xs
xsm
sm
md
lg

ศุกร์นี้หัวหรือก้อย การเมืองก็จะเข้ารอยเดิม

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

ในฐานะตุลาการเก่าและนักเรียนวิชารัฐธรรมนูญ มีผู้ขอให้ผมฟันธงว่าการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในวันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคมนี้ จะออกมาอย่างไร

ผมรับสารภาพว่าตอบไม่ได้ เพราะยังไม่รู้แจ้งถึงข้อหาที่แท้จริงของผู้ร้อง พยานหลักฐาน และคำให้การต่อสู้หักล้างกันของทั้ง 2 ฝ่าย กับทั้งมองไม่เห็นและพิสูจน์ไม่ได้ที่อ้างว่าอิทธิพลที่เข้ากับข้างใดข้างหนึ่ง ต่างก็กดดันศาลที่จะให้ผลออกมาตรงกับผลประโยชน์ของตนมากที่สุด

นี่ยังมิได้พูดถึงสิ่งที่เห็นจะแจ้ง คือ ความเลวทรามต่ำช้าของพวกกุ๊ยที่เรียกตนเองว่าไพร่ และนักการเมืองระดับสูงพรรคเดียวกัน ที่พยายามข่มขู่กดดันศาลด้วยวิธีการต่างๆ นานา โดยตำรวจ คณะรัฐมนตรี และองค์กรที่จำเป็นจะต้องเกี่ยวข้องกับการรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองในเรื่องนี้ เช่น กกต.ต่างก็พากันเงียบเป็นเป่าสาก

การณ์เป็นเช่นนี้ ผมจึงสรุปว่า คำตัดสินจะออกมาเป็นหัวหรือก้อยก็ตาม การเมืองไทยก็จะเดินตามรอยเดิม คือ เดินเข้าหาวิกฤต การสู้รบฆ่าฟันกัน และการกลับเข้าสู่วงจรอุบาทว์และวัฏจักรน้ำเน่าอีกครั้งหนึ่งอย่างแน่นอน

ผมไม่คิดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีมาตรฐานถึงพอที่จะกระทำการในพระปรมาภิไธย ขจัดปัดเป่าความไม่สงบเรียบร้อย จัดการกับอนาธิปไตยและการทำลายกฎหมายที่เกิดจากคณะผู้มีอำนาจทางการเมือง และเปิดโอกาสให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเกิดขึ้นได้สมจริงในบ้านเมืองเสียที

ผมเคยเขียนบทความ 3 ตอนว่าด้วยมาตรฐานของศาลรัฐธรรมนูญมาแล้ว ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่แปรปรวนมาตั้งแต่ยุคซุกหุ้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน หากเราเอาแต่ละศาลมาเปรียบเทียบกันหรือวิเคราะห์เฉพาะแต่ละศาลตามองค์ต่างๆ คือ องค์ประกอบ องค์คณะ องค์ความรู้ องค์การ และระบบพฤติกรรม ก็น่าเป็นห่วงว่าจะหามาตรฐานได้ยาก หรือเปรียบไม่ได้กับมาตรฐานของศาลในโลกประชาธิปไตยที่แท้จริง (ซึ่งหลายประเทศไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ)

กล่าวจำเพาะถึงกรณีที่ศาลจะวินิจฉัยในวันศุกร์ที่ 13 นี้ ผมต้องสารภาพว่าไม่มีผู้ใดส่งสำเนาคำร้องมาให้ ทราบแต่ที่สื่อมาสรุปให้ฟังหรือให้อ่าน ได้ฟังคำแถลงของทั้ง 2 ฝ่ายๆ ละ 2-3 คน ไม่อาจบอกได้ว่าถ้าบวกลบคูณหารทั้งหมดครบทุกคนแล้ว ใครจะเหนือกว่าใคร แต่ผู้ที่นั่งฟังอยู่ด้วยวิจารณ์ว่า “ไอ้รัฐบาลและสื่อเสรีนี้มันโคตรเลวจริงๆ ที่ปิดหูปิดตาไม่ถ่ายทอดให้ประชาชนได้รับรู้ แต่ก็ดีไปอย่าง ถ้าได้ฟังคำแถลงและเหตุผลของฝ่ายที่ร้องแล้ว มันไม่ค่อยเอาไหน เกรงประชาชนจะหลงเชื่อคำของฝ่ายผู้ถูกร้องมากกว่า ทั้งๆ ที่มันโกหกด้านๆ”

นั่นก็เป็นเรื่องของความรู้สึก ดังที่ผมบอกแล้ว ในทางการเมืองนั้นความเชื่อหรือความรู้สึกมีอิทธิพลเหนือความจริงเสียอีก

แต่การวินิจฉัยของศาลนั้นเป็นเรื่องของข้อกฎหมาย ข้อมูล ข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน และความน่าเชื่อถือของการนำเสนอ ซึ่งจำเพาะในกรณีดังกล่าวนี้ ความรับรู้ของผมมีจำกัดมาก เมื่อถูกลุกไล่คาดคั้นจะเอาคำตอบให้ได้ ผมจึงตอบว่า “ถ้าเอาเฉพาะที่ผมได้เห็นหรือได้ยิน หากผมเป็นผู้ตัดสิน ผมจำต้องยกประโยชน์ความสงสัยให้จำเลย”

แต่กรณีตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น ต่างกับการพิจารณาพิพากษาในคดีกระทำผิดกฎหมายอาญาหรือกฎหมายทั่วไป

ดังนั้น สิ่งที่ผมเกรงว่าจะออก “ก้อย” นั้นอาจจะออก “หัว” ก็ได้ขึ้นกับว่า

1. “คำฟ้องหรือคำร้อง” ที่แท้จริงเป็นอย่างไร และ

2. ขึ้นกับความเข้าใจของศาลรัฐธรรมนูญเองว่า อำนาจในการตีความ การฟังและการสืบหาพยานหลักฐานของศาลรัฐธรรมนูญต่างกับศาลและขบวนพิจารณาของศาลธรรมดาอย่างไร

ในเรื่องคำร้อง ผมขออธิบายในเชิงถามเปรียบเทียบว่า คำร้องนั้นเป็น

1. คำร้องว่าการขอแก้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2555 ของสภาเป็นการทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กล่าวคือ การขอแก้นั้นเป็นมูลเหตุสำคัญหรือพยานหลักฐานสำคัญ (ในตัวของมันเอง) ว่าผู้ถูกร้องได้กระทำความผิดดังกล่าว หรือว่า

2. คำร้องว่า การขอแก้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2555 เป็นการกระทำส่วนหนึ่งหรืออีกกรณีหนึ่งของการทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือการได้มาและรักษาอำนาจการปกครองโดยไม่ชอบครรลองประชาธิปไตย

ถ้าเป็นเช่นนี้ก็จะสามารถเชื่อมโยงถักทอการกระทำของคณะผู้ถูกร้อง และตัวผู้ถูกร้องเข้ากับการกระทำในอดีตและความสัมพันธ์ในอดีตและปัจจุบันของคณะผู้ถูกร้องเข้ากับพรรคและบุคคล ซึ่งได้กระทำผิดจนเป็นเหตุให้ศาลมีคำพิพากษาให้ยุบพรรคเพราะมีพฤติการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และหลังจากนั้นก็มีการกระทำต่างๆ อย่างต่อเนื่องอันเป็นผลให้คำพิพากษาของศาลเป็นอันไร้ผล และการแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็เป็นหนึ่งในการกระทำนั้นๆ

ถ้าหากคำร้องของคณะผู้ร้องเป็นข้อที่ 2 ผู้ร้องได้ชี้แจงแสดงหลักฐานอย่างไร เชื่อมโยงไปถึงกรณีในอดีตอย่างไรหรือไม่

หากผู้ร้องได้แสดงชี้แจงหลักฐานพยานครบครันน่าเชื่อถือ ผมก็เห็นว่าไม่ยากที่ศาลจะวินิจฉัยให้ตามคำร้อง

แต่ถ้าหากผู้ร้องร้องตามข้อ 1 และไม่ชัดเจนในการเชื่อมโยงการกระทำของผู้ถูกร้องสาวไปหาถึงต้นตอการกระทำอันเป็นเหตุให้ถูกร้อง ศาลเองจะยกคำร้อง หรือไม่ก็ใช้อำนาจของศาลเองรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมที่ผู้ร้องมิได้นำแสดงแต่มีสาระสำคัญเชื่อมโยงกับความฉกรรจ์ของคำร้องได้หรือไม่ ทั้งนี้ก็ขึ้นกับศาลเองว่าเข้าใจอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเป็นอย่างไร

ถ้าชื่อของศาลแปลมาจากภาษาอังกฤษว่า Constitutional Court คำว่า Constitutional ย่อมมีความหมายกว้างครอบคลุมถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญและหลักประชาธิปไตยโดยทั่วไป ต่างกับคำว่า Constitution ซึ่งแปลว่ารัฐธรรมนูญเฉยๆ หรือรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ ซึ่งมีฐานะด้อยและความศักดิ์สิทธิ์น้อยกว่า Constitutional มาก

อย่างผมเคยเป็น Constitution Tribunal ในภาษาไทยใช้คำว่า ตุลาการรัฐธรรมนูญ มิใช่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผมมีหน้าที่ตีความว่ากฎหมายแต่ละฉบับหรือการกระทำขององค์กรอธิปไตยต่างๆ ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และศาลขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

ตามหลักของการตีความ อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญมีมากกว่าการตีความว่ากฎหมายฉบับนี้ฉบับนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการพิทักษ์หลักรัฐธรรมนูญ หลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ และหลักประชาธิปไตย ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจรวบรวมข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และพยานหลักฐานเอาเองได้อย่างกว้างขวางไม่ต้องจำกัดอยู่ที่คู่ความทั้งสองฝ่ายนำเสนอ ดังจะเห็นตัวอย่างในศาลสูงของอเมริกา (ซึ่งเป็นศาลธรรมดา) เมื่อกระทำหน้าที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ

หลักประชาธิปไตยของไทย ถึงแม้จะมีความบกพร่องเสียหายเป็นอย่างมากในทางปฏิบัติ แต่ก็อ้างว่าเป็นหลักหรือระบอบที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ดังนั้นศาลจึงกระทำการภายใต้พระปรมาภิไธย โปรดอย่าเข้าใจผิดว่าผมกำลังจะบอกว่า ดังนั้นศาลจึงมี Prerogative หรืออำนาจพิเศษเช่นเดียวกับกษัตริย์ที่ทรงสามารถกระทำอะไรก็ได้เมื่อมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ถึงแม้จะไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้หรือแม้แต่มีกฎหมายห้ามก็ตาม

ผมเพียงแต่จะบอกว่าพระราชอำนาจมาจากกฎหมายธรรมชาติ (Law of Nature) ที่อยู่เหนือ Common Law ในระบบกฎหมายธรรมดา ศาลรัฐธรรมนูญมีสิทธิและอำนาจตีความและใช้ Law of Nature ต่างกับศาลสารบัญญัติทั่วไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาลรัฐธรรมนูญไทยมีหน้าที่จะต้องพิทักษ์สถาบันกษัตริย์และรัฐธรรมนูญเพื่อความสงบสุขและเรียบร้อยของสังคม

ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องสำนึกยิ่งกว่าศาลอื่นๆ ว่า “Solus Populi, Suprema Lex: ความปลอดภัยของประชาชนคือกฎหมายสูงสุด”
กำลังโหลดความคิดเห็น