xs
xsm
sm
md
lg

‘อาร์เคเค’ ค้นหาความนัยบนเรือบริจาคน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ท่ามกลางกระแสความช่วยเหลือในหลายภาคส่วนจากวิกฤตน้ำท่วม เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวเล็กในหมวดหมู่ข่าวอาชญากรรมมาแล้วก็เลือนหายไปอย่างรวดเร็ว เมื่อมีการจับกุมรถกระบะขนเรือไฟเบอร์สีดำสนิท 20 ลำวางคว่ำซ้อนกันมา กำลังเดินทางไปส่งให้กับผู้ประสบภัยในย่านพระราม 8 โดยที่ข้างเรือเหล่านั้นมีสเปรย์สีพ่นข้อความว่า

          ‘ปันน้ำใจ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยกลุ่มเจมูติน อาร์เคเค’

          หลังจาก พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล 1 (ผบก.น.1) ได้เดินทางมาร่วมสอบปากคำด้วยตนเอง โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง พล.ต.ต.วิชัยได้กล่าวกับสื่อมวลชนเพียงสั้นๆ ว่า ไม่มีอะไร เป็นเรื่องเข้าใจผิด เรือดังกล่าวมีผู้จะนำมาบริจาคให้ชาวชุมชนย่านพระราม 8 มีคนไปพบว่าใช้สเปรย์พ่นข้อความดังกล่าวจึงเชิญตัวมาสอบปากคำ แต่หลังจากสอบปากคำพบว่าไม่มี จึงได้ปล่อยตัวไป

            อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ พล.ต.ต.วิชัยเดินทางกลับ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำสเปรย์สีเทามาพ่นทับข้อความข้างเรือ ส่วนคนขับรถคันดังกล่าวอ้างว่า ไม่ทราบ เป็นเพียงคนนำเรือมาส่ง โดยไม่ยอมเปิดเผยชื่อและรายละเอียดของเรือเหล่านี้

            และเรื่องราวก็เงียบหายไป...

            นี่เองที่ชวนผิดสังเกต ด้วยความผิดที่ทางของชื่อกลุ่อาร์เคเค (RKK - Runda Kumpulan Kecil) ไม่ว่าในเชิงสัญลักษณ์ ในเชิงของความรู้สึก และในแง่ของภารกิจในการปฏิบัติงาน

            ด้วยในเชิงของสัญลักษณ์ ‘อาร์เคเค’ คือ ตัวแทนของการต่อสู้ของกลุ่มก่อการร้ายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในด้านของความรู้สึก ‘อาร์เคเค’ คือ กลุ่มติดอาวุธในระดับท้องถิ่นที่ให้ความรู้สึกของการคุกคาม มากกว่าการคุ้มครอง หรือในแง่ของการปฏิบัติงานก็ผิดที่ผิดทาง จากพื้นถิ่นภาคใต้ มาสู่ใจกลางเมืองหลวง

            เหตุแห่งการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ชื่อของกลุ่มอาร์เคเคที่ผุดขึ้นมากลางกรุง บ่งบอกถึงสิ่งใดกันแน่

 
‘อาร์เคเค’ กลุ่มติดอาวุธพื้นถิ่น

            นับแต่เหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มต้นราวปี 2547 ความขัดแย้งทวีความรุนแรงมากขึ้น เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ซึ่งเกิดมาจากปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีเหตุการณ์ลอบทำร้าย วางเพลิง วางระเบิด และจลาจลเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

หากย้อนอดีตกลับไปในปี 2545 เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสนอยุบ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43 (พตท. 43) และรัฐบาลยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ยุบ ศอ.บต. และ พตท. 43 ต่อมาในปี 2547 เกิดเหตุการณ์เผาโรงเรียน 20 แห่ง ใน จ.นราธิวาส ซึ่งเชื่อว่าเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจเพื่อปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส และมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องจากการปราบปรามของภาครัฐ สมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ที่รับทำคดีเกี่ยวกับความมั่นคงในชายแดนใต้ ถูกลักพาตัว, เกิดกรณีกรือเซะ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบกระจายกันโจมตีฐานตำรวจ-ทหาร 12 จุด คนร้ายเสียชีวิต 107 ศพ บาดเจ็บ 6 คน ถูกจับกุม 17 คน เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 5 นาย บาดเจ็บ 15 นาย, เกิดกรณีตากใบ เจ้าหน้าที่สลายผู้ชุมนุมมีผู้เสียชีวิต 84 ศพ แบ่งเป็นในที่เกิดเหตุ 6 ศพ ระหว่างขนย้าย 78 คน และมีเหตุการณ์รุนแรงอีกมากมายจนถึงทุกวันนี้...ก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะสงบลง

            ในความรุนแรงที่เกิดขึ้น กลุ่มอาร์เคเคเป็นชื่อหนึ่งที่ขึ้นมาแสดงความรับผิดชอบ โดยมีในลักษณะเป็นกลุ่มติดอาวุธขนาดเล็กที่ฝังตัวอยู่ในท้องถิ่น ก่อความไม่สงบด้วยการลอบทำร้าย วางระเบิด ก่อความไม่สงบรายวัน เป็นหนึ่งในโครงข่ายของกลุ่มบีอาร์เอ็น หรือ BRN - Coordinate (Barisan Revolusi Nasional-Koordinasi-BRN-C) ซึ่งเป็นกระบวนการที่เชื่อกันว่า มีเจตนารมณ์เพื่อปฏิวัติตั้งรัฐปัตตานีอารุสสาลาม

            ซึ่งโครงสร้างการปฏิบัติการในหนึ่งหมู่บ้านของขบวนการบีอาร์เอ็นนั้น ประกอบไปด้วย ฝ่ายผู้รู้ หรือ อูลามะ (Ulama) ซึ่งจะทำหน้าที่คัดเลือกคนเข้าขบวนการ ,ฝ่ายเศรษฐกิจทำหน้าที่หาเงินทุนสนับสนุนการก่อเหตุ ,กลุ่มเยาวชน หรือ  เปอร์มูดอ(Permuda)จะถูกวางโดยอูลามะว่าจะทำงานฝ่ายใด และฝ่ายปฏิบัติการ เป็นหน่วยติดอาวุธเคลื่อนที่เร็วขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่า อาร์เคเค

            ทั้งนี้ กลุ่มอาร์เคเคนั้นใน 1 ชุดปฏิบัติการจะมีจำนวน 6 คน ต่อ 1 หมู่บ้าน โดยมีการแฝงตัวเข้าไปในหมู่บ้านกว่า 500 หมู่บ้าน เมื่อลองคำนวณดู ทำให้คาดได้ว่าตอนนี้มีกลุ่มอาร์เคเคมากกว่า 3,000 คน โดยจะเคลื่อนไหวอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับอีก 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา

            โดยในรายละเอียดนั้น มีระบุถึงขั้นว่า เป็นหน่วยรบที่ผ่านการฝึกมาในหลักสูตรทหารระดับคอมมานโด แต่บ้างก็ว่าคล้ายกับของอินโดนีเซีย และบ้างก็ว่าเป็นหลักสูตรเฉพาะของอาร์เคเค ซึ่งแต่ละคนจะได้รับการคัดเลือกโดยอูลามะ เป็นเด็กๆ อายุตั้งแต่ 13-14 ปี เรียนดีและเคร่งศาสนาของแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งอาร์เคเคนั้นมีอีกชื่อเรียกว่า ตาจือรี มีความหมายคือที่มีระดับความสามารถสูงว่า เปอร์มูดอ หรือกลุ่มเยาวชน

            มีเรื่องเล่าในเชิงเปรียบเทียบว่า ศักยภาพของคอมมานโด 1 คน ต้องสามารถต่อสู้ด้วยมือเปล่ากับเจ้าหน้าที่ได้ 10 คน ส่วนตาจือรีหรืออาร์เคเค 1 คน ต้องสามารถต่อสู้มือเปล่ากับเจ้าหน้าที่ได้ 5 คน

            สำหรับความเคลื่อนไหวตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มอาร์เคเค เริ่มมีอิทธิพลมากขึ้น จากลักษณะเฉพาะในการก่อการ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มขนาดเล็ก ฝังตัวอยู่ในท้องถิ่น และส่วนมากเป็นคนพื้นถิ่นทำให้ได้รับการปกป้องจากคนพื้นที่ จากในระยะแรก ที่ยังก่อการกันเป็นจุดๆ และหลบซ่อนตัวอยู่ตามป่า มาบัดนี้กลุ่มอาร์เคเคมีการประสานงานกันลงมือปฏิบัติในหลายจุดพร้อมกัน และยังแอบแฝงตัวอยู่ในพื้นที่ ทำให้การตามจับเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

            ซึ่งจะเห็นได้ชัดจาก การก่อเหตุในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่เหตุลวงระเบิด 3 จุดที่สุไหงโก-ลกเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2554 ตามด้วยการระเบิดกว่า 20 จุดที่จังหวัดยะลาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2554 ต่อด้วยเกิดเหตุระเบิดพร้อมกัน 5 จุดที่จังหวัดนราธิวาสเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2554

            นอกจากนี้ ยังมีกรณีของอาร์เคเคโพลที่ เป็นผลสำรวจการเลือกตั้ง 2554 ของกลุ่มอาร์เคเค โดยผลทำออกมาค้านกับผลโพลสำนักอื่น แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลในมิติทางด้านการเมืองของกลุ่ม

            มาตอนนี้จากภาพรวมของการเคลื่อนไหวทั้งหมดที่เกิดขึ้น ไม่เฉพาะจากกลุ่มอาร์เคเค ก่อให้เกิดความกลัวในเขตพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ อันนำมาซึ่งปรากฏการณ์ทางการทหารที่ชื่อว่า “งบลับ” และผลประโยชน์อีกมากมายที่ตามมา

 
นัยของเรือบริจาค 

            “ผมไม่คิดว่าเป็นฝีมือของกลุ่มอาร์เคเคจริงๆ ดูจากเหตุการณ์แล้ว มันไม่ได้ส่งผลทางการเมืองที่ดีต่อเขา”

          ศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัย ความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้ข้อสันนิษฐานถึงเหตุการณ์เรือบริจาคมีชื่อของกลุ่มอาร์เคเคติดอยู่ว่า อาจเป็นฝีมือของกลุ่มอื่น ซึ่งหวังผลในการเคลื่อนไหวอย่างไรก็ยังมิอาจทราบได้

            “ผลกระทบจากเรื่องที่เกิดขึ้น ยังไม่มีอะไร แต่ที่แน่ๆ มันไม่ส่งผลดีต่อกลุ่มอาร์เคเค เพราะวัตถุประสงค์ของเขา คือการแยกตัวจากรัฐสยาม ประกาศอัตลักษณ์ของกลุ่ม โดยมีพื้นที่เคลื่อนไหวอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับอีกสี่อำเภอในจังหวัดสงขลา เพราะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเขา กรุงเทพฯ จึงไม่ใช่เป้าหมาย”

            โดยเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ เขาเห็นว่าเป็นเพียงเหตุการณ์หนึ่งที่อาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรมากนัก

            “ผมว่าคนกรุงเทพฯ จะไม่รู้จักอาร์เคเคด้วยซ้ำ เพราะเป็นกลุ่มที่ปฏิบัติการในท้องถิ่น ดังนั้นผลกับคนกรุงเทพฯ อาจจะไม่มี อาจจะคิดว่าเป็นบริษัทอะไรสักบริษัท”

            โดยเขาเอ่ยถึงเหตุความรุนแรงที่หนักหนาขึ้นในช่วงที่ผ่านมาว่า เป็นการครบรอบเหตุการณ์ตากใบ (ช่วงเดือนตุลาคม) เป็นเหมือนการรำลึก และตอกย้ำถึงการทำงานที่ผ่านมาของรัฐบาลที่ยังไม่สามารถสางปมปัญหาทั้งหมดให้คลี่คลายได้

            ในด้านของการแก้ไขเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น แน่นอนมาถึงตอนนี้คงเป็นที่รู้กันดีว่า ปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นไม่ใช่ปัญหาที่จะเยียวยาแก้ไขกันได้ง่ายๆ ซึ่งทางออกของปัญหานี้ ทางที่ดีที่สุด ศรีสมภพมองถึงการเจรจา

            “ในระยะยาวอาจมีการพูดคุยกันอย่างสันติเพื่อหาทางออก แต่มันก็ยังไม่มีความคืบหน้า การเจรจามันมีอยู่ แต่ยังไม่มีแบบเป็นทางการ”

 
ความเคลื่อนไหวจากพื้นถิ่นในมุมมองต่างประเทศ

            ในมุมของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กับกลุ่มอาร์เคเค ศรีสมภพมองว่า ความสัมพันธ์ของกลุ่มอาร์เคเคกับประเทศอื่น หากมีจะเป็นแบบอ้อมๆ ในเชิงวัฒนธรรมของชาวมุสลิมที่ถือกันว่า ชาวมุสลิมทุกคนเป็นพี่น้องกัน

            “อาจมีการให้การสนับสนุนบ้าง ให้ที่พักพิง แต่ไม่มีในรูปแบบที่เป็นทางการ เพราะทางต่างประเทศก็เข้าใจดีว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนของประเทศไทย จึงไม่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”

            ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ รศ. ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กล่าวถึงสถานะของกลุ่มก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนในไทย ทั้งกลุ่มอาร์เคเคและกลุ่มอื่นๆว่า มีฐานะเป็นเพียงกลุ่มก่อการร้ายท้องถิ่น และไม่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ทว่าในด้านภาพพจน์แล้วยังได้รับจากความรุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

            “ถึงแม้ว่ากลุ่มก่อการร้ายในไทย จะเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในระดับท้องถิ่น แต่ก็เป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ทำให้ภาพพจน์ของประเทศไทยในสายตาของต่างชาติดูมีปัญหา เพราะที่ผ่านมาต่างชาติเขามองว่าเป็นเรื่องใหญ่ มีคนเสียชีวิตเยอะ เกิดเหตุการณ์บ่อย ทำให้ที่นั่นกลายเป็นจุดอันตรายจุดหนึ่งบนโลก แต่คนไทยเราอาจจะมองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะเราอาจจะชินชาด้วยส่วนหนึ่ง”

            ทางด้านการเคลื่อนไหวนั้น จากในมุมของขบวนการก่อการร้ายทั่วโลก เขาเห็นว่ามีช่วงที่เหตุความรุนแรงเริ่มน้อยลงเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว แต่มาปะทุอีกในปี  2547 ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายอย่างรวมไปถึงเหตุ 11 กันยา (เหตุก่อวินาศกรรม 11 กันยายน พ.ศ. 2544 ในสหรัฐอเมริกา หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘9/11’ ซึ่งเป็นชุดการโจมตีพลีชีพที่ประสานกัน 4 ครั้งต่อสหรัฐอเมริกา ในนครนิวยอร์กและพื้นที่วอชิงตัน ดี.ซี. โดยผู้ก่อการร้าย 19 คน จากกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงอัลกออิดะห์ จี้อากาศยานโดยสาร 4 ลำ 2 ลำบินพุ่งชนกับตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ในมหานครนิวยอร์ก ลำที่ 3 โจมตีอาคารเพนตากอนในอาร์ลิงตัน รัฐเวอร์จิเนีย ส่วนลำที่ 4 ตกในทุ่งใกล้กับแชงค์วิลล์ รัฐเพนซิลเวเนีย ก่อนจะถึงเป้าหมาย)

            “กระแส 11 กันยาทำให้ขบวนการมุสลิมหัวรุนแรงทั่วโลกลุกฮือขึ้นมา ทุกวันนี้แนวโน้มความรุนแรงจะมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเขาต้องการยั่วยุให้รัฐบาลใช้กำลังกับเขา และเกิดปะทุเป็นสงคราม และเมื่อวันหนึ่งถ้ามันกลายเป็นสงครามล้างเผ่าพันธุ์ สุดท้ายยูเอ็น (สหประชาชาติ) ก็ต้องเข้ามา เขาก็อาจจะได้รับเอกราชเหมือนกรณีโคโซโว”

 
ธารน้ำใจผิดที่ผืดทาง?!?

          ในฐานะของสิ่งของ ไม่ใช่สัญลักษณ์ เรือก็คือเรือ เมื่ออยู่ในภาวะวิกฤต แม้เป็นสิ่งของที่ได้รับจากกลุ่มก้อนอันไม่ชอบธรรม หรือแฝงเร้นซึ่งนัยบางอย่าง ผู้รับก็ไม่มีทางเลือกมากนัก

            ดังเช่นที่ ทองเปลว จันทร์แปลง เจ้าของร้านโชว์ห่วยย่านตลิ่งชัน เปิดเผยว่า ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มใด แม้กระทั่งกลุ่มอาร์เคเค หากมีน้ำใจเข้ามาบริจาคสิ่งของในพื้นที่ประสบภัยตนก็จะรับ ซึ่งไม่ได้รับไว้เพื่อประโยชน์ของตัวเอง แต่จะนำไปแจกจ่ายให้ลูกหลานที่อยู่ในละแวกเดียวกัน

            “ต้องรับไว้ ถึงจะเป็นโจรแต่เขายังเอามาบริจาคให้ เขามีน้ำใจก็เอาไว้ เอาไว้ให้ลูกหลาน เวลานี้ไม่ต้องมาแบ่งพรรคแบ่งพวกแล้ว ชาวบ้านเดือดร้อนกันหมดใครเอาอะไรเข้ามาช่วยก็ต้องรับไว้ก่อน”

            ชาวบ้านผู้ประสบภัยอีกหลายๆ คน ไม่ว่าใครที่ยื่นมือเข้ามาช่วยก็คงต้องรับกันเอาไว้แทบทั้งสิ้น เพราะนั่นหมายถึงความอยู่รอด ทองเปลว กล่าวทิ้งท้ายว่า กลุ่มอาร์เคเคจะมีวาระซ่อนเร้นหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องที่ต้องจับตามองกันต่อไป แต่นาทีนี้ผู้ประสบภัยต้องผ่านพ้นวิกฤตน้ำท่วมไปให้ได้เสียก่อน

            อย่างไรก็ตาม คงจะไม่แปลกที่ประชาชนบางส่วนอย่าง สุชาติ ทองอินทร์ ผู้ประสบอุทุกภัยอำเภอนครชัยศรี จ.นครปฐม ที่ถึงแม้ไม่ได้เป็นคนเห็นหรือพบเรือที่กลุ่มโจรใต้นำมาบริจาคกับตา ก็ยังฟันธงว่าจะไม่รับเรือดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า ถึงแม้ไม่รู้ถึงเหตุและผลที่กลุ่มนี้ต้องการ แต่เมื่อมองย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่โจรกลุ่มนี้ทำไว้กับคนใต้และคนไทยแล้ว ก็เป็นเรื่องที่หนักใจน่าดู เพราะยอมรับว่าตนเองก็ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น ระหว่างช่วงน้ำท่วม แต่หากต้องใช้สิ่งของที่ได้บริจาคมาอย่างระแวดระวังแล้ว ก็คงอยู่ไม่สุขเช่นเดียวกับตอนที่ไม่มีเรือเป็นของตนเองอยู่ดี

            “ศักดิ์ศรีกินไม่ได้ก็จริงครับ แต่ก็ไม่ไหวจะรับ เราไม่รู้ว่าเขาต้องการอะไร แล้วเริ่มขึ้นมาข้างบนนี้อีกทำไม คงมีการซ่อนความต้องการอะไรไว้ ที่ผมไม่รับ เพราะอย่างน้อยเราก็พอหายืมคนบ้านใกล้ ๆ ได้ ยังไงก็ขอสบายใจดีกว่าสบายตัว น้ำมาแป๊บๆ เดี๋ยวก็ไป ไม่ควรไปวิตกกังวลกับมันมากเสียจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นเรื่องถูกเรื่องผิด”

            ไม่ว่าจะตัดสินใจรับหรือไม่รับสิ่งของ โดยเนื้อแท้ของการกระทำแล้วก็ยังไม่เข้าใจถึงนัยสำคัญของความกลัว หรือความคงอยู่ของอาร์เคเค เพราะไม่ว่าในทางใด การรับหรือไม่รับของ หากไม่เป็นไปด้วยความเข้าใจ นั่นก็คงจะไม่แตกต่างกันมากนัก

                                                            .......... 

 
จากข่าวการจับกุมรถกระบะขนเรือเพื่อนำมาบริจาค และมีการพ่นข้อความที่มาของเรือจากกลุ่มอาร์เคเค ไม่สามารถสร้างประเด็นทางสังคมและการเมืองขึ้นมาได้ และก็ไม่ได้มีการสืบสาวหาความจริงว่า สิ่งที่เกิดขึ้นถูกทำขึ้นเพื่อหวังผลอะไร และมีเจตนารมณ์ในการเคลื่อนไหวครั้งนี้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นจากกลุ่มอาร์เคเคเอง หรือมือที่สามที่พยายามอ้างชื่อกลุ่มอาร์เคเคขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม การรับของบริจาคในเบื้องต้น อาจมองเพียงผิวเผินเป็นแค่การช่วยเหลือ แต่แก่นนัยของความเป็นผู้ให้ และสัญลักษณ์แห่งความเป็นกลุ่มอาร์เคเค ยังคงจะมีอีกหลายมิติให้พิจารณา ทั้งยังมีหลายคำถามให้ได้สงสัย ทั้งความผิดที่ผิดทางของนามแห่งอาร์เคเคที่มาปรากฏ หรือจะเป็นท่าทีที่มีต่ออาร์เคเคของผู้รับ

            ในยุคที่สงครามด้านวาทกรรม ดุเดือดยิ่งกว่าการลงมือสร้างทำงานแบบนี้ ไม่แปลกที่สัญญะแห่งความกลัวเมื่อถูกนิยามขึ้น จะถูกใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อฉกฉวยนิยามของความยุติธรรม แต่ด้วยความไม่ (รับ) รู้ สัญญะจึงไม่สามารถสื่อสาร และถูกลบทิ้งอย่างง่ายดายด้วยสีสเปรย์...

                                                >>>>>>>>>>>
………

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ อาชญากรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น