xs
xsm
sm
md
lg

“ทักษิณ” พ่ายศึก-ถอยเพื่อรุก เตรียมแผนใหม่เดินเกมแรงแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทักษิณ ชินวัตร
รายงานการเมือง

การรีบร้อนออกมาปฏิเสธของ “วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล” รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มีหน้าที่ประสานระหว่างฝายรัฐบาลกับสภาผู้แทนราษฏร ว่าการประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคารนี้จะไม่มีการเสนอร่างพระกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรเข้าสู่การประชุม ครม.วันที่ 5 มิถุนายน 2555

เหตุเพราะเมื่อสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้สั่งการเป็นการด่วนตั้งแต่เมื่อค่ำวันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน ให้ทางสภาฯ ส่ง SMS บอกสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.-สว.ทั้งหมดว่านัดหมายเดิมที่จะมีการประชุมร่วมรัฐสภาในวันอังคารที่ 5 มิถุนายน และประชุมสภาฯ วันที่ 6-7 มิถุนายน ให้เลื่อนการประชุมออกไปทั้ง 3วัน

พูดประสาชาวบ้านก็คือ “งดประชุม”

เลยทำให้มีการคาดการณ์กันว่ามีแนวโน้มที่จะมีการขอปิดสมัยประชุมสภาฯ จากฝ่ายรัฐบาลและประธานสภาฯ เพราะเมื่อการลงมติโหวตรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ต้องยกเลิกไปหลังศาลรัฐธรรมนูญ “มีคำสั่งรับคำร้อง” ตามที่กลุ่มบุคคลต่างๆ 5 กลุ่มยื่น คำร้อง 5 คำร้อง เช่น กลุ่มสยามสามัคคีของพลเอกสมเจตน์ บุญถนอม สว.สรรหา-กลุ่ม ส.ส.ประชาธิปัตย์นำโดย วิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลาที่ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลขัดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 หรือไม่

และในบ่ายวันที่ 1 มิ.ย.ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้รัฐสภาระงับกระบวนการลงมติวาระ 3 ในวันที่ 5 มิ.ย.นี้

ขณะเดียวกัน เมื่อร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ มีปัญหาโดนแรงต้านอย่างหนัก ฝั่งเพื่อไทยยังหาทางออกไม่ได้กับการให้ ส.ส.ของพรรคเข้าไปโหวตในสภาฯ

การเลื่อนประชุมรัฐสภาและสภาฯ 5-7 มิ.ย.นี้ จึงเสมือนกับการถอยไปตั้งหลักชั่วคราวของทักษิณ ชินวัตร-เพื่อไทยและค้อนปลอม สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เพื่อคิดการใหม่หาทางแก้ปมปัญหาทีละอันก่อนว่าจะหาทางออกอย่างไรต่อไป

ในส่วนเหตุผลที่วรวัจน์อธิบายว่ายังไม่สามารถออก พ.ร.ฎ.ปิดประชุมสภาฯ ได้เพราะติดเงื่อนไขคือ มีความจำเป็นต้องเร่งออกกฎหมายสำคัญๆ บางฉบับ อาทิ พ.ร.บ.เรื่องการฟอกเงิน และพ.ร.บ.เรื่องการก่อการร้าย รวมถึงข้อตกลงระหว่างประเทศตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่ค้างการพิจารณาของรัฐสภาอีก 6 ฉบับอีกทั้งการที่ประธานสภาประกาศเลื่อนการประชุมสภาในวันที่ 6-7 มิ.ย.นี้จะมีผลให้ไม่สามารถออก พรฎ.ปิดสภาได้

วรวัจน์อาจไม่ใช่ระดับแกนนำพรรคที่สามารถตัดสินใจเรื่องสำคัญอะไรได้ในรัฐบาล แต่เมื่อ รมต.ในรัฐบาลยืนกรานว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องออก พ.ร.ฎ.ปิดประชุมสภาฯ ก็รับฟังไว้ก่อนระดับหนึ่ง

ส่วนเกมจะพลิกออกไปอย่างไร ฝั่งรัฐบาลเพื่อไทยจะแก้เกมกันแบบไหน หลังจากที่ยังตั้งหลักกันไม่ถูกเพราะ ส.ส.ของพรรคเข้าไปโหวตรับร่างพรบ.ปรองดองในสภาฯ ไม่ได้ และยังมึนอยู่กับเรื่องศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเรื่องชำเรารัฐธรรมนูญ

คาดว่า ในช่วงวันหยุด 3 วันสุดสัปดาห์นี้ แกนนำพรรคเพื่อไทยและรัฐบาล คงกำลังสุมหัวกันอยู่ว่าจะเดินหน้าออก พ.ร.บ.ปรองดองอย่างไร จะสับขาหลอกแบบไหน เพื่อหนีกลุ่มประชาชนที่จะออกมาต่อต้าน

เช่น การเรียกประชุมสภาฯ ในสัปดาห์ถัดไป แล้วพอเข้ารัฐสภาไม่ได้ ก็หาสถานที่ประชุมใหม่ ซึ่งจะมีการเตรียมการหาที่เอาไว้และปิดเป็นความลับ หวังจะหนีประชาชน เพื่อไปโหวตรับร่าง พ.ร.บ.ปรองดองวาระแรกให้ได้

หรือจะยอมถอยตั้งหลักไปด้วยวิธีการต่างๆ เช่นให้ ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย ไปปรับแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ปรองดองบางมาตราหรือเขียนเพิ่มบางมาตรา โดยให้มีเนื้อหาโดนแรงต่อต้านน้อยที่สุดแล้วเสนอกลับมาใหม่หรือเสนอขึ้นมาใหม่เลย

โดยฝ่ายรัฐบาลจะออกมาบอกว่าจะเอาร่างฉบับแก้ไขใหม่นี้ แล้วดันขึ้นมาเป็นวาระพิจารณาวาระแรกเหมือนเดิม แล้วก็วางแผนค่อยไปปรับแก้ไขอีกทีในชั้นกรรมาธิการ และการโหวตวาระ 2 และ วาระ 3 ที่ฝ่ายรัฐบาลจะเตรียมการรับมือการต่อต้านได้ดีกว่าตอนนี้

วิธีการนี้ หากเพื่อไทยคิดจะทำโดยคิดว่าประชาชนตามไม่ทัน คนคิดนั่นแหละโง่ เพราะประชาชนรู้เท่าทันแน่นอน ถึงเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองขึ้นมาใหม่ต่อให้พยายามกันทักษิณออกจากการได้ประโยชน์จากร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ก็ต้องมีประชาชนไปรวมตัวต่อต้านที่หน้ารัฐสภาหรือตามไปจิกทุกที่เหมือนเดิม เพราะประชาชนรู้ดีว่าหากทำแบบนี้ก็เพียงเพื่อสับขาหลอก หวังจะทำทุกอย่างให้สภาฯโหวตรับหลักการวาระแรกไปก่อน แล้วค่อยไปแก้ปัญหาในภายหลัง

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าตอนนี้แกนนำพรรคเพื่อไทยและฝ่ายกฎหมายของพรรคก็คงต้องเร่งประชุมเตรียมการในการชี้แจงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เพราะเกิดความไม่ไว้ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น

เพราะในบรรดา ส.ส.ที่ร่วมกันเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก็มีหลายคนเป็นกรรมการบริหารพรรค แล้วหากว่าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะมีผลตามมาถึงขั้นยุบพรรคหรือไม่ พบว่าแกนนำเพื่อไทยหลายคนก็เริ่มห่วงในข้อกฎหมาย

น่าติดตามอย่างยิ่งว่า ทักษิณ-เพื่อไทย-เสื้อแดง จะทำอย่างไรกับกลยุทธ์ถอยเพื่อรอเดินหน้า พ.ร.บ.ปรองดองทำลายชาติครั้งใหม่ รวมถึงการตั้งรับในการสู้เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น แม้ตลอดสัปดาห์นี้ไม่มีการประชุมสภาฯ ที่จะทำให้อุณหภูมิการเมืองทั้งในและนอกรัฐสภาคลายความร้อนแรงไปได้มาก แต่เมื่อเห็นสัญญาณจากทักษิณ ชินวัตร ที่โฟนอินไปที่เวที “ครึ่งทศวรรษ ความจริงวันนี้” ที่ธันเดอร์โดม เมืองทองธานี เมื่อวันเสาร์ที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา

ซึ่งทักษิณแสดงอาการฉุนกึกที่ศาลรัฐธรรมนูญมาเบรกการแก้ไขรัฐธรรมนูญรวมถึงการพูดเป็นนัยเรื่อง “รู้เขาหลอกแต่เต็มใจให้หลอก” หลังมีกระแสข่าวว่า ข้อตกลงบางอย่าง ระหว่างทักษิณกับบุคคลบางกลุ่มไม่ลงตัวในการเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแบบรีบเร่ง และพูดว่าเงิน 4.6 หมื่นล้านที่ถูกศาลฎีกาฯ ตัดสินยึดทรัพย์ ก็เป็นเงินที่ถูกปล้นไป จึงแสดงให้เห็นว่า ทางทักษิณ-เพื่อไทยและเสื้อแดงคงไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ในเกมแก้รธน.และออกกฎหมายนิรโทษกรรม

เห็นได้จากที่ทักษิณและพวก ส.ส.เพื่อไทยเริ่มก่อหวอดความคิดไม่ยอมรับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญโดยพยายามจะหาช่องแย้งให้ได้ว่าศาล รธน.ไม่มีอำนาจรับคำร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“เวลานี้ขบวนการโค่นอำนาจประชาชนเริ่มขึ้นอีกแล้ว กรณีศาลรัฐธรรมนูญทำให้เห็นชัดเจนว่ากติกาบ้านเมืองไม่เหลือแล้ว ไม่รู้ว่าเอาอำนาจมาจากไหน แต่ได้สอบถามจนได้ความว่าศาลรัฐธรรมนูญเขียนระเบียบขึ้นเอง และนำระเบียบขึ้นมาอยู่เหนือกฎหมาย ซึ่งก็เพิ่งเคยเห็น ไม่ต้องคิดอะไรมาก เพราะกติกาไม่เหลือแล้ว

ใช้สองมาตรฐานอย่างนี้ไม่มีทางเลิกแตกแยก ความแตกแยกมีแต่จะเลวร้าย ถ้าเล่นกันอย่างนี้ต้องบอกประชาชนว่า จะยอมให้เขาปล้นอีกหรือ ขอให้ช่วยกัน”

มาตรการตอบโต้ของทักษิณ-เพื่อไทยและแดงจะมีอะไรบ้าง เริ่มแพลมๆ กันมาแล้ว ทั้งกรณี ที่ ส.ส.เพื่อไทยสาย นปช.อย่างจตุพร พรหมพันธุ์-ก่อแก้ว พิกุลทอง-วรชัย เหมมะ ออกมาขู่ว่าให้เสื้อแดงเตรียมตัวลงชื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกจากตำแหน่ง ยกเว้น ชัช ชลวร อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่เป็น 1 เสียงข้างน้อย ที่เห็นว่าศาล รธน.ไม่ควรรับคำร้องกรณีนี้

เห็นแบบนี้ก็รู้แล้วว่าเกมแรง เดินหน้า พ.ร.บ.ปรองดองและแก้ไขชำเรา รธน.ของทักษิณแอนด์เดอะแก๊ง ยังคงอยู่ ประชาชนอย่าได้วางใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น