xs
xsm
sm
md
lg

พท.ไม่ฟังชะลอแก้รธน. แดงเหิมบุกศาลฯ ชี้เร่งแก้กม.ปลดล็อกยุบพรรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- "เพื่อแม้ว"ไม่สนคำสั่งศาลรธน.ที่ให้ชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน ออกแถลงการณ์อัดยับ ก้าวก่ายอำนาจนิติบัญญัติ เปิดสภาลากยาวรอจังหวะผ่านให้ได้ ทั้งแก้ไขรธน. -กม.ล้างผิดให้"แม้ว" แดงเปิดยุทธการม็อบชนม็อบ ระดมพลบุกศาลรธน.วันนี้ ด้านศาลรธน.เตรียมเปิด 5 คำร้องแก้รธน. เจตนาเปลี่ยการปกครองแบบพลิกฟ้า คว่ำแผ่นดิน "มีชัย" ชี้ คำวินิจฉัยศาลรธน.ผูกพันทุกองค์กร

วานนี้ ( 5มิ.ย.) นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวภายหลังการประชุมส.ส. พรรคเพื่อไทยว่า ที่ประชุมมีมติไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ที่รับพิจารณาเรื่องร้องคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมีคำสั่งให้สภาชะลอการโหวตรับร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 โดยเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตาม มาตรา 68 และไม่มีอำนาจให้องค์กรนิติบัญญัติ ชะลอการโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 จึงถือว่าเป็นการแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งพรรคเพื่อไทย จะดำเนินการอย่างไร จะต้องรอหารือกันในการประชุมรัฐสภาก่อน

อย่างไรก็ตาม ทีมกฎหมายของพรรคได้ทำการตรวจสอบ กฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 พบพิรุธ คือ รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ระบุไว้ชัดเจนว่า บุคคลจะใช้สิทธิ และเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญนี้ "หรือ" เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการ ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งพบว่าในการพิจารณาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีการเปลี่ยนแปลง คำเชื่อมจาก "หรือ" เป็น "และ" ซึ่งพรรคเพื่อไทย มองว่าเป็นการพิจารณาที่เร่งรีบจนพิมพ์ผิด หรือมีเจตนาจะแก้ไขหรือไม่ อีกทั้งในวรรคหนึ่ง ก็ระบุว่า ต้องส่งเรื่องให้อัยการพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงก่อน ดังนั้นการเร่งรีบแก้ไขกฎหมาย เพื่อรวบรัดพิจารณาจึงไม่สมควรที่จะเกิดขึ้น และมองว่าคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว มีนัยยะแอบแฝงหรือไม่

ทั้งนี้ นายพร้อมพงศ์ ยังกล่าวด้วยว่า พรรคจะต้องมีการตรวจสอบการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ผิดรัฐธรรมนูญต่อไป

สำหรับการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 8 มิ.ย.นี้ ในส่วนของพรรคเพื่อไทย จะมีการอภิปรายเรื่องที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ เพราะอะไร ส่วนการจะพิจารณาลงมติ วาระ 3 ได้หรือไม่นั้น เป็นอำนาจของประธานสภา ในการการกำหนดวัน ทั้งนี้ ยืนยันว่า พรรคเพื่อไทย มีความพร้อมในการประชุมสภาตลอดเวลา

****พท.ออกแถลงการณ์อัดศาลรธน.

นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทย ได้ออกแถลงการณ์ กรณีศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้รัฐสภา ชะลอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไข ร่าง รัฐธรรมนูญไว้ก่อน โดยมีใจความว่า พรรคเพื่อไทยเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 มีความชัดเจนในลายลักษณ์อักษรว่า การร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตาม มาตรา 68 ต้องร้องผ่านอัยการสูงสุด เพื่อให้อัยการสูงสุดวินิจฉัยในเบื้องต้น หากเห็นว่ามีกรณีการกระทำตาม มาตรา 68 อัยการสูงสุด จะเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หลักการนี้ปฏิบัติกันมาเช่นนี้โดยตลอด

นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของ มาตรา 68 ซึ่งมีความเช่นเดียวกันกับ มาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ 2540 ก็มีความชัดเจน และได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางในชั้นกรรมาธิการยกร่าง ว่า บุคคลไม่สามารถเสนอคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง ต้องผ่านองค์กรตามรัฐธรรมนูญ กรณีตามมาตรา 68 นี้ ต้องให้อัยการสูงสุดเป็นคนกรองเรื่องเสียก่อน ว่ามีมูลหรือไม่

**แนะส.ส.เข้าชื่อถอดถอนตุลาการฯ

นายประสพ บุษราคัม ประธานคณะกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน (กปพ.) ของสภาผู้แทนราษฎรกล่าวว่า ขอเรียกร้อง ส.ส. จำนวน 125 คน ยื่นเรื่องถอดถอนตุลาการทั้งหมด 8 คน ยกเว้น นายชัช ชลวร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีความเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้อง โดยยื่นเรื่องให้ประธานวุฒิสภา ดำเนินการถอดถอนตาม มาตรา 270 ต่อไป เพราะมีพฤติกรรมจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ถูกอีกฝ่ายมาก้าวล่วง นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญให้ไปแจ้งความอาญา ที่สถานีตำรวจ เพื่อเอาผิดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตาม มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

** สภาลากยาวชนสมัยประชุมหน้า

ทั้งนี้ นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกรัฐบาล ยังได้สอบถามถึงเรื่อง พ.ร.ฎ.ปิดประชุมรัฐสภาสมัยนิติบัญญัติ กับนายวรวัจน์ ซึ่งนายวรวัจน์ เล่าว่า หลังจากคุยกับวิปรัฐบาล แล้ว คงไม่ปิดประชุมสภาง่ายๆ หากต้องลาวยาวไปจนชนกับสมัยประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไปก็ต้องชน เพราะยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับยังไม่ได้พิจารณา ต่อให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะมาเรียกร้องให้ปิดก็ตาม

** "ค้อนปลอม"ยังลังเลโหวตวาระ 3

นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่ตัดสินใจเรื่องจะเรียกประชุมรัฐสภา เพื่อลงมติ ร่าง แก้ไขรัฐธรรนูญ วาระ 3 เพราะต้องการประชุมในส่วนของฝ่ายกฎหมายรัฐสภาก่อน เพื่อให้พิจารณาข้อกฎหมาย และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบรรจุวาระทั้งหมด ซึ่งคาดว่าภายในวันนี้ จะได้คำตอบ

" ยืนยันว่า ผมรับฟังทั้ง อัยการสูงสุด ศาลรัฐธรรมนูญ ฝ่ายค้าน รัฐบาล และกฤษฎีกา โดยจะพยายามทำให้ชัดเจน โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และขออภัยสื่อมวลชนด้วย ที่ไม่สามารถติดต่อได้ในขณะนี้ เพราะต้องการทำจิตให้ว่าง และใช้เวลาใคร่ครวญไตร่ตรองเรื่องต่างๆ" นายสมศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายสมศักดิ์ กล่าวว่าในวันนี้ (6 มิ.ย.) คณะกรรมการฝ่ายกฏหมายสภาผู้แทนราษฎรจะชี้แจงความคิดเห็นของสภาต่อคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมตอบคำถามสื่อมวลชนทุกประเด็นโดยตนจะไม่มารวมแถลงข่าวด้วย เพราะเป็นหน้าที่ของฝ่ายกฏหมายสภาฯ ส่วนการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 8 มิ.ย.จะมีการนัดหมายในกรณีพิเศษเพื่อพิจารณากฏหมายของรัฐบาลตามมาตรา 190 โดยไม่มีเรื่องการลงมติร่างรัฐธรรมูญในวาระสาม นอกจากนี้ในวันที่ 13 -14 มิ.ย.ก็จะมีการเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นกรณีพิเศษเช่นกัน และจะไม่มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปรองดองทั้ง 4 ฉบับเช่นกัน ดังนั้นกลุ่มที่ชุมนุมและเคลื่อนไหวคัดค้านก็ไม่ต้องกังวลและยุติการเคลื่อนไหวได้**โฆษกปธ.สภา สั่งถอยลงมติรธน.

**แดงระดมพลบุกศาลรธน.

ด้านกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นำโดย นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จ่าสิบเอกประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และนายสมหวัง อัษราศี แกนนำ นปช. ได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญ สั่งชะลอการพิจารณา ร่าง รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม วาระ 3 โดยนพ.เหวง กล่าวว่า คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 68 นั้นศาลรัฐธรรมนูญ กระทำการผิดรัฐธรรมนูญเสียเอง เหมือนเป็นการสถาปนาว่ามีอำนาจเหนือรัฐสภา และประชาชนทั้งประเทศ

ทั้งนี้ ในเบื้องต้น กลุ่มนปช. จะระดมล่ารายชื่อถอดถอนคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยเรื่องนี้ได้นำเรียนประธานส.ส.พรรคเพื่อไทยแล้ว และได้ส่งเอกสารให้ ส.ส.ของพรรคทุกจังหวัด ล่ารายชื่อ

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวครั้งนี้ ไม่ใช่มติของพรรคเพื่อไทย คาดว่าน่าจะได้รายชื่อประชาชนกว่าแสนรายชื่อ และกลุ่ม นปช.จะเรียกประชุมแกนนำ ที่ อิมพีเรียล ลาดพร้าว เพื่อหารือในกรณีที่เกิดขึ้น ในเวลา 17.00 น.

ด้านนายสมหวัง อัษราศี แกนนำนปช. กล่าวว่า วันนี้ (6มิ.ย.) จะระดมแนวร่วมคนเสื้อแดงทั่วกรุงเทพฯ เดินทางไปศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขับไล่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีคำสั่งชะลอการพิจารณาวาระ 3 ทั้ง 8 คน เพราะ ถือว่าเป็นการกระทำข้ามขั้นตอนชั้นอัยการ ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำสั่งมาจากใคร เหล่าอำมาตย์รอจัดการด้วยวิธีปฏิวัติเงียบใช่หรือไม่ ซึ่งขณะนี้คนเสื้อแดง ก็ได้เตรียมความพร้อมรับมือทุกสถานการณ์แล้ว

**นปช.เปิดเกมม็อบชนม็อบ

ที่ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียล ลาดพร้าว นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ นปช. (คนเสื้อแดง) สั่งการให้ทีมงานนปช. ตั้งโต๊ะเปิดให้คนเสื้อแดงมาร่วมเข้าชื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นวันแรก ตลอดทั้งวันคนเสื้อแดงที่ทยอยเดินทางมาร่วมลงชื่ออย่างเนืองแน่น

นอกจากนี้ยังมีการแจกจ่ายแบบฟอร์มของนปช.จำนวนกว่า 1 หมื่นชุด เพื่อให้นำออกไปกระจายแจกจ่ายทั่วประเทศ ตั้งเป้าไว้ว่าจะให้ได้ 1 ล้านรายชื่อ ใช้เวลา 1 เดือน

นางธิดา กล่าวว่า คนเสื้อแดงมีเหตุผลเพียงพอที่จะดำเนินการ เพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ ทำตัวเกินบทบาทหน้าที่ และเสมือนอยู่เหนืออำนาจตามรัฐธรรมนูญ หากนปช.ไม่ดำเนินการ ต่อไปอาจจะเกิดความวุ่ยวาย และจะกลายเป็นว่า อำนาจตุลาการนั้นอยู่เหนือทุกอย่างในประเทศ แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม และเป็นการป้องกันการรัฐประหาร โดยอำนาจของฝ่ายตุลาการ และวันที่ 24 มิ.ย.นี้ นปช.จะจัดให้มีการชุมนุมใหญ่ขึ้นที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเป็นการรำลึกวันครบรอบ 80 ปี ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองไทย โดยคณะราษฎร เมื่อปี พ.ศ.2475

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าแบบฟอร์มถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ของนปช. มีการระบุชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะยื่นถอดถอนรวมทั้งสิ้น 8 คน ยกเว้น นายชัช ชลวร เพียงคนเดียว

** แฉระดมเสื้อแดง-จนท.อุทยานฯเข้ากรุง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวานนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวย้ำกับที่ประชุมว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการนัดประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 3 หรือ พิจารณา ร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ในวันใด เพราะยังไม่มีการแจ้งอย่างเป็นทางการ

ดังนั้นระหว่างนี้จึงขอให้ ส.ส.ทุกคนมีความพร้อมตลอดเวลาที่จะเข้าร่วมประชุมสภาฯ เพราะคาดว่าอาจจะมีการนัดประชุมในวันที่ 8-9 มิ.ย.นี้

ทั้งนี้ได้ประเมินสถานการณ์ว่า อาจส่อเค้าที่จะมีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากการระดมคนเสื้อแดง ยังมีกระแสข่าวว่า มีการระดมเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ มาเข้ามาที่ กทม.หลายพันคน ซึ่งต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวด้วยว่า เป็นมาอย่างไร

****เตรียมเปิดเนื้อหา 5 คำร้องแก้รธน.

วานนี้ ( 5 มิ.ย. ) แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ให้สำนักงานฯ ทำการศึกษา 5 คำร้อง ที่มีการร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 50 อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ และให้มีการสรุปประเด็นเนื้อหาตามคำร้อง ก่อนที่จะให้ทีมโฆษกเป็นผู้ชี้แจงต่อสาธารณะเพื่อให้สังคมได้ทราบและเข้าใจว่า เหตุผลที่ศาลต้องรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา เพราะเป็นการร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ที่ให้อำนาจศาลในการรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

**ส่อเจตนาพลิกฟ้า คว่ำแผ่นดิน

แหล่งข่าวยังกล่าวอีกว่า แรงกดดันที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายของคณะตุลาการฯ เพราะในการประชุมพิจารณารับคำร้องดังกล่าวของคณะตุลาการ ฯ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ใช้เวลาในการถกเถียงมากกว่า 2 ชั่วโมง ถึงประเด็นที่จะเกิดขึ้นหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้อง ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวหาว่า ศาลฯไม่มีอำนาจรับคำร้อง เมื่อรับคำร้องแล้วสามารถมีหนังสือให้รัฐสภา ชะลอการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังไม่เกิดขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญจะไปรู้ได้อย่างไรว่า มีการกระทำที่ล้มล้างการปกครอง

“ อยากให้รอดูคำชี้แจง ที่ทีมโฆษกจะมีการชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นตามคำร้องทั้ง 5 คำร้อง ก็จะทราบว่า ผู้ร้องร้องว่า การแก้ไขรัฐธรมนูญที่มีเนื้อหาแน่ชัดแล้ว และกำลังจะพิจารณา วาระ 3 ซึ่งจะไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรอีก เพียงแค่ยกมือว่า จะรับหรือไม่รับเท่านั้น มีเจตนาที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองเป็นอย่างอื่น แล้วก็จะทราบว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้ เป็นเพราะว่าคำร้องเข้าตามองค์ประกอบของมาตรา 68 แล้ว ถ้าปล่อยให้ผ่านไป ก็เท่ากับว่าเปิดทางให้ทำอย่างนั้นขึ้นมาได้ แล้วรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในลักษณะให้ศาลใช้อำนาจในเชิงป้องกัน ก็จะใช้การอะไรไม่ได้ แล้วถึงตอนนั้น ใครจะรับรองได้ว่า จะไม่มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ไปในทางที่พลิกฟ้า พลิกแผ่นดิน”

ดังนั้น เมื่อมีการกล่าวหาในลักษณะนี้ การวินิจฉัยก็ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน เปรียบเหมือนโจทก์ ฟ้องว่าจำเลยฆ่าคน โจทก์ก็ต้องหาพยานหลักฐานมาแสดงให้ศาลเห็นว่า จำเลยฆ่าคนจริง ขณะที่จำเลยต้องหาหลักฐานมาพิสูจน์ว่า ตนเองไม่ได้ฆ่าคนตามที่จำเลยกล่าวหา กรณีนี้ จึงขึ้นอยู่กับการไต่สวน หากผู้ถูกร้องมีความสุจริต ก็หาพยานหลักฐานมาแสดงให้ได้ ว่าไม่มีเจตนาที่จะทำอย่างนั้น รวมถึงให้ความมั่นใจได้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มันจะไม่เป็นการพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินเรื่องก็จบ

ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยเ น้นย้ำว่า การยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตาม มาตรา 68 นั้นเป็นอำนาจของอัยการสูงสุดเพียงฝ่ายเดียว แหล่งข่าว กล่าวว่า ในการพิจารณาของคณะตุลาการฯ เห็นว่าหากรัฐธรรมนูญมีเจตนาเช่นนั้น ต้องมีการเขียนบทบัญญัติไว้ดังเช่น รัฐธรรมนูญ มาตรา 262 ที่บัญญัติว่า กรณี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พบว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ใดมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ให้ส่งเอกสารพร้อมรายงานผลการตรวจสอบไปยังอัยการสูงุด เพื่อดำเนินคดีอาญา กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคสอง ที่บัญญัติ ว่า หากป.ป.ช.มีมติว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใดหรือ ตุลาการ ผู้พิพากษา มีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ ให้มีการส่งเอกสารและรายงานพร้อมความเห็น ไปยังประธานวุฒิสภา เพื่อดำเนินการถอดถอน และอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

แต่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 68 บัญญัติ ให้ผู้ทราบการกระทำที่เป็นการล้มล้างฯ ย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งในเรื่องของสิทธิ หากเกี่ยวข้องกับการพิทักษ์รักษาสิทธิของประชาชน ต้องตีความอย่างกว้าง แต่ถ้าเป็นเรื่องที่มีผลต่อการจำกัดสิทธิที่เป็นผลร้ายต่อประชาชนจะต้องตีความอย่างเคร่งครัด ดังนั้นถามว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นเรื่องของการพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน จะให้จำกัดสิทธิเฉพาะผู้ยื่น ว่าเป็นอำนาจของอัยการสูงสุดแต่เพียงฝ่ายเดียวได้หรือ

**ลุกลี้ลุกลนจะปลดล็อกม.309-ม.237

นอกจากนี้ยังมองว่า ที่พรรคเพื่อไทย เร่งรีบในการที่จะเดินหน้าให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เพื่อต้องการที่จะปลดล็อกรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 และ 237 เพื่อให้การทำงานของคตส.นั้นไม่มีผล ใช้ไม่ได้ และนำไปสู่การยกเลิกคำพิพากษาในคดีที่คตส. เป็นผู้ดำเนินการไว้ และเพื่อยกเลิกการยุบพรรค ซึ่งที่มีการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเข้ามาให้สภาพิจารณา ก็เพื่อหยั่งกระแส เมื่อเห็นว่ามีการต่อต้านมาก ก็พักไว้ และมาเดินหน้าในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน โดยจะรื้อรัฐธรรมนูญเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรยุติธรรม ซึ่งไม่ใช่การยุบ แต่จะเป็นการเปลี่ยนระบบการสรรหาตัวบุคคลเข้ามาผู้พิพากษา ตุลาการใหม่ ดังนั้น จึงจะดันเรื่องพ.ร.บ.ปรองดองต่อไป เพื่อรองรับการกลับมาของนายใหญ่

** จี้สภาทบทวน 3 ประเด็นแก้รธน.

นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้มีการหารือถึงสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นว่า ขณะนี้เกิดปัญหาหลายเรื่อง โดยเฉพาะการพิจารณาลงมติ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้ผู้ตรวจการฯ มีความกังวล เนื่องจากก่อนหน้านี้ ทางผู้ตรวจการฯ ได้พิจารณาความเห็นของคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ยกร่างเสนอความเห็น ว่า บทบัญญัติ มาตรา 291 เห็นว่า ข้อเสนอแนะทั้ง 3 ประเด็นที่ได้เสนอไปยังรัฐสภา ประกอบด้วย

ประเด็นที่ 1 การบัญญัติให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโอการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นการชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

ประเด็นที่ 2 การที่ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้วินิจฉัยว่า ร่างรัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ เปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ ตนเป็นว่าเป็นประเด็นที่สำคัญ เนื่องจากเห็นว่าผู้ที่ดำเนินการเอง เขียนเอง ทำเอง ตรวจสอบเอง เป็นลักษณะไม่มีการถ่วงดุล

ประเด็นที่ 3 เมื่อประชาชนได้ลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ควรจะดำเนินการต่อไป อย่างไร ซึ่งในประเด็นดังกล่าว ผู้ตรวจการเห็นว่า กรณีประชาชนออกเสียงลงประชามติแล้ว น้ำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์ หากทรงยับยั้งแล้วส่งกลับไปให้รัฐสภาลงมติยืนยันโดยอนุโลม ตามมาตรา 150 และ มาตรา 151 มาใช้บังคับนั้น ผู้ตรวจการฯเห็นว่า ไม่ควรบัญญัติในลักษณะเช่นนี้ เนื่องจากเป็นกฎหมายสูงสุด

นายศรีราชา กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเห็นว่า ควรที่จะเสนอเรื่องดังกล่าวไปยังประธานรัฐสภาอีกครั้ง เพื่อให้ทบทวน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 3 เป็นไปโดยสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย และหลักการตรวจสอบ ถ่วงดุล ระหว่างอำนาจอธิปไตย

***หนุนศาลรธน. มีอำนาจตีความ

อย่างไรก็ตาม ผู้ตรวจฯเห็นว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ออกไปก่อนนั้น ส่วนตัวยังเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะมีอำนาจในการพิจารณา ถึงแม้ไม่มีบทบัญญัติที่ชัดเจน แต่ก็เป็นองค์กรที่มาหยุดยั้งความขัดแย้ง หรือมาอุดช่องว่างในการแก้ไขปัญหาประเทศได้

**"มีชัย"ชี้คำวินิจฉัยศาลรธน.มีผลผูกพัน

ที่ เว็บไซต์มีชัยไทยแลนด์ดอทคอม ของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 มีผู้ใช้นามว่า นักศึกษานิติศาสตร์ สอบถาม นายมีชัย ว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสอง กรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าว ย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญา ต่อผู้กระทำการดังกล่าว

ข้อความนี้อาจตีความได้ 2 นัย คือ (1) ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิ “เสนอเรื่อง” ให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และ “ยื่นคำร้อง” ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว หรือ (2) ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุด “ตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้อง” ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว มี 7 คนเห็นตาม (1) และ 1 คน เห็นตาม (2) หากจะตีความตามหลักกฎหมายอย่างแท้จริง ควรจะตีความอย่างไรให้ถูกต้อง

นายมีชัย ตอบว่า เห็นสื่อรายงานว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วไม่ใช่หรือ ถ้าได้มีการวินิจฉัยแล้ว ก็คงต้องไปดูรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรคห้า ที่บัญญัติว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ

** ฝ่ายค้านไม่ร่วมลงมติวาระ 3

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงประเด็นการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า วิปฝ่ายค้านเห็นว่า

1.ประธานสภาจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ทำตามที่ ส.ส.พรรคใดพรรคหนึ่ง ที่พยายามดื้อแพ่งให้มีการนัดประชุม ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้ชะลอการดำเนินการลงมติในวาระ 3 ซึ่งทั้งศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ยื่นคำร้อง ได้ทำถูกต้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ทุกประการ

2. การชะลอการลงมติในร่างรัฐธรรมนูญใน วาระ3 ไม่ได้เป็นการทำให้รัฐสภาขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เพราะตาม มาตรา 291(5) ได้บัญญัติ ว่า หลังจากพิจารณาในวาระ 2 ต้องเว้นไว้ 15 วัน ก่อนที่จะลงมติในวาระที่ 3 แต่หากพ้นจากระยะเวลาดังกล่าว ก็ไม่มีผลที่จะทำให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งการชะลอออกไปก่อนนั้น ก็จะมีเพียงปัญหาเดียวคือ รัฐธรรมนูญที่ล็อกสเปกสะดุดลงไม่เป็นไปตามเป้า ที่ใบสั่งกำหนด

3. ส.ส.และอดีตส.ส.บางคนที่ระบุว่า การสั่งชะลอของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการก้าวก่ายอำนาจนิติบัญญัตินั้น เป็นความเห็นที่ต้องการให้เป็นประเด็นทางการเมือง เอาแต่ได้ และเกิดการเข้าใจผิด

" ถ้าประธานรัฐสภา จะดึงดันให้มีการลงมติในร่างรัฐธรรมนูญ วาระ 3 วิปฝ่ายค้านก็มีมติร่วมกันว่า จะไม่ร่วมลงมติ เพราะเห็นว่า ควรต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ และเห็นว่า หากมีการลงมติไปแล้ว จะทำให้มีปัญหาต่อไปในอนาคต "

** “สุกำพล”มั่นใจไม่มี”ปฏิวัติ”

พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณี นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช. ระบุว่า จะมีการปฏิวัติรัฐประหารในช่วงนี้ว่า ตนดูแลทางด้านการทหาร ขอยืนยันว่า ไม่มีการปฏิวัติ ไม่มีการเตรียมการ และไม่มีข้อบ่งชี้เหตุอะไรทั้งสิ้น

** ลั่นยุบพท.แผ่นดินจะลุกเป็นไฟ

นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวฝากถึงคนที่คิดร้ายกับบ้านเมือง และต้องการจะสร้างสถานการณ์ แผ่นดินจะลุกเป็นไฟถ้าวางแผนให้มีการกระบวนการล้มรัฐบาลอย่างไม่ถูกต้อง เชื่อว่าจะไม่สามารถหลีกเสียงการเผชิญหน้าได้เลย จะเกิดการต่อต้าน และปะทะกันอย่างรุนแรง
กำลังโหลดความคิดเห็น