ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ปัญหาคดีฆ่าตัดตอนเริ่มเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2546 เมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีนโยบาย “ปราบปรามยาเสพติดอย่างเด็ดขาด” โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ต้องปราบปรามผู้ค้ายาและผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 25 ของบัญชีรายชื่อผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยใช้หลักเกณฑ์วัดผลเชิงปริมาณ 3 ประการ คือ 1. การจับกุมดำเนินคดีจนถึงขั้นอัยการส่งฟ้องศาล 2. การวิสามัญฆาตกรรมในกรณีที่ผู้ค้ายาเสพติดต่อสู้ 3. การที่ผู้ค้ายาเสพติดเสียชีวิตไม่ว่าด้วยกรณีใดก็ตาม
ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ถึงร้อยละ 25 ก็จะต้องถูกโยกย้ายหรือพิจารณาโทษทางวินัย โดยมีการกำชับ ข่มขู่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานว่า “ถ้าล้มเหลว ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ก็คงต้องไปด้วยกัน”
เพียง 3 เดือนแรกของการประกาศนโยบาย (1 กุมภาพันธ์ - 30 เมษายน 2546) มีผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดถูกฆ่าตัดตอนเสียชีวิตมากถึง 2,275 ราย โดยเฉพาะกรณีการฆ่าแขวนคอนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง ที่เกิดขึ้นในจังหวัดกาฬสินธุ์ ถือเป็น 1 ในผู้เสียชีวิตที่ถูกฆ่าตัดตอนอันเนื่องจากนโยบายปราบปรามยาเสพติดขั้นเด็ดขาดในครั้งนั้น
และเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ที่ผ่านมา คำพิพากษาของศาลต่อคดีดังกล่าวคือเครื่องพิสูจน์ให้เห็นถึงความเหี้ยมอำมหิตของการประกาศนโยบายดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ คดีดังกล่าว อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้อง ด.ต.อังคาร คำมูลนา อายุ 48 ปี ด.ต.สุดธินัน โนนทิง อายุ 43 ปี ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์ อายุ 42 ปี พ.ต.ท.สำเภา อินดี อายุ 51 ปี อดีต สวป.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ พ.ต.อ.มนตรี ศรีบุญลือ อายุ 62 ปี อดีต ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ และ พ.ต.ท.สุมิตร นันท์สถิต อายุ 45 ปี อดีตรอง ผกก. สภ.เมืองกาฬสินธุ์ เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐาน ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย และเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องรับโทษ
คดีนี้ฝ่ายโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2547 จำเลยทั้ง 6 คน โดยจำเลยที่ 1-3 และ จำเลยที่ 6 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ร่วมกันฆ่านายเกียรติศักดิ์ หรือเอ็กซ์ ถิตย์บุญครอง อายุ 17 ปี ผู้ต้องหาคดีลักทรัพย์จักรยานยนต์ ขณะนำตัวออกจากห้องขัง สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ด้วยการบีบรัดคอจนขาดอากาศหายใจเสียชีวิต จากนั้นได้ร่วมกันย้ายศพเพื่ออำพรางคดี โดยนำศพนายเกียรติศักดิ์ไปแขวนคอ ไว้ที่กระท่อมร้างกลางนา บ้านบึงโดน หมู่ที่ 5 ต.แสนชาติ อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งอยู่ติดกับจังหวัดกาฬสินธุ์เพียง 20 กิโลเมตร จากนั้นจำเลยที่ 4-6 ได้ร่วมกันข่มขู่พยาน เพื่อให้การอันเป็นเท็จ โดยให้ช่วยเป็นพยานว่าวันที่ผู้ตายถูกทำร้ายยังพบเห็นผู้ตายที่ตลาดโต้รุ่ง เพื่อไม่ให้จำเลยต้องรับโทษหรือติดคุก
ทั้งนี้ ในชั้นสอบสวนจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่สุดท้ายก็ไม่อาจหลุดรอดจากความผิดที่ได้กระทำไว้ เมื่อศาลพิพากษาว่า ด.ต.อังคาร คำมูลนา อายุ 48 ปี ด.ต.สุดธินัน โนนทิง อายุ 43 ปี ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์ อายุ 42 ปี จำเลยที่ 1-3 กระทำผิดจริง ฐานย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย ,ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ให้ลงโทษประหารชีวิตสถานเดียว
ส่วนพ.ต.อ.มนตรี ศรีบุญลือ อายุ 62 ปี อดีต ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ จำเลยที่ 5 เป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องรับโทษ ให้ลงโทษจำคุก 7 ปี ขณะที่ พ.ต.ท.สุมิตร นันท์สถิต อายุ 45 ปี อดีตรอง ผกก. สภ.เมืองกาฬสินธุ์ จำเลยที่ 6 กระทำผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต
ด้าน พ.ต.ท.สำเภา อินดี อายุ 51 ปี อดีต สวป.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ จำเลยที่ 4 นั้นศาลยกฟ้อง เนื่องจากพิจารณาจากหลักฐานแล้ว เห็นว่าขณะเกิดเหตุ พ.ต.ท.สำเภา เป็นผู้ที่โทรศัพท์ให้ญาติหาคนมาประกันตัวนายเกียรติศักดิ์ เพื่อความสะดวกที่พนักงานสอบสวนจะได้ไม่ต้องพาผู้ต้องหาไปฝากขังต่อศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ทุก 12 วัน ถือเป็นการให้บริการประชาชน นอกจากนี้ยังปรากฏว่าจำเลยได้ไปส่งนางสา ถิตย์บุญครอง ย่าของผู้ตาย ขณะกลับจากเยี่ยมหลานชายที่ถูกคุมขังอยู่ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ จึงเชื่อได้ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของนายเกียรติศักดิ์แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ญาติของจำเลยที่ต้องคำพิพากษาได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสด และตำแหน่งราชการ เพื่อขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์สู้คดี ซึ่งศาลอาญาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 5 โดยตีราคาประกันรายละ 1 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขห้ามจำเลยเดินทางออกนอกประเทศ
นางพิกุล พรหมจันทร์ ซึ่งเป็นโจทก์ร่วมและญาติผู้ตาย เปิดเผยว่า เตรียมจะยื่นอุทธรณ์คดีนี้ต่อในส่วนของ พ.ต.ท.สำเภา อินดี อายุ 51 ปี อดีต สวป.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ,พ.ต.อ.มนตรี ศรีบุญลือ อายุ 62 ปี อดีต ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ จำเลยที่ 4 และ 5 โดยเฉพาะจำเลยที่ 4 ตนไม่เข้าใจว่าสู้หลุดจากคดีได้ย่างไร เพราะเป็นผู้จัดแจงเรื่องการอำพรางในคดีทุกอย่าง ตนจะปรึกษาทางฝ่ายกฎหมายอีกที ก่อนจะยื่นอุทธรณ์ต่อไป
“ไม่เข้าใจว่าจำเลยที่ 4 ทำไมศาลยกฟ้องเพราะเป็นผู้หลอกทางย่าของผู้เสียชีวิตว่ามีการติดต่อคนมาประกันตัวแต่กลับนำหลานตนไปฆ่าทิ้ง คดีแบบนี้ถ้าไม่มีคำสั่งจากระดับผู้กำกับหรือรองๆ ลงมาลำพังดาบตำรวจจะกล้าทำได้อย่างไร และยังมีพฤติกรรมข่มขู่ เช่นให้ตำรวจมาขับรถเปิดหน้ากระจกมองผ่านหน้าบ้านตนและขับผ่านไปอย่างช้าๆ ตอนนี้เริ่มมีความกังวลในความปลอดภัยเพราะทางพนักงานสอบสวนดีเอสไอก็ไม่ได้ส่งใครมาคุ้มครองแล้ว”
ด้านนายสมชาย หอมลออ อดีตกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ในอดีตที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจในช่วงที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีคนเสียชีวิตจากนโยบายการปราบปรามยาเสพติดจำนวนถึง 2,500 คน จนกระทั่งมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบที่มี ดร. คณิต ณ นคร ขึ้นมาตรวจสอบ ซึ่งสุดท้ายคณะกรรมการชุดนี้ได้ให้ความเห็นและเสนอรายงานสรุปว่า เป็นความผิดพลาดทางนโยบายการปราบปรามยาเสพย์ติด จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีคดีไหนที่ได้รับการเยียวยาจากนโยบายนี้ จนคดีนี้ทางศาลอาญาได้มีคำพิพากษาตัดสินลงโทษผู้เสียหายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงอยากเรียกร้องไปถึงรัฐบาลชุดนี้ ให้เร่งมาตรการเยียวยาออกมา เพราะเห็นว่ากรณีนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำที่เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐโดยตรง
ดังนั้น จึงน่าสนใจว่าคำพิพากษาของศาลอาญาที่ตัดสินประหารชีวิตและจำคุกตำรวจที่เข่นฆ่าประชาชน เพื่อสนองนโยบายปราบยาเสพติดของรัฐบาลในครั้งนี้จะส่งผลไปถึงคดีการฆ่าตัดตอนอื่นๆ อีกนับพันคดีที่ยังคาอยู่ในศาล ได้ด้วยด้วยหรือไม่
ดังนั้น น่าสนใจที่ว่าตัวการใหญ่ซึ่งเป็นผู้สั่งการและที่ถือเป็นต้นเหตุในการดำเนินนโยบายปราบปรามยาเสพติดที่ผิดพลาดจนก่อให้เกิดปัญหาฆ่าตัดตอน 2,500 ศพตามมา จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ดังรายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการอิสระ คตน. ชุดที่มี ดร.คณิต ณ นคร เป็นประธาน ชี้ว่าเข้าข่ายเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ! ได้ หรือไม่?!
นี่คือสิ่งที่ท้าทายกระบวนการยุติธรรมมากกว่าการลงโทษ “ข้าราชการตำรวจ”ที่ถือเป็นผู้สนองนโยบายรัฐบาลด้วยการ “ประหารชีวิต”