xs
xsm
sm
md
lg

จุดอ่อน-จุดแข็ง “บิ๊กบัง-มาตุภูมิ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สนามเลือกตั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ “ยะลา-ปัตตานี-นราธิวาส” ที่มี ส.ส.เขตรวมกันทั้งสิ้น 11 คน แยกเป็นปัตตานี 4 คน ยะลา นราธิวาส 4 คน ยะลา 3 คน เวลานี้ยังยากจะตัดสินได้ว่าพรรคไหนจะคว้าที่นั่งในระบบเขตและคะแนนเสียงในระบบปาร์ตี้ลิสต์ได้มากที่สุด

พรรคมาตุภูมิของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ที่ประกาศความเป็น “พรรคมุสลิม” ก็หวังจะได้ที่นั่ง ส.ส.ในสามจังหวัดนี้มากที่สุด เพื่อให้เป้าหมายการเป็นพรรคที่มี ส.ส.อย่างน้อย 12 คนไม่พลาดเป้า โดยใน 11 ที่นั่งที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มาตภูมิวางไว้ว่าต้องเป็นพรรคที่ได้มากที่สุดคือ 6 ที่นั่ง

ประกอบด้วย ที่ จ.ปัตตานี รอบนี้ มุข สุไลมาน อดีต ส.ส.ปัตตานีหลายสมัยขอลงแก้มือในเขต 4 หากยังสอบตกโอกาสจะกลับมายากแล้ว อีกหนึ่งคนคือ อนุมัติ ซูสารอ ที่เคยลงแข่งชิงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้อันดับสองแต่ก็ได้คะแนน 7 หมื่นกว่าคะแนน ทำให้เป็นผู้สมัครที่พรรคมีความหวังอีกคน

ขณะที่ จ.นราธิวาส พรรคตั้งเป้าไว้คือ เขต 2 สามารถ วาหลง ที่แม้จะเคยแพ้ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วที่ลงกับพรรคพลังประชาชนแล้วได้แค่ 23,773 คะแนน แต่มาครั้งนี้มาลงในพื้นที่เดิมของ นัจมุดดีน อูมา อดีต ส.ส.นราธิวาสหลายสมัย ทำให้นัจมุดดีนจะลงมาช่วยให้ได้รับชัยชนะแม้เทียบตัวต่อตัวแล้วยังเป็นรองประชาธิปัตย์อยู่

ส่วนตัวนัจมุดดีนเองลงในเขต 3 ก็อาศัยลูกเก๋าน่าจะพอประคองตัวได้ อีกหนึ่งคนที่พลเอก สนธิหมายมั่นปั้นมือก็คือ กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ รอบที่แล้วลงเพื่อแผ่นดินทีมเดียวกับ นพ.แวมาฮาดี แวดาโอ๊ะ หรือ “หมอแว” ได้มา 40,655 คะแนน เมื่อหมอแวไม่ลงเขตทำให้กมลศักดิ์เลยเข้าไปเสียบฐานเสียงเดิมของหมอแว ที่สำคัญคือกมลศักดิ์เป็นหนึ่งในลูกทีมทนายความของทนาย สมชาย นีละไพจิตร ทนายความขวัญใจชาวไทยมุสลิมที่ถูกอุ้มฆ่า เลยทำให้ถือเป็นตัวเต็งคนหนึ่งที่บิ๊กบังเชื่อว่าน่าจะสู้ได้

พื้นที่ จ.ยะลา พรรคหวังไว้ที่ เขต 3 ของว่าที่ ร.ต.อับดุลฮาฟิช หิเล ที่เป็นอดีต ผอ.โรงเรียนอิสลามในพื้นที่เลือกตั้ง

ที่ยกมาคือตัวหลักๆ ของมาตุภูมิ และพรรคเชื่อว่าพอมีสิทธิ์ลุ้นชัยชนะ บนการชูจุดขายในพื้นที่ 2 เรื่องหลักคือ

จุดขายเรื่องแรก มาตุภูมิคือพรรคตัวแทนชาวไทยมุสลิม และพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หน.พรรคก็คืออดีตผู้บัญชาการทหารบก-ผู้นำรัฐประหารที่เป็นความภาคภูมิใจของชาวไทยมุสลิม

นอกจากนี้ ผู้สมัครระบบปาร์ตี้ลิสต์อันดับต้นๆ หลายคนก็เป็นอดีตนักการเมือง-ผู้นำชาวไทยมุสลิมที่ได้รับการยอมรับจากชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นลำดับ 3 ปาร์ตี้ลิสต์ อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ อดีต ส.ส.นราธิวาส-อดีต ส.ส.สัดส่วน,เด่น โต๊ะมีนา อดีต ส.ส.และ ส.ว.ปัตตานี หลายสมัย ทายาทตระกูลหะหยีสุหลง อดีตผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวไทยมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้ลำดับ 8 หรือไพศาล ยิ่งสมาน อดีต ส.ส.ยะลา ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับ 11 เป็นต้น

จุดขายเรื่องที่สอง คือ การชูจุดขายนโยบายการตั้ง “ทบวง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” จะเป็นหน่วยงานที่เข้ามาดูแลเรื่องภาพรวมจังหวัดชายแดนภาคใต้กับ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลาเป็นหลัก มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลปัญหาของพื้นที่และการพัฒนาด้านต่างๆ โดยตรง

แนวคิดนี้จะทำให้งบประมาณและโครงการต่างๆ อยู่ในการดูแลของทบวงดังกล่าวนี้ จะได้มีรัฐมนตรีทบวงนี้ที่เข้าใจปัญหาในพื้นที่ดีที่สุดไปเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีทุกวันอังคาร เวลามีปัญหาในพื้นที่หรือจะผลักดันโครงการพัฒนาต่างๆ จะได้รวมศูนย์ไว้ที่นี้เพียงแห่งเดียว

แม้ว่าแนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ทำให้พรรคใหญ่สองพรรคอย่างประชาธิปัตย์ และ เพื่อไทย หนักใจพอสมควรในการหานโยบายไปสู้กับมาตุภูมิ

โดยเฉพาะประชาธิปัตย์ที่ยังคงงัวเงียอยู่แต่กับเรื่องผลงานการยกระดับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าเป็นผลงานที่ประชาธิปัตย์ทำสำเร็จมาแล้ว ทั้งที่แม้ตอนนี้ ศอ.บต.จะมีการยกระดับองค์กรให้ใหญ่ขึ้นแต่ก็ยังแก้ปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ได้เลยแม้แต่น้อย เหตุความรุนแรงยังคงเกิดขึ้นทุกวันและหนักขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนเพื่อไทย หลังทักษิณ ชินวัตร ขายแนวคิดเรื่องการให้เลือกผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรงและการออกมายอมรับว่ามีการทำงานที่ผิดพลาดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนทำให้สถานการณ์ลุกลาม ถึงตอนนี้ เพื่อไทย ก็ยังไม่รับลูกทักษิณไปประกาศเป็นนโยบายอย่างจริงจังและยังไม่สามารถสร้างกระแสใดๆ ในพื้นที่ได้มากนัก

ขณะที่การลงพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่หวังจะไปสร้างกระแส “ปูแดงฟีเวอร์” ในพื้นที่ เดิมยิ่งลักษณ์มีข่าวว่าจะลงพื้นที่ภาคใต้รวมถึงมีข่าวว่าอาจจะแวะไปใน 3 จังหวัดภาคใต้แบบเช้าไปเย็นกลับเพื่อความปลอดภัยในสัปดาห์นี้ แต่ล่าสุดก็มีแนวโน้มว่าจะเลื่อนออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนดที่ชัดเจน

ทำให้ทีมเลือกตั้ง 3 จังหวัดภาคใต้ของเพื่อไทย เคว้งคว้างอย่างมาก 3 จังหวัดภาคใต้จึงเป็นจุดอ่อนของเพื่อไทยอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์กันด้วยหลักความเป็นจริงทางการเมือง การชูจุดขายเรื่องแนวคิดตั้งทบวง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของมาตุภูมิ ก็น่าคิดเช่นกันว่าจะทำได้จริงหรือไม่ เพราะการทำเรื่องนี้ต้องมีการไปออกกฎหมายในสภาผู้แทนราษฏร ลำพังแค่ยกระดับศอ.บต.พรรคประชาธิปัตย์กว่าจะผ่านได้ก็ต้องลัดคิวกฎหมายอื่นอีกหลายฉบับ

จุดอ่อนของมาตุภูมิก็คือ การเป็นพรรคเล็ก ดูแล้วได้ส.ส.ไม่น่าจะถึง 12 คน แต่การผ่านกฎหมายแค่วาระแรกก็ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งคือ 250 เสียง ถ้าดูสัดส่วนนักการเมืองไทย-มุสลิมที่เข้าไปเป็นส.ส.แต่ละครั้งทุกพรรคการเมือง รอบนี้ประเมินให้เต็มที่ทั้งระบบเขต-ปาร์ตี้ลิสต์ก็ไม่น่าจะเกิน 30 คน เรื่องตั้งทบวงแบบนี้เป็นเรื่องใหญ่ ต่อให้ส.ส.มุสลิมทั้งหมดเอาด้วยไม่มีการแบ่งค่ายแบ่งพรรค ก็ยังมีปัญหาว่าพรรคต้นสังกัดจะเอาด้วยหรือเปล่า

เพราะหากมาตุภูมิทำเรื่องนี้สำเร็จ ก็จะกลายเป็นผลงานของพลเอกสนธิและพรรคมาตุภูมิ พรรคอื่นแม้ร่วมสนับสนุนแต่ก็ไม่ใช่นโยบายที่ประกาศไว้ตอนหาเสียง

ข้อเสียเปรียบของมาตุภูมิอยู่ตรงนี้ นโยบายดีแต่พอถึงเวลาจริงแล้วทำไม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น