xs
xsm
sm
md
lg

ถอดรหัสองศาเดือด ‘ศุกร์ 13’ บนเงื่อนงำเกมหักหลังเสื้อแดงต้านศาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - “รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก” วิเคราะห์ถึงผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งกรณีที่ศาลยกคำร้องหรือมีคำวินิจฉัยอันนำไปสู่การตัดสินยุบพรรคเพื่อไทย รวมถึงเงื่อนงำ ‘ฉากหลัง’ ที่หลายคนอาจไม่คาดคิด นั่นคือเกมหักหลังหลอกเสื้อแดงต่อต้านศาลจนหมดความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวแล้วสลัดทิ้งหลังผ่านวิกฤต

เวลานี้หลายฝ่ายต่างวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งในกรณีที่ศาลวินิจฉัย ‘ยกคำร้อง’ หรืออีกกรณีคือวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยพยายามผลักดันนั้นเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญและอาจนำไปสู่คำตัดสินยุบพรรค ซึ่งในกรณีหลังนี้ย่อมเป็นชนวนเหตุให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงจากฝ่ายคนเสื้อแดงซึ่งได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้อย่างชัดแจ้งว่าจะกรีธาทัพกันออกมาเพื่อต่อต้านคำวินิจฉัยของศาล

นอกจากประเด็นที่สังคมคาดการณ์กันไว้จากผลลัพธ์เพียง 2 ทางแล้ว มุมมองจากนักกฎหมายหนุ่มอย่าง รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ที่ให้สัมภาษณ์ ‘ASTVผู้จัดการออนไลน์’ นั้น นับว่าน่าสนใจยิ่ง ด้วยไม่เพียงวิเคราะห์ถึงผลลัพธ์ที่เป็นเพียงฉากหน้า หากยังวิเคราะห์ถึงเงื่อนงำในฉากหลังที่หลายคนอาจไม่คาดคิด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งข้อสังเกตว่าฝ่ายเสื้อแดงที่มุ่งแต่จะต่อต้านคำวินิจฉัยของศาลนั้น ท้ายที่สุดก็อาจตกเป็นเหยื่อของพรรคเพื่อไทยที่วางหมากรอไว้แล้วสำหรับการกลับมาทวงคืนอำนาจ แม้จะถูกตัดสินยุบพรรคก็ตาม

นอกจากนั้น นักกฎหมายผู้นี้ยังเตือนสติสังคมไทยรวมถึงฝ่ายที่ออกมาก่นด่าศาล ให้ลองทำความเข้าใจและตระหนักว่าหนึ่งในแก่นสำคัญหรือสารัตถะของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ นั้น ย่อมดำรงอยู่ได้ด้วยการที่ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการต่างทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุล และคานอำนาจซึ่งกันและกัน

ในเมื่อวันนี้ตุลาการกำลังทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหารอย่างเต็มกำลังความสามารถตามหลักแห่งการแบ่งแยกอำนาจ เช่นนั้นแล้ว คนเสื้อแดงที่เพรียกหาประชาธิปไตยจะก่นด่าศาลไปเพื่ออะไร และเพื่อใคร?

ศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมต้องถ่วงดุล คานอำนาจ และตรวจสอบ ‘การเมือง’

“ก่อนที่เราจะมาพิจารณาว่าด้วยบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญ และประเด็นเรื่องการรับคำร้องในมาตรา 68 นั้น ก่อนอื่นเลยผมว่าเราต้องพิจารณาโดยย้อนกลับไปดูความหมายที่แท้จริงว่าการที่ประเทศใดประเทศหนึ่งมี ‘อำนาจอธิปไตย’ ในตนเองนั้น คำว่า ‘อำนาจอธิปไตย’ หมายความว่าอย่างไร? มันหมายถึงการมีอำนาจ 3 อย่างในตนเอง”

อำนาจประการที่ 1 คืออำนาจในการที่จะออกกฎระเบียบ ออกกฎเกณฑ์ที่จะปฏิบัติในประเทศนั้นได้ด้วยตนเอง ขณะที่ประเทศซึ่งเป็นเมืองขึ้น เป็นอาณานิคมนั้นไม่สามารถออกกฎระเบียบ ไม่สามารถออกกฎเกณฑ์ด้วยตนเองได้

ประการที่ 2 คืออำนาจอธิปไตยในการที่จะบริหารระเบียบ กฎเกณฑ์ ที่เราวางเอาไว้ได้ รวมไปถึงสามารถดำเนินการให้คุณให้โทษหากมีผู้ใดละเมิดกฎเกณฑ์นั้นได้ ซึ่งประเทศที่เป็นเมืองขึ้นหรือไม่มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเองนั้น จะขึ้นอยู่กับประเทศแม่ที่จะเป็นผู้กำหนดว่าใครคือผู้ละเมิด และต้องดำเนินการอะไร อย่างไร

ประการสุดท้าย คือสามารถที่จะพิจารณาพากษาคดีโดยกระบวนการที่ชอบด้วยกฎระเบียบที่เราวางเอาไว้นั้น นี่คือความหมายของอธิปไตย

เมื่อเราเลือกการปกครองแบบประชาธิปไตย นั่นหมายความว่าอำนาจอธิปไตยนั้นอยู่ที่ ‘ประชา’ แล้วประชาชนทุกคนก็มอบอธิปไตยให้ตัวแทนนำไปทำหน้าที่ในแต่ละส่วน ในส่วนของรัฐบาลก็ต้องไปทำหน้าที่บริหารกฎหมาย ในส่วนของรัฐสภาก็รับหน้าที่ในการตรากฎหมายในส่วนนิติบัญญัติไป และในส่วนของฝ่ายนิติธรรม ตุลาการ ก็เป็นหน้าที่ของศาล

“แล้วในส่วนของการได้มาซึ่งตัวแทนนั้น ไม่จำเป็นต้องได้มาด้วยวิธีการเลือกตั้ง ได้มาด้วยวิธีอื่นก็ได้ ตราบเท่าที่อำนาจอธิปไตยยังอยู่ในประชา คือประชาผ่องถ่ายอำนาจนั้นไปให้แก่ตัวแทน เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการสรรหา แต่งตั้ง หรือเป็นการเลือกตั้ง ก็สามารถได้มาซึ่งตัวแทนหากประชาชนยอมรับในสิ่งนั้น

แต่ไม่ใช่ว่าใครก็ลุกขึ้นมาแล้วบอกว่าฉันจะเป็นตัวแทนประชาชนนะครับ เพราะตัวแทนต้องมาจากการที่มีประชาชนจำนวนมากเห็นเช่นนั้น หรือประชาชนจำนวนมากไม่คัดง้าง แม้อาจจะมีประชาชนสักหนึ่งล้านคนกรีธาทัพออกมาแล้วบอกว่าไม่เห็นด้วย แต่ถ้าประชาชนอีกสัก 60-70 ล้านคนเขาเฉยๆ อยู่ แปลว่าเขายังยอมรับในสิ่งเหล่านั้นได้ ก็แปลว่านี่แหละยังเป็นสิ่งที่เขาต้องการ”

“หรือถ้าประชาชนจำนวนหนึ่งไปเลือกพรรคนี้มาเป็นรัฐบาลจริง ก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนเหล่านั้นเลือกที่จะทำในสิ่งที่ขัดกับกฎหมายได้ ดังนั้น มันจึงมีการตรวจสอบด้วยวิธีอื่นอีก ไม่ใช่ว่าได้เสียงข้างมาก หรือได้เสียงจากประชาชนมาแล้วจะทำอะไรก็ได้ มันต้องมีกลไกในการตรวจสอบหลายอย่าง เพื่อให้อธิปไตยยังคงอยู่กับประชาชนทั้งประเทศ

หลายสิ่งหลายอย่างนั้นต้องผ่านรัฐสภา เพราะอะไร? เพราะแม้รัฐบาลจะได้เสียงข้างมากมาก็ตาม แต่รัฐบาลก็เป็นเพียงแค่คนกว่าครึ่งที่ได้รับเลือกตั้งมา แต่ถ้าเรามองรัฐสภาทั้งหมด รัฐสภาคือคนทั้งหมดที่ได้รับการเลือกตั้งมา แต่เราจะเอากลไกการเลือกตั้งเป็นหลักอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีกลไกอีกอำนาจหนึ่ง

ดังนั้น เมื่อเราทำความเข้าใจแบบนี้แล้ว เราอย่าเพิ่งไปมองว่าศาลรัฐธรรมนูญมาแบบไหน? รัฐบาลมาแบบไหน? รัฐสภามาแบบไหน? ใครได้เสียงมาก ใครได้เสียงน้อย ผมมาจากการเลือกตั้ง คุณมาจากการแต่งตั้ง นั่นลากตั้ง นั่นประชาชนตั้ง อย่าเพิ่งไปมองแบบนั้น แต่มองให้เห็นก่อนว่ากลไกการทำหน้าที่มันคืออะไร

แล้วเมื่อมองเห็นกลไกการทำหน้าที่แบบนี้แล้ว เราก็ลองมามองดูการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่ในทุกวันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญก็คือส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม ส่วนหนึ่งของอำนาจตุลาการ

เพราะฉะนั้น หน้าที่ของท่าน ก็คือต้องทำหน้าที่ตามหลักอธิปไตยร่วมกับอีก 2 ฝ่าย แล้วทั้ง 3 ฝ่ายนี่ทำหน้าที่อะไร นั่นก็คือการตรวจสอบซึ่งกันและกัน รัฐบาลตรวจสอบสภา สภาตรวจสอบรัฐบาล สภาตรวจสอบศาล ศาลตรวจสอบรัฐบาล รัฐบาลตรวจสอบศาล คือตรวจสอบกันไปตรวจสอบกันมา เป็นสามเหลี่ยมหมุนไปหมุนมาถ่วงดุลกัน นึกถึงโมบายล์ออกใช่ไหมครับ โมบายล์ที่เป็นสามเหลี่ยม ถ้าเอียงไปด้านหนึ่ง อันอื่นก็หมุนไม่ได้ เราต้องทำให้มันหมุนได้ ดังนั้น เมื่อเราเห็นภาพนี้แล้ว เราก็จะเข้าใจว่าศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่อย่างไร”

“ประเด็นต่อมา หากจะพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญเมื่อเปรียบกับศาลอื่นๆ เช่น ศาลยุติธรรมที่พิจารณาคดีในทางแพ่งและทางอาญา หรือศาลปกครองก็พิจารณาคดีปกครอง แต่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรื่องจำนวนมากในรัฐธรรมนูญคือเรื่องการเมือง และคำว่าการเมืองนี่มันเป็นเรื่องระดับใหญ่

หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญคือเป็นศาลการเมือง ทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุล และคานกับอีก 2 อำนาจ เพราะฉะนั้นจะบอกว่า ‘ศาลรัฐธรรมนูญไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง’ เป็นไปไม่ได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญต้องเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ถ้าบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องไม่เล่นการเมือง อันนี้ใช่ แต่ไม่ใช่ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่อยู่ในสนามการเมือง

ผมยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างนี้ กรรมการในการตัดสินกีฬาทุกๆ ชนิด เช่น กรรมการเทนนิสมือต้องจับที่เน็ตเทนนิสเพื่อจะได้รู้ว่าลูกมันโดนเน็ตหรือเปล่าตอนเสิร์ฟ จริงอยู่ ทุกวันนี้อาจจะมีเทคโนโลยีอย่างอื่นที่ทันสมัย แต่เมื่อก่อนต้องตรวจสอบความถูกต้องกันละเอียดแม่นยำแบบนี้

ส่วนกรรมการปิงปองก็ต้องยืนดูอยู่ข้างโต๊ะ กรรมการฟุตบอลยิ่งชัดใหญ่เลย ต้องวิ่งอยู่ในสนามกับนักฟุตบอล บางทีลูกบอลก็โดนตัวเองด้วย เพราะฉะนั้น นี่แหละคือศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในสนาม อยู่ในวงจรการเมืองเลย เมื่อเราเห็นภาพอย่างนี้ เราก็จะเข้าใจว่าการคานอำนาจเป็นอย่างไร และศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่อย่างไร”

ไขข้อกังขา ประเด็นมาตรา 68

“ถ้ามีคนบอกว่ามาตรา 68 ไม่ใช่หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ เราต้องให้ความเป็นธรรมว่ามาตรา 68 นั้นไม่ได้เขียนไว้ชัดเจน เขียนไว้ว่าให้อัยการไปตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมันตีความได้ 2 นัย

นัยแรก อัยการตรวจสอบข้อเท็จจริง และอัยการเป็นผู้ยื่นคำร้อง

นัยอีกอย่างก็คือ ในรายละเอียดก่อนที่จะเขียนว่าอัยการนั้น เขาบอกว่าผู้ร้องยื่นเรื่องให้อัยการตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็คือผู้ร้องยื่นเรื่องให้อัยการส่วนหนึ่ง แล้วอัยการก็ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง แล้วผู้ร้องก็ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ

มันตีความได้สองอย่าง คือถ้าเราตัดผู้ร้องออกไป มันก็เป็นแค่อัยการตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นอัยการทำ และสำนักงานอัยการ หรืออัยการสูงสุดท่านก็ออกมาบอกว่าท่านพิจารณาแล้ว หน้าที่ของอัยการต้องวินิจฉัยก่อน ถ้าเห็นว่าสมควรแล้วจึงค่อยยื่น ซึ่งมันไม่ใช่สิทธิของอัยการนะครับ มันเป็นสิทธิของผู้ร้อง

อัยการเพียงมีหน้าที่ในการรวบรวมข้อเท็จจริงและมีสิทธิที่จะไม่รวบรวมข้อเท็จจริงก็ได้ แต่ถ้าคุณไม่รวบรวมข้อเท็จจริงคุณก็ต้องเข้าใจนะว่าคุณทำผิดหน้าที่ หรือมีสิทธิที่จะรวบรวมข้อเท็จจริงแบบไหนก็แล้วแต่คุณ แต่คุณไม่มีสิทธิที่จะยื่นหรือไม่ยื่น คุณต้องยื่นครับ คุณต้องยื่นข้อเท็จจริง และเมื่อยื่นข้อเท็จจริงแล้ว จากนั้นคุณจะยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ มันก็ขึ้นอยู่กับการตีความว่าอัยการเป็นคนยื่นหรือเปล่า?

ถ้าตีความว่าอัยการต้องเป็นคนยื่น แล้วการที่อัยการออกมาบอกว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ อัยการจึงต้องวินิจฉัยก่อน ถามอัยการว่า คุณเป็นใคร? คุณอาจบอกว่าคุณเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญก็จริง แต่หน้าที่คุณไม่ใช่หน้าที่พิจารณารัฐธรรมนูญ ในเมื่อนี่เป็นเรื่องรัฐธรรมนูญ คุณต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ หน้าที่คุณคือตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ นี่เป็นในกรณีที่ตีความว่าอัยการต้องเป็นผู้ส่งคำร้อง

แต่ถ้าตีความว่าผู้ร้องเป็นผู้ส่งเอง คุณก็แค่ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเดียว แล้วคุณก็ส่งข้อเท็จจริงไป คุณไม่เกี่ยว ผู้ร้องเขายื่นคำร้องเองได้

ในเมื่อกฎหมายไม่ชัดเจนแบบนี้ ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องวินิจฉัย แล้วไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างไรก็ตาม ท่านเป็นศาลรัฐธรรมนูญ เราวิพากษ์วิจารณ์ได้ครับ เราไม่เห็นด้วยได้ครับ แต่เราจะไปกดดันให้ท่านเห็นด้วยกับเรานั้น ไม่ได้

หากเราจะบอกว่าทำไมเราไปโวยวายรัฐบาลได้ เราไปโวยวายรัฐสภาได้ ทำไมเราไปโวยวายศาลไม่ได้ ท่านทำได้ครับ แต่กลไกทั่วโลกมีข้อกำหนดในการให้ความเคารพแก่ศาล เหนือการให้ความเคารพแก่รัฐสภา เหนือการให้ความเคารพรัฐบาล เพราะอะไร? เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ทำหน้าที่ใกล้ชิดกับประชาชนในลักษณะของการทำงานร่วมกับประชาชนโดยตรง ศาลทุกๆ ศาลก็เช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้น ลักษณะการทำงานของท่านแตกต่างกันกับท่านที่เป็น ส.ส. ท่านที่เป็น ส.ว. ท่านที่เป็นรัฐมนตรี ท่านเหล่านั้นต้องคลุกคลีทำงานขลุกกับประชาชน ดังนั้นย่อมต้องถูกตรวจสอบจากประชาชน คนละรูปแบบกับศาล ไม่ใช่ว่าตรวจสอบศาลไม่ได้นะครับ ตรวจสอบศาลได้ เพียงแต่ว่าความใกล้ชิดนั้นไม่เหมือนกัน

เมื่อศาลท่านต้องมาพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับ ซึ่งท่านก็พิจารณาว่ารับแล้วนั้น มันไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องไปบอกศาลว่า ‘ไม่ได้ คุณต้องเห็นด้วยกับเรา’ แต่สิ่งที่เราต้องทำคือรอฟังว่าศาลท่านจะว่าอย่างไร?” 

ประเมินคำวินิจฉัย ทางที่ 1 ‘ยกคำร้อง’

 “ในตอนนี้เมื่อท่านรับคำร้องไปแล้ว เราก็ต้องมาดูกลไกการพิจารณาของท่าน สมมติว่าท่านพิจารณายกคำร้อง แล้วเราเฮโลสาระพาว่า ‘เห็นด้วยครับ เป็นไปตามที่เราคิดเลย’ แบบนี้น่าเกลียด หรือถ้าบอกว่า ‘ไม่เห็นด้วยเลย ไม่เป็นไปตามที่เราต้องการเลย’ เราก็เลยไปถล่มท่าน แบบนี้ก็น่าเกลียด 

 ผมยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติศาลยกคำร้อง โดยบอกว่าฝ่ายผู้ร้องมีข้อมูล รายละเอียด หลักฐาน การนำสืบอะไรต่างๆ ไม่ชัดแจ้ง แล้วเสื้อแดงเฮเลย จากที่ฮึ่มๆ จากที่คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ พูดว่าจะถล่มศาล ศาลเจอดีแน่ กลายเป็นไหว้ศาลเลย ขณะที่อีกฝั่งหนึ่ง สยามประชาภิวัฒน์เอย เสื้อเหลืองเอย บอกว่าศาลไม่ได้เรื่อง กรีธาทัพออกมาอีก แบบนี้ไม่ดีทั้งสองอย่างทั้งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหรือฝ่ายที่เคยฮึ่มๆ จะถล่มศาลแล้วเมื่อศาลยกคำร้องก็ไหว้ศาลบอกว่าดีมากครับท่าน เพราะฝ่ายที่เคยขู่ศาลก็จะนำไปพูดอีกว่าศาลกลัวข้า 
 
ดังนั้น ในกรณียกคำร้องก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา แดงอาจไม่เคลื่อน แต่สีเหลืองอาจจะออกมา แบบนี้ไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ศาลยกคำร้องก็ยกไป ใครเห็นว่าท่านยกคำร้องแล้วรู้สึกว่าศาลทำหน้าที่ไม่เหมาะสม จะถอดถอนท่านก็ทำไปตามกลไกกฎหมาย 

นี่คือการที่ประชาชนตรวจสอบศาล ไม่ใช่เอาของไปขว้างปาศาล ไม่ใช่ไปด่าทอท่าน เขียนบทความจะวิพากษ์วิจารณ์ศาลก็ได้ แต่ก็เขียนให้เหมาะ การด่าศาลกับด่านักการเมืองนั้นกลวิธีต่างกัน นักวิชาการทั่วโลกเวลาจะวิจารณ์การเมืองหรือวิจารณ์ศาลกลวิธีลักษณะการนำเสนอก็แตกต่างกัน” 

ทางที่ 2 ‘ขัดรัฐธรรมนูญ’

“ถ้าคำวินิจฉัยออกมาในลักษณะว่าขัดรัฐธรรมนูญ การแก้ไขมาตรา 291 มันขัดมาตรา 68 ก็ต้องดูว่าขัดอย่างไร? ขัดในแง่ของการล้มสถาบันพระมหากษัตริย์หรือเปล่า ก็คือล้มระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถ้าถึงขั้นนั้น คนเสื้อแดงคงกรีธาทัพมาถล่มศาลรัฐธรรมนูญกันยับเยินเลย

แล้วถ้าเป็นแบบนั้น สิ่งที่จะต้องตามมาอีกก็คือนี่ถือเป็นโทษร้ายแรง อาจต้องไปยุบพรรค คราวนี้ก็ยิ่งเละเทะไปใหญ่เลย และทางฝ่ายเหลืองหรือฝ่ายอื่นๆ ในกรณีที่ศาลวินิจฉัยออกมาในลักษณะว่าขัดรัฐธรรมนูญ และไม่ได้ขัดเฉยๆ นะครับ ขัดแบบล้มระบอบการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แล้วฝ่ายเสื้อเหลืองก็ออกมาสนับสนุนศาล ขณะที่แดงก็กรีธาทัพออกมา คราวนี้ก็อาจจะหักล้างกัน ถ้ายิ่งจะยุบพรรคด้วยก็ยิ่งซัดกันเละเลย

แต่ถ้าในอีกแง่หนึ่ง คือศาลวินิจฉัยว่าไม่ถึงขั้นที่จะล้มการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่เป็นเพียงแค่เป็นการได้มาด้วยอำนาจอันไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อาจจะไม่เป็นความผิดถึงขั้นต้องยุบพรรค เพราะฉะนั้นก็ยกเลิกเพิกถอนสิ่งที่คุณทำไป แต่แม้จะเป็นแบบนี้ผมก็เชื่อว่าแดงก็ออกมาอยู่ดี เพราะคุณณัฐวุฒิเขาพูดอยู่แล้ว แดงอื่นๆ ก็พูด สมาชิกพรรคเพื่อไทย คุณเฉลิม ใครต่อใครที่เคยพูดๆ ไว้ ก็ต้องออกมาถล่มศาล

ทีนี้ถ้าไม่ถึงขั้นยุบพรรค หากถล่มก็อาจถล่มขั้นน้ำจิ้ม เพราะกลไกมันเริ่มใหม่กันได้ มันอาจไม่ถึงขั้นถอนรากถอนโคน และจริงๆ แล้วในเมืองไทยแม้จะยุบพรรคก็ไม่ถอนรากถอนโคนหรอก เหมือนตัดบัวยังเหลือใย งอกใหม่ได้ เหมือนเป็นการรานกิ่งไม้มากกว่า และบางทีการรานกิ่งไม้ก็อาจทำให้มันแตกหน่อขึ้นใหม่ได้ด้วยซ้ำไป”

“นี่คือการวิเคราะห์แบบทั่วไป เป็นหน้าฉากที่คิดว่ามันอาจจะเกิดขึ้น”

ทางที่ 3 ‘พรรคเพื่อไทย’ หักหลัง ‘คนเสื้อแดง’

“แต่ถ้าเราลองวิเคราะห์กันหลังฉาก ผมว่าหลังฉากมันมีเงื่อนงำอะไรมากพอสมควร ยกตัวอย่างเช่น บรรดาสมาชิกพรรคเพื่อไทยที่ไม่ได้ตั้งตนเป็นเสื้อแดงด้วยนั้น มีความคิดเห็นเหมือนพวกสมาชิกพรรคเพื่อไทยที่เป็นเสื้อแดงไหม? แล้วบรรดาพวกที่เป็นเสื้อแดงมาแต่เดิม และได้มีโอกาสเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย มีความคิดเห็นอย่างไร? และบรรดาพรรคเพื่อไทยที่ออกจากพรรคเพื่อไทยไปเป็นสมาชิกเสื้อแดงล่ะ จะมีความคิดเห็นอย่างไร?

เขาอาจจะมีกลไกความคิดง่ายๆ แบบนี้ก็ได้ว่า ‘ถ้าถูกยุบพรรคก็ดีนะ’ เพราะถ้าถูกยุบพรรคมันจะเกิดความจำเป็นอย่างดีที่ท่านจะต้องใช้บ้านเลขที่ 111 แล้วมันก็จะเกิดกลไกอันดีที่ทำให้เห็นว่าคุณยิ่งลักษณ์เธอได้รับความไม่เป็นธรรม ทั้งๆ ที่เธอมาจากการเลือกตั้งคะแนนเสียงถล่มทลาย ทุกอย่างถูกสถาปนาชัดเจน

เพราะฉะนั้น พรรคเพื่อทักษิณหรือพรรคอะไรก็แล้วแต่ ก็อาจจะถูกตั้งขึ้นมา แล้วคราวนี้คุณยิ่งลักษณ์ก็ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคเลย เพราะคุณยงยุทธหรือใครๆ ก็อาจจะโดนลงโทษจากการเป็นกรรมการบริหารพรรค เมื่อบรรดาบ้านเลขที่ 111 กลับมา ก็ได้รับเลือกตั้งเข้ามาอีก กลายมาเป็นรัฐมนตรี สบายเลย คราวนี้เสื้อแดงอาจจะไม่พอใจ เพราะมันกลายเป็นกลไกที่ทำให้เห็นว่า ‘โอ้โฮ! กูรบแทบตาย ถูกชุบมือเปิบ’ นั่นก็เพราะเขาตั้งพรรคใหม่ได้นี่ครับ

ถ้ามันเป็นกลไกแบบนี้ แม้เสื้อแดงอาจจะเฮกันออกมาถล่ม แต่สิ่งที่เสื้อแดงอาจจะเจอก็คือว่าทั้งรัฐบาลและรัฐสภาเขาส่งสัญญาณออกมาในระดับหนึ่งแล้วนะครับ คุณยิ่งลักษณ์บอกไว้เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่าไม่เป็นไร รัฐบาลเชื่อมั่นศาล ศาลว่ายังไงก็ว่าอย่างนั้น

ส่วนคุณสมศักดิ์ แม้แกจะไปบอกนายใหญ่อย่างไรก็แล้วแต่ อาจจะบอกว่ามันต้องโดนเราเหยียบ กระทืบทั้งหมด แต่ในความเป็นจริง สิ่งหนึ่งที่แกบอกนายใหญ่ก็คือ ‘เออ ปล่อยๆ มันไปก่อนเถอะ เรามีวิธีการอยู่’ นั่นก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า ‘ถอยได้นะ’ ดังนั้น ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัยออกมา ผมว่าพวกนี้ยอมถอยนะรับได้กับการตัดสิน แต่เสื้อแดงยอมไม่ได้ จะกรีธาทัพออกมา เราไม่ยอม

สิ่งเหล่านี้ที่ผมพูดมามันแสดงให้เห็นว่าตัวแทนท่านทำหน้าที่แล้วนะ เขาทำแบบนี้นะ แต่ท่านกำลังบอกว่า ‘ไม่ได้’ ‘ตัวแทนของท่านทำแบบนี้ไม่ได้’ แล้วในสายตาคนทั้งหลายทั้งปวงที่เขามองเข้ามาก็คือ ตัวแทนท่านทำผิดหน้าที่ตรงไหน? ศาลท่านก็ตรวจสอบแล้ว และศาลท่านก็ถ่วงดุลอำนาจ คานอำนาจด้วยการบอกว่า ‘เออ ไม่ได้นะ ไปทำมาใหม่นะ’ แล้วสภาก็บอกว่า ‘ไม่เป็นไร จะไปทำมาใหม่’ ซึ่งเขาอาจมีวิธีว่าถ้าอยากให้มาตรา 291 เป็นหน้าที่ของสภาใช่ไหม? ได้ครับ ตั้งกรรมาธิการวิสามัญร่างรัฐธรรมนูญขึ้นในสภา มีส่วนประกอบทั้งผู้แทน ส.ส. ส.ว. ทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ อะไรก็แล้วแต่ ร่างแล้วก็ส่งให้สภา ถามว่าทำได้ไหม? ทำได้ ถ้าเห็นว่าศาลไม่ให้ออกเป็นฉบับใหม่ เขาก็ไม่ออกเป็นฉบับใหม่ แต่ทำเป็นรัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับแก้ไข ฉบับที่ 3 ก็ได้ เรื่องสัญลักษณ์ก็ไม่แตะก็ได้ มันมีช่องทางอยู่นะครับ ช่องที่เขาจะขยับแบบนี้ แล้วถ้าเขาขยับแบบนี้ เสื้อแดงทำอย่างไรครับ เสื้อแดงเคว้งนะครับ?

เมื่อเขาซ่อนเงื่อนแบบนี้คนที่ได้ประโยชน์คือพรรคเพื่อไทย แล้วไม่ใช่ว่าคุณทักษิณจะไม่ได้ประโยชน์ เพราะหากแก้ตามช่องทางนี้แล้ว แล้วเขาแสดงทีท่าเคารพศาล ‘ศาลตัดสินอย่างนี้ ผมยอมไม่กลับเมืองไทยก็ได้ ถ้าพ่อแม่พี่น้องไม่อยากให้ผมกลับ’

แต่ถ้าวันดีคืนดี คุณทักษิณอาจจะคิดว่าลองกลับมาอยู่คุกสักวันหรืออยู่คุกไปสักระยะเวลาหนึ่ง มันก็เป็นไปได้นะครับ แล้วถ้าเขาอยู่คุกครบกำหนดโทษแล้ว แล้วเขาบอก ‘คดีอื่นผมสู้’ ถ้าเช่นนั้นไอ้ที่ถูกกล่าวหาเรื่องเสื้อแดง เสื้อดำ ก็พูดยากแล้วนะครับ คราวนี้อำนาจเขาแข็งแรงกว่าเดิม แล้วอำนาจที่แข็งแรงที่สุดก็คือเขาเอาประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศต่อรองกับเสื้อแดง

จริงอยู่ วันนี้เสื้อแดงต่อรองกับพรรคเพื่อไทย เสื้อแดงกำลังรู้สึกและสถาปนาตัวเองว่าเขาคือคนที่ทำให้พรรคเพื่อไทยเป็นมาได้อย่างทุกวันนี้ แต่ถ้าหากพรรคเพื่อไทยเล่นแบบที่ผมว่ามา คือโยนกลับไปที่การเลือกตั้ง แล้วประชาชนก็เลือกเขาอยู่ ทั้งที่เสื้อแดงไม่เห็นด้วยกับเขา แปลว่าประชาชนเลือกเขานะครับ ไม่ได้เอากับเสื้อแดง

ถ้าเป็นแบบนี้ก็แสดงให้เห็นว่าอำนาจเขากลับมายิ่งใหญ่ขึ้น เสื้อแดงจะทะเล่อทะล่าไปเผาบ้านเผาเมือง โวยวายเหมือนที่เคยทำไม่ได้นะ เพราะถ้าเขาทำแบบนั้น แล้วรัฐบาลบอกว่า ‘เราไม่เห็นด้วยกับการกระทำของพวกคุณแล้วนะ คุณอย่าไปทำอะไรแบบนี้’ คราวนี้คุณอ้วกแน่ เพราะฉะนั้น การที่คนเสื้อแดงเคลื่อนไหวแบบนี้คุณต้องระวัง หากปรากฏว่าอีกฝั่งหนึ่งกลับชิงโอกาสได้ดีกว่าคุณ โอกาสเขาก็กลายเป็นวิกฤตของคุณ”

“มันเกิดโอกาสในวิกฤตได้ แล้วมันก็เกิดวิกฤตในโอกาสได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับว่าโอกาสมันอยู่ในมือใคร”



สัมภาษณ์โดย : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
ถ่ายภาพโดย : ธัชกร กิจไชยภณ
กำลังโหลดความคิดเห็น