xs
xsm
sm
md
lg

การปรองดองจากเหตุการณ์ 6 แสนศพเมื่อ 155 ปีที่แล้ว

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส

ประเด็นการใช้งบประมาณแผ่นดินซึ่งก็หมายถึงเงินของประชาชนทุกคน เพื่อใช้ในการเยียวยาแก่ผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาของรัฐบาล ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมทั้งในแง่ของ “จำนวนเงินและเป้าหมาย” ที่รัฐบาลต้องการให้บรรลุ คือ เกิดความรู้สึกปรองดองกลับมาสมานฉันท์กันดังเดิมของพี่น้องภายในชาตินั้น จะสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่แค่ไหน หรือจะเป็นแค่การมุ่งช่วยเหลือกันเองในหมู่พวกที่ได้รับชัยชนะจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เป็นการปูนบำเหน็จแก่เพื่อนร่วมรบ และสุดท้ายมีข้อกังวลว่ามันจะนำไปสู่การก่อความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคตหรือไม่???

ในอีกมิติหนึ่งก็คือ นี่เป็นแผนการตัดตอนผู้ที่ (หรือกลุ่มบุคคล) ที่มีส่วนร่วม เป็นผู้กำหนดในการวางแผน ที่จะก่อให้เกิดความรุนแรง อย่างมีเจตนาและคาดหวังผลไว้ล่วงหน้า ซึ่งโดยหลักนิติธรรมควรจะต้องได้รับการลงโทษ ที่ได้กระทำการดังกล่าวลงไป หากให้มีขบวนการไต่สวนหาข้อมูลอย่างรอบด้านโดยกลไกของกระบวนการยุติธรรม

การหยิบยกเอากรณีของผู้ที่เสียชีวิต อันเกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา จนนำไปสู่การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของคนในชาติไม่ว่ากรณีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคมปี 2535 หรือแม้แต่เหตุความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ที่ผ่านมา และกำลังดำเนินอยู่ ซึ่งทำให้มีผู้คนทั้งที่เป็นประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องสูญเสียชีวิตไปแล้วกว่า 4,000 ศพ ขึ้นมาเปรียบเทียบ ก็ยิ่งทำให้มีคำถามตามมามากมายว่า การสร้างบรรทัดฐานรูปแบบของการเยียวยาเพื่อหวังผลให้เกิดความปรองดองของผู้คนในชาติด้วยวิธีเช่นนี้ จะนำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้จริงหรือ เพราะความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาและได้รับการเยียวยาในครั้งนี้ ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในสังคมไทย

ตรงกันข้ามความขัดแย้งที่เกิดขึ้นแทบจะพูดได้ว่าล้วนมีรากเหง้าที่เชื่อมต่อกันมาตลอดเวลา จนปะทุเป็นความขัดแย้ง การใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นมาเป็นช่วงๆ ของพัฒนาการทางการเมืองของประเทศ คำถามจึงเกิดขึ้นตามมาอีกมากมายว่าการแก้ไขด้วยวิธีการเอา “เงิน” นำหน้า คือทางออกจริงละหรือ???

เราอาจจะมาลองดูการแก้ไขปัญหาในเหตุการณ์ของการใช้ความรุนแรง ที่ผู้คนในชาติเดียวกันขัดแย้งและลุกขึ้นมาใช้ความรุนแรงเข้าห้ำหั่นกัน คือ มีการรบราฆ่าฟันกันเกิดขึ้นเมื่อ 155 ปีที่ผ่านมา ที่ประวัติศาสตร์ได้บันทึกเอาไว้ว่าเป็นเหตุการณ์ “สงครามที่พี่น้องฆ่ากันเอง” ทำให้มีผู้คนเสียชีวิตไม่น้อยกว่า 6 แสนศพ นั่นก็คือสงครามกลางเมืองในประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ ที่เกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2404  เพราะญาติพี่น้อง มิตรสหายที่เป็นคนอเมริกันเหมือนกัน ต่างแบ่งเป็นสองฝ่าย จับอาวุธปืนเข้าประหัตประหารกัน

สาเหตุมาจากความขัดแย้งทางแนวคิดระหว่างพวกหัวก้าวหน้าทางเหนือ กับพวกอนุรักษนิยมทางใต้ ฝ่ายแรกต้องการที่จะให้อิสระกับแรงงานทาสผิวดำทั้งหมด ตามแนวคิดที่ว่าสหรัฐอเมริกาควรจะเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพที่มนุษย์ทุกคนมีความเสมอภาคกัน ดังที่เขียนไว้ในคำประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ ด้วยเหตุนี้การคงไว้ซึ่งระบบทาสจึงเป็นเสมือนหนึ่งตราบาปที่ติดตัวของประเทศ เพราะขัดกับหลักการที่ได้ประกาศเอาไว้ ในขณะที่ฝ่ายหลังต้องการที่จะคงไว้ซึ่งระบบทาสเพื่อใช้แรงงานในไร่ฝ้ายซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมหลักของภูมิภาค รัฐบาลกลางไม่มีสิทธิ์ใดๆ ที่จะมาก้าวก่ายกิจการภายในของตน

ความขัดแย้งในครั้งนั้นลุกลามไปทั่วทุกองค์กรในสังคมของอเมริกา นักการเมืองทางใต้ก็พากันต่อต้านกฎหมายเลิกทาส เพราะรู้แน่ว่าจะส่งผลสะเทือนต่อระบบเศรษฐกิจของฝ่ายใต้ บรรดา ส.ส.ในสภาต่างฝ่ายต่างก็โหวตให้กับผลประโยชน์ของฝ่ายตัวเอง สื่อมวลชนก็เริ่มเลือกข้าง หนังสือพิมพ์จากรัฐทางเหนือ ไม่สามารถมาขายรัฐทางใต้ได้ เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์จากรัฐทางใต้ก็ไม่สามารถมาขายในรัฐทางเหนือ (คล้ายๆ กับบรรยากาศของประเทศเราในตอนนี้ ที่ในบางพื้นที่ของภาคใต้ขึ้นป้ายประกาศเชิญชวนให้ผู้คนเลิกซื้อหนังสือพิมพ์บางฉบับ) แม้กระทั่งตราชั่งแห่งความยุติธรรมก็เอียง ศาลสูงสหรัฐฯ ที่เป็นคนใต้ หรือคนเหนือบางคนก็เริ่มตัดสินคดีความตามผลประโยชน์ของฝ่ายตัวเองเป็นหลัก

สงครามดำเนินไปประมาณ 4 ปี คนอเมริกันฆ่ากันตายไปประมาณ 6 แสนคน ไม่นับรวมคนบาดเจ็บที่ต้องตัดแขน ตัดขาอีกหลายแสนคน กล่าวกันว่าการสูญเสียชีวิตของคนอเมริกันในครั้งนั้น มากกว่าทหารสหรัฐอเมริกันที่เสียชีวิตในสงครามโลกทั้งสองครั้งและสงครามเวียดนามรวมกัน ถือเป็นโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งร้ายแรงที่สุดของประเทศอเมริกาในครั้งนั้น ซึ่งทั้งสองฝ่ายไม่มีใครคิดมาก่อนว่า เมื่อตอนเริ่มเกิดสงครามใหม่ๆ เหตุการณ์จะลุกลามใหญ่โตและสร้างความย่อยยับให้กับประเทศถึงเพียงนั้น

ฝ่ายเหนือเป็นฝ่ายที่ได้รับชัยชนะเพราะพลังทางเศรษฐกิจที่แข็งแรงกว่า ประชากรที่มากกว่า และอาวุธเทคโนโลยีอันทันสมัยกว่า ทิ้งความย่อยยับจากสงครามให้คนในประเทศได้เยียวยากันอีกหลายสิบปี สงครามกลางเมืองในครั้งนั้น ลินคอล์นได้ออกกฎหมายอภัยโทษโดยอภัยโทษเฉพาะพวกที่เข้าร่วมสงคราม ที่ไม่ใช่ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายกำหนดนโยบายหรือแกนนำและพวกที่ทำการทารุณทหารและพลเมือง

แต่ถ้าเป็นพวกที่เข้าสงครามเพราะรักพวกพ้อง ป้องกันทรัพย์สินของตัวเอง ก็จะได้รับการอภัยโทษและปล่อยออกจากคุกกลับบ้าน เพียงแต่ต้องทำการสาบานว่าจะภักดีต่อสหรัฐอเมริกาเท่านั้น มีการบันทึกเอาไว้ว่าตอนที่ลินคอล์นได้เดินทางไปเยี่ยมกองบัญชาการฝ่ายเหนือ ถูกถามว่า “เมื่อชนะสงคราม จะทำอย่างไรดีกับพวกฝ่ายใต้” ประธานาธิบดีลินคอล์นตอบว่า “ให้เขาอยู่อย่างสบายๆ ยกเว้น...พวกโหด”

คำถามสำหรับสังคมไทยในวันนี้ก็คือ การใช้เงื่อนไขโดยใช้งบประมาณจำนวนมากไปเพื่อการเยียวยากับผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และความพยายามที่จะผลักดันให้มีการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่รองนายกรัฐมนตรี (เฉลิม อยู่บำรุง) ออกมาประกาศ และย้ำนักย้ำหนารายวันอยู่นั้น ว่าทุกคนจะได้ผลประโยชน์เสมอหน้ากัน แน่ใจหรือว่าจะแก้ไขปัญหาที่ดำรงอยู่ให้หมดไปได้ โดยเฉพาะพวกที่ท่านลินคอล์นบอกว่าจะอภัยโทษให้กับเฉพาะบางกลุ่มแต่ยกเว้น “..พวกโหด” .....หรือท่านคิดว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาไม่มี “..พวกโหด” อย่างที่ท่านลินคอล์นกล่าวถึงเลยสักคน???
กำลังโหลดความคิดเห็น