รองนายกฯ รับได้งานมากกว่าอยู่ กห. คาดสัปดาห์หน้าเริ่มสั่งการได้ เผยถก สมช.และข่าวกรองแล้ววานนี้ คาดจ่อเริ่มนัดอีกใน 2 สัปดาห์ ยันยังไม่ต้องเตือนภัยก่อการร้าย หวังประสานหน่วยข่าวเหล่าทัพกับมิตรประเทศ เล็งวางยุทธศาสตร์ใหม่ สมช.ให้ทันสถานการณ์โลก จ่อเชิญ “ประยุทธ์” คุยนายกฯ บูรณาการดับไฟใต้
วันนี้ (26 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 15.20 น. พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงภาระหน้าที่หลังจากรับตำแหน่งรองนายกฯ ว่า ตนดูแลรับผิดชอบ 7กระทรวง และอีก 5 หน่วยงาน ซึ่งรวมแล้ว 12 หน่วยงาน เป็นงานที่มาก ไม่เหมือนกับงานที่กระทรวงกลาโหมที่มองแต่เรื่องทหาร เรื่องของความมั่นคง ไม่ได้มองภาพกว้างขนาดนี้ ตำแหน่งรองนายกฯ งานหลากหลายมาก คิดว่าตนดูรายกระทรวงก่อนที่จะสั่งการ กำกับ ดูแลบริหารกระทรวงแทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็คงต้องเข้ามาทำความรู้จัก และคงจะเชิญสำนักนโยบายและแผนของแต่ละกระทรวงหลายกระทรวง ตนขอโอกาสไปเยี่ยมรายละเอียดต่างๆ ก่อนที่จะเริ่มทำงาน คิดว่าสัปดาห์หน้าเป็นต้นไปถึงจะเริ่มดำเนินการ สั่งการได้ และประสานงานใน 12 หน่วยงาน เพื่อจะเริ่มทำงานได้ทันที
เมื่อถามว่า งานเรื่องความมั่นคงที่ค้างอยู่ พล.อ.ยุทธศักดิ์กล่าวว่า เมื่อวานนี้ตนได้พบกับทางทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับหน่วยข่าวกรองแห่งชาติแล้ว เพราะฉะนั้นคิดว่าภายใน 2 สัปดาห์นี้ก็น่าที่จะเริ่มประชุมในส่วนของ สมช. ส่วนเรื่องข่าวกรองเป็นเรื่องใหม่สำหรับตนและเป็นเรื่องที่สนใจ ซึ่งอยากจะดูงานด้านข่าวกรองว่ามันทำงานได้ผล จากนั้นจะเข้าไปดูการประสานงานข่าวกับกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งต้องเข้าไปเยี่ยมบ่อยๆ และดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อกระชับงานให้ทันกับสถานการณ์มากยิ่งขึ้น สามารถรายงานสถานการณ์ต่อนายกฯ ได้ทุกสัปดาห์
ส่วนเรื่องของการก่อการร้าย รองนายกฯ ระบุว่า การก่อการร้ายยังไม่ถึงกับต้องเตือนประชาชน โดยความจริงเรื่องนี้มีการติดตามประสานงานกับอิสราเอล และสหรัฐอเมริกาอย่างไร ก็จะได้ดูกันต่อไป ซึ่งต้องใช้งานสืบด้านข่าวระหว่างประเทศต้องติดต่ออย่างไรบ้าง ต้องดูกันเพราะเราทำงานด้านข่าว ในขณะที่เราเคยอยู่ในกองทัพจะดูในเรื่องระดับชาติมาก่อน
เมื่อถามว่า ให้ความสำคัญกับด้านการข่าวมากแค่ไหน พล.อ.ยุทธศักดิ์กล่าวว่า เราให้ความสำคัญมากขึ้นการประสานงานกับหน่วยข่าวของเหล่าทัพในสายความมั่นคงด้วยกันว่าเหล่าทัพได้มีการประสานกับหน่วยข่าวของมิตรประเทศเรากับต่างประเทศเราได้มีการประสานทั้งสองทาง นี่คือความคิดครั้งแรก ต้องไปพบกันและไปหารือกันต่อไป
พล.อ.ยุทธศักดิ์กล่าวต่อว่า จะต้องดำเนินการวางยุทธศาสตร์ใหม่ในสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งตนอยากจะทำก่อนที่จะหมดหน้าที่ อยากจะวางยุทธศาสตร์ให้ทันต่อสถานการณ์โลก ซึ่งตนมองว่ายุทธศาสตร์ของไทยไม่ทันสถานการณ์โลก ทั้งนี้ การดำเนินยุทธศาสตร์ขณะนี้ได้ดึงนายทหารที่เก่งทางด้านยุทธศาสตร์เข้ามาช่วยหลายคน รวมถึงให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักข่าวกรองฯ เข้ามาร่วมด้วย ทั้งนี้ เชื่อว่า พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการ สมช.จะรับนโยบายได้ เพราะได้พูดคุยกันแล้ว
เมื่อถามว่า ปัญหาชายแดนภาคใต้จะมีมาตรการที่เข้มขึ้นหรือไม่ พล.อ.ยุทธศักดิ์กล่าวว่า ภายหลังที่นายกรัฐมนตรีเดินทางกลับจากต่างประเทศ จะเชิญ ผบ.ทบ.ซึ่งเป็นผู้ดูแลปัญหาในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) มาพบนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เพราะขนาดนี้นายกรัฐมนตรียังไม่ได้สั่งการจัดองค์กรบูรณาการทางภาคใต้ ซึ่งจะต้องเริ่มทำงานในระบบใหม่อย่างบูรณาการ การทำงานร่วมกับกระทรวงต่างๆ ในเรื่องของงานภาคใต้ต่อไป ทั้งนี้มีหลายเรื่องที่จะต้องปรับปรุง ซึ่งได้ทราบจุดอ่อน-จุดแข็งและได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบว่ามีจุดอ่อนและจุดแข็งของการทำงานหลายเรื่อง ซึ่งบางเรื่องที่ไม่สำคัญมีมากเกินไป เรื่องที่สำคัญกลับน้อยเกินไป จะต้องปรับให้อยู่ในระดับที่เท่ากัน และต้องหาวิธีทำอย่างไรให้การบูรณาการทั้ง 3 จังหวัดภาคใต้ ให้ได้ตามนโยบายที่วางแผนไว้กับทางกองทัพที่ได้เสนอมา คิดว่าจะต้องดำเนินการให้ได้ ขณะเดียวกันยืนยันว่าจะไม่มีการดำเนินการในรูปแบบเดิม ซึ่งทันทีที่นายกรัฐมนตรีอนุมัติ ตนจะลงไปพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทันที
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะทำแข่งกับการจับยาเสพติดหรือไม่ พล.อ.ยุทธศักดิ์กล่าวว่า เรื่องยาเสพติดรุดหน้าไปมาก ตอนที่ตนอยู่กระทรวงกลาโหมได้มอบงานเฉพาะให้กองทัพสนับสนุนในเรื่องดังกล่าวอย่างเต็มความสามารถ และได้เพิ่มเรื่องของการฟื้นฟูให้กับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ให้อย่างเต็มที่ และให้กำลังทหารในพื้นที่มีการลำเลียงยาเสพติดสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเต็มที่
ผู้สื่อข่าวถามว่า การตั้งกองพลทหารราบที่ 15 ในพื้นที่ภาคใต้ที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแล้ว และได้มีการขอขยายเวลาอยู่ตลอด พล.อ.ยุทธศักดิ์กล่าวว่า อาจเป็นเพราะไม่มั่นใจว่าในบางเรื่องที่จะเพิ่มเติม เพราะครั้งแรกที่จะตั้งคือ กองพลพัฒนา ซึ่งภาพของกองพลพัฒนากับกองพลทหารราบแตกต่างกัน เพราะฉะนั้น เมื่อเปลี่ยนเป็นกองพลทหารราบ เวลาเตรียมอาวุธ ยุทโธปกรณ์จะต้องมากกว่ากองพลพัฒนา จึงได้ขอขยายเวลาออกไป