xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“จ้างที่ปรึกษา1ล้านเหรียญ”กับ“แก้ระเบียบบริหารน้ำ 3 แสนล้าน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- สัปดาห์ก่อน รัฐบาลเปิดโอกาส ให้เอกอัครราชทูต หอการค้าระหว่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ ร่วมรับฟังคำชี้แจงแนวทางการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้วงเงิน 3 แสนล้านบาท โดยมีเอกอัครราชทูต 28 ประเทศ 8 องค์กรระหว่างประเทศ ร่วม 106 คนเข้ารับฟัง มีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นแม่งานให้ข้อมูล

การชี้แจงวันนั้น รัฐบาลต้องการเห็น เอกอัครราชทูต นำข้อมูลทั้งหมดแจ้งให้กับบริษัทเอกชนแต่ละประเทศที่มีความสนใจ เพื่อมาขอรับเอกสารที่จะระบุถึงเงื่อนไข คุณสมบัติผู้ที่เข้าร่วมโครงการบริหารจัดการน้ำ

เจ้าภาพหลักก็คือ “สำนักงานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.)” ซึ่งมีที่ตั้งที่ตึกแดง สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำเนียบรัฐบาล

ก่อนนัดหมายภาคเอกชนที่สนใจ มารับฟังและชี้แจงคอนเซปต์โครงการจากรัฐบาลอีกครั้งในวันที่ 24 ก.ค. นี้

นายปลอดประสพ บอกว่า “ภายใน 3-4 เดือนเป็นคอนเซปต์ชวลแพลน เมื่อเลือกมาแล้ว กี่แพลนไม่รู้ ถึงไปทำดีเทลดีไซน์และก่อสร้าง โดยปกติบริษัทมักออกแบบไม่ได้ก่อสร้าง แต่คราวนี้อาจจะก่อสร้างด้วยก็ได้ บางเรื่องบริษัทออกแบบอาจได้รับการก่อสร้างแต่ต้องมีประสบการณ์อยู่แล้วคาดว่าโครงการทั้งหมดจะสำเร็จเป็นรูปธรรมภายใน 4-5 ปี ”

เขาย้ำว่า บริษัทเอกชนที่สนใจ จะต้องได้รับการรับรองจากสถานเอกอัครราชทูตของประเทศนั้น ๆ มีคุณสมบัติในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ระดับ 3 หมื่นล้านบาทในช่วงเวลา 10 ปี ส่วนบริษัทขนาดเล็ก ต้องเคยทำโครงการไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาท

รัฐบาลย้ำว่า “อภิมหาเมกะโปรเจกน้ำ”หรือโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ ภายใต้งบประมาณ 3 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 8 โครงการที่เกี่ยวข้องกับลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อีก 6 โครงการเกี่ยวข้องกับ 17 ลุ่มน้ำย่อย ภาคอีสาน เช่นโขง ชี มูล แม่น้ำสงคราม ละอีก1โครงการเกี่ยวกับการป้องกันน้ำทะเลท่วม

ทั้งนี้คอนเซปต์ที่รัฐบาลเสนอให้เอกชนไปคิดและออกแบบ จะเน้นเรื่องของระบบชลประทาน ให้มีน้ำพอ กินพอใช้ ระบบการส่งน้ำส่งเพื่อการเกษตร ท่องเที่ยว การประปา ทำทางส่งน้ำ ระบายน้ำ ฟลัดเวย์ การใช้ที่ดิน โครงการป้องกันฝนแล้ง ป้องกันน้ำท่วม และระบบเตือนภัย
เขายังยอมรับว่า โครงการ จะมีโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ บริเวณลุ่มน้ำยม ทั้ง “เขื่อนแม่วงศ์ -เขื่อนแก่งเสือเต้น” รวมไปถึงโครงการป้องกันน้ำทะเลท่วม บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ท่าจีน บางปะกง แนวเพชรบุรี-ชลบุรี

เรื่องนี้ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมขั้นตอนการทำงานของรัฐบาล จึงพยายามเน้นไปสู่เรื่องของการจัดซื้อ จัดจ้าง แทนที่จะเอาเรื่องของเนื้องานมาดูว่า จำเป็นจะต้องทำอะไร แล้วมาคิดต่อไปว่า รูปแบบการลงทุนนั้นใครควรจะทำในรูปแบบไหนอย่างไร

มีมติแก้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี 2 ฉบับ เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ แล้วก็เกี่ยวข้องกับเงินกู้ โดยสรุป “การจัดซื้อจัดจ้าง” ต่อไปนี้ไม่ต้องอิง ไม่ต้องใช้ระเบียบพัสดุในการจัดซื้อจัดจ้าง

เขาเชื่อว่า จะมีปัญหาในแง่ของความโปร่งใสที่จะเกิดขึ้นกับโครงการที่มีมูลค่ามหาศาล คือจะไม่ทราบว่ามีกติกาอย่างไร

“ก็ต้องตั้งคำถามว่า ทำไมระเบียบพัสดุถึงใช้กับงานนี้ไม่ได้ ถ้าจะอ้างว่า มันเป็นเรื่องความเร่งด่วนแล้ว พวกนี้ไม่ใช่งานที่จะต้องเสร็จภายในระยะเวลาไม่กี่เดือนนี้ แล้วมันก็เป็นโครงการขนาดใหญ่ โครงการระยะยาว ซึ่งไม่ได้มีประเด็นว่า ถ้าใช้ระเบียบพัสดุแล้วจะทำให้กระทบกับผลที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นภายในระยะเวลาเร่งด่วนแต่อย่างใด แต่กลับบอกว่าไม่ต้องใช้ระเบียบพัสดุ แล้วก็ยกเว้นไปโดยเป็นอำนาจของทางรัฐบาลที่จะทำ ความจริงแล้วสามารถที่จะใช้ระเบียบพัสดุ แล้วก็ถ้าตรงไหนเห็นว่ามันเป็นอุปสรรค ก็สามารถจะขอยกเว้นเป็นเรื่องๆ ได้ แต่นี่ขณะนี้ก็คือว่า มีการแก้ระเบียบว่าเงินกู้ 3 แสน 5 หมื่นล้านที่จะมาใช้ในเรื่องนี้ทั้งหมด ไม่ต้องใช้ระเบียบพัสดุก็ได้ อันนี้คือประเด็นที่ต้องจับตาดูว่าจะนำไปสู่ปัญหาความโปร่งใสมากน้อยแค่ไหน”

“ระเบียบอีกฉบับหนึ่งที่แก้ไข กรณีของ กบอ. กับคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ(กอนช.) ที่ให้อำนาจ กบอ. เพิ่มขึ้น มีการระบุว่า โครงการหลายโครงการนี้ ซึ่งเมื่อก่อนจะต้องไปยึดโยงไปอิงอยู่กับแผนปฏิบัติการซึ่งเป็นเหมือนกับแผนใหญ่ แต่ตอนนี้เหมือนกับว่า ไม่จำเป็น ถ้ามีโครงการนอกแผน นอกอะไรก็ให้ กบอ. เป็นคนพิจารณาไปได้

เปรียบเหมือนกับกำลังดึงอำนาจไปที่ กบอ. แล้วก็ให้ความสำคัญกับการเป็นความแม่บทของตัวแผนต่างๆ นั้นน้อยลง เพราะฉะนั้น ต้องจับตาดูว่า จะมีโครงการอะไรเข้ามา อยู่ในแผน ไม่อยู่ในแผน สอดคล้อง ไม่สอดคล้อง ประมูลจัดซื้อ จัดจ้างกันอย่างไร โดยที่มายกเว้นหรือไม่ใช่ระเบียบพัสดุในครั้งนี้”หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกต

เรื่องนี้แต่กรณีคล้ายกันเมื่อวันที่ 10 ก.ค. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ได้มีหนังสือกลับมายังครม. เพื่อแจ้งเจตนาของป.ป.ช.ในกฎหมาย

“ขอให้หน่วยงานรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูล รายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลางไว้ในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามที่ ป.ป.ช. เสนอว่า ต้องการให้เกิดความความโปร่งใสในภาครัฐ

ดังนั้น ครม.จึงมอบหมายให้กระทรวงการคลัง คณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงบประมาณ ไปร่วมประชุมกับป.ป.ช.เพื่อไปศึกษาแผนและความเป็นไปได้ที่จะมีการเสนอราคากลางและการเปิดเผยรายละเอียดในการประกวดราคาผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์

การประชุม ครม.เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ครม.นำเรื่องนี้มาพิจารณาอีกครั้ง “นายชุมพล ศิลปะอาชา” รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา คัดค้านเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่า ทำไมเรื่องนี้เราไม่ทำเอง ไปให้คุณงามความดีเขาทำไม เราก็ทำเองเลย แล้วส่งกลับไปป.ป.ช.

ขณะที่นายกฯ กล่าวว่า เข้าใจเรื่องนี้ แต่อยากชะลอความขัดแย้ง จึงขอให้ไปตั้งคณะทำงานร่วมกันมา ขณะที่นายชุมพล ยังกล่าวแสดงความไม่เห็นด้วยว่า เรื่องนี้เราควรแสดงความบริสุทธิ์ใจโดยลำพัง ขณะที่ในที่สุดนายกฯและเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต้องการให้ไปตั้งคณะทำงานร่วมกัน ทั้งในส่วนของสำนักงานกฤษฎีกา สำนักงบประมาณ กระทรวงคลัง และกำหนดเงื่อนไขราคาหน้าเว็ปแจ้งเงื่อนไขประกาศราคากลางบนสื่อ

มีการเปิดภายหลังว่า สาเหตุที่ครม.มอบหมายให้ 3 หน่วยงานข้างต้นไปทำงานร่วมกับป.ป.ช.นั้น ก็เพื่อต้องการลดภาพความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และสื่อให้ภายนอกเห็นถึงภาพความปรองดองสมานฉันท์ รวมทั้งต้องการส่งสัญญาณไปยังป.ป.ช.ว่าครม.ไม่ใช่ศัตรู

ต้องจับตาดูว่า ปปช.จะให้ความเห็นประเด็นนี้เช่นไร

แต่ความวัวยังไม่ทันหาย! ความความเข้ามาแทรก ตามสุภาษิตโบราณ

ล่าสุด! มีข่าวต่างชาติที่เข้าร่วมประมูลเมกะโปรเจกต์น้ำ 3.4 แสนล้าน แห่ทาบนักวิชาการไทยเป็นที่ปรึกษาโครงการจ่ายผลตอบแทนหลักล้านเหรียญสหรัฐ

เรื่องนี้เปิดเผยโดย “นายชูเกียรติ ทรัพย์ไพศาล” กรรมการ กยน.ว่า มีบริษัทเอกชนหลายรายติดต่อเพื่อให้เป็นที่ปรึกษา เนื่องจากบริษัทเหล่านั้นต้องการเข้าร่วมประมูลโครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาล 3.4 แสนล้านบาท ซึ่งทราบว่านักวิชาการหลายคนก็ได้รับการติดต่อ โดยส่วนตัวหลายบริษัทเสนอผลตอบแทนให้ถึง 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งได้ปฏิเสธไป เพราะต้องการทำงานฝ่ายวิชาการมากกว่า

1 ล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าเทียบเป็นเงินไทย ตามอัตราแลกเปลี่ยนตอนนี้ก็ประเทศ 1 เหรียญ 31 บาท 1 ล้านเหรียญก็ตกที่ “31 ล้านบาท”ในการเป็นที่ปรึกษา!!

“สำหรับโครงการฟลัดเวย์นั้น ที่ผ่านมามีการพูดถึงแนวทางการก่อสร้างหลายเส้น ทั้งในส่วนของกรมชลประทาน บริษัท ทีมกรุ๊ป หรือ กยน. ที่ศึกษาไว้จนตกผลึก แต่เอกชนที่เสนอตัวมาก็มีสิทธิที่จะวางแบบใหม่ ซึ่งหลักการก็คือจะต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน เสียเงินให้น้อยที่สุด ได้ประโยชน์มากที่สุด และหากหยิบเอาโครงการของ กนย.ไปใช้ ก็ควรจะมีการลดราคาโครงการ เพราะเอกชนไม่ได้เสียค่าศึกษาใดๆ แต่เป็นเงินรัฐที่หน่วยงานใช้ในการศึกษา” นายชูเกียรติ กล่าว

ก่อนหน้า นายปราโมทย์ ไม้กลัด และนายสมิทธ ธรรมสโรช กรรมการ กยน. ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าบริษัทต่างชาติทาบทามให้เป็นที่ปรึกษาเช่นกัน แต่ได้ปฏิเสธไป

เปิดดูรายชื่อคณะกรรมการ กยน. มีดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ที่ปรึกษา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีกรรมการนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง นายกิจจา ผลภาษี นายชูเกียรติ ทรัพย์ไพศาล นายธีระ วงศ์สมุทร นายนิพัทธ พุกกะณะสุต นายปราโมทย์ ไม้กลัด นายปลอดประสพ สุรัสวดี นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา นายรอยล จิตดอน นายรัชทิน ศยามานนท์ นายศรีสุข จันทรางศุ นายสนิท อักษรแก้ว นายสมบัติ อยู่เมือง นายสมิทธ ธรรมสโรช นายอัชพร จารุจินดา นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กรรมการและเลขานุการร่วม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการร่วม อธิบดีกรมชลประทาน กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ นายเสรี ศุภราทิตย์ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

หากเจอท่านกรรมการเหล่านี้ ก็ลองไปถามกันเอาเองว่า ใครบ้างที่ถูกเอกชนต่างชาติมาถามทาม เป็นที่ปรึกษา นอกจากคนที่อกมาปฏิเสธเบื้องต้น.

ขณะที่อีกด้าน “วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท) ก็สงสัยว่าต่างชาติจะรู้เรื่องน้ำในประเทศไทยดีเท่าคนไทยได้อย่างไร

อนุกรรมการวิศวกรรมแหล่งน้ำฯ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย มีการตั้งเวที “แลกเปลี่ยนความคิดเห็น วิพากษ์ TOR” โดยส่วนใหญ่ เงิน 3 แสนล้าน มีข้อสังเกตเบื้องต้นว่าทำไมจึงตั้งเป้าจะเปิดให้บริษัทต่างชาติเข้ามาทำเพราะข้อกำหนดในเรื่องคุณสมบัติของบริษัทฯที่ต้องมีประสบการณ์ผ่านงานระดับหลายพันล้านบาทซึ่งบริษัทของคนไทยจะมีน้อยมากมีการกำหนด(ตั้งธง)ไว้ว่าจะสร้างเขื่อนอีกหลายเขื่อน งบฯค่าที่ปรึกษาอาจจะอยู่ที่ระดับหลายพันล้านบาท แต่มูลค่าของยอด งบประมาณรวมของงานนี้คือ สามแสนล้านบาท ซึ่งเป็นเงินกู้ทั้งสิ้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น