xs
xsm
sm
md
lg

สื่อนอกตีข่าวทุกพรรคการเมืองไทยละเลยปัญหา “ไฟใต้”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลงไปหาเสียงที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ที่ผ่านมา
เอเอฟพี - หลังจากเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ของไทยดำเนินต่อเนื่องมาเกือบ 7 ปี และทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตไปหลายพันคน ณ วันนี้ประเด็นดังกล่าวกลับมาอยู่ในหัวข้อสนทนาทางการเมืองอีกครั้ง ก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง 3 กรกฎาคมนี้

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นส่งผลให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเผชิญกับการลอบสังหาร, วางระเบิด และเหตุโจมตีอื่นๆ โดยเชื่อกันว่าเป็นฝีมือของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ไม่เปิดเผยตัว และไม่มีใครล่วงรู้เป้าหมายที่แท้จริงของพวกเขา

นักวิจารณ์บางคนกล่าวหาว่ารัฐบาลล้มเหลวในการบรรเทาความทุกข์ยากของชาวมุสลิมในประเทศ ทั้งยังเกิดข่าวลือว่าทหารล่วงละเมิดและไม่เคารพในอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติ, ภาษา และศาสนาของพลเมืองเหล่านี้

แม้ผู้สมัครจากพรรคใหญ่ๆจะเดินหน้าหาเสียงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่สำหรับคนพื้นที่แล้ว น้อยคนที่จะเชื่อว่าการเลือกตั้งจะนำมาซึ่งอนาคตที่ดีกว่า

“พรรคไหนก็เหมือนกันหมด บางพรรคอาจจะดีกว่านิดหน่อย บางพรรคก็แย่หน่อย แต่ทุกพรรคก็ทำไม่ดีกับเราเหมือนๆ กัน” ชายมุสลิมวัย 48 ปี ซึ่งเดินทางมาฟังการปราศรัยของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าว

“ผมจะไปโหวตโน” เป็ง วัย 50 ปี ซึ่งนับถือศาสนาอิสลามเผย

“รัฐบาลไม่เคยรักษาสัญญาที่ให้ไว้ตอนหาเสียง ผมเบื่อการเมืองเต็มทนแล้ว”

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังยืนยันว่าสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้กำลังดีขึ้นเป็นลำดับ

“เรากำลังก้าวไปสู่สันติภาพและความมั่นคง ประชาชนและเจ้าหน้าที่เริ่มมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันมากขึ้น แน่นอนว่าเหตุรุนแรงยังคงเกิดขึ้นอยู่ แต่เราจะไม่ย้อนกลับไปสู่วงจรความรุนแรงที่ภาครัฐเป็นต้นเหตุอีก” อภิสิทธิ์กล่าวขณะปราศรัยที่ภาคใต้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

เหตุรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2004 ซึ่งเป็นช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วราว 4,500 คน รวมถึงชาวมาเลย์มุสลิมซึ่งเป็นประชากร 80 เปอร์เซ็นต์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

หลายฝ่ายเชื่อว่า กลุ่มก่อความไม่สงบในภาคใต้ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของขบวนการญิฮาดสากล ทว่าเป็นผู้ที่ต่อต้านประวัติศาสตร์แห่งการแบ่งแยกกดขี่ ซึ่งรัฐบาลไทยปฏิบัติต่อชาวมาเลย์มุสลิมมายาวนาน
สตรีมุสลิมมารอฟังการปราศรัยของนายกฯอภิสิทธิ์ ที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน
กลุ่มก่อความไม่สงบที่สำคัญ ได้แก่ บีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional-Coordinate) และพูโล (Patani United Liberation Organisation) ซึ่งต้องการอำนาจปกครองตนเองมากขึ้น หรือแบ่งแยกดินแดนออกจากรัฐไทย

กลุ่มก่อความไม่สงบก่อเหตุรุนแรงประมาณ 80-100 ครั้งต่อเดือนในจังหวัดปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส แต่เนื่องจากเป้าหมายไม่ใช่ชาวต่างชาติ และพื้นที่เกิดเหตุก็มักกระจุกอยู่ในวงแคบๆ ทำให้รัฐบาลกรุงเทพมหานครไม่ใส่ใจปัญหาดังกล่าวเท่าที่ควร

“พวกเขาเลิกสนใจปัญหานี้อย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา โดยหวังว่าวันหนึ่งเหตุการณ์คงจะยุติไปเอง” ศาสตราจารย์ดันแคน แมคคาร์โก ผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อจลาจลจากมหาวิทยาลัยลีดส์ของอังกฤษกล่าว

“สำหรับพวกเขาแล้ว อะไรที่ไม่ได้เกิดในกรุงเทพมหานครก็ไม่สำคัญ” แมคคาร์โกกล่าว

เมื่อ เอเอฟพีสอบถามถึงปัญหาใหญ่ 3 อันดับแรกที่จะแก้ไขหากได้รับเลือกตั้ง พรรคการเมืองใหญ่ทั้ง 6 พรรคไม่ได้กล่าวถึงปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เลย แต่กลับมุ่งความสนใจไปที่วิกฤตการเมืองหลังการรัฐประหารทักษิณ เมื่อปี 2006 เพียงอย่างเดียว

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นรายวันใน 3 จังหวัดภาคใต้ยังได้รับความสนใจจากสื่อกระแสหลักน้อยมาก โดยหากพระสงฆ์ถูกสังหารก็จะได้ขึ้นข่าวหน้าหนึ่งเป็นบางครั้ง แต่หากผู้ตายเป็นอิหม่ามก็จะกล่าวถึงอย่างสั้นๆเท่านั้น

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ระบุว่า ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมากกว่าครึ่งคือชาวมุสลิม เพราะกลุ่มก่อการร้ายมองว่าคนเหล่านี้เป็นผู้ทรยศที่ให้ความร่วมมือกับทางการ

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุว่า เริ่มเห็นสัญญาณความเปลี่ยนแปลงในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ และเชื่อว่าชนชั้นปกครองจะไม่สามารถละเลยปัญหาชายแดนใต้ได้ตลอดไป

“ปัญหาภาคใต้เริ่มพัฒนาไปถึงจุดที่การเมืองไทยไม่สามารถละเลยเรื่องนี้ได้อีก และกำลังกลายเป็นวิกฤตสำหรับชนชั้นปกครองของไทย” ศรีสมภพกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น