลที่เราควรจะมีความคิดริเริ่มตรงนี้ เวทีนี้จะเป็นเวทีที่สร้างสันติภาพ ความเจริญ การจะเข้าอยู่ในประชาคมอาเซียนนั้น องค์กรต่างๆ ภายในประเทศต้องมีส่วนร่วมทั้งฝ่ายการเมืองและความมั่นคง ซึ่งอาเซียนจะเป็นกรอบของทุกประเทศที่จะหันหน้ามาเจรจาเพื่อความมั่นคง ความเชื่อมั่นในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ สังคม ถ้าตรงไหนที่มีความขัดแย้งก็จะดูแล เพื่อไม่ให้ปะทุเกิดความรุนแรง โดยอาเซียนจะกลายเป็นศูนย์กลางความเจริญในการเชื่อมโยงทุกประเทศเข้าด้วยกัน เพราะปัจจุบันในอาเซียนไม่มีกลุ่มไปแก้ไขความขัดแย้งหรือแก้ไขปัญหา ขณะที่เศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นของโลกล้ม แต่ในเอเชียยังอยู่ได้ เราควรให้อาเซียนเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจจของโลกเพื่อให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมา

“บทบาททหารที่ผ่านมาทำให้เห็นว่าได้ทำตามข้อตกลงของอาเซียนในการเป็นที่พึ่งของประชาชน จุดด้อยของหน่วยงานในประเทศไทย คือการเตรียมการและการศึกษาเราไม่สอนให้คนมีความรู้ ความสามารถ หรือการแสดงสมรรถภาพบทบาท หลายเวที หลายสังคม เช่นเรื่องภาษาไม่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพได้ ซึ่งผู้นำกองทัพต้องช่วยกันคิดว่าจะแก้ปัญหาในเรื่องนี้อย่างไรรวมถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ ต้องทันสมัย ของเก่าต้องนำมาซ่อมบำรุง และของใหม่ต้องจัดหามา กองทัพไทยจะต้องตามให้ทัน ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ สิ่งที่สำคัญคือเรื่องเอกลักษณ์ ความเป็นคนไทย ทั้งเรื่อง วัฒนธรรมประเพณี การเทิดทูนสถาบัน ความเป็นไทย การเคารพผู้ใหญ่ การเคารพในศีลธรรม จริยธรรม ต้องมีอยู่ ไม่ใช่ว่าเราเป็นประชาคมอาเซียนแล้วต้องหายไป ผมห่วงความเจริญในเรื่องเศรษฐกิจที่จะทำให้พวกเราไปในทางเดียวกันในการมุ่งหาผลประโยชน์จนสูญเสียสิ่งเหล่านี้” ดร.สุรินทร์กล่าว

ดร.สุรินทร์กล่าวว่า ขอให้ช่วยกันคิดว่าบทบาทของกองทัพในบริบทที่เปลี่ยนไปควรจะเป็นอย่างไรบริบททางการเมืองจะต้องมีความร่วมมือกัน ความร่วมมือด้านการเมือง กับการทหารต้องมากขึ้น เพื่อความมีประสิทธิภาพ ไม่เอาเปรียบ ไม่ขัดแย้งกระทบกระทั่งกัน ต้องทำให้ได้ ต้องปรับทั้งสองฝ่าย คือทหารกับการเมือง ถ้าเราต้องออกไปปฏิบัติภารกิจข้างนอก ความสัมพันธ์ระหว่าง การเมืองกับกองทัพไม่ดีจะส่งผลกระทบ อยากให้ทหารพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับค่านิยมที่เกิดขึ้น ส่วนความร่วมมือภายในและนอกประเทศที่เกี่ยวกับความมั่นคงต้องขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะประสิทธิภาพการจัดการเรื่องข่าวจะต้องพัฒนาให้ไปในทิ่ศทางเดียวกันประสานกัน ตนไม่เห็นด้วย เวลาเกิดเหตุการณ์ขึ้นก็มีการป่าวประกาศแล้วจะส่งผลกระทบ ซึ่งเรื่องนี้ต้องประสานงานกันให้ชัดเจน ต้องกระชับเรื่องการข่าว อย่างกรณีที่เกิดขึ้นที่ถนนสุขุมวิทเราต้องประสานกับหน่วยงานให้มีความชัดเจน ราบรื่น อีก 3 ปีจะเข้าสู่ พ.ศ. 2558 ถ้าเวลานั้นมาถึงแล้วเราไม่พร้อม ไม่รู้จะไปโทษใคร เอาเวลาที่เหลืออยู่ทำให้ดีที่สุด ยืนอยู่บนลำแข้งตัวเองให้ได้ ไม่ล้ม กองทัพเป็นสถาบันหนึ่งที่ทำให้ประเทศยืนอยู่ได้ทั้งในภูมิภาค เวทีโลกซึ่งตนเชื่อว่าผู้นำเหล่าทัพจะสามารถปรับปรุงกองทัพให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี กล่าวว่า การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ถือเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งตนคิดว่าการศึกษามีความสำคัญที่สุดที่จะทำให้บุคลากรมีศักยภาพ โดยเริ่มจากการพัฒนาเยาวชนเพื่อให้เตรียมรับความพร้อมที่กำลังจะเผชิญต่อไป สิ่งแรกที่เราต้องเตรียมความพร้อม คือ การพูดภาษาอังกฤษ การจะทำให้เราเข้าใจในสิ่งที่เขาต้องการสื่อสารนั้นก็คือภาษา และหากเราพูดภาษาอังกฤษได้ก็เป็นการสร้างให้เห็นถึงความใส่ใจของเราด้วย เราต้องคิดว่าเราจะทำอย่างไรที่จะสามารถปฏิบัติการได้ 24 ชั่วโมง รวมทั้งยุทโธปกรณ์ที่มีน้ำหนักเบา คล่องแคล่ว สะดวกแก่การปฏิบัติงาน รวมทั้งมีอาวุธที่รวดเร็ว เช่น จรวด เพื่อจะได้ไปสู่เป้าหมายได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้หากเราทำการวิจัยก็จะสามารถทำให้ค้นพบบุคลากรที่มีความสามารถ หากเราสามารถขีดความสามารถตรงนี้ขึ้นมาได้ เราก็จะเป็นกองทัพที่ได้รับการยอมรับ และมีความพร้อมในการทำงานในทุกๆพื้นที่ และทุกๆสถานการณ์อย่างดีมากยิ่งขึ้น อยากฝากให้ทำวันนี้ให้ดีที่สุดและทำพรุ่งนี้ให้ดีกว่า

“ในเรื่องการพัฒนา เราต้องยืนอยู่บนขาของเราให้มากที่สุด และอย่ายืมจมูกคนอื่นหายใจจนหายใจเองไม่ได้ ในอดีตเราเคยเผชิญกับปัญหาเหล่านี้มากมาย กองทัพอากาศเคยวาดภาพว่าจะมีจรวดแอมแรม ซึ่งเราก็ได้ซื้อจริง แต่ไม่มีโอกาสได้ใช้ ต้องเก็บเอาไว้ในที่แห่งหนึ่ง ถ้าใช้ก็ต้องขออนุญาติเขา ซึ่งเรามีอาวุธที่เราต้องการแต่ถูกควบคุม ส่วนกองทัพบก ช่วงที่ผ่านมา อยากซ่อม ฮ.แต่เขาบอกว่าเขาไม่มีชิ้นส่วนและอะไหล่เพราะเอาไปใช้ ในสถานที่อื่น และไม่มี ฮ.ใช้ นี่คือสิ่งที่เราคิดว่าเราทำตามขั้นตอนต่างๆ แต่พอถึงเวลาจริงๆ ปัจจัยด้านอื่นๆ รวมทั้งด้านการเมืองจะเป็นตัวเชื่อมโยงและจะมีผลกระทบต่อการทำงานของพวกเรา ถ้าเป็นไปได้ต่อไปในอนาคต เราต้องหาทางลดผลกระทบต่างๆ ที่จะมาถึงเราให้เหลือน้อยลงให้มากที่สุด การพัฒนาของกองทัพต้องทำจากหน่วยทหารขนาดเล็กไปก่อนจนถึงหน่วยใหญ่ ก่อนหน้านี้เราเคยผลิตยุทโธปกรณ์ อยากให้มีการรื้อฟื้น และต้องพัฒนาระบบการสื่อสารโดยจะต้องให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยทหารขนาดเล็กจนถึงกองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งที่ผ่านมาในเหตุการณ์ช่วยเหลือคนไทยจากเหตุการณ์เผาสถานทูต ถือได้ว่าระบบการติดต่อสื่อของกองทัพอากาศมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบดาตาลิงก์ ที่กองทัพเรือยังไม่มีในขณะนั้น แต่ตอนนี้เริ่มมีการพัฒนามากขึ้นจะเหลือแต่ในส่วนกองทัพบกที่ต้องมีการเชื่อมโยงระบบนี้โดยทั้งหมดเป็นการเตรียมของเรา ที่ไม่ใช่แค่ภารกิจการป้องกันภายในประเทศแต่ต้องรองรับการไปทำงานนอกประเทศ”พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าว

จากนั้น พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่า ศักยภาพของกองทัพไม่มีปัญหาเรื่องการจะเข้าประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า เพราะเราได้มีส่วนในการที่จะไปสู่ประชาคมในเชิงด้านการป้องกันและความมั่นคงมานานพอสมควร ได้มีการประชุมและมีการหารือ ซึ่งจะเป็นอีกก้าวหนึ่งที่จะทำให้ประชาคมอาเซียนมีความมั่นคงมากขึ้น ส่วนความเป็นห่วงว่า การเมืองกับการทหารที่มีความขัดแย้งนั้น ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีโอกาสจะเปลี่ยนแปลง เมื่อเรามองสภาวะแวดล้อมต่างๆแล้วทำอย่างไรที่จะให้ความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปในทางที่ดี คือ ให้มีความร่วมมือและความเข้าใจกันมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ไม่ว่า ในประเทศหนึ่ง ประเทศใด หรือประชาคมอาเซียน หรือประชาคมโลกเองก็ตามจึงจำเป็นจะต้องมีการปรับปรุง แก้ไขให้มีความเข้าใจกันให้มากขึ้น ส่วนปัญหาเรื่องภาษาอังกฤษในกองทัพ คิดว่าเมื่อถึงเวลาเราจะมีการปรับปรุงและสามารถดำเนินการ ปัญหามีแน่ แต่หากเราพยายามปรับตัว พยายามแก้ไข เราก็ทำได้ แม้แต่ผู้ที่ไม่ได้มีการศึกษาเลยก็เข้าใจกันได้ เมื่อเรามีความตั้งใจที่จะสื่อสารอย่างจริงจัง เมื่อสื่อสารแล้วค่อยเรียนรู้และค่อยๆปรับตัวก็จะได้ภาษามา

ส่วนกรณีที่มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ปัตตานีมหานคร เพื่อให้จัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษขึ้นใน 3 จังหวัดภาคใต้นั้น พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่า คงไม่ให้ข้อคิดเห็นเพราะเป็นเรื่องฝ่ายมั่นคงจะพิจารณา ตนไม่อยู่ในฐานะที่จะให้ข้อคิดเห็นในเรื่องเหล่านั้นได้แล้ว เพราะตนพ้นฐานะไปแล้ว ส่วนแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องคนไทยส่วนใหญ่ ตนเป็นเพียงคนไทยส่วนน้อย ไม่ขอให้ข้อคิดเห็น
กำลังโหลดความคิดเห็น