สธ.รณรงค์วันไอโอดีนชาติ ออกมาตรการส่งเสริมทุกครัวเรือนใช้เกลือเสริมไอโอดีน ชง ครม.ออกมาตรการผลิตเกลือได้มาตรฐาน
วันนี้ (25 มิ.ย.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานรณรงค์เนื่องในวันไอโอดีนแห่งชาติ ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้วันที่ 25 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันไอโอดีนแห่งชาติตั้งแต่ปี 2545 เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสที่สภานานาชาติเพื่อการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน หรือ ไอซีซีไอดีดี (International Council for Control of Iodine Deficiency Disorders, ICCIDD) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทอง ICCIDD ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณในการวินิจฉัยปัญหา และพระราชทานแนวทางการแก้ไขโรคขาดสารไอโอดีน หรือโรคเอ๋อในประเทศไทย
นายวิทยา กล่าวว่า การขาดสารไอโอดีนจะพบได้ในทุกกลุ่มอายุ และจะแสดงผลชัดเจนในกลุ่มเด็กทารกที่อยู่ในครรภ์มารดา หากหญิงตั้งครรภ์ขาดสารไอโอดีนจะส่งผลให้ทารกมีพัฒนาการทางสมองไม่เต็มที่ และหากขาดสารไอโอดีนมาก อาจทำให้เด็กทารกในครรภ์เสียชีวิต แท้ง หรือพิการได้ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้พื้นที่ที่มีหญิงตั้งครรภ์ที่มีระดับไอโอดีนในปัสสาวะน้อยกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลิตร เกินร้อยละ 50 เป็นพื้นที่ขาดสารไอโอดีน ซึ่งจากการสำรวจไอโอดีนในปัสสาวะหญิงตั้งครรภ์ 75 จังหวัดในประเทศไทย พบหญิงตั้งครรภ์ที่มีระดับไอโอดีนในปัสสาวะต่ำกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลิตร มีแนวโน้มลดลง จากร้อยละ 71.8 ในปี 2549 เหลือร้อยละ 52.5 ในปี 2553 และจากการประเมินล่าสุดในปี 2555 พบว่า ลดลงเหลือร้อยละ 39.7 ขณะเดียวกัน พบว่า สถานการณ์ไอคิวเด็กไทยดีขึ้น ปัจจุบันค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 98 จุด จากเดิมในปี 2552 เฉลี่ย 91 จุด แม้จะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสากล แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ที่มีไอคิวเฉลี่ย 104 จุด จะต้องเฝ้าระวังและป้องกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาสติปัญญาของเด็กไทยสูงขึ้น
นายวิทยา กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีมาตรการเน้นส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนใช้เกลือเสริมไอโอดีน และผลิตภัณฑ์ปรุงรสเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพ เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว และซอสปรุงรสในการปรุงอาหารทุกครั้ง โดยแต่งตั้ง อสม.จำนวน 1 ล้านคน เป็นทูตไอโอดีน สร้างความเข้มแข็ง และให้ประชาชนสามารถดูแลตนเองได้ ส่งผลให้ขณะนี้ครัวเรือนใช้เกลือเสริมไอโอดีนทั่วประเทศครอบคลุมถึงร้อยละ 90 บางจังหวัดสูงถึงร้อยละ 99 ซึ่งสูงกว่าปี 2552 ที่มีเพียงร้อยละ 77 เท่านั้น และได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายแก้ปัญหาขาดสารไอโอดีนขับเคลื่อนให้เกิดชุมชน/หมู่บ้านไอโอดีนทั่วประเทศแล้ว 72,766 แห่ง จากทั้งหมด 77,373 แห่ง และผ่านการรับรองเป็นชุมชน/หมู่บ้านไอโอดีนอย่างเป็นทางการแล้ว 38,663 แห่ง ใน 71 จังหวัด นอกจากนี้ ตนจะเสนอ ครม.ในวันที่ 26 มิถุนายนในการออกมาตรการส่งเสริมการผลิตเกลือไอโอดีนที่มีมาตรฐาน โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะดำเนินการเรื่องนี้
นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้มอบหมายให้กรมอนามัยสำรวจการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีนในประชากรวัยทำงานที่มีอายุ 20-59 ปี ในพื้นที่ศูนย์อนามัยเขตของกรมอนามัย 12 จังหวัด จำนวน 1,703 คน ในปี 2555 พบว่า ร้อยละ 94.5 มีการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีนในครอบครัว ซึ่งผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีนที่ใช้มากที่สุด คือ เกลือเสริมไอโอดีน ร้อยละ 87.8 รองลงมา คือ น้ำปลา ร้อยละ 75.1 ซอส ร้อยละ 55 และ ซีอิ๊ว ร้อยละ 53.1 นอกจากนี้ ร้อยละ 84.1 ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีนมากกว่า 1 ชนิด ส่วนใหญ่ใช้ 4 ชนิด คือ เกลือ น้ำปลา ซอส และ ซีอิ๊ว รองลงมาคือ 2 ชนิด คือ เกลือและน้ำปลา คิดเป็นร้อยละ 31.1 และ 19.6 ตามลำดับ
นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เมื่อสำรวจการรับรู้ของประชาชนด้านการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน พบว่า ประชาชนร้อยละ 92.1 รู้ว่าสารไอโอดีนมีประโยชน์ต่อร่างกายในด้านการเสริมสร้างพัฒนาการสติปัญญาในเด็กเล็ก ร้อยละ 82.7 รู้วิธีป้องกันการขาดสารไอโอดีน โดยการรับประทานอาหารทะเล และผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีน ร้อยละ 79.2 รู้ว่ามีกฎหมายบังคับให้เกลือและผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส 4 ชนิด ได้แก่ น้ำปลา น้ำเกลือปรุงรส ซอส ซีอิ๊ว ต้องเติมสารไอโอดีน