xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 15-21 ก.ค.2555

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. “ขุนค้อน” โยนรัฐสภาตัดสินโหวตแก้ รธน.วาระ 3 ด้าน “ปชป.” ลั่น ไม่ร่วมสังฆกรรม ขณะที่ “ทักษิณ” ฉะ ศาล รธน. ละเมิด กม.!
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคำพิพากษาจำคุก 2 ปีคดีซื้อที่รัชดาฯ
ความคืบหน้าหลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ยังไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 แต่แนะว่า หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ควรทำประชามติก่อน เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านการทำประชามติ จึงถือว่าประชาชนเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ การจะแก้ไขทั้งฉบับจึงควรถามความเห็นประชาชนก่อน หรือไม่ก็ให้แก้ไขเป็นรายมาตรา ซึ่งรัฐสภามีอำนาจอยู่แล้วนั้น

ปรากฏว่าได้เกิดความเคลื่อนไหวหลายกระแสว่ารัฐบาลควรดำเนินการอย่างไรต่อไปกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยทางคณะนิติราษฎร์ ซี่งเป็นกลุ่มนักวิชาการที่เคลื่อนไหวสอดรับกับกลุ่มเสื้อแดง ได้เสนอให้มีการยุบศาลรัฐธรรมนูญ แล้วจัดตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญขึ้นมาแทน โดยกำหนดขอบเขตอำนาจของตุลาการฯ ให้ชัด เพื่อจะได้ไม่มาขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก

ขณะที่นายราเมศ รัตนเชวง ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้ออกมาสวนกลับคณะนิติราษฎร์ โดยยืนยันว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจสอบความชอบของกฎหมายและตรวจสอบการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นประโยขน์ต่อประเทศ พร้อมชี้ แทนที่จะยุบศาลรัฐธรรมนูญ ควรยุบคณะนิติราษฎร์มากกว่า

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังไม่ฟันธงว่าจะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญอย่างไรโดยบอก ยังเร็วเกินไปที่จะสรุป ขอรอฟังการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน

เป็นที่น่าสังเกตว่า ท่าทีของแกนนำพรรคเพื่อไทยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้แตกออกเป็นหลายฝ่าย โดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี บอกว่า ส่วนตัวแล้วอยากให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรามากกว่า เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น หากเดินหน้าลงมติวาระ 3 จะเกิดความยุ่งยากขึ้นได้

ขณะที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา และแก้มาตรา 68 ก่อน โดยเขียนให้ชัดเลยว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้านนายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ก็มองไปอีกทาง โดยหนุนให้รัฐสภาเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวาระ 3 เพราะไม่น่าจะเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมพรรคเพื่อไทย(16 ก.ค.) ยังไม่มีมติว่าจะเลือกทางใดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะรอดูคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก่อน ซึ่งคาดว่าคำวินิจฉัยส่วนกลางและส่วนตนของตุลาการฯ จะเปิดเผยสู่สาธารณชนได้ในวันที่ 26 ก.ค.นี้

ด้านนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา มองว่า สุดท้ายการจะเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 หรือไม่ ต้องจึ้นอยู่กับสมาชิกรัฐสภาเป็นหลัก พร้อมชี้ว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ทำประชามติ ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะให้ทำประชามติก่อนลงมติในวาระ 3 หรือต้องลงมติวาระ 3 ก่อนแล้วค่อยไปทำประชามติ รู้แต่ว่าถ้าทำประชามติ ต้องเสียเงินกว่า 2,500 ล้านบาท

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อยากให้รัฐบาลทำตามที่ศาลรัฐธรรมนูญแนะนำว่าจะแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราหรือจะทำประชามติ เพราะหากดึงดันลงมติในวาระ 3 จะทำให้สถานการณ์กลับไปสู่ความขัดแย้งอีก

ขณะที่แกนนำกลุ่มเสื้อแดงที่เป็น ส.ส.และรัฐมนตรีในพรรคเพื่อไทย เช่น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็ได้ออกมาหนุนให้สภาเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3

อย่างไรก็ตาม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) ได้ออกมาปรามรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยว่า ไม่ควรเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นการแก้ทั้งฉบับหรือแก้รายมาตราก็ตาม ควรจะหยุดหายใจเพื่อให้ประเทศได้สงบบ้าง พร้อมประกาศว่า หากรัฐบาลเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ฝ่ายค้านจะไม่ร่วมโหวต เพราะหมิ่นเหม่ต่อการทำผิดกฎหมาย

ส่วนท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคชาติไทยพัฒนานั้น นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค อยากให้มีการทำประชามติก่อน แล้วค่อยเดินหน้าลงมติวาระ 3 ไม่ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เพราะอาจมีปัญหาใครไม่พอใจมาตราใด ก็จะไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีก

เป็นที่น่าสังเกตว่า ส.ส.-ส.ว.416 คน ที่ถูกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยื่นถอดถอนต่อศาลรัฐธรรมนูญ ฐานล้มล้างรัฐธรรมนูญด้วยการลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวาระ 1 และ 2 ได้ประชุมเรื่องที่จะยื่นคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้มีการขอศาลเพื่อเลื่อนส่งคำชี้แจงออกไปอีก 30 วัน พร้อมกันนี้ยังได้กำหนดท่าทีต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยว่า มี 2 ทาง 1.ให้รัฐสภาเดินหน้าลงมติในวาระ 3 ต่อไป หรือ 2.ทำตามที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง คือทำประชามติ ก่อน โดยจะนำเรื่องนี้หารือที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 1 ส.ค.นี้

ด้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคำพิพากษาจำคุก 2 ปีคดีซื้อที่รัชดาฯ ได้แสดงท่าทีต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นกัน โดยให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ แชนแนล นิวส์ เอเชีย ของสิงคโปร์(20 ก.ค.) โดยโจมตีศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องทำประชามติก่อน ว่าเป็นคำวินิจฉัยที่ละเมิดต่อกฎหมาย พร้อมยอมรับว่า ตนจะกลับประเทศได้ก็ต่อเมื่อเกิดความปรองดอง และขอให้คนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามตนหันหน้ามาคุยกันได้แล้ว “ที่ผ่านมา ฝ่ายตรงข้ามมองผมเป็นเหมือนกับแดร็กคิวล่า... ถึงเวลาแล้วที่ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับผมควรจะต้องหันหน้ามาพูดคุยกันได้แล้ว เพราะต่างก็พูดภาษาไทยเหมือนกัน จึงควรเปิดใจคุยกันว่า ฝ่ายพวกคุณต้องการอะไร และยังกังวลในเรื่องอะไรอีก”

2. ไทย-กัมพูชา ถอนทหารพ้นเขาพระวิหารแล้ว ส่ง ตชด.ประจำการแทน ด้าน ชาวบ้าน ค้าน หวั่นทำไทยเสียดินแดน!

พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม เป็นประธานปล่อยแถว ตชด. เข้าประจำการเขาพระวิหารแทนทหารที่ จ.ศรึสะเกษ(18 ก.ค.)
ตามที่ได้มีข่าวก่อนหน้านี้ว่า ไทยและกัมพูชาเตรียมถอนทหารออกจากพื้นที่เขตปลอดทหารชั่วคราวบริเวณปราสาทพระวิหารตามคำสั่งของศาลโลก เพื่อเปิดทางให้คณะสังเกตการณ์จากอาเซียนเข้ามาประจำการในพื้นที่ดังกล่าว ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ค. พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ประชุมหารือเรื่องดังกล่าวกับผู้บัญชาการเหล่าทัพ รวมทั้งนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมยอมรับว่า ทั้งไทยและกัมพูชาได้มีการเตรียมปรับกำลังทหารออกจากพื้นที่เขาพระวิหารจริง โดยจะให้ตำรวจตระเวนชายแดน(ตชด.) เข้าไปแทนที่ในวันที่ 18 ก.ค. ซึ่งเป็นวันครบ 1 ปีที่ศาลโลกมีมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข่าวว่าทางกัมพูชาให้ทหารใส่ชุดของเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนเข้ามาดูแลพื้นที่ พล.อ.อ.สุกำพล บอกว่า ไม่ทราบ พร้อมขอให้สื่อมวลชนช่วยลงข่าวดีดีหน่อย อย่าลงข่าวให้มีปัญหากัน

ด้านนายสุรพงษ์ เผยเหตุที่ต้องมีการถอนทหารว่า เพราะศาลโลกแจ้งมาแล้วว่า จะขึ้นนั่งบัลลังก์ไต่สวนกรณีกัมพูชาขอให้ชี้ขาดว่าพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารที่กัมพูชาและไทยต่างอ้างความเป็นเจ้าของนั้นเป็นของใครกันแน่ในปีหน้า โดยจะให้ทั้งสองฝ่ายให้ปากคำด้วยวาจาในเดือน เม.ย. คาดว่าจะตัดสินได้ในเดือน ต.ค. “สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ เพราะความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาดีขึ้น ไม่มีการต่อสู้หรือปะทะกัน ทำให้สิ่งต่างๆ ง่ายขึ้น การดำเนินการหลังจากนี้ทั้งสองฝ่ายจะทำอย่างเท่าเทียมและสอดคล้องกัน”

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตว่า ไม่เพียงไทยและกัมพูชาจะถอนทหารออกจากเขาพระวิหารหลังรัฐบาลไทยไปเจรจากับสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกฯ กัมพูชา แต่รัฐบาลนี้ยังยอมให้กัมพูชาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในปีหน้าอีกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงอย่างมากที่ไทยจะเสียเปรียบในเรื่องต่างๆ ทั้งที่สมัยรัฐบาลที่แล้วได้ต่อสู้ไม่ให้กัมพูขาเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในปีนี้ ซึ่งทำได้สำเร็จ แต่ครั้งนี้ไทยกลับยอมให้กัมพูชาเป็นเจ้าภาพ

ทั้งนี้ เมื่อถึงกำหนดวันถอนทหาร(18 ก.ค.) มีรายงานจากสื่อมวลชนของกัมพูชาว่า ทางกัมพูชาได้จัดพิธีถอนทหารในช่วงเช้า ที่เขตปลอดทหารใกล้กับปราสาทพระวิหาร จำนวน 485 นาย โดยมี พล.อ.เตีย บัน รองนายกฯ และรัฐมนตรีกลาโหมกัมพูชาเป็นประธาน จากนั้นได้มีการส่งกองกำลังตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจมรดกโลก ตำรวจป้องกันพรมแดน และกำลังเจ้าหน้าที่ติดอาวุธประมาณ 300 คน เข้าประจำการแทนทหาร

ขณะที่ฝ่ายไทย ได้ทำพิธีถอนทหารในเวลา 11.00น. โดยมี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน จากนั้นได้มีการส่งกำลัง ตชด.จำนวน 2 กองร้อยเข้าประจำการแทนทหาร เป็นที่น่าสังเกตว่า พล.อ.อ.สุกำพล ปฏิเสธที่จะเปิดเผยว่า มีการถอนทหารของไทยออกจากพื้นที่จำนวนกี่นาย โดยอ้างว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรพูด อย่างไรก็ตาม พล.อ.อ.สุกำพล ได้หลุดปากในภายหลังว่า ฝ่ายกัมพูชามีการวางกำลังไว้ในพื้นที่มากกว่าฝ่ายไทย โดยเป็นไปตามที่ศาลโลกกำหนด ทั้งนี้ พล.อ.อ.สุกำพล ยืนยันด้วยว่า การถอนทหารออกจากเขาพระวิหาร จะไม่ทำให้ไทยต้องเสียดินแดนอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่มีการทำพิธีถอนทหารไทยออกจากเขาพระวิหาร ได้มีประชาชนรวมตัวคัดค้านการถอนทหารดังกล่าวที่บริเวณศาลหลักเมือง อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ โดยใช้ชื่อว่า “กลุ่มกำลังแผ่นดิน” พร้อมให้เหตุผลที่ต้องคัดค้านว่า เพราะการถอนทหารจะทำให้ไทยสูญเสียดินแดนบริเวณเขาพระวิหาร 4.6 ตร.กม.ไป

ด้านพรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรค ได้เปิดแถลงกรณีมีข่าวว่า พล.อ.เตีย บัน รองนายกฯ และรัฐมนตรีกลาโหมกัมพูชา เตรียมจัดงานฉลองครบรอบ 4 ปี การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกว่า ต้องระวัง เพราะกัมพูชาอาจจะนำไปแอบอ้างต่อศาลโลกและกรรมการมรดกโลกได้ จึงอยากให้รัฐบาลทำ 3 เรื่องต่อไปนี้ 1.การถอนทหารออกจากพื้นที่ 17.3 ตร.กม. ควรทดแทนด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และเจ้าหน้าที่อุทยาน 2.ต้องเรียกร้องให้กัมพูชาปฏิบัติตามเอ็มโอยูปี 2543 ด้วยการรื้อถอนวัด ชุมชน และตลาดของกัมพูชาออกจากพื้นที่แนวสันปันน้ำด้วย เพราะกัมพูชาอาจอ้างสิทธิว่าเป็นพื้นที่สงบ และเดินหน้าให้ศาลโลกตัดสินเกี่ยวกับเขตแดนและการขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้ และ 3.ไม่ควรให้อินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์ในพื้นที่ดังกล่าว เพราะหากเข้ามาในช่วงที่ยังมีวัด ชุมชน และตลาดของกัมพูชาอยู่ อินโดนีเซียอาจยืนยันว่าเป็นอธิปไตยของกัมพูชาได้ พร้อมกันนี้ขอให้รัฐบาลนำข้อตกลงเรื่องการถอนทหารออกจากพื้นที่เขาพระวิหารให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ด้วย

ด้าน พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ออกมาเผยขั้นตอนหลังจากมีการปรับกำลังทหารออกจากพื้นที่พระวิหารว่า ทั้งสองฝ่ายจะต้องเร่งเก็บกู้ทุ่นระเบิด เมื่อเก็บกู้เสร็จอย่างน้อย 30 วัน จะต้องเริ่มถอนทหารออกจากพื้นที่ เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลโลก ส่วนกรณีที่ชาวกัมพูชารุกพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ซึ่งถือว่าละเมิดเอ็มโอยูปี 2543 นั้น พล.อ.อ.สุกำพล บอกว่า ต้องค่อยๆ เจรจาและดูจังหวะเวลา ถ้าไปผลักดันหรือขับไล่ หรือยิงกัน ก็จะเป็นปัญหาใหญ่โต ต้องมองไกลๆ อย่ามองจุดเดียว ยืนยันว่าไม่ได้ทิ้งปัญหานี้

3. ก.ต.ช. มีมติเอกฉันท์ให้ “อดุลย์ แสงสิงแก้ว” เป็น ผบ.ตร.คนใหม่ แม้ไม่อาวุโสสูงสุด ด้าน “ยิ่งลักษณ์” ยัน เหมาะสมที่สุดแล้ว!
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ว่าที่ ผบ.ตร.คนใหม่
เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ได้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ(ก.ต.ช.) โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน สำหรับวาระสำคัญคือ การแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) แทน พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.

ทั้งนี้ หลังประชุม พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะเลขานุการ ก.ต.ช.แถลงว่า ผู้มีสิทธิได้รับคัดเลือกเป็น ผบ.ตร.มีอยู่ 10 ท่าน โดยนายกฯ เสนอชื่อ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รอง ผบ.ตร.ด้านความมั่นคง ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสม มีประสบการณ์ผ่านงานสำคัญต่างๆ มาในฐานะผู้นำหน่วย ทั้งตำรวจตระเวนชายแดน ตำรวจภูธร และตำรวจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ยังได้รับมอบหมายให้ดูแลงานสำคัญ เช่น เรื่องยาเสพติด ซึ่งสามารถดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่ประชุมจึงมีมติเอกฉันท์ 10 เสียงเห็นชอบให้ พล.ต.อ.อดุลย์ ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.คนต่อไป

ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.ต.อ.อดุลย์ เป็น ผบ.ตร.ต่อไป คาดว่าจะใช้เวลาในขั้นตอนการทูลเกล้าฯ ประมาณ 2 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ที่ประชุมได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางว่าเหตุใดจึงไม่แต่งตั้งผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดเป็น ผบ.ตร.ดังที่เคยปฏิบัติมา พร้อมชี้ว่า แม้ พล.ต.อ.อดุลย์จะเคยทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 ปี แต่ พล.ต.อ.อดุลย์ไม่ได้ขอใช้สิทธินับอายุราชการทวีคูณเพื่อเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น ซึ่งหากขอใช้สิทธิ ก็จะเป็นผู้มีอาวุโสสูงสุด ขณะที่ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เสนอว่า ผู้ที่อาวุโสสูงสุด ก็คือ พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต รอง ผบ.ตร. ซึ่งถือเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ แต่พลาดตำแหน่ง ผบ.ตร. ดังนั้นนายกรัฐมนตรีน่าจะให้การเยียวยา พล.ต.อ.ปานศิริด้วย ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับปากว่าจะพิจารณาให้ โดยคาดว่า อาจมีการพิจารณาให้ พล.ต.อ.ปานศิริไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ป.ป.ส. แทน พล.ต.อ.อดุลย์

ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยืนยันในเวลาต่อมาว่า การเสนอชื่อ พล.ต.อ.อดุลย์ เป็น ผบ.ตร.คนใหม่ ได้ดูภาพรวมของบุคคลที่มีความอาวุโสทั้งหมดแล้ว และดูประสบการณ์ ความรู้ความสามารถ ความทุ่มเท การรักษาความสงบเรียบร้อยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า พล.ต.อ.อดุลย์เหมาะสมที่สุด

ขณะที่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รอง ผบ.ตร.เผยหลังทราบว่าที่ประชุม ก.ต.ช.มีมติเอกฉันท์ให้ตนดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.คนใหม่ว่า รู้สึกภาคภูมิใจอย่างยิ่ง และพร้อมจะอุทิศตนเพื่องานที่เหลืออยู่ทั้งหมดอย่างเต็มความสามารถ

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความยินดีที่ พล.ต.อ.อดุลย์ได้รับเลือกเป็น ผบ.ตร.คนใหม่ และว่า ที่ผ่านมาเคยร่วมงานกับ พล.ต.อ.อดุลย์ เห็นว่าเป็นคนทำงานเรียบร้อยดี พร้อมฝากถึง พล.ต.อ.อดุลย์ว่า ตำรวจเป็นต้นน้ำ ต้นทางของกระบวนการยุติธรรม ถ้าทำหน้าที่อย่างเที่ยงตรง เที่ยงธรรม จะทำให้งานของตำรวจมีความก้าวหน้าและพัฒนาต่อไปแน่นอน

4. โรคมือ เท้า ปาก ระบาดไทย 1.3 หมื่นรายแล้ว สะพัด คร่าชีวิตเด็กหญิงวัย 2 ขวบเป็นรายแรก!
อาการของโรคมือ เท้า ปาก (ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)
จากกรณีที่ได้เกิดการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก ที่ประเทศกัมพูชา ล่าสุด ในเมืองไทยเริ่มพบการระบาดของโรคดังกล่าวมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว โดย นพ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พูดถึงสถานการณ์ของโรคมือ เท้า ปากในไทยว่า ช่วงนี้เป็นฤดูกาลระบาดของโรค โดยมีผู้ป่วยแล้ว 13,000 ราย ซึ่งยังไม่สูงมากเท่าปีที่แล้วที่มีผู้ป่วยถึง 18,000 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือภาคเหนือและภาคใต้ โดยพบมากในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ

ด้านคณาจารย์และผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดแถลงเกี่ยวกับโรคมือ เท้า ปากเมื่อวันที่ 17 ก.ค. หลังพบนักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถมป่วยด้วยโรคนี้จำนวน 22 ราย กระทั่งทางโรงเรียนต้องสั่งปิดเรียน 1 สัปดาห์ว่า โรคมือ เท้า ปากไม่ใช่โรคใหม่ พบมานาน 40-50 ปีแล้ว แต่พบบ่อยในช่วงเปิดเทอมและฤดูฝน แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่เชื้อมีการเปลี่ยนแปลง และระบาดรุนแรงมาก โดยโรคมือ เท้า ปากในไทยส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 และคอกซากี ซึ่งไม่เพียงพบในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ แต่ยังพบในเด็กโตอายุไม่เกิน 12 ปีด้วย

สำหรับอาการของผู้ป่วย จะมีไข้ น้ำลายยืด ไม่กลืนน้ำลาย เพราะมีแผลในคอและเพดานปาก คล้ายแผลร้อนใน ฝ่ามือฝ่าเท้ามีตุ่มน้ำใส บายรายอาจมีตุ่มใสขึ้นตามข้อเข่า ข้อศอก และง่ามก้น ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัส ต้องรักษาตามอาการ การป้องกันต้องดูแลเรื่องสุขอนามัยทั้งของเด็กและสิ่งแวดล้อมให้สะอาดอยู่เสมอ

ขณะที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(มศว.) ประสานมิตร ฝ่ายประถม ก็พบนักเรียนป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก แล้ว 1 ราย และยังไม่ได้สั่งให้ปิดเรียน เนื่องจากใกล้สอบกลางภาคในวันที่ 23 ก.ค. ด้านนางสุขุมาล เกษมสุข ผู้อำนวยการโรงเรียน บอกว่า หากพบผู้ป่วย 2 รายขึ้นไป จะสั่งปิดเรียนทันที

ด้านนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เผยว่า ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 19 ก.ค. พบว่า มีนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก แล้ว 211 คน จาก 35 โรงเรียน สั่งปิดแล้ว 14 โรง แบ่งเป็น กทม. 3 โรง ต่างจังหวัด 11 โรง

ทั้งนี้ มีข่าวแพร่สะพัดว่า มีเด็กหญิงวัย 2 ขวบเสียชีวิตด้วยโรคมือ เท้า ปาก เป็นรายแรกของไทยในปีนี้ โดยเสียชีวิตที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานีเมื่อเย็นวันที่ 17 ก.ค.หลังเข้ารักษาเมื่อวันที่ 16 ก.ค. อย่างไรก็ตาม นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาบอกว่า ผลตรวจจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุว่า เด็กไม่ได้เสียชีวิตจากโรคมือ เท้า ปาก แต่ต้องรอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างละเอียดอีกครั้ง คาดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 5 วัน

ด้านนายไกรสิทธิ์ สัญญานุรักษ์ บิดาของเด็กหญิงวัย 2 ขวบที่เสียชีวิต เผยว่า ลูกสาวตนยังไม่ได้เข้าโรงเรียน แต่เคยไปโรงเรียนวัดบางเตยกับคุณตาที่มีอาชีพขับรถตู้รับส่งนักเรียน ซึ่งลูกสาวเคยไปเล่นเครื่องเล่นในโรงเรียนด้วย และว่า แพทย์เจ้าของไข้แจ้งให้ทราบว่า หลังนำเชื้อจากลูกสาวไปตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลตรวจยืนยันว่า เป็นโรคมือ เท้า ปาก จากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 แต่เชื้อไม่แสดงอาการ โดยเชื้อไปทำลายระบบกล้ามเนื้อหัวใจ จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต

ด้านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ได้รับทราบสถานการณ์การระบาดของโรคมือ เท้า ปาก แล้ว พร้อมมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการไปร่วมกันหามาตรการป้องกันโรคและดูแลนักเรียนในโรงเรียนต่างๆ พร้อมให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อจะได้ดูแลตัวเองอย่างถูกต้องและทันท่วงที
กำลังโหลดความคิดเห็น