xs
xsm
sm
md
lg

ศาลยันมีอำนาจเต็ม เบรก"รธน." พธม.ประกาศพร้อมสู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ศาลรัฐธรรมนูญยันมีอำนาจเต็มสั่งสภาผู้แทนราษฎรชะลอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยันเพิกเฉยไม่ได้ เหตุคำร้องมีความเป็นไปได้ที่อาจจ้องล้มการปกครอง เผยหากยังดันทุรัง สภาฯ ต้องรับผิดชอบ แย้มโทษถึงขั้นยุบพรรค พันธมิตรฯ ย้ำหากเข้า 2 เงื่อนไข ล้มการปกครอง และช่วยโจร เจอกันแน่ ระบุดัน พ.ร.บ.ปรองดองเมื่อไร ยกระดับไล่รัฐบาลทันที

วานนี้ (6 มิ.ย.) นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยทีมโฆษกสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นำโดยนายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ นายสมฤทธิ์ ไชยวงค์ ได้แถลงชี้แจงถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้พิจารณาวินิจฉัยและมีคำสั่งให้สภาผู้แทนราษฎรชะลอการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ออกไปก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

นายพิมลแถลงว่า คำร้องที่มีการยื่น คณะตุลาการให้ความสำคัญในการพิจารณาอย่างรอบครอบ โดยดูไปถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 50 ที่มีรากฐานมาจากรัฐธรรมนูญ 40 ซึ่งในการพิจารณาของส.ส.ร.ปี 40 เกี่ยวกับสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ มาตรา 63 เดิมผู้ร่างมีเจตนาที่จะให้ผู้รู้เห็นการกระทำที่เป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีประมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีสิทธิเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดแล้วเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา เพื่อดำเนินการวินิจฉัย สั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ต่อมามีผู้ขอแปรญัญติ โดยพูดถึงถ้อยคำต่อจากการให้สิทธิยื่นอัยการสูงสุด โดยเพิ่มเติมว่าผู้ใดที่รู้เห็นการกระทำย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้ จนกลายมาเป็นมาตรา 63 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญปี 40 และยกทั้งบทบัญญัติดังกล่าวมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 50 เปลี่ยนเพียงคำว่า ผู้รู้เห็นการกระทำ มาเป็นผู้ทราบการกระทำ ศาลรัฐธรรมนูญ จึงวินิจฉัยว่าการดำเนินการตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ สามารถทำได้ 2 ช่องทาง คือ ยื่นผ่านอัยการสูงสุดและยื่นศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ การใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญไม่ได้ดูเพียงมาตรา 68 เพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูประกอบมาตรา 69 ที่ให้อำนาจบุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านการกระทำใดๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และมาตรา 70 ที่บัญญัติว่า บุคคลมีมีหน้าที่พิทักษ์ รักษาไว้ ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉะนั้นการตีความ รับคำร้องของศาลไม่ใช่ดูเฉพาะการมุ่งใช้สิทธิอย่างเดียว แต่หมายรวมถึง การกำหนดให้บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์ รักษาไว้ ซึ่งระบอบการปกครอง ซึ่งอยากทำความเข้าใจว่าศาลมีอำนาจในการรับคำร้องไว้พิจารณาเท่านั้น จะต้องมีการไต่สวนให้ได้ข้อเท็จจริงว่ามีการดำเนินการตามคำร้องจริงหรือไม่ จึงไม่อยากให้นำประเด็นทางการเมืองมาโยงกับประเด็นข้อกฎหมาย

ด้านนายสมฤทธิ์กล่าวเสริมว่า การกล่าวอ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปก้าวล่วงฝ่ายนิติบัญญัติ กรณีมีหนังสือให้ชะลอการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 นั้น ยืนยันว่าการประชุมตุลาการฯ ได้คำนึงถึงการใช้อำนาจอธิปไตยของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ที่ศาลจะไม่เข้าไปก้าวล่วง เนื่องจากเป็นองค์กรหนึ่งที่ใช้อำนาจอธิปไตยเช่นเดียวกัน ที่ศาลมีหนังสือถึงสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ก็เพราะเป็นหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญมาตรา 213 ที่ศาลจะมีคำสั่งไปถึงได้ เพื่อให้กราบเรียนประธานรัฐสภา ทราบว่า ศาลได้รับคำร้องไว้พิจารณา และเพื่อให้กระบวนการไต่สวนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย อำนวยความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย จึงขอให้รอการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

"หากหลังการไต่สวนแล้วศาลพบว่า ไม่มีความผิดตามคำร้อง กระบวนการต่างๆ ที่ได้ระงับไว้ก็จะเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการตามปกติ ซึ่งศาลได้เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวชี้แจง อย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ ซึ่งตามหลักสุจริตหากผู้ถูกกล่าวมีเจตนาสุจริต ย่อมต้องยินดีเข้ามาพิสูจน์ข้อเท็จจริงในกระบวนการพิจารณาของศาลว่าไม่คิดที่จะกระทำใดๆ ที่ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ เพราะการตรวจสอบเบื้องต้นของศาล อาจทำให้ถูกมองว่ากระบวนการต่างๆ สะดุดหยุดลง แต่ถ้าคิดถึงผลที่จะได้จาการตรวจสอบโดยศาล จะสร้างความเชื่อมั่นไม่เฉพาะกับคนไทยทุกคน แต่ยังจะสร้างความเชื่อมั่นกับอารยะประเทศว่าประเทศไทยเคารพกฎหมาย การถ่วงดุล การใช้อำนาจทั้งสามฝ่ายอย่างเหมาะสม มีหลักนิติธรรมในการบริหารประเทศ"นายสมฤทธิ์กล่าว

**ดันทุรังสภาฯ ต้องรับผิดชอบ
 

จากนั้นนายวสันต์ ได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนซักถาม พร้อมกับกล่าวว่า ตามคำร้องอ้างว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นผลให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 50 ทั้งฉบับ ซึ่งเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ ให้เป็นการปกครองอย่างอื่น ข้อกล่าวหาอย่างนี้ ใหญ่พอให้ศาลพิจารณาไหม เรื่องจะพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน เปลี่ยนแปลงการปกครอง จะให้เป็นอำนาจของอัยการสูงสุดเพียงอย่างเดียวหรือ และขณะนี้ ยังอยู่ในชั้นของการรับคำร้อง ซึ่งศาลไม่ได้ไปสั่งให้รัฐสภาหยุดการพิจารณา แต่มีหนังสือแจ้งไปยังสำนักเลขาฯ ที่เป็นหน่วยงานของรัฐว่าขอให้แจ้งประธานสภาฯ ส่วนสภาฯ จะดำเนินอย่างไรก็เป็นเรื่องของสภาฯ หากเกิดอะไรขึ้นสภาฯจะต้องรับผิดชอบ
สำหรับการที่เลขาสภาฯ ระบุว่า หนังสือขอให้ชะลอการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไม่มีผลผูกพันรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 ประกอบมาตรา 213 นั้น นายวสันต์กล่าวว่า ก็เป็นความเห็นทางกฎหมาย ที่นักกฎหมายตีความกันไป เก่งกันทั้งนั้น

***ไม่สนถูกกดดัน-ยื่นถอดถอน
 

เมื่อถามว่า หลายฝ่ายมองว่าศาลรัฐธรรมนูญทำเกินอำนาจ จะทำให้เกิดการรวมตัวของมวลชนกดดัน ถอดถอน และกลายเป็นปัจจัยให้นำไปสู่เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงทางการเมืองเร็วขึ้น นายวสันต์ กล่าวอย่างติดตลกว่า จินตนาการมากไปหน่อย กรุณาอย่าทานของเสาะท้องก่อนนอน เพราะจะทำให้ฝัน จริงๆ แล้ว จะใช้สิทธิ์อะไร จะถอดถอนก็ทำไป แต่ที่ว่าจะมีอะไรทำนองนั้นคงไม่ใช่

“ยืนยันไม่มีใครมาสั่ง ชี้นำเราได้ เราระวังมากกับการเข้าไปแตะต้องก้าวล่วงอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการทั้ง 9 คน เราไม่ใช่มนุษย์ทองคำ เรารู้ตัวดี ว่าเราไม่มีอำนาจอื่นใด นอกจากรัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ ตอนที่พิจารณาพระราชกำหนดเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม 4 ฉบับ คนภายนอกก็จะคิดว่าศาลจะไม่ผ่านให้ ซึ่งความจริง ศาลรู้ดีว่าดุลยพินิจการออกพระราชกำหนดเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร แต่เมื่อรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลในการตรวจสอบว่าการออกมีการตุกติกอะไรหรือป่าว เมื่อเราตรวจสอบแล้ว ไม่มีอะไรก็ผ่านให้ทุกครั้ง แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เขากล่าวหามาว่า จะเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วจะให้ศาลรัฐธรรมนูญเพิกเฉย ซึ่งเท่ากับว่า จะเปลี่ยนก็เปลี่ยนไป อย่างนั้นได้หรือ มันก็ต้องไต่สวนทวนความกันก่อน ซึ่งหากสภาฯ จะให้ความร่วมมือเลื่อนพิจารณาไปซักเดือนเศษก็ไม่เห็นเป็นอะไร เพราะคณะตุลาการก็คาดการณ์แล้วว่า 1 สัปดาห์หลังการไต่สวนจะมีคำวินิจฉัยได้“

***บอก"ปู"หัวหน้าอำมาตย์ตัวจริง
 

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายฝ่ายมองว่าศาลรัฐธรรมนูญตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง นายวสันต์ กล่าวว่า เข็มขัดสั้นไปหรือเปล่า (หมายถึงคาดไม่ถึง) พร้อมกับย้อนถามว่า จะเป็นเครื่องมือของใคร ฝ่ายไหน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่า การรับคำร้องถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของอำมาตย์หรือคนชนชั้นสูง นายวสันต์ย้อนถามผู้สื่อข่าวว่า ใครเป็นอำมาตย์ และใครเป็นหัวหน้าอำมาตย์ คนที่เป็นอำมาตย์ตัวจริง คือ นายกรัฐมนตรี ที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศไทย ความจริง ถ้าผู้ร้องยื่นร้องมาก่อนหน้านี้ เราก็จะมีเวลาในเรื่องของเวลาทำงาน แต่เขาก็มายื่นในสถานการณ์ขณะนี้ มันก็ทำให้ค่อนข้างวุ่นวาย ทุกประเด็นที่มีการกล่าวหาศาล คณะตุลาการฯ ได้คุยไว้ก่อนหน้านี้ไว้หมดแล้ว ว่าจะมีการโต้แย้งอะไรบ้าง
“ตามที่เขากล่าวหา ศาลฯ ก็เห็นว่ามันก็อาจเป็นไปได้ที่จะเป็นการล้มล้างการปกครองไปสู่ระบอบอื่น ซึ่งเราก็ต้องฟังผู้ถูกกล่าวหาก่อน สื่อเชื่อหรือไม่ว่าผู้ถูกกกล่าวหาจะสารภาพว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครองจริง แต่คิดว่าเขาคงไม่รับก็ให้ปฏิเสธมา แต่ถ้าผู้ถูกร้องแอนตี้ ไม่มีการต่อสู้คดี จะให้ศาลรับฟังว่าอย่างไร สมมติว่า เขาฟ้องว่าคุณเป็นหนี้แล้วคุณก็เฉยๆ จะให้ศาลฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ตุลาการทุกคนเป็นห่วงบ้านเมือง ไม่มีใครอยากให้สถานการณ์ที่ทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้น เกิดขึ้น แต่ทุกคนต้องช่วยกันมาเข้าสู่กติกากันดีกว่ามาชี้แจงตามที่ศาลเปิดช่องทางให้อย่าคิดว่าตุลาการมีอคติ คนเป็นผู้พิพากษา ตุลาการ เขาถูกสอนมาแต่ดึกดำบรรพ์ ว่าอย่าพิจารณาโดยอคติ ซึ่งเราไม่เคยทำอย่างนั้น แต่เราก็มักจะถูกมองในด้านที่มีอคติ”

***ถ้าดันทุรังผ่านวาระ3โทษยุบพรรค
 

เมื่อถามว่า ถ้ารัฐสภา เดินหน้าประชุมพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ศาลฯ จะยังคงไต่สวนในวันที่ 5-6 ก.ค. หรือไม่ และคำวินิจฉัยของศาลฯ มีสภาบังคับย้อนหลังได้หรือไม่ รวมถึงบทลงโทษกับผู้ที่กระทำการล้มล้างเป็นอย่างไร นายวสันต์ กล่าวว่า สิ่งที่ถามเหตุการณ์เหล่านี้เป็นเรื่องอนาคตยังไม่เกิดขึ้น ถ้ามีการประชุมสภาพิจารณาวาระ 3 คณะตุลาการฯก็ต้องคุยกันว่าจะดำเนินการอย่างไรกันต่อไป และถ้าเดินหน้าไต่สวนแล้วมีคำวินิจฉัยจะมีผลย้อนหลังได้หรือไม่ ส่วนโทษหากพบว่ามีการกระทำล้มล้างฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 กำหนดว่า ให้ศาล สามารถสั่งให้หยุดการกระทำนั้นและอาจมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองหรือไม่ก็ได้ ซึ่งก็เป็นดุลยพินิจ ส่วนจะยุบพรรคการเมืองที่เป็นผู้เสนอร่างแก้ไข หรือพรรคการเมืองที่ส.ส. ยกมือโหวต ก็ต้องพิจารณากันอีกที

เมื่อถามว่า คิดหรือไม่ว่าสถานการณ์อาจจะมีความรุนแรง จนอาจจะไม่ได้อยู่ไต่สวนในวันที่ 5-6 ก.ค. นี้ นายวสันต์ กล่าวว่า ไม่น่ามีอะไรเกิดขึ้น คงไม่มีอะไรมาทำแบบนั้น และถ้าทำอย่างนั้นถือว่าเป็นการใช้อำนาจนอกระบบหรือไม่ ก็ไหนว่าไม่อยากให้มีอำนาจนอกระบบเข้ามาทำอะไร แล้วทำไมไม่เข้าสู่กติกา มาชี้แจง ตุลาการไม่ต้องไปทำอะไร แต่ละคนก็อายุมาก วันหนึ่งก็ตายแล้ว ต่อไปจะไม่พูด ไม่ให้สัมภาษณ์อีก เพราะไม่ใช่เด็กน้อยที่จะมาทะเลาะด้วยเป็นรายวัน

**อสส.รอประชุมลงความเห็นวันนี้
 

นายอรรถพล ใหญ่สว่าง รองอัยการสูงสุด ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีบุคคลและคณะบุคคล 6 ราย ยื่นหนังสือพร้อมหลักฐานให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่ 416 ส.ส.-ส.ว. เสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่า วันนี้ (7 มิ.ย.) เวลา 13.00 น. คณะกรรมการฯ จะร่วมประชุมกันเพื่อพิจารณาเอกสารที่ได้จากคำร้อง และที่ได้ขอเพิ่มเติมจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในการประชุม หากอัยการได้เอกสารครบถ้วน ก็สามารถมีความเห็นเสนอ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด ได้ทันทีว่าจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามมาตรา 68 ได้หรือไม่ ซึ่งอัยการจะต้องขอเอกสารมาตรวจสอบอย่างเป็นทางการก่อน ไม่ได้จะประวิงเวลาอะไร และที่ผ่านมา คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้มีการประชุมหารือกันโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมของคณะทำงานอัยการ จะยังไม่มีการแถลงข่าวแต่อย่างใด และถ้าไม่มีอะไรขัดข้อง คาดว่าน่าจะแถลงข่าวได้ในวันศุกร์ ที่ 8 มิ.ย.นี้

**“สนธิ”เตือนล้ำเส้น 2 เงื่อนไขเจอกัน
 

วานนี้ (6 มิ.ย.) ที่บ้านพระอาทิตย์ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวผลการประชุมแกนนำพันธมิตรฯ ถึงท่าทีในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ถ้าเมื่อใดก็ตามที่ร่างรัฐธรรมนูญมีเนื้อหาเข้าข่ายสองประการที่เราตั้งเป็นเงื่อนไขไว้ เราก็จะออกมาชุมนุม ส่วนเรื่องการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญในวาระ 3 หรือไม่นั้น ขอให้เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะต้องตกลงใจเองว่าจะฟังคำสั่งศาลหรือจะฝืนคำสั่งศาล เพราะถือว่าเราได้ทำหน้าที่สมบูรณ์แล้วในเรื่องนี้ เพราะศาลได้มีคำสั่งวินิจฉัยชี้ออกมาแล้ว หากไม่ทำตามก็เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเดินหน้าต่อไป

“อย่าได้ประมาทจุดยืนของพันธมิตรฯ ในสองเรื่องนี้ เรื่องมาตรา 112 สถาบันพระมหากษัตริย์ กับเรื่องการออกกฎหมายเพื่อล้างโทษ เรื่องอื่นจะโยกย้ายข้าราชการอย่างไร จะตั้งงบประมาณกันอย่างไร เป็นเรื่องของนักการเมืองต้องแก้กันเอง แต่ถ้ามาสองเรื่องนี้แล้ว เราถือว่าเราตีเส้นให้เรียบร้อยแล้ว ถ้าล้ำเส้นเมื่อไร เราพร้อมจะออกทุกเมื่อ และผมเชื่อว่าประชาชนคนไทยทั่วประเทศไทยพร้อมที่จะออกมายืนข้างหลังเส้นนี้ แล้วยันเพื่อไม่ให้ใครมาล้ำเส้นเส้นนี้ อยากจะเตือนไว้สักนิดนึง อย่าล้ำเส้น” นายสนธิกล่าว

***ยันสู้ไม่ถอยหากยังดันปรองดอง
ส่วน พ.ร.บ.ปรองดองนั้น เหตุที่เราต้องชุมนุมและเราไม่ถอย เพราะ พ.ร.บ.ปรองดอง เป็นการเอาเข้าไปตัดสินใจในสภาด้วยการยกมือ โดยใช้เสียงข้างมาก ไม่ฟังเสียงประชาชนทั่วประเทศ ซึ่ง พ.ร.บ.ปรองดองนี้ก่อนที่จะทำ หากมีการฟังเสียงประชาชนทั่วประเทศก่อน แล้วเอาผลของประชาชนมาประกอบการตัดสินใจ ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เราพิจารณาอย่างหนักว่าเราควรจะชุมนุมหรือไม่ชุมนุม แต่เพียงเพราะมีเสียงข้างมากในสภา แล้วจะใช้วิธีพวกมากลากไป พันธมิตรฯ พูดมานานแล้วว่าเราไม่ยอมเด็ดขาด และผลของการออกมาของพันธมิตรฯ ก็พิสูจน์ได้ชัดว่าประชาชนมีเป็นจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า วันที่จะมีการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 8 มิ.ย.นี้ จะไม่มีการชุมนุมออกมา นายสนธิกล่าวว่า พันธมิตรฯ จะไม่ยุ่ง ถ้าจะไปผ่านวาระ 3 เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทยกับศาลรัฐธรรมนูญต้องเผชิญหน้ากันเอง แต่ถ้าจะสอดแทรก พ.ร.บ.ปรองดองฯ เมื่อไร เราจะออกมาชุมนุมทันทีเลย
เมื่อถามว่ามั่นใจหรือไม่ว่าจะไม่มีการสอดแทรกวาระ พ.ร.บ.ปรองดอง นายสนธิกล่าวว่า ไม่แน่ใจ เพราะว่าไม่มีอะไรที่เชื่อใจรัฐบาลชุดนี้ได้ และอย่างที่เราเขียนในแถลงการณ์ชัดเจนแล้วว่าหากเอา พ.ร.บ.ปรองดองเข้ามา นอกจากจะประท้วงเรื่อง พ.รบ.ปรองดองแล้ว ก็จะยกระดับเป็นการไล่รัฐบาลด้วย และคราวนี้ยืดเยื้อเลย

**ย้ำดันพ.ร.บ.ปรองดองเจอยกระดับไล่
 

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวว่า การชุมนุมครั้งใหญ่นั้น พันธมิตรฯ ยังคงมีความจำเป็นต้องใช้การชุมนุมเพื่อเคลื่อนไหวต่อไป ภายใต้เงื่อนไข คือ 1.มีการดำเนินการใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือออกกฎหมายอื่นใด ที่มีความชัดเจนว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถาบันพระมหากษัตริย์หรือลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ 2.มีการดำเนินการใดๆ ก็ตามไม่ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือออกกฎหมายอื่นใดที่มีความชัดเจนว่าจะนำไปสู่การนิรโทษกรรมให้กับนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร และพวก และ3.เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองเข้าสู่สถานการณ์ความเหมาะสมที่ประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยครั้งใหญ่

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังอยู่ในระดับการคาดการณ์ วิเคราะห์ และประเมินเหตุการณ์ในอนาคตที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น จึงยังไม่สุกงอมเพียงพอที่จะเข้าเงื่อนไขการชุมนุมเคลื่อนไหวมวลชน แต่การดำเนินคดีอาญาต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และ/หรือถอดถอน และ/หรือยุบพรรค ก็กำลังดำเนินการต่อไป ดังนั้นรัฐสภา จึงต้องดำเนินตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ ตามมาตรา261 ก็ขอให้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญในการดำเนินการมาตรการต่อไป

อย่างไรก็ตาม หาก พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ เข้าสู่วาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อใด ขอยืนยันว่าจะเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างถึงที่สุด และพร้อมจะยกระดับการชุมนุมเพื่อให้รัฐบาลรับผิดชอบโดยทันที

***ตั้ง"ประพันธ์-ปานเทพ"แกนนำรุ่น2
พลตรีจำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า ที่ประชุมแกนนำพันธมิตรฯ รุ่น 1 และ 2 มีความเห็นเอกฉันท์ให้นายประพันธ์ คูณมี อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ มาเป็นแกนนำพันธมิตรฯ รุ่น 2 ซึ่งนายปานเทพต้องทำหน้าที่เป็นโฆษกพันธมิตรฯ อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

ลุงจำลองโต้"แม้ว"โกหกคำโต

ส่วนกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ต้องหาหนีคดีอาญาแผ่นดิน กล่าวระหว่างโฟนอินเข้าไปในงานคนเสื้อแดงที่เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. อ้างว่าตัวเองถูกกลั่นแกล้งด้วยการยึดทรัพย์ ทั้งที่รวยมาก่อนที่จะมาเป็นนักการเมือง ไม่เชื่อให้ไปถามพลตรีจำลอง เพราะตอนที่เชิญมาเป็น รมว.ต่างประเทศ เขามีเงิน 64,000 ล้านบาทอยู่แล้ว พลตรีจำลองกล่าวว่า ตนไม่รู้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีทรัพย์สินเท่าไร เพราะตอนนั้นคุณทักษิณไม่เคยบอกผม และผมก็ไม่ถาม เพราะไม่รู้จะถามไปทำไม

"ตอนนั้น ผมเอาแกมาเป็นนักการเมือง เนื่องจากว่ามีอยู่วันหนึ่งแกขับรถไปที่บ้านผม เนื่องจากบ้านผมอยู่ไม่ไกลจากตึกชินวัตร ตึกเก่า แกก็บอกกับผม โดยใช้คำพูดที่เรียกกันเป็นภาษาพูดธรรมดาๆ แบบคนที่เคยเรียนเตรียมทหารมาด้วยกัน ก็เป็นพี่เป็นน้องกัน แกก็บอกกับผมว่า พี่ ในทางธุรกิจผมพอแล้วนะ ผมกินใช้เท่าไรก็ไม่หมด ผมอยากจะทำงานการเมือง ผมเป็นคนขี้เกรงใจคน เกรงใจไปหมดเลย ผมบอกคุณทักษิณ คุณไปตั้งพรรคใหม่เอาดีกว่า ถึงแม้ว่าตอนนี้ ผมยังเป็นพรรคพลังธรรมอยู่ก็ตาม คุณไปตั้งพรรคใหม่ คุณจะได้ทำตามที่คุณคิดทุกอย่าง ไม่ต้องมาทำตามกรอบของพรรคเก่าๆ ที่เขาวางไว้แล้ว คุณทักษิณแกก็หายไป แล้วต่อมาแกก็บอกผมว่า ตั้งไม่ได้ หลังจากนั้นก็เลยมีเรื่องสืบเนื่องกันมา”พลตรีจำลองกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น