xs
xsm
sm
md
lg

“วสันต์” ย้ำศาล รธน.มีอำนาจรับเรื่องเหตุมีข้อกล่าวหาล้มการปกครอง ปัดก้าวล่วง เตือนสภาฯ ลงมติต้องรับผิดชอบเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ประธานศาลรัฐธรรมนูญ” ยันมีอำนาจไต่สวนข้อกล่าวอ้างที่ระบุว่าร่างแก้ รธน.ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย จึงได้รับคำร้องไว้พิจารณาตาม ม.68 และเสนอความเห็นไปยัง ปธ.รัฐสภา เพื่อขอให้ชะลอการลงมติวาระ 3 ไม่ใช่เป็นการก้าวล่วงฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ เพราะยังไม่มีคำวินิจฉัย อีกทั้ง 9 ตุลาการไม่ใช่มนุษย์ทองคำ แต่หากสภาฯ จะเดินหน้าลงมติก็ต้องไปรับผิดชอบกันเอง


วันนี้ (6 มิ.ย.) ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยทีมโฆษกสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นำโดยนายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ นายสมฤทธิ์ ไชยวงค์ ได้แถลงชี้แจงถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้พิจารณาวินิจฉัยและมีคำสั่งให้สภาฯ ชะลอการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ออกไปก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

โดยนายพิมลแถลงว่า คำร้องที่มีการยื่นคณะตุลาการให้ความสำคัญในการพิจารณาอย่างรอบครอบโดยดูไปถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 50 ที่มีรากฐานมาจากรัฐธรรมนูญ 40 ซึ่งในการพิจารณาของ ส.ส.ร.ปี 40 เกี่ยวกับสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ มาตรา 63 เดิมผู้ร่างมีเจตนาที่จะให้ผู้รู้เห็นการกระทำที่เป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีสิทธิเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดแล้วเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเพื่อดำเนินการวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ต่อมามีผู้ขอแปรญัญติโดยพูดถึงถ้อยคำต่อจากการให้สิทธิยื่นอัยการสูงสุด โดยเพิ่มเติมว่าผู้ใดที่รู้เห็นการกระทำฯ ย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้ จนกลายมาเป็นมาตรา 63 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญปี 40 และยกทั้งบทบัญญัติดังกล่าวมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 50 เปลี่ยนเพียงคำว่า ผู้รู้เห็นการกระทำ มาเป็นผู้ทราบการกระทำ ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า การดำเนินการตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ สามารถทำได้ 2 ช่องทาง คือ ยื่นผ่านอัยการสูงสุด และยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ

“การใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญไม่ได้ดูเพียงมาตรา 68 เพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูประกอบมาตรา 69 ที่ให้อำนาจบุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านการกระทำใดๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และมาตรา 70 ที่บัญญัติว่า บุคคลมีมีหน้าที่พิทักษ์ รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉะนั้น การตีความรับคำร้องของศาลไม่ใช่ดูเฉพาะการมุ่งใช้สิทธิอย่างเดียว แต่หมายรวมถึง การกำหนดให้บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ ซึ่งระบอบการปกครอง ซึ่งอยากทำความเข้าใจว่าศาลมีอำนาจในการรับคำร้องไว้พิจารณาเท่านั้น จะต้องมีการไต่สวนให้ได้ข้อเท็จจริงว่ามีการดำเนินการตามคำร้องจริงหรือไม่ จึงไม่อยากให้นำประเด็นทางการเมืองมาโยงกับประเด็นข้อกฎหมาย”

นายสมฤทธิ์กล่าวว่า ส่วนกล่าวอ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปก้าวล่วงฝ่ายนิติบัญญัติกรณีมีหนังสือให้ชะลอการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 นั้น ยืนยันว่าการประชุมตุลาการฯ ได้คำนึงถึงการใช้อำนาจอธิปไตยของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ที่ศาลจะไม่เข้าไปก้าวล่วง เนื่องจากเป็นองค์กรหนึ่งที่ใช้อำนาจอธิปไตยเช่นเดียวกัน ที่ศาลมีหนังสือถึงสำนักเลขาฯ ก็เพราะเป็นหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญมาตรา 213 ที่ศาลจะมีคำสั่งไปถึงได้ เพื่อให้กราบเรียนประธานรัฐสภาทราบว่าศาลได้รับคำร้องไว้พิจารณา และเพื่อให้กระบวนการไต่สวนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย อำนวยความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย จึงขอให้รอการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ หากหลังการไต่สวนแล้วศาลพบว่าไม่มีความผิดตามคำร้อง กระบวนการต่างๆ ที่ได้ระงับไว้ก็จะเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการตามปกติ ซึ่งศาลได้เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวชี้แจง อย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ ซึ่งตามหลักสุจริตหากผู้ถูกกล่าวมีเจตนาสุจริต ย่อมต้องยินดีเข้ามาพิสูจน์ข้อเท็จจริงในกระบวนการพิจารณาของศาลว่าไม่คิดที่จะกระทำใดๆ ที่ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ

“การตรวจสอบเบื้องต้นของศาล อาจทำให้ถูกมองว่ากระบวนการต่างๆ สะดุดหยุดลง แต่ถ้าคิดถึงผลที่จะได้จาการตรวจสอบโดยศาล จะสร้างความเชื่อมั่นไม่เฉพาะกับคนไทยทุกคน แต่ยังจะสร้างความเชื่อมั่นกับอารยประเทศว่าประเทศไทยเคารพกฎหมาย การถ่วงดุล การใช้อำนาจทั้งสามฝ่ายอย่างเหมาะสม มีหลักนิติธรรมในการบริหารประเทศ”

จากนั้น นายวสันต์ได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนซักถาม โดยกล่าวว่า ตามคำร้องอ้างว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นผลให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 50 ทั้งฉบับ ซึ่งเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ ให้เป็นการปกครองอย่างอื่น ข้อกล่าวหาอย่างนี้ใหญ่พอให้ศาลพิจารณาไหม เรื่องจะพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน เปลี่ยนแปลงการปกครอง จะให้เป็นอำนาจของอัยการสูงสุดเพียงอย่างเดียวหรือ และขณะนี้ยังอยู่ในชั้นของการรับคำร้อง ซึ่งศาลไม่ได้ไปสั่งให้รัฐสภาหยุดการพิจารณาแต่มีหนังสือแจ้งไปยังสำนักเลขาฯ ที่เป็นหน่วยงานของรัฐ ว่าขอให้แจ้งประธานสภาฯ ส่วนสภาจะดำเนินอย่างไรก็เป็นเรื่องของสภา หากเกิดอะไรขึ้นสภาฯ จะต้องรับผิดชอบ

สำหรับการที่เลขาสภาฯ ระบุว่า หนังสือขอให้ชะลอการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไม่มีผลผูกพันรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 ประกอบมาตรา 213 นายวสันต์กล่าวว่า ก็เป็นความเห็นทางกฎหมายที่นักกฎหมายตีความกันไป เก่งกันทั้งนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลฎีกา มีคำพิพากษาก็บอกว่าไม่ใช่เหลือแต่ศาลเจ้า ดังนั้นจะเห็นอย่างไรก็ตามใจเขา

เมื่อถามว่า หลายฝ่ายมองว่าศาลรัฐธรรมนูญทำเกินอำนาจ จะทำให้เกิดการรวมตัวของมวลชนกดดัน ถอดถอน และกลายเป็นปัจจัยให้นำไปสู่เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงทางการเมืองเร็วขึ้น นายวสันต์กล่าวอย่างติดตลกว่า “จินตนาการมากไปหน่อย กรุณาอย่าทานของเสาะท้องก่อนนอนเพราะจะทำให้ฝัน จริงๆ แล้ว จะใช้สิทธิอะไร จะถอดถอนก็ทำไป แต่ที่ว่าจะมีอะไรทำนองนั้นคงไม่ใช่”

“ยืนยันไม่มีใครมาสั่ง ชี้นำเราได้ เราระวังมากกับการเข้าไปแตะต้องก้าวล่วงอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการทั้ง 9 คน เราไม่ใช่มนุษย์ทองคำ เรารู้ตัวดี ว่าเราไม่มีอำนาจอื่นใด นอกจากรัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ ตอนที่พิจารณาพระราชกำหนดเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม 4 ฉบับ คนภายนอกก็จะคิดว่าศาลจะไม่ผ่านให้ ซึ่งความจริง ศาลรู้ดีว่าดุลพินิจการออกพระราชกำหนดเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร แต่เมื่อรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลในการตรวจสอบว่าการออกมีการตุกติกอะไรหรือเปล่า เมื่อเราตรวจสอบแล้ว ไม่มีอะไรก็ผ่านให้ทุกครั้ง แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เขากล่าวหามาว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วจะให้ศาลรัฐธรรมนูญเพิกเฉย ซึ่งเท่ากับว่าจะเปลี่ยนก็เปลี่ยนไป อย่างนั้นได้หรือ มันก็ต้องไต่สวนทวนความกันก่อน ซึ่งหากสภาฯ จะให้ความร่วมมือเลื่อนพิจารณาไปซักเดือนเศษก็ไม่เห็นเป็นอะไร เพราะคณะตุลาการก็คาดการณ์แล้วว่า 1 สัปดาห์หลังการไต่สวนจะมีคำวินิจฉัยได้”

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายฝ่ายมองว่าศาลรัฐธรรมนูญตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง นายวสันต์กล่าวว่า “เข็มขัดสั้นไปหรือเปล่า” (หมายถึงคาดไม่ถึง) พร้อมกับย้อนถามว่าจะเป็นเครื่องมือของใคร ฝ่ายไหน เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่า การรับคำร้องถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของอำมาตย์หรือคนชนชั้นสูง นายวสันต์ย้อนถามผู้สื่อข่าวว่า ใครเป็นอำมาตย์ และใครเป็นหัวหน้าอำมาตย์ คนที่เป็นอำมาตย์ตัวจริงคือนายกรัฐมนตรี ที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศไทย ความจริงถ้าผู้ร้องยื่นร้องมาก่อนหน้านี้ เราก็จะมีเวลาในเรื่องของเวลาทำงาน แต่เขาก็มายื่นในสถานการณ์ขณะนี้ มันก็ทำให้ค่อนข้างวุ่นวาย ทุกประเด็นที่มีการกล่าวหาศาล คณะตุลาการฯ ได้คุยไว้ก่อนหน้านี้ไว้หมดแล้ว ว่าจะมีการโต้แย้งอะไรบ้าง

“ตามที่เขากล่าวหา ศาลก็เห็นว่ามันก็อาจเป็นไปได้ที่จะเป็นการล้มล้างการปกครองฯ ไปสู่ระบอบอื่น ซึ่งเราก็ต้องฟังผู้ถูกกล่าวหาก่อน สื่อเชื่อหรือไม่ว่าผู้ถูกกกล่าวหาจะสารภาพว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครองจริง แต่คิดว่าเขาคงไม่รับก็ให้ปฏิเสธมา แต่ถ้าผู้ถูกร้องแอนตี้ ไม่มีการต่อสู้คดี จะให้ศาลฯ รับฟังว่าอย่างไร สมมติว่าเขาฟ้องว่าคุณเป็นหนี้แล้วคุณก็เฉยๆ จะให้ศาลฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ตุลาการทุกคนเป็นห่วงบ้านเมือง ไม่มีใครอยากให้สถานการณ์ที่ทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้น แต่ทุกคนต้องช่วยกันมาเข้าสู่กติกากันดีกว่ามาชี้แจงตามที่ศาลเปิดช่องทางให้อย่าคิดว่าตุลาการมีอคติ คนเป็นผู้พิพากษา ตุลาการ เขาถูกสอนมาแต่ดึกดำบรรพ์ว่าอย่าพิจารณาโดยอคติ ซึ่งเราไม่เคยทำอย่างนั้น แต่เราก็มักจะถูกมองในด้านที่มีอคติ”

เมื่อถามว่า ถ้ารัฐสภาเดินหน้าประชุมพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ศาลฯ จะยังคงไต่สวนในวันที่ 5-6 ก.ค.หรือไม่ และคำวินิจฉัยของศาลฯ มีสภาบังคับย้อนหลังได้หรือไม่ รวมถึงบทลงโทษกับผู้ที่กระทำการล้มล้างเป็นอย่างไร นายวสันต์กล่าวว่า สิ่งที่ถามเหตุการณ์เหล่านี้เป็นเรื่องอนาคตยังไม่เกิดขึ้น ถ้ามีการประชุมสภาพิจารณาวาระ 3 คณะตุลาการฯ ก็ต้องคุยกันว่าจะดำเนินการอย่างไรกันต่อไป และถ้าเดินหน้าไต่สวนแล้วมีคำวินิจฉัยจะมีผลย้อนหลังได้หรือไม่ ส่วนโทษหากพบว่ามีการกระทำล้มล้างฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 กำหนดว่า ให้ศาล สามารถสั่งให้หยุดการกระทำนั้นและอาจมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองหรือไม่ก็ได้ ซึ่งก็เป็นดุลพินิจ ส่วนจะยุบพรรคการเมืองที่เป็นผู้เสนอร่างแก้ไข หรือพรรคการเมืองที่ ส.ส.ยกมือโหวต ก็ต้องพิจารณากันอีกที

นายวสันต์ยังได้กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มีการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาดำเนินการ เหมือนกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในฉบับนี้ แต่กลับไม่มีการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ว่า เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนั้นใช้รัฐธรรมนูญ ปี 34 มาเป็นฐานในการแก้ไข ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 34 ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ มีแต่ตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่รัฐธรรมนูญ 34 บัญญัติให้มีหน้าที่เฉพาะวินิจฉัยบทบัญญัติของกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และไม่มีบทบัญญัติในเรื่องของสิทธิประชาชนในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งเรื่องดังกล่าวมามีอยู่ในรัฐธรรมนูญ ปี 40 รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 50 ก็ได้นำบทบัญญัติดังกล่าวมาบัญญัติไว้ด้วย

เมื่อถามว่า คิดหรือไม่ว่าสถานการณ์อาจจะมีความรุนแรง จนอาจจะไม่ได้อยู่ไต่สวนในวันที่ 5-6 ก.ค.นี้ นายวสันต์กล่าวว่า ไม่น่ามีอะไรเกิดขึ้น คงไม่มีอะไรมาทำแบบนั้น และถ้าทำอย่างนั้นถือว่าเป็นการใช้อำนาจนอกระบบหรือไม่ ก็ไหนว่าไม่อยากให้มีอำนาจนอกระบบเข้ามาทำอะไร แล้วทำไมไม่เข้าสู่กติกา มาชี้แจง ตุลาการไม่ต้องไปทำอะไร แต่ละคนก็อายุมาก วันหนึ่งก็ตายแล้ว นายวสันต์กล่าวและว่า ต่อไปจะไม่พูด ไม่ให้สัมภาษณ์อีก เพราะไม่ใช่เด็กน้อยที่จะมาทะเลาะด้วยเป็นรายวัน


กำลังโหลดความคิดเห็น