xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สธ.รักษาหน้ายิ่งชีพ เด็กป่วย “มือเท้าปาก” ได้ ...แต่ห้ามตาย!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- โรคมือเท้าปากที่กำลังระบาดอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขออกมายืนยันอย่างเป็นมั่นเป็นเหมาะว่า เป็นเพียงการระบาดตามฤดูกาลเท่านั้น เพราะโรคนี้จะพบมากในช่วงฤดูฝนของทุกปี เนื่องจากเชื้อแพร่ระบาดได้ดีในสภาพอากาศชื้นและเย็น ประกอบกับเป็นช่วงเปิดเทอมที่มีเด็กมารวมตัวกันอยู่มากตามสถานศึกษาและศูนย์เด็กเล็ก ทำให้เชื้อติดต่อถึงกันได้ง่าย เพราะเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ส่วนใหญ่ยังไร้ภูมิต้านทานต่อโรคดังกล่าว

แม้จะมียอดเด็กป่วยสะสมแล้วกว่า 13,918 ราย (จากข้อมูลเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา) แต่กระทรวงสาธารณสุขก็ยังไม่หวั่นต่อโรคมือเท้าปาก เพราะยังภูมิใจกับสถิติในปีนี้ที่จำนวนเด็กตายยังคงเป็นศูนย์ จะสังเกตได้ว่าการออกมาให้ข่าวแต่ละครั้งของ “ผู้ใหญ่หลายๆ คน” ในกระทรวงหมอ จะพูดไปในทำนองเดียวกันว่า ขอให้ประชาชนอย่าเป็นกังวล และอย่าตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขอให้เชื่อว่า กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการการดูแล เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคได้อย่างดีเยี่ยม ขอเพียงประชาชนทุกคนช่วยกันสังเกตอาการของบุตรหลาน หากมีอาการคล้ายโรคมือเท้าปากให้รีบไปพบแพทย์ รวมถึงการรณรงค์ให้รักษาความสะอาดของสถานที่ ของเล่น ของใช้ และให้เด็กล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ ก็สามารถป้องกันโรคได้

พูดง่ายๆ คือ มั่นใจว่า...ตัวเองเอาโรคมือเท้าปากอยู่!

สำหรับมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขภูมิใจนักหนานั้น ครม.เพิ่งจะไฟเขียวไปหมาดๆ เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมานี้เอง โดยแบ่งสาระสำคัญออกเป็น 6 มาตรการ ดังนี้ 1.เร่งรัดมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค 2.กำชับแพทย์ในสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน ในพื้นที่ให้ระมัดระวัง 3.ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงของโรค โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อาจไม่ได้มาด้วยอาการตุ่มที่ปาก หรือฝ่ามือ ฝ่าเท้า 4.การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องโรคมือเท้าปากแก่ประชาชน 5.ให้จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากกว่า 10 รายต่อวัน เปิดศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด (วอร์รูม) และ 6.ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการร่วมเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการระบาดของโรคมือเท้าปาก

จากมาตรการดังกล่าว การที่กระทรวงสาธารณสุขจะมั่นใจว่าควบคุมสถานการณ์ได้ก็คงไม่ใช่เรื่องผิดอะไรนัก เพราะหากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “กัมพูชา” ก็คงต้องยอมรับว่า

ไทยมีระบบสาธารณสุขที่ดีและเข้มแข็งกว่า

แต่นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าวแล้ว ยังเป็นเพราะว่าเชื้อที่ทำให้เกิดการระบาดของโรคมือเท้าปากในไทยส่วนใหญ่คือ “เชื้อค็อกซากี” ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงน้อยกว่า “เชื้อเอนเทอโรไวรัส 71” ที่ระบาดในกัมพูชา จนมีเด็กป่วยตายถึง 54 คน ขณะที่ปีที่แล้วประเทศเวียดนามมีการป่วยตายมากถึง 500 คน

แม้กระทรวงสาธารณสุขจะมีความมั่นใจ แต่ในมุมของประชาชนอาจไม่ได้มีความมั่นใจตามไปด้วย เห็นได้ชัดจากการที่ประชาชนจำนวนมากต่างแห่พาบุตรหลานของตนออกมารับการตรวจโรคตามโรงพยาบาลต่างๆ หลังจากที่มีโรงเรียนมากกว่า 100 แห่งทั่วประเทศประกาศปิดเรียนจากโรคมือเท้าปาก รวมไปถึงโรงเรียนดังอย่าง ร.ร.สาธิตจุฬาฯ และ ร.ร.วัฒนาวิทยาลัย

นับว่าเป็นสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อความตื่นตระหนกและความวุ่นวายในสังคม เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคมือเท้าปาก

ด้วยเหตุนี้ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ให้ข้อมูลว่า โรคมือเท้าปากไม่ใช่โรคใหม่ของไทย แต่มีการพบมานานกว่า 40-50 ปีแล้ว และมีผู้ป่วยทุกปีในอัตรา 10 ต่อแสนประชากร โดยลักษณะอาการของโรค ผู้ป่วยจะมีไข้ น้ำลายยืด ไม่กลืนน้ำลาย เพราะมีแผลในคอและเพดานปาก ตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า มีตุ่มน้ำใส บางรายอาจมีตุ่มใสขึ้นตามข้อเข่า ข้อศอก และง่ามก้น ส่วนบริเวณตัวจะมีน้อย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มอายุ 1-2 ปี ส่วนกลุ่มอายุ 5 ปีขึ้นไปพบได้น้อย ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัส และไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อ โดยการรักษาจะดำเนินการรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นเพียงอย่างเดียว

"ในการป้องกันจะต้องเน้นในเรื่องสุขอนามัย ทั้งของเด็กและสิ่งแวดล้อมให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่และสิ่งของที่เด็กจะต้องใช้ร่วมกัน เช่น ของเล่นในห้างสรรพสินค้า ในระยะนี้ อาจจำเป็นต้องรณรงค์ให้มีการดูแลความสะอาดมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กที่ป่วยแพร่เชื้อ ก็จะช่วยลดอัตราผู้ป่วยของโรคลงได้"

คำแนะนำดังกล่าวของผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ก็ยังออกมาสอดคล้องกับสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เพื่อลดความตื่นตระหนกและความวิตกกังวลของคนไทย ซึ่งปกติมักแพร่กระจายไปไวกว่าการระบาดของเชื้อโรคเสียอีก

ถึงกระนั้นเหล่าแพทย์ และนักวิชาการ รวมไปถึงหัวหอกในการดูแลสุขภาพอย่างกระทรวงสาธารณสุข ก็ยังต้องเผชิญกับข่าวที่มีความเสี่ยงต่อการสั่นคลอนของสถิติยอดตายเป็นศูนย์ และความตื่นตระหนกของคนไทยอีกระลอก ด้วยกระแสข่าวที่ว่า พบผู้ใหญ่ป่วยโรคมือเท้าปาก ซึ่งคาดว่าอาจมีการติดเชื้อมาจากเด็ก ซึ่งผิดไปจากสมมติฐานเดิมที่ว่า โรคมือเท้าปากเป็นโรคที่เกิดขึ้นเฉพาะในเด็กเท่านั้น ประกอบกับการพบเด็กชั้นประถมที่อายุต่ำกว่า 12 ปีป่วย จนทำให้หลายคนคิดว่า การเปลี่ยนสายพันธุ์ของเชื้อค็อกซากี จากสายพันธุ์ A16 เป็น A6

อาจมีผลต่อการขยายช่วงอายุของผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก!!

ร้อนถึง นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ต้องรีบออกมาชี้แจงว่า เชื้อไวรัสมือเท้าปากจะติดเฉพาะคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน ซึ่งในผู้ใหญ่ “ส่วนใหญ่” จะมีภูมิคุ้มกันแล้ว รวมทั้งคนที่เคยติดเชื้อแล้วก็จะไม่เป็นอีก ส่วนกรณีเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ก็ถือว่าปกติ เพราะอยู่ในข่ายไม่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อ

หมายความว่า “ผู้ใหญ่” ก็มีโอกาสเป็นโรคมือเท้าปากได้เช่นกัน หากไม่มีภูมิต้านทานต่อโรคมาก่อน ซึ่งมาตรการในการป้องกันนั้นก็ไม่แตกต่างจากเด็กทั่วไปคือ ผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองที่ต้องใกล้ชิดเด็กควรล้างมือให้สะอาดเช่นกัน เพื่อป้องกันโรค

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาจพูดได้เต็มปากว่ากระทรวงสาธารณสุขมีแต่มาตรการในการตั้งรับโรคมือเท้าปากเท่านั้น แต่ยังไม่มีมาตรการในเชิงรุก เนื่องจากยังไม่มียาต้านไวรัส และไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อ คำถามคือ ในเมื่อเป็นโรคที่เกิดขึ้นในไทยมานาน และมีเด็กป่วยจำนวนมากเป็นประจำทุกปี แต่เหตุใดจึงยังไม่มีการวิจัยวัคซีนและยาต้านไวรัสออกมาอย่างเป็นรูปธรรม

หรือต้องรอการวิจัยที่อยู่ในขั้นทดลองที่ไต้หวันเพียงอย่างเดียว?

ฉะนั้น กระทรวงสาธารณสุขอย่าเพิ่งได้ใจไปกับมาตรการการป้องกันที่มีอยู่ รวมไปถึงสถิติไร้เด็กตายจากโรคมือเท้าปาก เพราะไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วผลพิสูจน์จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรณีเด็กอายุประมาณ 2 ขวบครึ่ง ที่ลือว่าเสียชีวิตจากโรคมือเท้าปากเป็นรายแรกที่ รพ.นพรัตน์ราชธานี จะออกมาเป็นอย่างไร

หากไม่ได้ป่วยตายเพราะโรคมือเท้าปาก กระทรวงสาธารณสุขก็ยังรักษาหน้า รักษาสถิติไร้เด็กป่วยตายในปี 2555 นี้เอาไว้ได้ แต่หากป่วยตายด้วยโรคมือเท้าปากจริง จะมีการปรับมาตรการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันโรคต่อไปหรือไม่

แต่ขออย่างเดียว อย่ารักษาหน้ายิ่งชีพด้วยการช่วยกันหมกเม็ดว่ายังไร้เด็กป่วยตายจากโรคมือเท้าปากก็เท่านั้น!

เพราะประชาชนต้องการรู้ข้อเท็จจริง เพื่อเตรียมการรับมือกับโรคที่เกิดขึ้น มากกว่าสถิติที่ใช้รักษาหน้าของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้มีการออกมาตั้งเป้าไว้แล้วว่า ปี 2555 โรคมือเท้าปากการตายต้องเป็นศูนย์ และยอดผู้ป่วยต้องไม่เกิน 18,000 คน!!

กำลังโหลดความคิดเห็น