xs
xsm
sm
md
lg

ฆ่าตัดตอนที่กาฬสินธุ์ คนลงมือถูกพิพากษาแล้ว แต่คนสั่งยังลอยนวลอยู่ต่างแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ประกาศนโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างเด็ดขาด โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง คือผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ต้องปราบปรามผู้ค้ายาและผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 25 ของบัญชีรายชื่อผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยใช้หลักเกณฑ์วัดผลเชิงปริมาณ 3 ประการ คือ 1.การจับกุมดำเนินคดีจนถึงขั้นอัยการส่งฟ้องศาล 2.การวิสามัญฆาตกรรมในกรณีที่ผู้ค้ายาเสพติดต่อสู้ 3.การที่ผู้ค้ายาเสพติดเสียชีวิตไม่ว่าด้วยกรณีใดก็ตาม หากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ถึงร้อยละ 25 ก็จะต้องถูกโยกย้ายหรือพิจารณาโทษทางวินัย

ว่ากันว่า ถึงขนาดมีการให้แต้มสะสมจากส่วนกลางว่า จังหวัดไหนจับผุ้ต้องได้กี่คน เป็นรายใหญ่หรือรายเล็ก ตายกี่คน ถ้าตายมากก็ยิ่งได้คะแนนมาก ผู้ว่าฯ หลายจังหวัดกินไมได้นอนไม่หลับ เพราะกังวลว่า จะทำคะแนนสะสมได้ต่ำกว่าจังหวัดอื่นๆ มีอยู่จังหวัดหนึ่งทางภาคเหนือตอนล่างผ่านไป 3 เดือนไม่มีคนตายสักคน ก็เลยเกิดเหตุมหัศจรรย์ มีการให้ประกันผู้ต้องหาคดียาเสพติดที่ถูกจับไป พอออกจากเรือนจำได้วันเดียวก็ถูกยิงตาย ผู้ว่าฯ จังหวัดนั้นถอนหายใจได้เพราะอย่างน้อยก็ได้เริ่มนับ 1 แล้ว

เพียง 3 เดือนแรกของการประกาศนโยบาย (1 กุมภาพันธ์ - 30 เมษายน 2546) มีผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดถูกฆ่าตัดตอนเสียชีวิตมากถึง 2,275 ราย

กาฬสินธุ์เป็นจังหวัดแรกที่รับนโยบาย “ ฆ่าตัดตอน” นี้ไปปฏิบัติ และเป็นจังหวัดเดียวที่ผู้ว่าฯ ในขณะนั้น กล้าประกาศว่าเป็นจังหวัดปลอดยาเสพติด เฉพาะที่กาฬสินธุ์ จังหวัดเดียว ในช่วงนั้นมีผู้เสียชีวิตและหายสาบสูญในจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ที่สามารถตรวจสอบรายชื่อได้มีทั้งสิ้นจำนวน 28 ราย


นายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง ซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียง 17 ปี เป็น 1 ในเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเหล่านั้น โดยพบศพถูกแขวนกับขื่อกระท่อมกลางทุ่งนาในจังหวัดร้อยเอ็ด

นายเกียรติศักดิ์ ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2547 ในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์และรับของโจร คือชิ้นสว่นรถจักรยานยนต์ มูลค่าเพียง 200 บาท พร้อมนายอดุลย์ ทองนาไชย และนายสุรศักดิ์ ปูนกลาง (หลังการเสียชีวิตของนายเกียรติศักดิ์ นายอดุลย์ ทองนาไชย หายสาบสูญอย่างไร้ร่องรอย ส่วนนายสุรศักดิ์ ปูนกลาง ซึ่งเคยให้การกับกรมสอบสวนคดีพิเศษไว้ว่าเห็นดาบตำรวจอังคาร คำมูลนา นำตัวนายเกียรติศักดิ์ออกไปจากห้องขัง สองเดือนต่อมาหลังให้การ นายสุรศักดิ์เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์ชนกับรถไถนาเดินตาม)

หลังนายเกียรติศักดิ์ถูกขังอยู่ที่โรงพักเป็นเวลา 7 วัน มีพยานที่อยู่บนโรงพักให้การว่า เป็นผู้ให้นายเกียรติศักดิ์ยืมโทรศัพท์มือถือ และได้ยินนายเกียรติศักดิ์พูดโทรศัพท์ว่า "ให้ย่ารีบมารับ ตำรวจกำลังจะพาไปฆ่า”นางสา ถิตย์บุญครอง ยายของนายเกียรติศักดิ์มารับไม่ทัน เขาจึงกลายเป็นศพในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ญาติของนายเกียรติศักดิ์ โดยนางพิกุล พรหมจันทร์ น้าสาวเลือกที่จะสู้โดยไม่ยอมให้ชีวิตของหลานชายเสียเปล่า จึงเข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่อมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสรุปผลการเสียชีวิตของนายเกียรติศักดิ์ว่า เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธร จ.กาฬสินธุ์ ญาติของนายเกียรติศักดิ์จึงทำหนังสือร้องเรียน ขอให้รองปลัดกระทรวงยุติธรรมให้กรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาโอนคดีเข้าเป็นคดีพิเศษ

วันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.3252/2552 ที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้อง ด.ต.อังคาร คำมูลนา อายุ 48 ปี, ด.ต.สุดธินัน โนนทิง อายุ 43 ปี, ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์ อายุ 42 ปี, พ.ต.ท.สำเภา อินดี อายุ 51 ปี อดีต สวป.สภ.เมืองกาฬสินธุ์, พ.ต.อ.มนตรี ศรีบุญลือ อายุ 62 ปี อดีต ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ และ พ.ต.ท.สุมิตร นันท์สถิต อายุ 45 ปี อดีตรอง ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย และเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องรับโทษ

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ค.47 จำเลยทั้ง 6 โดยจำเลยที่ 1-3 และจำเลยที่ 6 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ร่วมกันเจตนาฆ่านายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง อายุ 17 ปี ผู้ต้องหาคดีลักทรัพย์รถจักรยานยนต์ ขณะนำตัวออกจาก สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ด้วยการบีบรัดคอจนขาดอากาศหายใจและเสียชีวิต เหตุเกิดที่ อ.เมืองกาฬสินธุ์ จากนั้นจำเลยทั้ง 6 ได้ปิดบังเหตุแห่งการตายของนายเกียรติศักดิ์ โดยร่วมกันย้ายศพจากท้องที่เกิดเหตุไปแขวนคอไว้ที่กระท่อมนา บ้านบึงโดน หมู่ที่ 5 ต.แสนชาติ อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด

จากนั้นระหว่างวันที่ 30 ก.ค.47 ถึงวันที่ 27 เม.ย.48 จำเลยที่ 4-6 ร่วมกันข่มขู่พยานเพื่อให้การอันเป็นเท็จ โดยให้ระบุว่าในวันที่ผู้ตายถูกทำร้าย ยังพบเห็นผู้ตายที่ตลาดโต้รุ่ง เชื่อว่าพวกจำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ชั้นสอบสวนจำเลยทั้ง 6 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 1-3 กระทำผิดฐานย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ลงโทษประหารชีวิต เมื่อรวมโทษแล้วให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1-3 สถานเดียว จำเลยที่ 5 กระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องรับโทษ ลงโทษจำคุก 7 ปี จำเลยที่ 6 กระทำผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4

คำพิพากษานี้นับเป็นคดีแรก ที่ผู้ตกเป็นเหยื่อของนโยบายฆ่าตัดตอน ของรัฐบาลทักษิณไม่ตายฟรี แต่คงจะเป็นรายเดียวและรายสุดท้าย เพราะหญิงกล้าอย่างนางพิกุลที่กล้าลุกขึ้นสู้กับอำนาจรัฐเพื่อทวงถามความเป็นธรรมให้หลานชายคงจะมีไม่กี่คน และการดำเนินคดีนี้ในขั้นสืบสวนสอบสวนจนอัยการสั่งฟ้อง เกิดขึ้นในยุคที่ทักษิณถูกยึดอำนาจ ยังไม่ได้ครองเมืองอย่างในยุคนี้

คนลงมือฆ่าถูกศาลลงโทษประหารชีวิตและจำคุกไปแล้ว แต่คนสั่งฆ่า ยังลอยนวลอยู่ และนับวันยิ่งจะทรงอำนาจ เป็นที่เคารพกราบไหว้ของคนไทยอีกกลุ่มหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น