xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กลัวประชามติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัย
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- มีคำถามในใจของคนไทยส่วนใหญ่ทั้งประเทศเสมอมาว่า ทำไมพรรคเพื่อไทย และพรรคพวก ถึงไม่ให้มีการทำประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเท่ากับการไปขออำนาจจากประชาชนในการทำเรื่องสำคัญของประเทศ

ไม่ใช่เลือกส.ส.แล้วสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

ที่สำคัญยังเป็นการสร้างความชอบธรรมในการแก้ไขอีกด้วย

แต่สาเหตุสำคัญนั้น มาจากความไม่มั่นใจในการแอบอ้าง “มติประชาชน” เพื่อแก้รัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย และพวกพ้อง

แม้กระทั่ง “วรเจตน์ ภาคีรัตน์” และกลุ่มนิติราษฎร์ ยังกลัว

มีแต่เพียงการให้เหตุผลข้างๆ คูๆ ว่า จะเสียค่าใช้จ่าย 2,000 ล้านบาท...แต่ไม่ได้ให้เหตุผลในเชิงกฎหมาย

ตรงกันข้าม คณะนิติราษฎร์ กลับมีข้อเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และจัดตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญขึ้น

โดยโอนอำนาจศาลเดิมมาเป็นของคณะตุลาการฯ ทั้งหมด และให้เหลือตุลาการ 8 คน โดยสภาผู้แทนราษฎรเลือกตามคำเสนอของประธานสภา จำนวน 3 คน วุฒิสภาเลือก 2 คน ตามคำเสนอของประธานวุฒิ คณะรัฐมนตรีเลือกได้ 3 คน ตามคำเสนอของนายกรัฐมนตรี

ดูเหมือนว่า ยิ่งเสนอยิ่งเละ…จนไม่คุณค่าทางกฎหมาย และทางการเมืองใดๆเลย

เหตุผลสำคัญคือ พรรคการเมืองไหนคุมรัฐบาล ครองที่นั่งมากในสภา ก็สามารถคุมคณะตุลาการของคุณวรเจตน์ ได้ทั้งหมด

แต่อีกนัยหนึ่ง แสดงว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สร้างผลกระทบต่อ “กองเชียร์พรรคเพื่อไทย” มาก

โดยเนื้อหาสาระของคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีทั้งหมด 4 ประเด็น ได้แก่

1. ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่

2. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตาม มาตรา 291 สามารถแก้ไขเพิ่มเติมโดยยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่

3. การกระทำของผู้ถูกร้อง เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญนี้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรค 1 หรือไม่

4.หากเข้าเงื่อนไขประเด็นข้อ 3 ศาลต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จะมีผลให้ยุบพรรคการเมือง หรือเพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรคหรือไม่

ประเด็นที่ 1 ศาลวินิจฉัยว่า มีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณา และวินิจฉัยได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรค 2

ประเด็นที่ 2  ศาลวินิจฉัยว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 แม้จะเป็นอำนาจของรัฐสภาก็ตาม แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ มาตรา 291 เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ ได้มาจากการลงประชามติของประชาชน ก็ควรให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ได้ลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หรือรัฐสภาจะใช้อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ก็เป็นความเหมาะสม และเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนินการดังกล่าวนี้ได้ ซึ่งจะสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 291
   

ประเด็นที่ 3 คำวินิจฉัยระบุว่า กระบวนการดังกล่าวยังไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะชี้ให้เห็นได้ว่า เป็นการล้มล้างระบอบการปกครองประชาธิปไตยฯ ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง อีกทั้งขั้นตอนจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ยังไม่เป็นรูปธรรม การกล่าวอ้างของผู้ร้อง จึงเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้า หรือเป็นความห่วงใยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยังห่างไกลที่จะเกิดเหตุการณ์ขึ้นตามที่กล่าวอ้าง ข้อเท็จจริงจึงยังไม่พอฟังได้ว่า เป็นการล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแต่อย่างใด ศาลจึงให้ยกคำร้อง เมื่อได้วินิจฉัยดังกล่าวแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในข้อที่ 4 อีก

ผลกระทบของคำวินิจฉัยต่อความรู้สึกของคนในวงกว้าง สามารถดูได้บางส่วนจากผลการสำรวจของ “สวนดุสิตโพล” ซึ่งได้สำรวจเรื่อง " ควันหลงกรณีการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ" ในจังหวัดใหญ่ 14 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 1,262 คน ระหว่างวันที่ 13-14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 62.55 รู้สึกโล่งกับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เบาใจที่ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ช่วยให้บรรยากาศทางการเมืองดีขึ้น

ที่สำคัญ ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 81.67 เห็นด้วยกับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการตัดสินที่ช่วยสร้างบรรยากาศของบ้านเมืองให้ดีขึ้น ไม่มีการปะทะกันหรือมีความรุนแรงเกิดขึ้น เป็นการตัดสินที่ว่าไปตามตัวบทกฎหมาย ฯลฯ  มีเพียงร้อยละ 18.33 ไม่เห็นด้วย เพราะคำวินิจฉัยของศาลในบางประเด็นยังไม่ชัดเจน มีความขัดแย้งกันเอง

นอกจากนี้ประชาชนร้อยละ 45.91 เห็นควรชะลอเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปก่อน เพราะไม่อยากเห็นบ้านเมืองวุ่นวาย สังคมขาดความสงบสุข , ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกมากที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญและเร่งแก้อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะเรื่องความเดือดร้อนของประชาชน การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หรือการป้องกันน้ำท่วม มีเพียงร้อยละ 35.13 เห็นควรเดินหน้าต่อไป เพราะรัฐบาลจะได้เดินหน้าบริหารบ้านเมืองต่อไปได้อย่างเต็มที่

แต่เชื่อหรือไม่ว่า พวกนปช. และพรรคเพื่อไทย ก็จะนำไปพูดอีกอย่างหนึ่ง เพราะพวกนี้สามารถสร้างความร่ำรวยจากการ “แสดงความเห็นตรงกันข้าม” กับศาล หรือประชาชนส่วนใหญ่ได้

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ไปออกรายการ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน” ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2555 ร่วมกับ ผบ.ตร. และเลขาธิการป.ป.ส. แล้วกล่าวพาดพิงว่า

"การแก้ปัญหายาเสพติดที่ทำได้ผลมากที่สุดสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แล้วก็มีคนตาย 2,500 คน ก็ถูกกล่าวหาว่าฆ่าตัดตอน ในความเป็นจริงแล้ว หลังมีการปฏิวัติ มีการตรวจสอบเรื่องนี้ถึงสองครั้ง ท่านอาจารย์ คณิต ณ นคร ก็เป็นประธานการตรวจสอบ ยืนยันว่าไม่มีการฆ่าตัดตอน"  

หลังจากนั้นในวันที่ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้ทำหนังสือด่วนถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีทันที
 
หนังสือของนายคณิตระบุว่า “เป็นคำให้สัมภาษณ์ที่คลาดเคลื่อนต่อความจริง เป็นการปกป้อง และยกย่อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยใช้ประโยชน์จากตน การกระทำของร.ต.อ.เฉลิม จึงน่าจะผิดจรรยาบรรณทางการเมือง เพราะจะต้องตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบศึกษาและวิเคราะห์การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษ และการนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียงและทรัพย์สินของประชาชน (คตน.) ให้รอบคอบเสียก่อนที่จะหยิบฉวยไปใช้ประโยชน์ในทางการเมือง” 
   
"ในรายงานการศึกษาเบื้องต้นของ คตน.ได้ระบุไว้ชัดว่า ในนโยบายเกี่ยวกับการปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้น จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้นของ คตน. กรณีน่าเชื่อว่า "ความผิดฐานอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ" (Crime against Humanity) ได้เกิดขึ้นจากการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับยาเสพติด และการนำนโยบายไปปฏิบัติที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการนี้เป็นจำนวนมาก"

ในทางวิชาการแล้ว การกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับล่าง หรือระดับปฏิบัติ ที่น่าเชื่อว่าทำให้เกิดการตายของคนจำนวนมากนั้น ต้องถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐโดยแท้เท่านั้น จึงไม่ใช่การกระทำอันถือว่า เป็นการกระทำของตนเอง หากแต่เป็นการกระทำอย่างเป็นการกระทำของผู้อื่น

“เหตุนี้ในทางวิชาการจึงอาจถือว่า ผู้อยู่เบื้องหลังต่างหาก ที่เป็นผู้กระทำการฆาตกรรมประชาชนพลเรือนของประเทศ ในฐานะ "ผู้กระทำความผิด” (Offender) ในความผิดฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crime against Humanity) ส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับล่าง หรือระดับปฏิบัตินั้น เป็นเพียง "ผู้สนับสนุน” (Supporter)” หนังสือของ นายคณิต ระบุ

นอกจากนี้รายงานการศึกษาเบื้องต้น คตน. ยังได้กล่าวถึงสิ่งที่ค้นพบ และมีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้ด้วย ได้แก่

1. ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2546 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินนโยบายปราบปรามยาเสพติด ด้วยการใช้นโยบายที่แข็งกร้าว เป็นการประกาศสงครามขั้นแตกหักเพื่อเอาชนะยาเสพติด กระบวนการมอบนโยบายของผู้บริหารประเทศ กลับเป็นไปในทิศทางที่สร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้ปฏิบัติ ว่าตนมีอำนาจที่จะจัดการในทุกรูปแบบ เพื่อให้ปัญหายาเสพติดหมดไป

2. เมื่อผู้ปฏิบัติตามนโยบายมีความจำเป็นต้องดำเนินการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเพราะการถูกจูงใจ หรือถูกบีบบังคับก็ตาม เป็นผลให้วิธีการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เกิดความผิดพลาด และที่เห็นชัดที่สุดคือ การสูญเสียชีวิตประชาชนเป็นจำนวนมากในช่วงระยะเวลาแค่สามเดือน

3. ผลกระทบจากการดำเนินนโยบายปราบปรามยาเสพติดที่ผิดพลาดดังกล่าว นอกจากจะก่อให้เกิดความสูญเสียกับประชาชนพลเรือนของประเทศไทยโดยตรงแล้ว ยังก่อให้เกิดความสูญเสียที่ร้ายแรงกับประเทศชาติเช่นกัน เพราะประเทศไทยต้องตกเป็นที่วิพากษ์ของประชาคมโลก เป็นเหตุให้รัฐบาลไทย ถูกเรียกร้องให้มีการไต่สวนหาผู้รับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้น

4. คตน.เห็นว่าอาจมีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีความรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา หรือความรับผิดตามกฎหมายอาญาระหว่างประเทศว่าด้วยอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ แต่การหาตัวผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น จะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อไปอีก รวมทั้งการศึกษาวิจัยเพื่อหามาตรการป้องกัน มิให้มีการดำเนินนโยบายปราบปรามยาเสพติดที่ผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก และที่สำคัญยิ่งจะต้องดำเนินการศึกษาวิจัย เพื่อกำหนดมาตรการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ประชาชน ซึ่งการดำเนินการทั้งสองประการนี้ อยู่ระหว่างดำเนินการของ คตน. และจะได้นำเสนอในรายงานฉบับสมบูรณ์ ต่อไป

แล้วอย่างนี้ จะให้ผู้ที่มี “ความผิดฐานอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” มาแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชนหรือ ?!

ประชามติของคนไทย จึงเป็นสิ่งที่พวกนี้หวาดกลัวนั่นเอง !!!
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แถลงข่าว
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง
คณิต ณ นคร
กำลังโหลดความคิดเห็น