xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

รุมทึ้งงบน้ำท่วม 3.4แสนล. หมกเม็ดสร้างเขื่อน จุดดับ รัฐบาลปูนิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและนายปลอดประสพ สุรัสวดี
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- น่าจับตาไม่น้อยทีเดียว สำหรับแผนอภิมหาโปรเจ็กต์บริหารจัดการน้ำของ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 3 ก.ค. มีมติเห็นชอบแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารโครงการและการใช้จ่ายเงินกู้ เพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ วงเงิน 3.4 แสนล้านบาท และแก้ไขร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ 2555

แม้ว่า นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) จะออกมายืนยันเสียงแข็ง ว่าจะดำเนินการด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และจะมีแผนจัดการน้ำที่ดี แต่ไม่ว่าจะออกมายืนยันกระต่ายขาเดียวอย่างไร จน แล้วจนรอดก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครเชื่อน้ำคำของนายปลอดประสพ เท่าใดเลย

ทั้งนี้ สาระสำคัญที่หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงว่างานนี้อาจจะเป็นมหกรรมแร้งทึ้งงบประมาณแผ่นดิน หนีไม่พ้นการที่แผนดังกล่าวได้ให้อำนาจคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ซึ่งหากเห็นว่าโครงการใด มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการให้ทันสถานการณ์ หรือเป็นโครงการที่มีลักษณะพิเศษ กบอ.มีอำนาจพิจารณยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุ ปี 2535 และระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ ปี 2549

รวมไปถึงสามารถเสนอหลักเกณฑ์อื่นที่แตกต่างจากระเบียบพัสดุทั้ง 2 ฉบับได้ เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างรวดเร็ว โดย กบอ.ระบุว่ายังสามารถจัดทำโครงการจัดการน้ำและอุทกภัยหรือโครงการอื่นใดที่มีความจำเป็นเพื่อเสนอครม.อนุมัติได้ ไม่ว่าโครงการนั้นจะดำเนินการก่อนมีแผนปฏิบัติงานก็ตาม

นั่นหมายความว่า การให้อำนาจยกเว้นปฏิบัติตามระเบียบพัสดุฯและอีออกชัน ที่กำหนดขึ้นมาตีกรอบป้องกันการรั่วไหล ย่อมสุ่มเสี่ยงให้เกิดการทุจริตได้ง่าย ยากต่อการตรวจสอบ ทั้งที่เป็นงบประมาณจำนวนมหาศาล

ดังนั้น อย่าได้แปลกใจหากจะเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นในทันทีว่า เหตุไฉนโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้เงินลงทุนถึง 3 แสนล้านบาท จึงกำหนดเงื่อนไขให้เป็นการประมูลด้วยวิธีพิเศษ กล่าวคือ การให้เอกชนเสนอโครงการให้รัฐพิจารณา โดยเงื่อนไขในการพิจารณากำหนดเพียงว่า รัฐจะคัดเลือกบริษัทที่เสนอโครงการที่เหมาะสม และดีที่สุด พร้อมกับเงื่อนไขการกำหนดคุณสมบัติบริษัทที่เข้าร่วมเสนอตัวที่มูลค่าโครงการที่เคยมีผลงานมาก่อน เสมือนว่า จะเอื้อให้กับบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่ให้ได้งาน มากกว่าที่จะเป็นบริษัทคนไทย เพราะเงื่อนไขผลงานที่ไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาท เชื่อว่าจะมีบริษัทรับเหมาก่อสร้างคนไทยที่เข้าข่ายอยู่เพียงไม่กี่รายเท่านั้น

และนั่นอาจเป็นช่องโหว่ที่ทำให้เกิดข้อครหาได้ว่า เป็นการใช้เงินงบประมาณของแผ่นดินไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ เปิดช่องให้เกิดการหาประโยชน์แอบแฝงจากโครงการของรัฐ หรือเข้าข่ายการใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลอย่างไม่โปร่งใส

ในขณะเดียวกันเงื่อนไขทีโออาร์ก็เปิดกว้างให้บริษัทยักษ์ใหญ่ก่อสร้างไทย เรียกขานในนาม "บิ๊ก 5 เสือก่อสร้าง" ได้เข้าร่วมโครงการนี้ เช่น อิตัลไทยที่มีประสบการณ์สร้างเขื่อนในหลายประเทศ บริษัท สี่แสงการโยธาที่ได้งานประมูลระบบน้ำของกรมชลประทานต่อเนื่องหลาย 10 ปีมาแล้ว โดยวันแรกของการเปิดให้เอกชนยื่นหลักฐานรับเอกสารชี้ชวน โครงการเสนอกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยวงเงิน 3.4 แสนล้านบาท มีผู้เข้าขอรับเอกสารเพื่อยื่นซองประมูล25 ราย เป็นบริษัทในไทย 19 บริษัทและบริษัทต่างชาติ 6 บริษัท

บริษัทแรกที่ยื่นขอคือ ช.การช่างขณะที่ผู้แทนจากไจกาซึ่งมาขอรับเอกสารระบุว่า จะนำไปแจกให้นักลงทุนญี่ปุ่น เช่นเดียวกับตัวแทนจากสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี

ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบคุณสมบัติผู้เสนอกรอบแนวคิดลงทุนก็เรียกได้ว่าถูกกำหนดไว้อย่างครอบจักรวาล คือ เป็นบริษัทที่เคยมีผลงาน "ออกแบบ"ระบบพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ หรือ "ก่อสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ "หรือ "ออกแบบ"หรือ"ก่อสร้าง"ระบบป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมหรือภัยแล้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หรือปี 2545-2555

แต่ก็มีข้อสังเกตเช่นกันว่า หากบริษัทบิ๊กๆ เหล่านี้ร่วมประมูลโครงการลงทุนน้ำตั้งแต่ต้น คือ การยื่นเสนอกรอบแนวคิดให้รัฐบาลคัดเลือกก็มีความ เป็นไปได้สูงว่า บริษัทที่ผู้ชนะการออกแบบแนวคิดการลงทุนน้ำจะชนะการ ประมูลในขั้นตอนก่อสร้างด้วย เพราะเป็นผู้ออกแบบรายละเอียดโครงการมากับมือ รู้ทั้งวิธีการและรู้ต้นทุน

เพราะความจริงแล้วความโปร่งใส หรือไม่โปร่งใสในโครงการลงทุนระบบน้ำอยู่ที่ขั้นตอนประมูลโครงการก่อสร้าง หากบริษัทใดคอนเนกชัน "แน่นปึ้ก-วิ่งเก่ง"โอกาสคว้างานไปทำก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นเลยเนื่องจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติอนุมัติให้การประมูลโครงการน้ำทำได้โดยใช้ "วิธีพิเศษ"ที่เสนอโดย กบอ.หากแวะเวียนไปที่ตึกแดง ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) จะเห็นเจ้าหน้าที่บริษัทต่างชาติหลายแห่งวิ่งขึ้นวิ่งลงตึกทุกวัน

จุดนี้นับว่าเป็นงานหนักของฝ่ายตรวจสอบอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน ต้องติดตามโครงการอย่างใกล้ชิดไม่ให้เกิดการรั่วไหล เพราะหากไปดูในรายละเอียดแล้วก็จะพบว่า วิธีที่ กบอ.กำหนดขึ้นมายุ่งยากและซับซ้อนมิใช่น้อยเลยทีเดียว

นอกจากนั้นแล้ว สิ่งที่ที่น่าเป็นห่วงอีกประการ ก็คือ จากที่ กบอ.กำหนดเปิดให้เอกชนเข้ารับทีโออาร์ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีใครได้เห็นรายชื่อคณะกรรมการ 2 ชุด คือ คณะกรรมการที่จะเป็นผู้คัดเลือกบริษัทที่ผ่านคุณสมบัติ และคณะกรรมการพิจารณาการออกแบบเบื้องต้นที่บริษัทเอกชนเสนอมา ทั้งที่คณะกรรมการ 2 ชุดดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เนื่องจากจะเป็นตัวแปรสำคัญในการคัดสรรโครงการก่อสร้างที่ต้องใช้เงินงบประมาณถึง 3 แสนล้านบาท

หนำซ้ำยังเป็นโครงการที่เปิดให้เอกชนเป็นผู้เสนอให้รัฐพิจารณา ซึ่งไม่มีใครกล้าการันตีได้เลยว่าจะเป็นโครงการที่สามารถป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมได้จริง

ทั้งนี้ การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ขนาดนี้ รัฐบาลจะใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างพิเศษ โดยอ้างความรวดเร็วคงเป็นเรื่องที่ฟังได้ยาก เรื่องนี้จึงสร้างความกังขาให้กับประชาชนอย่างยิ่งว่าหากจัดซื้อจัดจ้างวิธีพิเศษโดยใช้งบมากมายมหาศาลนี้ จะตรวจสอบการใช้เงินอย่างไรว่าได้ใช้เงินอย่างโปร่งใส ตามที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยืนยันเสมอว่าจะจริงจังในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันซึ่งยังเป็นที่กังขากันทั่วไปว่า ที่ผ่านมารัฐบาลหรือแม้แต่ กบอ.เองก็มิเคยเปิดเผยเลยว่าโครงการเหล่านั้นมีรายละเอียดอะไรบ้าง นับประสาอะไรกับการเปิดประมูลวิธีพิเศษจะไม่มีการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้น และตัวอย่างที่เห็นก็เป็นประจักษ์พยานว่า โครงการ 100 ล้านบาท ยังมีกลิ่นหัวคิว และกับโครงการมูลค่ารวมกัน 3.4 แสนล้านบาท ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าจะมีการรั่วไหลเป็นจำนวนมหาศาล

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้แล้วไม่ใช่แค่เพียงแผนจัดการน้ำมูลค่า 3.4 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลกำลังเปิดให้บริษัทเอกชนทั้งต่างชาติและในประเทศเสนอตัวเข้ามาประมูลการออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและ ระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย เพราะนอกจากนี้ยังได้กำหนดว่าจะสร้างอ่างเก็บน้ำ 21 อ่างใน 5 ลุ่มน้ำแล้วยังจะใช้พื้นที่ 2 ล้านไร่ ไว้เป็นที่รับน้ำชั่วคราวเมื่อมีปริมาณน้ำเกินศักยภาพที่แม่น้ำจะรับได้อีกด้วย

ทั้งนี้ พื้นที่รับน้ำ 2 ล้านไร่ดังกล่าวอยู่ใน 12 จังหวัด คือ อยู่ทางตอนเหนือของ จ.นครสวรรค์ 1 ล้านไร่ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ 4 อำเภอ จ.นครสวรรค์ 8 อำเภอจ.พิจิตร 4 อำเภอ จ.พิษณุโลก 4 อำเภอ จ.อุตรดิตถ์ 7 อำเภอ จ.สุโขทัย อีก 1 ล้านไร่ เหนือ จ.พระนครศรีอยุธยา จะครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ จ.สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทองอยุธยา สระบุรี สุพรรณบุรี และนครปฐม วงเงิน 5 หมื่นล้านบาทดำเนินการตั้งแต่ปี 2555 ใช้เวลา 3-5 ปี

ตามแผนงานดังกล่าว มีทั้งการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าและดิน สร้างฝายแม้ว ฯลฯ รวมทั้งการสร้างอ่างเก็บน้ำแก่งเสือเต้น ที่ ต.สะเอียบ อ.สองจ.แพร่ ความจุ 1,175 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเป้าหมายที่หวังไว้คือ ช่วยเพิ่มพื้นที่เกษตรชลประทานประมาณ 774,200 ไร่นอกจากนี้ จะมีการสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่านสะแกกรัง และป่าสัก จำนวน 21 อ่าง การสร้างทางน้ำหลาก หรือฟ ลัดเวย์ ขนาดไม่น้อยกว่า 1,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เพื่อรับน้ำหลาก ส่วนเกินจากแม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำป่าสัก ไปทางฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของ แม่น้ำเจ้าพระยา หรือฝั่งใดฝั่งหนึ่ง วงเงิน1.2 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ ถ้าจะแปลกันแบบเรียบง่ายและตรงตัวแล้ว ก็ไม่ได้ต่างจากการมัดมือชก ในการแอบดันการสร้างเขื่อน ที่ต้องขีดเส้นใต้ไว้ก็คือ มีชื่อของแก่งเสือเต้น เขื่อนแม่วงก์ ซึ่งถือว่าเป็นของแสลง ในการสร้างเขื่อนแห่งนี้ขึ้นมา และหากใครได้ติดตามข่าวก็จะทราบว่า มีประชาชนในพื้นที่คอยต้านเพียงใด เพราะถือเป็น ของร้อน ที่ไม่ว่ารัฐบาลไหน จับมาปัดฝุ่นเมื่อไหร่เป็นต้องเกิดกระแสคัดค้านขึ้นมาทันที

แต่มาถึงรอบนี้ก็ดูเสมือนว่า บริบทของเรื่องจะเปลี่ยนไป เพราะรัฐบาล็อาจจะสบช่องนี้ ดันโครงการสร้างเขื่อนให้สำเร็จจนได้ โดยตัวประกันหรือเหยื่อ ก็คือจะบอกกับประชาชนว่า ถ้าไม่สร้างเขื่อนก็จะไม่สามารถรับมือภาวะน้ำท่วมได้ คราวนี้ก็กลับกลายเป็นว่า ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวต้องกลายเป็นตัว ประกันไปในทันที ซึ่งทุกครารัฐบาลก็จะอ้างว่า เมื่อเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน คือ บริเวณจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก พิจิตรและนครสวรรค์ทีไร โครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จะถูกปัดฝุ่น หยิบยกมาพูดถึงทุกที โดยหน่วยงานรัฐว่า มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เพราะถ้าไม่สร้าง น้ำก็จะท่วมอยู่อย่างนี้ไปชั่วนาตาปี

อย่างไรก็ดี ลองมาดูข้อมูล ที่ต้องแลกมากับเขื่อนยักษ์ที่ไม่รู้ว่าจะช่วยป้องกันน้ำท่วมได้จริงหรือไม่ แต่ต้องแลกกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์ และที่ต้องเสียแน่ๆก็คือจะเป็นการทำลายป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์กว่า 11,000 ไร่ ยังกระทบต่อพืชพันธุ์และสัตว์ป่าอีกมากมาย อาทิ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 57 ชนิด 26 วงศ์ สัตว์จำพวกนก จำนวน 305 ชนิด 53 วงศ์ สัตว์เลื้อยคลาน จำนวน 22 ชนิด 11 วงศ์ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 7 ชนิด 4 วงศ์ และปลาน้ำจืดจำนวน 68 ชนิด 14 วงศ์

รวมไปถึง การศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ชี้ชัดว่าบริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก คือรอยเลื่อนแพร่ ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา เป็นการเสี่ยงอย่างมากที่จะสร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลกเสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของตัวเอง สันเขื่อนที่สูงจากท้องน้ำถึง72 เมตร หากมีการแตกหรือพังทลายลงมาจะมีคลื่นยักษ์ยิ่งกว่าสึนามิหลายเท่าการศึกษาของ องค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม กรณีเขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถเยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์การศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ด้วยเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน

ดังนั้นอย่าได้แปลกใจเลย แค่โครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นและเขื่อนแม่วงก์เพื่อป้องกันน้ำท่วมผุดเป็นกระแสขึ้นมา เสียงคัดค้านจากภาคประชาชนก็กระหึ่มรับกันเป็นกระบวน ดังนั้น การก่อสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำรวม 21 แห่ง มูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาทเสียงต้านจึงยิ่งดังอย่างช่วยไม่ได้

ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ประกาศลั่นทันทีว่าหากโครงการของรัฐบาลไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญให้ครบถ้วนและไม่ฟังประชาชนโดยฉวยโอกาสอ้างสถานการณ์น้ำท่วม ก็จะต้องเจอกันแน่ที่ศาลปกครอง ทางสมาคมฯ จะขออำนาจศาลปกครองให้คุ้มครองสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยโครงการดังกล่าวต้องรับฟังความเห็นของประชาชน

และที่น่าฉงนอีกประการก็คือ รัฐบาลเหมือนจะจงใจบ่ายเบี่ยงที่จะให้ข้อมูลแก่สังคม โดยระบุว่าเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่รัฐบาลตั้งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) ฯลฯ ส่วนคณะกรรมการเหล่านี้ก็มิได้หือได้อือแต่อย่างใด ขณะที่ กบอ.ก็บ่ายเบี่ยงว่า เปิดเผยไม่ได้เพราะเกรงว่าจะเกิดปัญหามวลชนและเกี่ยวพันกับประโยชน์ได้เสียของคนที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการ

ว่ากันว่า คณะกรรมการ กนอช. ซึ่งมีหน้าที่ในการให้นโยบายแก่ กบอ.แท้ๆ บางคนยังวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่ กบอ.ทำ เสียด้วยซ้ำ

ดังนั้น เมื่อมาถึงตรงนี้แล้ว หลายฝ่ายจึงต้องจับตา แผนอภิมหาโปรเจ็กต์บริหารจัดการน้ำของ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างตาไม่กระพริบ ทีเดียวเพราะการทำงานอย่างไม่เปิดเผยและปิดกั้นไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งที่เป็นโครงการที่กระทบผู้คนอย่างกว้างขวาง บางแห่งเกี่ยวพันกับการอพยพประชาชนจำนวนมากเช่นนี้ ไม่เพียงแต่จะทำให้กังขาได้ว่าจะเกิดการทุจริตกันอย่างมโหฬารได้แล้ว ยังจะเป็นการก่อปัญหาความขัดแย้งอย่างใหญ่หลวงในสังคมได้ง่ายๆ

และทั้งหลายทั้งปวงนั้นต้องทำรายงานผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมด้วยหรือไม่ ถ้าไม่ต้องทำ เหตุใดถึงไม่ทำ ถ้าไม่ทำแล้วมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือความเป็นอยู่ของประชาชนจะทำอย่างไรโดยที่กล่าวไปทั้งหมดยังไม่เห็นแม้แต่เงาเสียด้วยซ้ำ กลับสวนทางที่เปิดประมูลอย่างเบ็ดเสร็จ แก่บริษัทยักษ์ใหญ่ ทั้งไทยและต่างชาติอย่างสนุกสนาน

มาถึงตรงนี้แล้ว คงต้องบอกว่าน่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง สำหรับแผนอภิมหาโปรเจ็กต์บริหารจัดการน้ำของ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีวงเงินสูงถึง วงเงิน 3.4 แสนล้านบาท ซึ่งแค่เริ่มฉายภาพก็เริ่มส่อกลิ่นไม่ค่อยดีออกมาแล้ว รวมไปถึงประเด็นที่รัฐบาลปูนิ่มต้องเผชิญกับเสียงรุมต้านในการแหกด่านสร้างเขื่อนที่ถือเป็นเผือกร้อนอย่างไม่ต้องสงสัย และอย่ากระนั้นเลยกับแค่การบริหารจัดการน้ำครั้งที่ผ่านมาชาวบ้านทั้งประเทศก็ได้รับรู้ถึงความห่วยแตกของ รัฐบาลปูนิ่มขนาดไหนแล้ว ดังนั้นอย่าได้แปลกใจเลยหากจะได้ยินเสียงแว่วๆจากหลายฝ่ายว่า ระวัง รัฐบาลจะอายุสั่นไม่รู้ตัว



กำลังโหลดความคิดเห็น