xs
xsm
sm
md
lg

ศาลโลกรับคดีฆ่าตัดตอน ญาติจี้ขอเข้าคดีพิเศษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เหยื่อฆ่าตัดตอนรวมตัวยื่นหนังสือ ปชป. จี้รัฐจ่ายเยียวยา 7.75 ล้าน โฆษก ปชป. อ้างอัยการและประธานศาลอาญาระหว่างประเทศ รับเรื่องการฆ่าตัดตอน ไว้พิจารณาแล้ว ท้า รัฐบาล รีบลงสัตยาบัน ยอมรับอำนาจศาลอาญาโลก

วานนี้ (7 ส.ค.) ผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีการฆ่าตัดตอน จากนโยบายปราบปรามยาเสพติด สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายรัฐมนตรี จำนวน 10 คน นำโดย นางพิกุล พรหมจันทร์ ญาติของผู้เสียชีวิตจากคดีการฆ่าตัดตอนที่ จ.กาฬสินธุ์ เป็นตัวเเทน เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องขอความช่วยเหลือรื้อฟื้นคดี ผ่านพรรคประชาธิปัตย์ โดยมี นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ทางพรรคประชาธิปัตย์ จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาโดยดูแลในเรื่องการเสียชีวิตในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 46-48 และจะประสานงานกับทางญาติ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และได้มอบหมายให้ นายกษิต ภิรมย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีต รมว.ต่างประเทศ ดำเนินการเรื่องนี้แล้ว

หากจะให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชน ก็ต้องให้เงินเยียวยาจำนวนเท่ากันที่ 7.75 ล้านบาท โดยหลังจากที่ทางพรรคตั้งคณะทำงาน ซึ่งคาดว่าจะไม่เกิน 7 วัน ก็จะมีการดำเนินการในเรื่องนี้ทันที

** คดีฆ่าตัดตอนขึ้นศาลโลกได้

ด้านนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กระบวนการฆ่าตัดตอนทำให้มีการเสียชีวิตเกือบ 2,559 คน ในปี 46 โดยเมื่อเทียบกับก่อน และหลังปี 46 สองปี พบว่าตัวเลขการเสียชีวิตแตกต่างกันเกือบเท่าตัว โดยเฉพาะในช่วงเดือนก.พ.-เม.ย. 46 แค่ 3 เดือน เฉลี่ยมีผู้เสียชีวิตเดือนละ 843 ราย จึงทำให้ทาง คตน. สรุปว่า เกิดจากนโยบายทำสงครามกับยาเสพติดในช่วงเวลาดังกล่าว จนเกิดการฆ่าตัดตอน มีการล้างแค้น หรือการกระทำจากเจ้าหน้าที่ ที่มีผลประโยชน์แอบแฝง และมีการสรุปด้วยว่า เข้าข่ายที่จะนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศได้ ตามเงื่อนไขข้อ 2 คือ เป็นภัยต่อมวลมนุษยชาติ ซึ่งในรายงานของ คตน. ก็ระบุว่า ควรหาคนรับผิดชอบ และคนที่อยู่เบื้องหลังนโยบายนี้ ซึ่งนายคณิต ณ นคร ในฐานะประธาน คตน. ก็ยืนยันว่า คดีนี้เกี่ยวโยงกับอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ ส่วนจะดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหน เป็นสิทธิผู้ที่จะร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ยังระบุถึงกรณีที่คนเสื้อแดง อยากให้รัฐบาลลงสัตยาบัน ยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยขอท้าให้รัฐบาลรีบลงนามในสัตยาบัน รับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยเร็ว จะได้ดำเนินคดีกับคนทำผิดได้ แต่ถ้าไม่ทำ แสดงว่าเป็นวัวสันหลังหวะ มีชนักติดหลัง เพราะกลัวว่าคนไทยคนแรกที่ต้องขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

อย่างไรก็ตามล่าสุด นายชวนนท์ กล่าวว่า อัยการและประธานศาลอาญาระหว่างประเทศ ได้รับเรื่องการฆ่าตัดตอน จากนโยบายปราบปรามยาเสพติดในสมัยรัฐบาล พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ไว้พิจารณาแล้ว เนื่องจากเป็นภัยต่อมนุษยชาติ พร้อมขอเรียกร้องให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว ออกมาร่วมกันเป็นโจทก์ด้วย

**ญาติเหยื่อฆ่าตัดตอนจี้บรรจุคดีพิเศษ

ผู้สื่อข่าวรายงาน ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับคดีที่ นายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง อายุ 17 ปี (น้องเอ็กซ์) ผู้ต้องหาคดีลักทรัพย์รถจักรยานยนต์ และถูกตำรวจ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ นำตัวไปฆ่าแขวนคอ ซึ่งศาลอาญา ได้มีคำสั่งพิพากษาประหารชีวิตดาบตำรวจ 3 นาย และสั่งจำคุกนายตำรวจที่เกี่ยวข้อง 2 นาย ยกฟ้อง 1 นาย เหตุเกิดในสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงประกาศนโยบายสงครามกับยาเสพติด จนมีคดีฆ่าตัดตอนกว่า 2,500 ศพ

นางพิกุล พรหมจันทร์ ผู้รับมอบอำนาจให้เป็นโจทก์ร่วม และญาติของนายเกียรติศักดิ์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 7 เวลา 09.00 น. ตนและครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจในกาฬสินธุ์กว่า 10 ครอบครัว เดินทางไปมอบช่อดอกไม้ เพื่อแสดงความขอบคุณแก่ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และยื่นหนังสือสอบถามถึงความคืบหน้าของคดีที่ยังค้างอยู่ที่ ดีเอสไอ อีก 2 คดี

นางพิกุล กล่าวว่า ยังจะมีชาวบ้านในพื้นที่ที่มีคดีคล้ายคลึงกันในสมัยช่วงรัฐบาลทักษิณ เข้าร้องเรียนแจ้งความเพิ่มเติม เพื่อจะขอให้บรรจุเข้าเป็น "คดีพิเศษ" หรือรวมกันกับคดีที่อยู่ในมือของดีเอสไอ

** แนะร้องศาลอาญาระหว่างประเทศ

นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ ศึกษาและวิเคราะห์การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษ และการนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียงและทรัพย์สินของประชาชน (คตน.) กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมจะนำคดีฆ่าตัดตอนยาเสพติดในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ไปฟ้องต่อศาลโลกว่า สำหรับคดีของผู้เสียชีวิตจากนโยบายการปราบปรามยาเสพติดจากที่ คตน.ได้สรุปออกมานั้น ขณะนี้มีอยู่จำนวน 40 คดี ที่อยู่ในการสอบสวนสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ถือว่าคดียังมีความล่าช้ามาก ขณะที่อีก 8 คดี ที่อยู่ในการสอบสวนสืบสวนของดีเอสไอ ก็เพิ่งจะจับตัวคนผิดได้เพียง 1 คดี คือกรณีที่ตำรวจ 3 นายร่วมกันฆ่าตัดตอนเยาวชนอายุ 17 ปีที่ จ.กาฬสินธุ์

"กรณีนี้ถือว่าเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่า เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และเข้าข่ายที่จะสามารถนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และคดีฆาตกรรมระดับสากลได้ ดังนั้น เรื่องนี้จึงสามารถที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของศาลระหว่างประเทศได้เหมือนกัน" นายไกรศักดิ์ กล่าว และว่า ช่องทางที่การฟ้องร้องเอาผิดนั้น ยังมีอยู่หลายช่อง อาทิ ศาลอาญาประเทศเยอรมนี ศาลกลางสหรัฐอเมริกา ที่รับฟ้องคดีเหล่านี้ เนื่องจากศาลดังกล่าวข้างต้น จะถือว่าคดีใดที่เป็นคดีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ไม่ว่าจะประเทศใดในโลก ย่อมเป็นปัญหาที่สามารถจะเข้ามาคุ้มครองมนุษยชาติได้ หากมีกลุ่มผู้ได้รับความเสียหาย และพยานก็สามารถดำเนินการยื่นฟ้องร้องได้ แต่ขณะนี้ก็ยังไม่เห็นหน่วยงานใด หรือบุคคลใครดำเนินการเลย สำหรับกรณีที่จะนำไปยื่นต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ ในทางปฏิบัติ แม้จะไม่มีผลผูกพันเนื่องจากประเทศไทยยังไม่ได้ลงสัตยาบัน และรัฐสภายังไม่ได้รับรอง แต่การไปยื่นไว้ก่อนก็สามารถเก็บไว้เป็นหลักฐานได้
กำลังโหลดความคิดเห็น