สธ.มอบรางวัลสุดยอดส้วมแห่งปี 2554 ให้ 22 หน่วยงานที่ผ่านมาตรฐาน HAS “เซ็นทรัลเวิลด์-สวนหลวง ร.9” เพิ่งติดโผได้รางวัลด้วย “หมอสุรวิทย์” เล็งประสานส้วมสาธารณะทุกแห่งสร้างชักโครกเพิ่ม หวังลดข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ
วันนี้ (9 ก.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลสุดยอดส้วมแห่งปี 2554 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการพัฒนาส้วมสาธารณะของประเทศให้ได้มาตรฐาน HAS คือ สะอาด (Health) เพียงพอ (Accessibility) และปลอดภัย (Safety) โดยสถานที่ที่ได้เป็นสุดยอดส้วมแห่งปี 2554 มีจำนวน 22 แห่ง จากกลุ่มเป้าหมาย 12 ประเภท ได้แก่ สถานศึกษา สถานที่ราชการ โรงพยาบาล ศาสนสถาน ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า แหล่งท่องเที่ยว สวนสาธารณะ สถานีขนส่งทางบกและทางอากาศ ตลาดสด ร้านจำหน่ายอาหาร สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และส้วมสาธารณะริมทาง ส่งผลให้มีจำนวนส้วมสาธารณะที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานแล้ว 159 แห่งทั่วประเทศ หลังเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2548
“สำหรับ 22 หน่วยงานที่ได้รับรางวัลสุดยอดส้วมแห่งปี 2554 ได้แก่ โรงเรียนบางจาก, โรงเรียนปิยะบุตร์, โรงเรียนทวารวดี, วิทยาลัยสารพัดช่างพระนครศรีอยุธยา, วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุรินทร์, วัดสระแก้ว, วัดมกุฏกษัตริยาราม, โรงพยาบาลอุทัย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านไผ่ขวาง, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านควนผาสุก, ตลาดสดเทศบาลเมืองกระนวน, ห้างหุ้นส่วนจำกัดคำเขื่อนแก้วปิโตรเลียม, ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์, สถานีรถไฟนาชะอัง, สถานีรถไฟนครสวรรค์, ร้านอาหารปราสาททอง, ร้านอาหารสวนริมเขา, ร้านอาหารบ้านไร่คาวบอย, สวนหลวง ร.9, อาคารถกลพระเกียรติ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองหลวง, สำนักงานสาธารณสุขอำเภอคอนสาร และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชุมพร” รมช.สาธารณสุขกล่าว
นพ.สุรวิทย์กล่าวอีกว่า ปัจจุบันคนเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมากและเร็วขึ้นในช่วงอายุ 45-50 ปี จากปกติที่พบในคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งคาดว่าสาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากการนั่งยองบนส้วม กระทรวงสาธารณสุขจึงเตรียมยกระดับส้วมสาธารณะ โดยประสานให้ส้วมสาธารณะทุกแห่งเพิ่มส้วมแบบนั่งหย่อนเท้า (ชักโครก) สำหรับผู้สูงอายุ คนพิการ และประชาชนทั่วไป เพื่อช่วยลดการเกิดอาการข้อเข่าเสื่อม
ด้าน นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การออกกฎหมายบังคับใช้สำหรับส้วมสาธารณะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ส้วมร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม และส้วมสถานีบริการการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงหรือก๊าซสำหรับยานพาหนะ ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 1,000 คน ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมื่อปี 2553 พบว่า ปัจจัยในการตัดสินใจเลือกส้วมสาธารณะที่จะไปใช้บริการ คือ ความสะอาดของส้วมร้อยละ 86.3 ตรงกับความต้องการของประชาชนที่ต้องการให้ปรับปรุงส้วมสาธารณะเรื่องกลิ่นเหม็นและความสะอาดมากที่สุดร้อยละ 76.5 และปั๊มน้ำมันเป็นสถานที่ที่ต้องการให้ปรับปรุงมากที่สุด