รองเลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน เผย ตั้งมาเพื่อประโยชน์ของประชาชน เป็นหูเป็นตา บอกรัฐบาลได้ว่าเรื่องใดมีปัญหา ไม่ได้ไปเจาะจงกับใคร หรือฟากใดฟากหนึ่ง ชี้ มีผลงานชิ้นโบแดงเรื่องภาษีหญิงจดทะเบียนสมรส และให้หญิงแต่งงานแล้วเลือกใช้นามสกุลได้ แต่ที่ผ่านมาเป็นข่าวน้อย
วันนี้ (13 ก.ค.) นายรักษเกชา แฉ่ฉาย รองเลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงกระแสข่าวที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วจะมีการยุบสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เนื่องจากเห็นว่าไม่มีประโยชน์ ว่า สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินมีประโยชน์อยู่แล้ว ตั้งมาเพื่อประโยชน์ของประชาชน ไม่ได้ไปเจาะจงกับใคร หรือฟากใดฟากหนึ่ง ตนคิดว่า ในแง่ของสถิติข้อมูลต่างๆ มีหลายเรื่องที่เป็นผลงานของผู้ตรวจการแผ่นดิน เช่น กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับประมวลรัษฎากร ที่ระบุว่า การที่กฎหมายกำหนดให้หญิงที่จดทะเบียนสมรส ต้องนำรายได้ไปรวมกับสามีแล้วยื่นชำระภาษี เข้าข่ายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.นามสกุล ปี 2505 มาตรา 12 ที่กำหนดให้หญิงที่แต่งงานแล้วจดทะเบียนสมรสต้องใช้นามสกุลสามีเท่านั้น เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ 40 ก็ล้วนแต่เป็นผลงานของผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะมีผู้มายื่นคำร้อง แล้วผู้ตรวจเป็นคนยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย
“ถ้าจะมองในแง่ประโยชน์ ผมคิดว่า ผู้ตรวจฯ เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลด้วยซ้ำไป ในฐานะที่เป็นหูเป็นตา เพราะรัฐบาลเองคงไม่สามารถที่จะดูได้ครอบคลุมทั้งประเทศ ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินก็เป็นองค์กรหนึ่งที่สามารถไปบอกรัฐบาลได้ว่า ที่นั่นมีปัญหา ที่นี่มีปัญหา เมื่อก่อนนี้อาจจะมองว่า ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นฝ่ายเดียวกันไม่ใช่เป็นองค์กรอิสระ ซึ่งนี่เป็นแนวคิดพื้นฐาน 200 ปีมาแล้วที่ตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยรัฐบาล และตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นกลไกของฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะฝ่ายนิติบัญญัติจะทำหน้าที่ออกกฎหมายไม่มีเวลาที่จะไปดู หรือไปรับแจ้งความ ซึ่งเรื่องที่ร้องผู้ตรวจฯ มีจิปาถะตั้งแต่น้ำจิ้มฟัน ยันเรือรบ แต่ว่าที่ผ่านมาอาจจะเป็นข่าวน้อยไปหน่อย” นายรักษเกชา กล่าว